สารส่องใจ Enlightenment

แดนสงบ



พระธรรมเทศนา โดย พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่




“ความสงบ” คู่กับ “ความวุ่นวาย”
ความสงบเป็นที่มาของความสุข ความวุ่นวายเป็นที่มาของความทุกข์
ทุกคนจึงต้องการความสงบ ไม่ต้องการความวุ่นวาย
“เราจะหนีความวุ่นวาย และประสบกับความสุขได้อย่างไร?”
ก่อนจะตอบปัญหานี้ ขอเล่าเรื่องของนักบวชครั้งพุทธกาลให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง
มีมาณพผู้หนึ่งชื่อว่า ยสะ เป็นบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี บริบูรณ์ด้วยทรัพย์ศฤงคาร
มีเรือน ๓ หลัง เป็นที่อยู่ประจำใน ๓ ฤดู อย่างผาสุก สมบูรณ์ด้วยกามสุขทุกประการ
จะหลับนอนแต่ละครั้งมีนางบำเรอคอยฟ้อนรำทำเพลงเห่กล่อม



ณ ราตรีคืนหนึ่ง ยสะมานพนอนหลับก่อน เหล่านางบำเรอนอนหลับภายหลัง
ขณะนั้น แสงไฟที่จุดไว้ยังสว่างอยู่
ยสะมานพตื่นขึ้น เห็นบริวารและนางเหล่านั้นนอนหลับอยู่อย่างปราศจากสติสัมปชัญญะ
แสดงอาการวิกลวิการไปต่างๆ บ้างกรน บ้างครางละเมอเพ้อพึมพำ
บ้างมีน้ำลายไหลออกจากปาก ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีดังแต่ก่อน
ปรากฏแก่ยสะมานพ เหมือนซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้ในป่าช้า


ยสะมานพเห็นแล้วเกิดความสลดใจ เบื่อหน่าย คลายความสุขในชีวิตฆราวาส
ได้เดินกลับไปกลับมาอยู่ในห้อง และออกอุทานด้วยความสังเวชใจว่า
"ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ"
แล้วเดินออกจากห้อง ออกจากบ้าน ไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
เดินไปพลางออกอุทานไปพลางว่า
"ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ"



ครานั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำพรรษาอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของยสะมานพ
ณ ราตรีใกล้รุ่งวันนั้น พระพุทธองค์เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง
ได้ยินเสียงยสะมานพเดินบ่นมาด้วยความสลดใจใกล้ที่จงกรมเช่นนั้น
พระองค์ทรงทราบด้วยญาณวิถีจึงรับสั่งตอบไปว่า
"ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ท่านมาที่นี่เถิด"



ฝ่ายยสะมานพได้ยินเสียงพระศาสดารับสั่งเช่นนั้นก็ดีใจ
ถอดรองเท้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่อันควรส่วนหนึ่ง
พระพุทธองค์ทรงพิจารณาที่มาของความกระวนกระวายเร่าร้อน
เพื่อจะได้วางยาธรรมโอสถได้ถูกต้อง
เมื่อทรงทราบชัดด้วยพระญาณแล้ว จึงทรงแสดงธรรมชั้นต้น ได้แก่

การเสียสละ เป็นการเจือจานความสุขให้แก่กันและกัน
เพื่อฝึกหัดตัวเองให้เห็นแก่ตัวน้อยลง


จากนั้นให้ฝึกหัดทรมานตนให้พ้นจากการเบียดเบียนกันด้วยกาย วาจา
ให้ทุกคนมีความปรารถนาดีต่อกัน เป็นการให้ความปลอดภัยแก่กันและกัน
ต่างให้ความอบอุ่น ไม่กินแหนงแคลงใจกัน
ผลที่ได้จากการเสียสละเกื้อกูลและไม่เบียดเบียนกันนี้ คือ ความร่มเย็นเป็นสุข
และสมบูรณ์ด้วยรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสที่ละเอียดอ่อนขึ้นไปโดยลำดับ
เมื่อบุคคลเพียบพร้อมไปด้วยรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสที่น่าปรารถนาแล้ว
ก็น่าจะเป็นยอดของความสุข
จุดสุดท้ายของความปรารถนาของมนุษย์ก็น่าจะมีเพียงเท่านี้
แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า



ความสุขใดที่เจือด้วยอามิส คือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส เป็นที่ตั้งของความสุขนั้น
เป็นความสุขที่เจือด้วยทุกข์ เป็นความสุขเล็กน้อย เป็นความสุขชั่วขณะ
เหมือนอาหารที่เจือด้วยยาพิษ แม้จะอร่อยที่ปาก
แต่เพิ่มความทุกข์ลำบากภายหลังอย่างมากมาย เป็นความสุขที่ไม่คงที่แน่นอน
จึงไม่ควรยินดีติดอยู่กับความสุขเช่นนี้ ควรจะหาทางหลีกไปให้พ้น
ไม่ทำจิตให้กังวลยุ่งอยู่กับอามิส
เมื่อจิตห่างจากอามิส ไม่มัวเมาว้าวุ่น
จิตย่อมไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของสิ่งใด
เหลือแต่ความปลอดโปร่งเบาสบาย
ความสุขที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งใดเป็นผู้บันดาล เกิดขึ้นเพราะความสงบจากความวุ่นวาย
ชื่อว่าความสุขแท้ ไม่มีอาการแปรผันกลับกลอก เป็นยอดของความสุข



เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม
จิตของยสะมานพหายจากความวุ่นวาย หายจากเศร้าสลด
จิตมีอารมณ์ละเอียดขึ้นโดยลำดับ
พระพุทธองค์ตรัสย้ำด้วยอริยสัจธรรมทั้ง ๔ คือ
ทุกข์ ความเดือดร้อนทางกายใจ
อันเป็นผลสืบเนื่องมาแต่ สมุทัย ได้แก่ ตัณหา ความดิ้นรนขวยขวายหาที่สุดไม่ได้
และ นิโรธ คือที่สุดแห่งความทุกข์เดือดร้อน
อันเป็นผลสืบเนื่องมาแต่การปฏิบัติ ซึ่งเรียกว่า มรรค



ยสะมานพได้สดับพระพุทธโอวาทแล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม
คือได้แสงสว่างเกิดขึ้นในดวงใจ มีความเข้าใจ พร้อมด้วยเหตุผล
มีความมั่นใจตรงตามที่พระพุทธองค์ตรัสเรียกไว้ว่า
"ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่เดือดร้อน"



ยสะมานพพบกับแดนแห่งความสงบของโลก ด้วยอาการอย่างนี้
ท่านผู้อ่านทั้งหลาย "ความสุขในโลกนี้อยู่ที่ไหน?”
ขอให้ท่านได้หวนระลึกถึงชีวประวัติของยสะมานพอีกครั้งหนึ่ง
หากจะตอบว่า "ความสุขของชาวโลกอยู่ที่อาคารบ้านเรือนรโหฐารสวยงาม”
ยสะมานพก็มีอยู่ถึง ๓ หลัง ตามฤดูกาล
หากจะตอบว่า "ความสุขของชาวโลกอยู่ที่การบำรุงบำเรอด้วยกามคุณ”
ยสะมานพก็มีคู่ครอง และนางบำเรอคอยฟ้อนรำเห่กล่อมอยู่ตลอดเวลา
แต่กามคุณเหล่านี้กลับปรากฏแก่ยสะมานพเหมือนกับซากศพอยู่ในป่าช้า



“หากบ้านเรือนที่สวยงาม และรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มิใช่สิ่งที่ก่อให้เกิดความสุขแล้ว
เหตุไฉนชาวโลกจึงได้หมกมุ่นวุ่นวายอยู่กับสิ่งเหล่านั้นเล่า?”
ข้อนี้ตอบได้ว่า เพราะชาวโลกยังไม่รู้ตามความเป็นจริง ยังหลงเข้าใจผิด
คิดเห็นความทุกข์เป็นความสุข
เห็นความสุขเป็นความทุกข์
เห็นคุณเป็นโทษ เห็นโทษเป็นคุณ
เหมือนแมลงเม่าเห็นกองไฟว่าสวยงาม แล้วโผบินเข้าไปตายในกองไฟ



ความจริงคนส่วนมากก็สำนึกโทษของสิ่งเหล่านี้ได้เหมือนกัน
แต่มักจะไปรู้ตัวเมื่อได้ถลำเข้าไปเสียแล้ว
เลยตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก



คำกล่าวของชาวอังกฤษมีอยู่บทหนึ่งว่า

เมื่ออายุ ๒๐ ปี นึกว่ารู้หมด
ครั้นอายุ ๔๐ ปี เกิดสงสัยที่ว่ารู้
พออายุ ๖๐ ปี รู้แน่ว่าตนยังไม่รู้


พระอนุชาของพระเจ้าวิกรมาทิตย์ ในนิทานเวตาล กล่าวว่า

เมื่อหนุ่มเหมือนช้างตกมัน
สำคัญตนว่าเป็นสัพพัญญู
ต่อมาเรียนจากครูบาอาจารย์ทีละน้อย
ก็ค่อยหายตกมัน รู้สึกว่าตนเป็นคนโง่



ตัวอย่างทั้งสองที่ยกมานี้ชี้ให้เห็นว่า
แม้แต่ภาคพื้นธรรมดาๆ ของชีวิต คนเรายังเข้าใจผิด คิดสำคัญตัวไปต่างๆ นานา
กว่าจะได้บทเรียนของชีวิตที่ถูกต้อง ก็มักจะสายเกินกว่าที่จะกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่
ยิ่งปัญหาของชีวิตที่สลับซับซ้อน เกี่ยวกับความสุขแท้ความสุขเทียม
จึงเห็นเป็นสิ่งที่เห็นได้ยากยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ฝืนกระแส ตรงข้ามกับความรู้สึกของคนทั่วไป
แต่ก็ไม่เกินวิสัยของผู้ที่ใช้ปัญญา ใคร่ครวญพิจารณาคุณและโทษอยู่เสมอ
อีกประการหนึ่ง พื้นวิสัยและวาสนาบารมีของคนเราไม่เหมือนกัน
บางคนโง่ บางคนพาล บางคนหยาบคาย บางคนเรียบร้อย
เมื่อใครมีพื้นวิสัยวาสนาเป็นมาอย่างไร
ย่อมรับเอาสิ่งที่ได้รู้ได้เห็น ได้สัมผัสถูกต้อง ไว้ตามพื้นของตัวเอง



ท่านแสดงความปรารถนาของคนและสัตว์ไว้ว่า

ฝูงแมลงภู่ต้องการดอกไม้
ฝูงแมลงวันต้องการของเน่า
เหล่าสาธุชนต้องการความดี แสวงหาความดี
แต่เหล่าทรชนแสวงหาแต่โทษ


เพียงตัวอย่างง่ายๆ นี้จะเห็นได้ว่าความต้องการของมนุษย์และสัตว์มีไม่เหมือนกัน

ของบางอย่างเป็นที่ต้องการของสัตว์พวกหนึ่ง
แต่กลับไม่เป็นที่พึงปรารถนาของสัตว์อีกพวกหนึ่ง
ความดีบางอย่างมนุษย์พวกหนึ่งปรารถนา
แต่มนุษย์หมู่หนึ่งไม่ต้องการ


ดังนั้นการพูดความจริงตามหลักธรรมในทางศาสนา
จึงขัดต่อความรู้สึกของผู้ที่ยังไม่เห็นคุณเห็นโทษของสิ่งนั้นๆ



ความต้องการของมนุษย์และสัตว์มีตรงกันอยู่อย่างหนึ่ง
คือต่างต้องการความสุขด้วยกันทั้งนั้น
แต่ไปขัดกันตรงที่ว่าความสุขเกิดจากอะไร อะไรเป็นแดนแห่งความสุข
การดิ้นรนขวนขวายกระทำการต่างๆ ของมนุษย์ทั้งที่ผิดและถูก
ล้วนต้องการผล คือความสุขด้วยกันทั้งนั้น



คนที่เกียจคร้าน พยายามหลีกเลี่ยงไม่ทำการงาน
ก็เพราะเข้าใจว่าการทำงานเป็นความทุกข์ การอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร เป็นความสุข
คนที่ขยันการทำงาน ก็เพราะเข้าใจว่าเมื่อทนลำบากในตอนต้น จะสบายเมื่อภายหลัง
คนที่ชอบลักขโมยก็รู้สึกเมื่อขโมยของคนอื่นมาได้เห็นเป็นความฉลาดโก้เก๋
คนที่ทำมาหากินในทางที่ชอบ กลับเป็นทุกข์ใจเมื่อเห็นคนอื่นเดือดร้อน
คนบางคนชอบเข้าโรงสุรายาฝิ่น เห็นเป็นความสุขสำราญ
แต่บางคนชอบเข้าวัดเข้าป่า แสวงหาความสงบซึ่งเห็นว่าเป็นกำไรของชีวิต



ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าทุกคนต้องการความสุข
แต่เหตุที่มาของความสุขมีความเข้าใจไม่เหมือนกัน
หากจะถือเอาเพียงความต้องการของแต่ละคนเป็นทางแสวงหาความสุขแล้ว
เราจะหาจุดจบไม่ได้เลย
ดังนั้นจึงต้องอาศัยหลักความจริง
ที่บรรดานักปราชญ์ท่านได้ค้นพบและทดลองมาแล้ว เป็นแนวทางปฏิบัติ



ตามหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ท่านแสดงความสุขไว้เป็น ๓ ขั้นคือ
๑. ความสุขอย่างต่ำ
๒. ความสุขอย่างกลาง
๓. ความสุขอย่างสูง



ความสุขอย่างต่ำเป็นความสุขของชาวโลกทั่วไป
ท่านแยกเหตุแห่งความสุขประเภทนี้เป็น ๔ ประการคือ
๑. ความสุขเกิดแต่การมีทรัพย์
๒. ความสุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์เพื่อบริโภค
๓. ความสุขเกิดแต่การไม่ต้องเป็นหนี้
๔. ความสุขเกิดแต่การทำงานที่ปราศจากโทษ


เหตุแห่งความสุขของชาวโลกทั้ง ๔ อย่างนี้ ไม่ได้ปฏิเสธว่าทรัพย์มิใช่ที่มาของความสุข
ท่านยอมรับว่าเป็นความสุข แต่จัดเป็นความสุขอย่างต่ำ
ความสุขที่สูงกว่านี้ยังมี ไม่ควรติดอยู่กับความสุขเพียงแค่นี้
ควรจะแสวงหาความสุขที่สูงขึ้นไปโดยลำดับ
และพร้อมกันนี้ ท่านตำหนิความเกียจคร้านว่าเป็นทางแห่งความเสื่อม
เป็นที่มาแห่งความยากจน และเป็นทางแห่งการกู้หนี้ยืมสิน
โดยตรงกันข้าม ท่านสรรเสริญความขยันหมั่นเพียรว่าเป็นที่มาแห่งความเจริญก้าวหน้า
จึงแนะนำให้ประกอบการงานด้วยความขยันหมั่นเพียร
แต่มีขอบเขตว่าจะต้องประกอบการงานในทางที่ชอบ ไม่เบียดเบียนตนเองและคนอื่น
ทรัพย์สินเงินทองที่ได้มาเพราะการประกอบการงานในทางที่ชอบเท่านั้นเป็นที่มาแห่งความสุข
ทรัพย์สินเงินทองที่ได้มาเพราะการเบียดเบียนคนอื่น
แทนที่จะอำนวยความสุขให้ กลับกลายจะเป็นอสรพิษทรมานจิตใจ


ความสุขอย่างกลางประการที่สอง เป็นความสุขที่มีระดับสูงขึ้นกว่าประการแรก
คือความสุขในประการแรก เกิดแต่การแสวงหาทรัพย์ การที่มีทรัพย์
และการใช้จ่ายทรัพย์บำรุงความสุขให้แก่ตัวเอง
ความสุขในประการที่สอง ท่านสอนให้เสียสละทรัพย์ เป็นการเฉลี่ยความสุขให้แก่คนอื่น
และสอนให้เว้นจากการเบียดเบียน ให้มีความเมตตาปรานีปรารถนาดีต่อกัน
ให้มีศรัทธาความเชื่อมั่นต่อหลักธรรมในทางศาสนา



ความสุขมิได้มีเพียงอาศัยรูปวัตถุเท่านั้น
ความสุขที่เกิดมีเพราะอาศัยการทำความดีมีอยู่มากมาย
ความอิ่มใจ ความพอใจ ที่เกิดขึ้นจากการทำความดี
เป็นความสุขที่เยือกเย็นกว่าการมีทรัพย์



ความสุขประการที่สาม เป็นความสุขที่พ้นจากการสมมติของชาวโลก
คือเป็นความสุขตรงกันข้ามกับความสุขของชาวโลก
เพราะเป็นความสุขที่ไม่เจือด้วยอามิสใดๆ
เป็นความสุขที่เกิดจากจิตที่บริสุทธิ์ สะอาด มีความฉลาด
ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในอารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา
สามารถเอาชนะตัณหาอันเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์โดยสิ้นเชิง



“น้ำไม่อาจซึมซาบเข้าไปในใบบัวได้ฉันใด
ความทุกข์ทั้งหลายก็ไม่อาจเข้าไปทำจิตใจของผู้บรรลุสุขประการที่ ๓ ให้ขุ่นมัวได้ ฉันนั้น”



เป็นอันกล่าวสรุปได้ว่าความสุขมีอยู่หลายอย่าง
ความสุขบางอย่างเป็นเพียงความสุขเทียม ความสุขบางอย่างเป็นความสุขแท้
ความสุขของชาวมนุษย์และชาวสวรรค์ อันเกิดแต่รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส
เป็นความสุขเทียม เป็นความสุขเจือด้วยความทุกข์ และหาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้



ความสุขที่พ้นจากรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
เป็นความสุขที่แท้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แดนแห่งความสุขจึงอยู่ที่จิตใจ



"สักวา แดนดิน ถิ่นสงบ
จะค้นพบ แดนใด สุดใฝ่หา
พื้นพิภพ ทั่วทั้ง ฝั่งคงคา
บนเวหา สรวงสวรรค์ ชั้นพรหมินทร์
แดนสงบ พบที่ใจ ใช่ที่อื่น
ใจชุ่มชื่น ด้วยความดี ใจมีศีล
ใจสงบ พบสุข ทุกแดนดิน
ถิ่นสงบ จะพบได้ ที่ใจเอย"


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - - - - - - - - - -


จาก "แดนสงบ" ใน “เครื่องหมายของคนดี” โดย พระธรรมดิลก (จันทร์ กุสโล) พิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๙


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP