จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๑๓ ดูหนังดูละครกับการปฏิบัติธรรม



213 talk


หนังและละครมีสองแบบ


แบบแรก
ชวนให้จ้องดูคนที่คุณอยากเป็น
หรือคนที่คุณอยากได้
ส่วนแบบที่สอง
ชวนให้คิดหาข้อสรุป
มองหลายชีวิต
เพื่อเห็นวิธีคิดของตัวเองว่า
อยากเลือกแบบไหน
คัดค้านหรือคล้อยตามบทสรุปหนึ่งๆ


หนังและละครแบบแรก
เน้นชูพระเอกนางเอก
ที่คนดูอยากเป็นหรืออยากได้
มาสวมบทบาทครองจอ
เพื่อมีบทบาทครองใจ
ยิ่งคุณติดหลงเท่าไร
เรตติ้งยิ่งพุ่งขึ้นเท่านั้น
ซึ่งถ้าปฏิบัติธรรมจนรู้ใจตัวเองได้
คุณจะพบว่า ยิ่งคุณติดหลงใคร
แนวโน้มคือคุณจะยิ่งก่อกรรมทางใจ
ในทางฟุ้งฝันให้ได้คนแบบนั้นมา
หรือไม่ก็อยากเป็นคนคนนั้นเลย


หนังและละครแบบแรก
ไม่มีทางให้คุณเห็นบทอ่อนๆ
เพราะบทอ่อนๆจับใจ ตรึงใจคนดูไม่ได้
ต้องใส่แต่บทแรงๆ พูดแรงๆ ทำแรงๆ
ชนิดที่มนุษย์มนาปกติไม่ค่อยประพฤติกัน
หรืออีกทีอาจใส่บทหักมุมโหดๆ
เพื่อช็อกความรู้สึก หรือทำร้ายจิตใจคนดู
ให้เกิดอาการอยากเม้าท์กับเพื่อน
อยากอยู่ฝ่ายเชียร์ หรืออยากอยู่ฝ่ายแช่ง
ซึ่งก่อให้เกิดความหลากหลายทางอารมณ์
ส่งให้เกิดความแปรปรวนทางอารมณ์ได้สูง
ยิ่งดู มโนกรรมจะยิ่งดิ่งไปกับดราม่าแนวนั้น


ทางเดียวที่หนังและละครแบบแรก
จะไม่ขวางการปฏิบัติธรรมของคุณ
คือ คุณต้องใช้มโนกรรมผิดๆถูกๆ
หรืออารมณ์บ้าๆ เพี้ยนๆ ที่เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา
อันเกิดขึ้นจากการดูหนังและละคร
มาเป็นแบบฝึกรู้
รู้ให้ทันว่าลมหายใจนี้
มีความรู้สึกนึกคิดแบบตัวละครเกิดขึ้น
เช่น นึกอยากจะกรี๊ด นึกอยากอาละวาด
นึกอยากใช้ถ้อยคำที่จำมา
แล้วอีกลมหายใจหนึ่ง
มีความรู้สึกนึกคิดแบบตัวคุณเองเกิดแทน
นึกอยากทำตัวเหมือนคนปกติ
นึกอยากใช้คำพูดแบบที่คิดขึ้นมาเอง
แยกออก บอกถูกว่า
ใจคุณกำลังจะเลือกก่อกรรมทางความคิด
ก่อกรรมทางวาจา แบบในหนังในละคร
หรือแบบที่ตัวเองเป็นตัวของตัวเองจริงๆ
คุณจะมีสติรู้สึกตัว
เหมือนบางลมหายใจมีผีสิง
มีภาพตัวละครในความทรงจำ
เข้ามาสะกดจิตให้คิดให้พูดตาม
แต่อีกลมหายใจอาจผีหลุด
ปล่อยให้คุณเป็นตัวของตัวเองตามจริง
นับว่าสนุกไปอีกแบบถ้าได้เห็น


ส่วนหนังและละครแบบที่สอง
แบบที่พยายามชี้นำทางความคิด
ให้ข้อสรุปทางความคิด
ตามมุมมองของผู้ผลิตหรือผู้เขียนบท
แม้ใช้เรื่องทางอารมณ์เป็นตัวนำ
แต่สุดท้ายจะพยายามให้คุณอึ้งกับบทสรุป
แล้วชวนคุณถามใจตัวเองว่า
คุณเลือกคล้อยตาม หรือว่าเลือกต่อต้าน


หนังและละครแบบนี้
ยิ่งดูบ่อย ยิ่งคิดเยอะ
บางวันถึงขนาดรู้สึกราวกับ
ได้จุดยืนทางความคิดแบบใหม่
หรือถึงขนาดกลายเป็นอีกคน
เปลี่ยนจากแหย กลายเป็นกล้าบ้าบิ่น
เปลี่ยนจากแคร์มากไป กลายเป็นแคร์พอดีๆ
เปลี่ยนจากหาเงินเดือน กลายเป็นหากำไร ฯลฯ


หนังและละครชวนคิด
ทำให้คุณติดใจกับการใช้เหตุผล
ซึ่งมีข้อดี คือ ถ้านำมาบวกกับวิธีพิจารณาธรรม
ก็อาจได้ข้อสรุปในการหาทางออกดีๆ
เช่น เกิดเรื่องกับใคร 
จะไม่อยากฟาดงวงฟาดงาทันใด
แต่จะอยากหาทางออกฉลาดๆนิดหนึ่ง
เหมือนที่เคยเห็นตัวละครอดกลั้น
และใช้ชั้นเชิงในการเอาชนะคู่ต่อสู้
ซึ่งในโลกความจริง
คุณอาจแค่คิดทบทวนตามธรรมะว่า
ทางตันของเรื่องนี้ อยู่ที่ทิฐิมานะ
ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถอดอัตตาออกจากสมการได้
ทางออกโล่งๆก็เกิดขึ้นได้
ซึ่งฝ่ายนั้นจะเป็นใคร ถ้าไม่ใช่เรา


พิจารณาโดยแยบคายทำนองนั้น
การ ‘ปฏิบัติธรรมในระดับความคิด’ ก็เกิดขึ้น
ทำให้คุณไม่ต้องก่อบาปก่อเวรร่วมกับใคร
หันมาต่อบุญต่อกรรมดีๆให้ตัวเอง
ในทางที่จะพ้นทุกข์พ้นร้อนไปแทน!


ดังตฤณ
กรกฎาคม ๖๐




review


ความสุขที่เที่ยงแท้นั้นเป็นอย่างไร
และจะต้องปฏิบัติเช่นใดจึงจะพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง
ติดตามได้จากเนื้อความในพระธรรมเทศนา
โดย พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)
เรื่อง "แดนสงบ" ที่คอลัมน์ "สารส่องใจ" ค่ะ (-/\-)


หากเจ็บปวดเพราะคู่สมรสไม่ซื่อสัตย์มาหลายครั้ง
แต่กลับไม่เข้มแข็งพอที่จะเลิกรา
จะมีวิธีทำให้จิตใจหายอ่อนแอได้หรือไม่
หาคำตอบได้ในคอลัมน์"ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ทำอย่างไรจึงจะมีใจที่เด็ดเดี่ยว
จนสามารถแยกทางกับสามีที่นอกใจมาตลอดได้"



นวนิยายเรื่อง "เถ้าน้ำค้าง" ผลงานของคุณชลนิล
ดำเนินมาถึงตอนที่ ๒๘ แล้วนะคะ
มาติดตามกันว่าชีวิตของ"ลานน้ำค้าง" จะเป็นไปอย่างไร
ได้ที่คอลัมน์ "วรรณกรรมนำใจ" เลยค่ะ (^__^)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP