จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

พ่อหลวงของแผ่นดิน (๑๓) ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับคณะองคมนตรี (ตอนที่ ๗)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



212 destination



สืบเนื่องจาก ๖ ตอนที่แล้ว ซึ่งผมได้นำเนื้อหาบางส่วนจาก
หนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี”
ซึ่งได้จัดทำขึ้นเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ
ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ มานำเสนอต่อท่านผู้อ่าน
ในตอนนี้ ผมจะขอนำบางส่วนของหนังสือมาเสนอต่อท่านผู้อ่านเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้


++++++++++++++++++++++++++++++++


... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรู้จักผมตั้งแต่ตอนที่ผมรับราชการเป็นรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และช่วงแรกที่เข้ามาปฏิบัติงานถวาย พระองค์ท่านจะทรงทดสอบความรู้ของผม เหมือนทรงอยากทราบว่า ผมทำงานเป็นหรือไม่ รู้เรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด โดยมากวิธีการของพระองค์ท่าน คือจะมีพระราชดำรัสถาม บางทีก็มีพระราชกระแสเป็นเอกสารลงมา เช่น ให้ไปติดตามโครงการหมุนเวียนขยะแบบครบวงจร (พ.ศ. ๒๕๓๘) ให้แก้ปัญหาเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ทรงถามว่ามีการทำกันอย่างไร (พ.ศ. ๒๕๓๙) ปัญหาเรื่องไฟไหม้พรุโต๊ะแดง (พ.ศ. ๒๕๔๑) น้ำท่วมที่รามคำแหง (พ.ศ. ๒๕๔๑) ฝนหลวงที่พิษณุโลก (พ.ศ. ๒๕๔๒) นกแต้วแร้วท้องดำที่เขานอจูจี้ กระบี่ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ฯลฯ ซึ่งแต่ละโครงการหรือเหตุการณ์เหล่านี้ พระองค์ทรงทราบความเป็นมาของโครงการดีอยู่แล้ว แต่คงมีพระราชประสงค์จะทรงทราบความคืบหน้า และให้ผมได้ทราบเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยตัวของผมเอง หรือทราบต่างพระเนตรพระกรรณ เพราะจะต้องมีการประสานงาน ก็จะมีพระราชกระแสให้ผมเดินทางไปดู


วิธีการทำงานของผมคือ ต้องออกไปศึกษา ไปถาม ไปดู เข้าไปคลุกคลีแนะนำกับคนที่ทำจริง ๆ พอกลับมาก็จะทำรายงาน เขียนสรุปสั้น ๆ ย่อ ๆ ไม่ทำเป็นเล่มหนา แล้วผมชอบถ่ายรูป ก็แนบรูปถ่ายไปกับรายงานส่งทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงทราบเป็นระยะเรื่อยมา ซึ่งบางเรื่องก็มีพระบรมราชวินิจฉัยหรือพระราชดำริเพิ่มเติมพระราชทานกลับลงมา บางเรื่องก็มีพระราชดำรัสด้วยพระองค์เอง ในโอกาสที่ผมได้เฝ้าฯ ณ สถานที่ต่าง ๆ เมื่อพระองค์ท่านทรงพระดำเนินผ่านผม ก็มักจะทรงถามเกี่ยวกับเรื่องที่ทรงมอบหมายให้ทำอยู่ ผมก็จะกราบบังคมทูลรายงานด้วยวาจา ...


... พระองค์ท่านไม่เคยทรงทำอะไรที่ผิดจากธรรมะ ผมเชื่ออย่างนั้นจริง ๆ เมื่อได้ใกล้ชิด เพราะว่า พระองค์ท่านไม่ทรงเหมือนข้าราชการทั่ว ๆ ไป ซึ่งผมอยู่ในระบบราชการไทย ก็จะมีเจ้านายที่ดุด่าว่าลูกน้อง ด้วยวาจาที่ไม่สุภาพ แต่ว่าพระองค์ท่านไม่ทรงมีเลย แล้วไม่เคยเห็นว่าจะกริ้วใคร โดยสรุปแล้ว พระองค์ท่านมีพระราชจริยวัตรที่สุภาพเรียบร้อย และมีพระอารมณ์ที่เย็น สงบ ถ้ากริ้ว อาจจะทรงนิ่งเงียบ หรือว่ามีพระราชดำรัสอะไรบางอย่างที่ผมรู้ได้เอง


สมัยก่อน เวลาที่ผมไปยืนเฝ้าฯ ในงานต่าง ๆ เมื่อทอดพระเนตรมาที่ผม ก็จะมีพระราชดำรัสถามว่า ไปที่นั่นมาเป็นอย่างไร พอกราบบังคมทูลตอบแล้ว ก็จะมีพระราชดำรัสว่า “ดีนะ” อะไรอย่างนี้ สั้น ๆ นั่นคือการทรงชม หรือบางทีก็มีพระบรมราชวินิจฉัยเป็นเอกสารลงมา ผมก็รู้แล้วว่าทรงอ่านรายงานของผม ...


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “ยอดกษัตริย์นักการเกษตรและสิ่งแวดล้อม” โดยท่านอำพล เสนาณรงค์)









... เท่าที่ทราบ พระองค์ท่านทรงงานหนักมาก ทรงต้องดูแลพสกนิกรทุกคน ทุกเวลา อย่างเสมอภาค ตามที่ได้เคยมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ไทย ความว่า “ในหลาย ๆ ประเทศ สถาบันกษัตริย์เปรียบเสมือนรูปพีระมิดที่มีประชาชนเป็นฐาน สูงขึ้นไปก็มีบรรดาข้าราชการต่าง ๆ และกษัตริย์ก็อยู่บนยอดพีระมิด แต่หน้าที่ของพระมหากษัตริย์ไทยในปัจจุบันกลับกัน เป็นพีระมิดที่คว่ำหัวลง คือประชาชนทั้งหลายอยู่ข้างบน และสถาบันกษัตริย์อยู่ที่จุดล่างสุด ทำหน้าที่บริการสนองความต้องการของประชาชนที่อยู่ข้างบน” ...


... การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจโดยเฉพาะและโดยเด็ดขาดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๙๑ บัญญัติไว้ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ” ซึ่งการพิจารณาเรื่องราวการขอพระราชทานอภัยโทษแต่ละราย จะทรงพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด มีฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษหลายเรื่องที่ทรงพระเมตตา และแสดงให้เห็นว่าได้ทรงพิจารณาอย่างรอบคอบถึงอายุของนักโทษและความยุ่งยากของหน่วยงานราชการ ซึ่งหากจะคุมขังนักโทษรายนั้นต่อไป คงไม่เกิดประโยชน์อะไร ตัวอย่างเช่น ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเรื่องหนึ่ง บุตรชายของนักโทษชาย ศ. ขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่บิดาซึ่งขณะนั้นมีอายุถึง ๗๔ ปี ต้องโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน กำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิต และได้รับการลดโทษลงตามกฎหมาย ๓ ครั้ง เหลือกำหนดโทษจำคุก ๓๓ ปี ๔ เดือน รัฐมนตรีฯ ถวายความเห็นว่าควรยกฎีกา คณะองคมนตรีเห็นควรอภัยโทษโดยลดโทษลง ๓ ใน ๕ ของกำหนดโทษครั้งหลังสุด


แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรสำนวนฎีกาขอพระทานอภัยโทษแล้ว ทรงพบว่านักโทษชายอยู่ในวัยชรา อายุ ๗๔ ปีแล้ว การคุมขังต่อไปไม่ก่อประโยชน์ จะเป็นปัญหาในการดูแลของหน่วยงานราชการ ควรให้กลับไปอยู่กับครอบครัวในบั้นปลายชีวิต แม้การกระทำของนักโทษชาย ศ. จะวู่วามไปบ้าง แต่ก็เพราะผู้ตายพูดจาไม่ดีกับนักโทษชาย ศ. ก่อน ทำให้ขาดสติและเกิดเรื่องขึ้น ทั้งได้ถูกคุมขังมาเป็นเวลา ๑๑ ปีเศษแล้ว ขณะคุมขังก็มีความประพฤติดีตลอดมา จึงทรงพระเมตตามีพระราชกระแสว่า “ควรปล่อยตัวเลย” จะเห็นได้ว่ามีสายพระเนตรที่กว้างไกล ทรงคำนึงถึงเหตุและผลในการพิจารณาในแต่ละเรื่อง


อีกเรื่องหนึ่งที่ผมได้รับรู้ถึงพระเมตตาที่ทรงมีโดยไม่มีใครคาดคิดและเห็นได้อย่างลึกซึ้งของพระองค์ท่าน ได้แก่ กรณีนักโทษ ๔ ราย มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ศาลกำหนดโทษประหารชีวิตทั้ง ๔ ราย ทั้ง ๔ รายขอพระราชทานอภัยโทษ รัฐมนตรีฯ และคณะองคมนตรีมีความเห็นว่า สมควรยกฎีกาทั้ง ๔ ราย คือไม่ควรพระราชทานอภัยโทษให้ตามที่นักโทษขอ แต่กลับมีพระราชกระแสว่า “ในจำนวน ๔ ราย มี ๑ รายที่มีสติปัญญาทึบ โง่เขลาเบาปัญญา และไม่ใช่เป็นตัวการ”เมื่อทราบพิจารณาถึงความบกพร่องทางสติปัญญาของนักโทษรายนั้น โดยที่ไม่มีใครคิดถึงจุดนี้เลย ก็ทรงพระเมตตาพระราชทานลดโทษให้นักโทษเฉพาะรายนั้นเป็นจำคุกตลอดชีวิต


พระเมตตาที่ยกขึ้นมากล่าวนี้ เป็นเพียงบางส่วนที่ผมได้รับรู้จากการถวายงานฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ นับเป็นพระเมตตาและพระมหากรุณาที่ทรงมีต่อพสกนิกรทุกคนที่เปรียบเสมือนลูก ๆ ของพระองค์ท่าน แม้จะถูกตัดสินจากศาลว่าได้กระทำความผิด แต่ก็ทรงห่วงใย เคยพระราชทานพระราชดำรัสว่า งานประเภทนี้ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบมาก ต้องดูถึงสาเหตุของการกระทำความผิด ดูถึงสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ต้องกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดอาจจะถูกหลายคนลืม แต่พระองค์ท่านไม่เคยทรงลืม ไม่ว่าพสกนิกรของพระองค์ท่านจะอยู่ ณ ที่แห่งใด ...


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “พระเมตตาจากฟ้า” โดยท่านจำรัส เขมะจารุ)









... เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า พระองค์ท่านทรงเป็นอัครศิลปิน และตามที่ผมเคยได้ฟังพระองค์ท่านทรงดนตรีกับนักดนตรีแจ๊สระดับโลก ผมยืนยันได้ว่า ฝีพระหัตถ์ทัดเทียมไม่แพ้พวกเขา มีครั้งหนึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นาย Benny Golson เข้าเฝ้าฯ เล่นดนตรีถวาย ผมเป็นหนึ่งในผู้ที่นั่งฟังอยู่ ตอนหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแซกโซโฟนสลับกับนาย Benny Golson ผมหลับตาฟังและก็ฟังไม่ออกว่า ตอนนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแซกโซโฟนหรือนาย Benny Golson เล่นอยู่ ...


... ในช่วงที่คนไทยเฉลิมฉลองการเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดให้ผมนำคณะนักดนตรีไปแสดงเพลงพระราชนิพนธ์ในต่างประเทศหลายประเทศ รวมทั้งประเทศในสมาคมอาเซียน ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ทุกแห่งที่เราไปแสดง ผู้ที่เข้าชมการแสดงประทับใจในความไพเราะเพราะพริ้งของบทเพลงพระราชนิพนธ์ สรุปได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงเป็นคีตกวีระดับโลก ...


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “ทรงเป็นอาจารย์ที่วิเศษสุด” โดยท่านพลเรือเอก หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช)









... โครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔ โดยในระยะเริ่มต้น ต้องจำกัดอยู่บริเวณภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ และอาศัยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นหลัก ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแต่อย่างใด


นอกจากโครงการตามพระราชดำริที่เน้นการพัฒนาชนบทแล้ว ยังมีโครงการเพื่อสนับสนุนการศึกษาของชาติ โดยระดมทุนจากการฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ แล้วพระราชทานเงินที่ได้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเก็บดอกผลให้เป็นทุนการศึกษาแก่นิสิต นักศึกษา ซึ่งต่อมาทุนนี้ก็ได้มีการพระราชทานแก่สถาบันการศึกษาอีกหลายแห่งทั่วประเทศ


โครงการที่เกี่ยวกับการสาธารณสุขนั้น เริ่มขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๙๕ เนื่องจากได้เกิดโรคโปลิโอระบาด ผู้ป่วยจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการหายใจและกล้ามเนื้อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานตึกวชิราลงกรณ์ธาราบำบัด เพื่อเป็นสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคโปลิโอได้เข้าบำบัดฟื้นฟูอวัยวะต่าง ๆ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถานีวิทยุ อ.ส. ที่เพิ่งจะเริ่มจัดตั้งขึ้น เชิญชวนประชาชนร่วมกันโดยเสด็จพระราชกุศล เป็นผลให้ประชาชนจำนวนมากหลั่งไหลนำเงินขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอันมีส่วนสำคัญที่ทำให้โรคโปลิโอค่อย ๆ หมดไปในที่สุด ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดตั้งหน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อออกไปรักษาประชาชนที่อยู่ห่างไกลในชนบท


ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งทุนอานันทมหิดลขึ้น เพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์และประเทศชาติ เพราะทรงตระหนักว่าชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น โดยผู้มีความรู้ความสามารถร่วมกันพัฒนา ดังนั้น จึงทรงสนับสนุนและส่งเสริมให้นักศึกษาที่มีความสามารถยอดเยี่ยมในสาขาวิชาต่าง ๆ ได้รับพระราชทานทุน และมีโอกาสไปศึกษาหาความรู้ขั้นสูงสุดจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ต่อมาได้ขยายการพระราชทานทุนอานันทมหิดลแก่นักศึกษาแผนกต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ เกษตรศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และโบราณคดี และใน พ.ศ. ๒๕๐๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนสภาพทุนอานันทมหิดลเป็นมูลนิธิอานันทมหิดล เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล


ทุนอานันทมหิดลไม่มีข้อกำหนดผูกพันระยะเวลาการศึกษา แต่ให้ผู้ได้รับทุนสามารถเรียนต่อจนถึงขั้นสูงที่สุดตามศักยภาพของแต่ละคน เมื่อจบแล้วก็ไม่ต้องมาทำงานใช้ทุน ซึ่งต่างจากทุนอื่น ๆ จึงเป็นที่น่ายินดีว่า ในปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาวิชาการแขนงต่าง ๆ ที่ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลจำนวนเกือบ ๓๐๐ คน ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับทุนล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่างตั้งใจแสวงหาความรู้และกลับมาทำประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมือง โดยเกือบทั้งหมดรับราชการอยู่ในกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ได้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนผู้มีโอกาสน้อยกว่า โดยถ่ายทอดความรู้แก่บุคคลอื่นต่อไป ...


... เหตุการณ์หนึ่งก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เสด็จฯ ไปทรงนมัสการและทรงบูชาพระรัตนตรัยในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้ทรงพระราชปฏิสันถารกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ที่ประทับรอรับเสด็จอยู่ และได้สดับพระดำรัสถวายพระพรของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าว่า “ราษฎรเขามาคอยเฝ้าชมพระบารมี รอรับเสด็จกันตามถนนหนทางมากมาย เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจไปคอยกันเขา ไม่ให้เข้ามาใกล้ ไม่ให้แลเห็นพระองค์ เขาเสียใจกันมาก ในเมืองไทยเรานี้ พระเจ้าแผ่นดินกับราษฎรไม่เป็นภัยต่อกันเลย ขอให้ทรงจำไว้ ราษฎรไม่เป็นภัยต่อพระองค์เลย” ดังนั้น การเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรทุกครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะทรงยึดถือพระดำรัสของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าว่า “ราษฎรไม่เป็นภัยต่อพระเจ้าแผ่นดิน” โดยมีพระราชดำรัสว่าราษฎรต้องเดินทางมาจากที่ไกล ๆ บางแห่งก็มาด้วยความยากลำบาก และยังต้องมาคอยพระองค์เป็นเวลานานนับชั่วโมงหรือหลายชั่วโมง ฉะนั้น ทั้งสองพระองค์จึงทรงพระกรุณาให้ราษฎรเข้าเฝ้าฯ แต่ละแห่งเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จฯ โดยเรือพระที่นั่ง หรือการเสด็จฯ ไปทรงเยือนภาคอีสาน โดยรถไฟพระที่นั่ง ก็ตาม ...


... พระราชกรณียกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด และเป็นสิ่งที่ไม่มีบุคคลอื่นใดสามารถจะปฏิบัติให้ได้ผลดีและมีการสูญเสียน้อยที่สุดสำหรับประเทศชาติบ้านเมือง นั่นคือการระงับการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธระหว่างเจ้าหน้าที่บ้านเมือง กับกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งพระองค์ทรงเล็งเห็นว่า การใช้ความรุนแรงนั้นเป็นสิ่งที่จะทำให้ปัญหาที่มีอยู่ แทนที่จะได้รับการแก้ไข กลับกลายเป็นการทำให้ปัญหาที่มีอยู่เป็นปัญหาที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นและยากที่จะแก้ไขได้ ควรที่จะชี้ให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับว่า การใช้กำลังอาวุธเข้าประหัตประหารกันนั้น ไม่ใช่ช่องทางที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่จะนำมาซึ่งทางออกที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ และพยายามทำให้เกิดความพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่ให้มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้เปรียบเสียเปรียบ หรือมีความคิดเคียดแค้นและหาทางที่จะต่อสู้ที่ร้ายแรงขึ้นต่อไป ตัวอย่างกรณีวิกฤตความรุนแรงใน “วันมหาวิปโยค” เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสแนะนำแก่ทั้งสองฝ่าย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ปฏิบัติตามพระราชดำรัส ทำให้ประเทศกลับคืนมาสู่ความสงบ อันเป็นการขจัดปัดเป่าวิกฤตของประเทศให้ผ่านพ้นไปด้วยดี ทั้งนี้ ด้วยพระบารมีในฐานะของพระประมุขของประเทศและตามพระราชอำนาจในฐานะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ...


... โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระประมุขของประเทศ ได้เสด็จฯ เยือนประเทศต่าง ๆ หลายประเทศนานถึง ๖ เดือน ถือว่าเป็นการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศครั้งยิ่งใหญ่และเป็นปรากฏการณ์โลก คือ การเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา และประเทศต่าง ๆ ในยุโรปรวม ๑๔ ประเทศ และ ๑ รัฐ ระหว่างวันที่ ๑๔ มิถุนายน ถึง ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๓ ทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และทวีปอเมริกาเหนือ เพื่อเป็นการเจริญพระราชไมตรีระหว่างประเทศไทยกับบรรดามิตรประเทศเหล่านั้นที่มีความสัมพันธ์อันดีอยู่แล้ว ให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทรงนำความปรารถนาดีของประชาชนชาวไทยไปยังประเทศต่าง ๆ นั้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ประชาชนของประเทศเหล่านั้น เป็นที่ประทับใจอย่างยิ่ง ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างไกลมากยิ่งขึ้น นับว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมหาศาล


เมื่อเสร็จสิ้นการเสด็จฯ เยือนประเทศต่าง ๆ แล้ว ก็ได้ทรงรับพระราชอาคันตุกะ ที่เป็นพระประมุขและประมุขของประเทศต่าง ๆ ที่เสด็จฯ และเดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นการตอบแทน ซึ่งบรรดาพระราชอาคันตุกะทั้งหลายต่างก็ทรงประทับใจ และประทับใจในพระราชวงศ์ของไทยตลอดจนประชาชนชาวไทยอย่างทั่วหน้า ...


... ในฐานะพระประมุขของประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ โดยทรงคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงหรือวิกฤตของบ้านเมือง เช่น เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ หรือเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ นั้น พระองค์ท่านก็ได้ทรงขจัดปัดเป่าให้เหตุการณ์คลี่คลายลง นำประเทศชาติให้กลับสู่ความสงบและเข้าสู่ภาวะปกติ


เนื่องจากทรงครองราชย์มายาวนาน จึงทรงมีประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ อย่างมากมาย และได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศชาติและประชาชนด้วยทศพิธราชธรรม จนกระทั่งสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นศูนย์รวมแห่งความถูกต้องดีงาม เป็นเกียรติยศของประเทศ เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจและความจงรักภักดีของประชาชน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถในงานพัฒนาประเทศ ทรงมีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายรัฐธรรมนูญและบทบาทหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นอย่างดี ได้ทรงวางพระองค์และทรงปฏิบัติพระองค์อย่างครบถ้วนของการที่ทรงมีสิทธิและพระราชอำนาจ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างถูกต้องทุกประการ


สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น นายอานันท์ฯ เห็นว่า “ท่านไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์อย่างเดียว ... แต่ท่านเป็นศูนย์กลางของความถูกต้อง เพราะฉะนั้น ในอีกบริบาทหนึ่ง ... อันนี้ไม่ได้หมายถึงภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่เป็นส่วนพระองค์ ด้วยความเคารพนับถือของคนไทยที่มีต่อท่านและพระบารมี พระบารมีก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างไม่มีที่มาที่ไป แต่เกิดจากการที่ท่านสั่งสมคุณงามความดี เพราะฉะนั้นคนไทยก็มองท่านว่า ทรงเป็น ... ภาษาอังกฤษเรียกว่า Moral Authority เป็นศูนย์กลางของความยุติธรรม ศีลธรรม ความดีงาม ... เป็นศูนย์กลางของการรวมพลังของประชาชนชาวไทย นี่เป็นอำนาจ ... แต่เป็นอำนาจที่คนถวายให้ด้วยความยินดี ซึ่งอันนี้ในลักษณะของการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษ หรือสวีเดน เขาไม่มี ฝรั่งไม่มีทางเข้าใจ”


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “ทรงพระเมตตาหาใดเปรียบ” โดยท่านหม่อมราชวงศ์เทพกมล เทวกุล)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP