จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

พ่อหลวงของแผ่นดิน (๑๔) ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับคณะองคมนตรี (ตอนที่ ๘)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



213 destination


สืบเนื่องจาก ๗ ตอนที่แล้ว ซึ่งผมได้นำเนื้อหาบางส่วนจาก
หนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี”
ซึ่งได้จัดทำขึ้นเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ
ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ มานำเสนอต่อท่านผู้อ่าน
ในตอนนี้ ผมจะขอนำบางส่วนของหนังสือมาเสนอต่อท่านผู้อ่านเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้


++++++++++++++++++++++++++++++++



... ผมได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น “องคมนตรี” ประมาณ ๑๐ ปีมาแล้ว ถวายงานในโครงการพระราชดำริเกี่ยวเนื่องกับการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ อาทิ เป็นเลขาธิการมูลนิธิพระดาบส ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้จัดตั้งโรงเรียนพระดาบสขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอาชีพให้แก่คนยากจนที่พ้นวัยเรียนและยังไม่มีอาชีพ ให้มีโอกาสทำงานสร้างอาชีพเพื่อหาเลี้ยงตัวเองได้ต่อไป โดยมีพลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ เป็นเลขาธิการคนแรก ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่ท่านเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข โรงเรียนพระดาบสเปิดหลักสูตรช่างซ่อมวิทยุขึ้น แล้วรับคนยากจนมาฝึกอาชีพโดยมีที่อยู่ที่กินให้เสร็จสรรพ จากหลักสูตรแรกในวันนั้นได้ขยับขยายเป็น ๘ หลักสูตรในวันนี้ ในแต่ละปีมีผู้เรียนเฉลี่ยปีละ ๑๕๐ คน มีอายุระหว่าง ๑๘ – ๓๕ ปี เข้ามาเรียนฝึกอาชีพในหลักสูตรต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้ พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสเน้นย้ำว่า “ต้องเป็นคนที่ยากคนและยังไม่มีอาชีพ ข้อสำคัญต้องตั้งใจมาเรียนจริง ๆ ไม่ใช่พ่อแม่บอกให้มาเรียน”


โรงเรียนจะจัดที่อยู่ ที่กิน เสื้อผ้า และเครื่องแบบให้ โดยที่นักเรียนไม่ต้องเสียเงินเลยแม้แต่บาทเดียว เมื่อจบแล้วสามารถนำวิชาความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพได้เลย บางคนตอนไปฝึกงานรู้จักกระเหม็ดกระแหม่เบี้ยเลี้ยง พอจบมาก็สบาย เพราะว่ามีเงินใช้ก่อนได้รับเงินเดือนเดือนแรก และเป็นที่น่าดีใจว่า นักเรียนโรงเรียนพระดาบสกว่าร้อยละ ๙๐ ที่จบการศึกษาแล้ว สามารถหางานทำได้ และสามารถตั้งหลักปักฐานได้ด้วยตัวเอง


นอกจากนั้น ผมยังช่วยท่านองคมนตรี กำธน สินธวานนท์ ในโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมได้ทราบจากท่านองคมนตรีกำธนถึงที่มาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนึกถึงตอนที่ทรงพระเยาว์ ขณะทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เขามีสารานุกรมให้เด็กนักเรียน จึงมีพระราชดำรัสว่า “อยู่ที่โน่นอยากรู้ความหมายไม่ยาก เพราะมีสารานุกรม ถ้าเด็กไทยอยากรู้ความหมายของคำ จะมีสารานุกรมอะไรไหมที่เด็กสามารถวิ่งไปที่ห้องสมุดโรงเรียนแล้วเปิดอ่านได้” นี่คือจุดเริ่มต้นที่พระองค์ท่านทรงนึกถึงนักเรียนไทย ดังนั้น เราจึงหานักปราชญ์ราชบัณฑิตเก่ง ๆ มาทำงานสนองพระราชประสงค์แต่งสารานุกรมไทย จนออกมาเป็นชุดสารานุกรมสำหรับเยาวชนไทยมาเป็นเวลานานกว่า ๓๐ ปีแล้ว ในแต่ละปีจะผลิตสารานุกรมเล่มใหญ่ที่ประกอบด้วยเรื่องราวต่าง ๆ ประมาณ ๗ - ๘ เรื่อง ตอนหลังมีการผลิตเป็นเล่มเล็ก ภายในเล่มมี ๓ เรื่อง รวบรวมเรื่องราวทั้งที่เกี่ยวกับสากลและเกี่ยวกับไทย เช่น ลิเก ทุเรียน พร้อมเนื้อหาสาระ อ่านแล้วได้ทั้งความรู้และสนุกด้วย


เช่นเดียวกับโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ท่านองคมนตรีกำธนได้รับสนองงานมาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริจะถวายทุนการศึกษาแก่พระเณรให้ได้ศึกษาเล่าเรียนสูง ๆ เพื่อที่บ้านเมืองเราจะได้มีผู้รู้ในเรื่องพระไตรปิฎกพอจะเป็นหลักให้กับสังคมได้ จึงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มาให้เริ่มต้น เพื่อเป็นทุนแก่พระเณรที่เรียนได้ปริญญาตรี โท และเอก สาขาพุทธศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และถวายปัจจัยสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายแก่พระเณรที่เตรียมสอบเปรียญธรรม ตั้งแต่ประโยค ๖ – ๙ เพื่อเป็นกุศโลบายให้พระเณรที่ได้เปรียญธรรม ๓ – ๕ ประโยค ได้มีกำลังใจที่จะศึกษาพระบาลีให้สูงขึ้น


นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีทุนพระราชทานแก่พระภิกษุทั่วประเทศให้มาเรียนหลักสูตรระยะสั้นเพื่อเป็นพระวิปัสสนาจารย์ หลักสูตรที่สำคัญอีกหนึ่งหลักสูตรคือ หลักสูตรพระนักเทศน์ เนื่องจากการเทศน์เป็นเรื่องสำคัญในการถ่ายทอดพุทธธรรม จึงจำเป็นต้องมีการอบรมสาระและเนื้อหาที่ถูกต้อง ซึ่งทั้งสองหลักสูตรได้มีพระภิกษุสงฆ์สำเร็จการศึกษาไปแล้วหลายรุ่น ...


... ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการควบคุมกลุ่มโรคระบาด ได้แก่ โรคอหิวาตกโรค โปลิโอ โรคเรื้อน วัณโรค สำหรับโรคเรื้อนนั้น ประเทศไทยเคยมีประวัติการแพร่ระบาดมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว พระองค์ท่านได้พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ ทั้งพ่อแม่ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อนไปจนถึงลูกหลานในครอบครัวเดียวกัน เพราะโรคเรื้อนเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง ซึ่งติดต่อโดยการอยู่ใกล้ชิดร่วมกันเป็นเวลานาน พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์โดยให้การดูแลรักษาด้วยยา และให้ผู้ป่วยได้รับการฝึกอาชีพในระหว่างที่เข้ารับการรักษา เพื่อให้สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ สำหรับลูกหลานที่ไม่ได้ติดโรค ก็ทรงอุปการะให้เรียนหนังสือจนมีอาชีพเลี้ยงตัว อันเป็นที่มาของ “มูลนิธิราชประชาสมาสัย” นับแต่นั้นเป็นต้นมา โรคเรื้อนจึงไม่ใช่โรคระบาดในผืนแผ่นดินไทยอีกต่อไป พระราชกรณียกิจอันทรงคุณค่านี้ทำให้องค์การอนามัยโรคทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองสาธารณสุขเพื่อมวลชน แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณ ในฐานะที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานับปการเพื่อประโยชน์ทางด้านการสาธารณสุขของประเทศ


นอกเหนือจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่ราษฎรผู้ประสบสาธารณภัยจากเหตุการณ์วาตภัยที่แหลมตะลุมพุกที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากมาย ทรงพระราชดำริจัดตั้ง “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์” ขึ้น ภายใต้พระราชดำรัสว่า “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ตั้งขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นว่า ประชาชาติไทยนี้จะเป็นชาวภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคกลาง ก็เป็นพี่น้องกันทั้งนั้น ชาติไทยมีความเดือดร้อนก็ช่วยกัน การช่วยเหลือก็ต้องมีเจ้าหน้าที่ ต้องมีการติดต่อ ผลที่จะได้ก็คือ ความปลอดภัยและมั่นคงของประเทศไทย เพราะทำให้คนที่ประสบภัยธรรมชาติต่าง ๆ ได้มีความสุขใจและไม่วุ่นวายใจ


จนถึงวันนี้ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ยังคงยึดพระราชดำรัสไว้เหนือเกล้าฯ เมื่อใดที่เกิดภัยพิบัติ ไม่ว่าสึนามิ น้ำท่วม “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์” จะไปช่วยชาวบ้านที่เดือดร้อนให้บรรเทาทุกข์ลงโดยทันที


อีกทั้งยังมีกลุ่มงานหน่วยแพทย์และพยาบาลเคลื่อนที่ยังถิ่นทุรกันดาร เท่าที่ผมได้ศึกษาประวัติจากที่แพทยสมาคมรวบรวมไว้ เริ่มตั้งแต่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จย่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอนนั้นหมอฝรั่งสมัยรัชกาลที่ ๕ ถวายคำแนะนำให้สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จฯ ไปทรงพักผ่อนเพื่อบำรุงพระวรกายที่เกาะสีชัง พระองค์ท่านจึงมีพระราชเสาวนีย์ให้บุคลากรทางสาธารณสุขที่ไปถวายการรักษา ให้หมั่นแวะเวียนไปรักษาชาวบ้านในละแวกนั้นพร้อมกันด้วย จึงอาจอนุมานได้ว่า นี่คือต้นกำเนิดของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในยุคแรก กระทั่งตอนหลังพระองค์ท่านมีพระราชวินิจฉัยว่า ถึงเวลาที่ต้องสร้างโรงพยาบาลแล้ว จึงเป็นที่มาของโรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา “สมเด็จ” คือสมเด็จพระพันวัสสา “ณ ศรีราชา” คือ เริ่มต้นที่ศรีราชา จนต่อมาได้เป็นตัวอย่างของหน่วยแพทย์พระราชทานของเจ้านายพระองค์อื่น รวมทั้งหน่วยแพทย์ พอ.สว. ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปยังถิ่นทุรกันดารครอบคลุมทุกภาคของประเทศ และยังเป็นแรงบันดาลใจตลอดจนตัวอย่างให้กับโรงพยาบาล หรือมูลนิธิที่มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปบริการประชาชนสืบมาทุกวันนี้


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้โรงพยาบาลได้มีเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อรองรับการรักษาโรคที่รักษายาก เช่น โรคทางประสาท เป็นต้น รวมทั้งทรงสนับสนุนให้ผู้ที่มีศักยภาพในสายวิชาแพทย์ศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ และสัตวแพทยศาสตร์ ได้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศแล้วกลับมาทำงานในประเทศ โดยพระราชทานทุนการศึกษาที่รู้จักในชื่อทุน “อานันทมหิดล” เมื่อมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญในวิชาแขนงอื่น ๆ เพิ่มขึ้น พระองค์ท่านทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนในสาขาวิชาต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จนปัจจุบันมูลนิธิอานันทมหิดลมีการขยายการพระราชทานทุนเป็น ๘ แผนก โดยทรงให้อิสระกับผู้ได้รับพระราชทานทุนว่า ไม่จำเป็นต้องกลับมาทำงานใช้ทุน ให้นำความรู้กลับมาทำคุณประโยชน์ พัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าต่อไป สำหรับนักเรียนทุนมูลนิธิอานันทมหิดลในรุ่นแรก ได้แก่ อาจารย์หมอประเวศ วะสี อาจารย์หมอจรัส สุวรรณเวลา และอีกหลาย ๆ ท่านที่ต่อมาได้มีโอกาสทำงานร่วมกันจนถึงวันนี้ ล้วนเกิดจากสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์ที่ได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า “เราต้องยอมลงทุนส่งคนไปเรียนต่อ เพื่อมาต่อยอดให้กับวงการแพทย์ไทย” ...


... ครั้งหนึ่ง ผมเข้าไปที่ห้องสมุดในพระบรมมหาราชวัง เห็นกองหนังสือยังไม่ได้จัดเข้าชั้น ทราบจากบรรณารักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพิ่งทรงพระอักษร แล้วพระราชทานหนังสือกลับมาคืนห้องสมุด ประชาชนคนไทยทราบกันดีว่า พระองค์ท่านมีพระเกียรติคุณมากมายหลายสาขา สนพระราชหฤทัยหาความรู้เรื่องต่าง ๆ ตลอดเวลา ซึ่งแต่ละเรื่องนอกจากทรงรู้ก่อนแล้ว ยังทรงรู้ลึกซึ้งอีกด้วย ...


... ครั้งหนึ่ง มีพระราชดำรัสเตือนเป็นทำนองว่า “คนไทยกินข้าวมาแต่บรรพบุรุษ จะกินขนมปังมื้อสองมื้อก็คงได้ แต่จะให้กินตลอดคงไม่ได้ กินข้าวอร่อย เพราะว่าอร่อยมาตลอดชีวิต แล้วถ้ามีอยู่วันหนึ่ง เราเอานาไปทำอย่างอื่น หมดแล้วต้องไปซื้อข้าวที่บรรทุกมาในเรือบรรทุก แล้วก็แพงมากกว่าที่เราปลูกได้แล้ว คิดถึงชาวบ้านที่เขายากจน เขาต้องซื้อข้าวแพง คงไม่ได้


พระองค์ท่านทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการปลูกข้าวว่า เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักและให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกลมาก ๆ ถ้าเราเอานาไปทำอย่างอื่นหมด วันหนึ่งคนไทยต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ ถึงตอนนั้น ข้าวคงมีราคาแพงแน่


ในปีหนึ่ง ทรงถามนักเรียนทุนว่า เรียนจบเกษตรฯ จบวิทยาศาสตร์ มีใครรู้เรื่องหญ้าแฝกบ้าง ผมยังจำบรรยากาศขณะนั้นได้เลยว่า ความที่ไม่มีใครเคยได้ยินเรื่องหญ้าแฝก จึงนั่งนิ่งกันเป็นแถว ต่างนึกไปถึงต้นอ้อ ต้นแฝก สุดท้ายไม่มีคนกราบบังคมทูลตอบ จึงทรงอธิบายว่า หญ้าแฝกมีคุณสมบัติพิเศษทำอะไรได้บ้าง จากวันนั้น ผมได้ไปสืบถามต่อก็ยิ่งอัศจรรย์ใจ เพราะว่าพระองค์ท่านทรงพระอักษรเกี่ยวกับหญ้าแฝกทั้งหมดทุกชนิด ใครที่ชำนาญเรื่องหญ้าแฝก พระองค์ท่านทรงถาม ทรงทำวิจัยด้วยพระองค์เองที่ดอยตุง ปัจจุบันมีการจัดสัมมนาเรื่องหญ้าแฝกที่ประเทศไทย แล้วผลัดเปลี่ยนไปทั่วโลกทุก ๆ สองปี กระทั่งเดี๋ยวนี้หญ้าแฝกนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย รวมถึงปรัชญาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้พระราชทานแก่คนไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นต้นมา


ฉะนั้น ที่เราพูดกันว่าจะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมความรู้ (knowledge society) นั่นคือ สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้แก่คนไทยตลอดมา จะเห็นว่าทุกเรื่องต้องวางอยู่บนรากฐานของความรู้จริง ดังปรากฏอยู่ในเอกสารของสำนักงาน กปร. (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) ที่ได้รวบรวมหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีข้อหนึ่งกล่าวว่า “ทำงานอย่างผู้รู้จริง” ข้อนี้สำคัญมาก เพราะตราบใดที่เราจะสร้างสังคมความรู้ เราต้องทำอย่างผู้รู้จริง ด้วยการใฝ่หาความรู้อยู่ตลอดเวลา ...


... เมื่อครั้งประเทศไทยเกิดภัยสึนามิ หน่วยบริการของโรงเรียนพระดาบสได้ลงพื้นที่ไปช่วยชาวบ้านผู้ประสบภัย โดยช่วยติดตั้งสายไฟบ้าง สร้างบ้านพระราชทานบ้าง มีผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งสามีพร้อมลูกหนึ่งคนถูกคลื่นยักษ์พัดหายไป เหลือลูกอีกเพียงคนเดียว โชคดีว่าบ้านพ่อแม่อยู่ลึกเข้าไป จึงไม่ถูกคลื่นซัด เธอจึงนำลูกไปฝากไว้ ส่วนตัวเองหมดกะจิตกะใจที่จะอยู่สู้ชีวิตต่อ ทราบดังนั้น พวกเราจึงชวนมาเรียนที่โรงเรียนพระดาบส ปรากฏว่าในช่วงเดือนแรก เธอร้องไห้ตลอดเวลา จนต้องขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์โรงพยาบาลวชิระให้ช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจ กระทั่งกลับไปเรียนได้ตามปรกติจนเป็นถึงหัวหน้าชั้น เมื่อเรียนจบแล้ว ก็กลับไปทำงานที่บ้านเกิด โดยใช้วิชาชีพที่เล่าเรียนมาจากโรงเรียนพระดาบส หาเลี้ยงลูกด้วยลำแข้งของตัวเองได้ นี่คือโอกาสชีวิตที่เขาได้จากโรงเรียนพระดาบส


อีกรายหนึ่งมีพ่อเป็นทหารประจำการอยู่ค่ายลพบุรี แต่ต้องไปราชการที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วเสียชีวิตลงขณะปฏิบัติหน้าที่ แม่หนีไป ทิ้งลูกชายเผชิญชะตากรรมตามลำพัง ตามระเบียบราชการ ต้องคืนบ้านพักไป เสนาธิการทหารจึงพามาฝากไว้ที่โรงเรียนพระดาบส เราจึงให้สอบคัดเลือกเข้าเรียน ถึงตอนนี้เด็กคนนั้นเรียนจบ และมีอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้แล้ว เช่นเดียวกับคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ที่น้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านแผ่ไพศาลมาถึงคนไข้ทุกคน ผมเคยตามเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชาวบ้านตามถิ่นทุรกันดาร พร้อมด้วยหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทุกครั้งสมเด็จพระเทพรัตนฯ จะสนพระราชหฤทัยคนไข้แต่ละรายไม่ใช่แค่เฉพาะโรค แต่สนพระราชหฤทัยด้วยว่าระหว่างที่คนไข้รักษาตัว ใครจะดูแลครอบครัว ถ้าเป็นเด็กจะทรงถามว่า ถ้ารักษาหายแล้วเรียนต่อได้ไหม แล้วพ่อแม่มีอาชีพอะไร ทรงดูแลคนไข้ทุกรายจนกว่าเขาจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยยึดหลักการทำงาน ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวปฏิบัติ ๓ ข้อที่ปรากฏอยู่ในเอกสารของโครงการหลวงดังนี้คือ

๑. เร็ว ๆ เข้า จะทำอะไรก็ให้เร็ว ๆ เข้า เคยมีพระบรมราชาธิบายขยายความว่า ประชาชนตกทุกข์ได้ยากอยู่บนดอยจะมัวช้าไม่ได้
๒. ลดขั้นตอน ระบบราชการมีขั้นตอนมาก ถ้าลดลงบ้างจะทำให้งานสำเร็จลุล่วงเร็วขึ้น
๓. ช่วยเขาให้ช่วยตัวเอง พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญกับข้อนี้มาก


เช่นเดียวกับโครงการพระราชทานความช่วยเหลือด้านการเกษตร และด้านอื่น ๆ ที่ท้ายที่สุดแล้ว จะต้องทำให้ประชาชนช่วยตัวเองให้ได้ ...


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “พ่อของแผ่นดิน พระผู้ทรงห่วงใยคนไทยทุกหมู่เหล่า” โดยท่านเกษม วัฒนชัย)











เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานหนัก เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎร โดยเฉพาะในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดารทั่วทุกหัวระแหงของประเทศ เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พสกนิกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ฉะนั้นพระองค์ท่านจะทรงเน้นช่วยเหลือในด้านการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องแหล่งน้ำ ช่วงที่ผมยังเป็นข้าราชการชั้นโท รับผิดชอบดูแลเครื่องจักรกลหนัก เช่น รถขุด รถแทรกเตอร์ ซึ่งไปสนับสนุนงานด้านก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ คูคลองส่งน้ำ ผมได้ติดตามอธิบดีกรมชลประทานมาหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่อธิบดีแสวง พูลสุข (๒๕๑๔-๒๕๑๘) อธิบดีมนัส ปิติวงษ์ (๒๕๑๘-๒๕๒๒) จนถึงอธิบดีสุหะ ถนอมสิงห์ (๒๕๒๙-๒๕๓๑) อธิบดีแต่ละท่านที่ผมเอ่ยถึง ล้วนเป็นนายช่างชลประทาน ทุกท่านเคยปฏิบัติงานอยู่ในต่างจังหวัด มีประสบการณ์อย่างช่ำชองในเรื่องการก่อสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ คูคลอง รวมถึงการส่งน้ำบำรุงรักษา ถึงกระนั้น พอถึงเวลาปฏิบัติงานถวาย ทุกท่านจะมีการเตรียมตัวทำการบ้านอย่างหนัก เรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลมาซักซ้อมกางแผนที่ วางแผนกันจนดึกดื่นทุกครั้ง เพราะเป็นที่ทราบกันดีในกรมชลประทานว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถยิ่งในด้านการชลประทาน ยิ่งพระองค์ท่านเสด็จฯ ไปถึงพื้นที่ จะทรงทราบถึงปัญหาและอุปสรรคอย่างถ่องแท้ ทรงวางโครงการชลประทาน เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝ่าย และคลอง เพื่อช่วยเหลือราษฎรได้ทันทีจากแผนที่ ๑:๕๐,๐๐๐ ที่ทรงถือประจำ พระองค์ท่านทรงมีข้อมูลในเชิงลึกมาก ๆ โดยเฉพาะเรื่องสภาพพื้นที่ภูมิประเทศ แหล่งน้ำ และการชลประทาน


เป็นที่ตอกย้ำกันในหมู่ข้าราชการชลประทานชั้นผู้ใหญ่ที่กราบบังคมทูลรายงานว่า “ห้ามเดาเด็ดขาด!” ถ้าเรื่องไหนไม่รู้ ก็ให้กราบบังคมทูลไปตรง ๆ เคยมีช่วงแรก ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ มีกำหนดการเสด็จฯ ไปที่ฝายน้ำล้นใกล้ ๆ หมู่บ้าน ผู้อำนวยการกองที่กรุงเทพฯ ในฐานะผู้ใหญ่ จึงไปรับเสด็จและกราบบังคมทูลรายงานด้วยตัวเอง โดยเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี ท่องจำข้อมูลเกี่ยวกับตัวฝายไว้พร้อม ในช่วงหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถามว่า สันฝายอยู่ที่ระดับเท่าใด ผู้อำนวยการฯ เกิดจำไม่ได้ตัดสินใจดำน้ำกะตัวเลขที่ใกล้เคียง สมมติว่า “บวก ๓๕๐ พระพุทธเจ้าข้า” (สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ๓๕๐ เมตร) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหยุดนิดหนึ่ง แล้วมีพระราชดำรัสว่า “ถ้าระดับ ๓๕๐ น้ำก็ท่วมตำบลนี้ทั้งตำบล” ทรงชี้ไปที่แผนที่ ๑:๕๐,๐๐๐ เส้นบอกระดับตำบลที่อยู่เหนือน้ำอยู่ที่ ๓๔๙ นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ผมท่องเป็นคาถาว่า เวลากราบบังคมทูลตอบเมื่อมีพระราชดำรัสถาม “ห้ามเดา”


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก” โดยท่านสวัสดิ์ วัฒนายากร)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP