ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

การเปลี่ยนศาสนาจะทำให้พ้นจากวิบากกรรมได้ไหม



ถาม – มีคนข้างบ้านเปลี่ยนศาสนาเพราะอยากพ้นจากบาปกรรมที่ทำไว้
เลยเกิดความสงสัยว่าการเปลี่ยนศาสนาจะทำให้พ้นจากวิบากกรรมได้จริงหรือไม่คะ


การเปลี่ยนศาสนาก็เหมือนกับการเปลี่ยนเสื้อนะ เปลี่ยนเสื้อเปลี่ยนผ้า
ถามว่าเสื้อผ้านั้นจะทำให้เราหายร้อนหายหนาวได้หรือเปล่า
แตกต่างจากชุดเดิมได้หรือเปล่า
มันขึ้นอยู่กับว่าเราใส่อย่างไรนะ แล้วมีการรักษาตัวแบบไหนด้วย
เพราะว่าแค่เปลี่ยนเสื้อผ้า
เสื้อผ้าส่วนใหญ่เนื้อผ้ามันก็บางเท่าๆ กัน หนาเท่าๆ กันนั่นแหละ ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่
แต่ว่าวิธีการที่เราใช้ชีวิตต่างหาก
วิธีการที่เรารู้หลักในการหลบร้อนหลบหนาวต่างหาก ที่สำคัญกว่าการใส่เสื้อผ้า



อันนี้พูดเปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกับการนับถือศาสนาต่างๆ
ถ้าเราจะเป็นผู้ที่มีความสุขความเจริญได้นะ ก็ต้องมีความเข้าใจในการใช้ชีวิต
ในการที่เราจะนับถือศาสนาให้มีความสุข มีความสบายใจ แล้วไม่เบียดเบียนใคร
ถ้าหากเปลี่ยนศาสนาแล้วยังประพฤติตนเหมือนเดิม
มีความตระหนี่ถี่เหนียว ช่วยคนอื่นไม่เป็น
แล้วก็มีใจตั้งไว้ว่าอยากทำอะไรก็ทำ ไม่สนใจว่าผิดศีลผิดธรรมหรือเปล่า
อันนี้เปลี่ยนศาสนาไป ไม่มีประโยชน์เลย
ได้แต่หลอกตัวเองว่าเป็นคนของศาสนาไหน
บอกใครๆ ว่าเรานับถือพระ นับถือเจ้า หรือว่านับถือพระเจ้านะ
แต่ที่แท้แล้วข้างในไม่ได้มีความศรัทธาที่แท้จริง
ไม่ได้มีปัญญาอันเกิดจากการกระทำให้สอดคล้องกับศาสนานั้นๆ
หลักของศาสนาเป็นอย่างไร รู้แต่ไม่ทำ
นี่ก็เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนศาสนาด้วยปาก ไม่ใช่เปลี่ยนศาสนาด้วยใจ
ไม่ใช่เปลี่ยนศาสนาด้วยกรรม
อันเป็นต้นเหตุของความเดือดร้อนหรือว่าความเจริญรุ่งเรืองทั้งปวงในชีวิต



การที่จะพ้นวิบากหนึ่งๆ ได้
ก็โดยหลักที่พุทธศาสนาเราประกาศแจ้งไว้ มีอยู่สองประการก็คือ
หลักๆ เลยก็คือว่ากรรมมันถึงคราวอโหสิ
คือหมายความว่าหมดแรงให้ผลนะ หมดกำลังที่จะส่งผล
คือมันให้ผลมาจนหมดแล้ว มันก็ไม่มีอำนาจ ไม่มีความสามารถ
จะมาทำให้เราเดือดร้อนได้อีกต่อไป
การที่จะอโหสิต่อไปก็คือเป็นพระอรหันต์เข้านิพพานไปแล้ว
อย่างนั้นก็กรรมไม่รู้จะตามไปเล่นงานใคร



มันยังมีอีกก็คือว่าเราทำบุญ
ทำบุญจนกระทั่งบุญมันเกิดผลเป็นปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่ง่ายๆ นะ

ลักษณะบุญที่จะเกิดผลเป็นปัจจุบัน
ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือมามีศรัทธา มาศึกษาพระธรรมคำสอน
จนกระทั่งมีความเข้าใจ มีมุมมองอีกแบบหนึ่ง
ที่จะสามารถถอนจากอาการยึดมั่นถือมั่นมากๆ
ให้กลายเป็นยืดมั่นน้อยๆ หรือไม่ยึดมั่นอะไรเลย
ถ้าหากว่าทำได้ถึงตรงนั้น นี่จะได้รับผลอันเป็นปัจจุบันทันที

เป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมอย่างหนึ่ง
กรรมอันเหนือบุญเหนือบาป มันจะทำให้เราเหนือสุขเหนือทุกข์ได้ด้วย
คือใจไม่เกาะเกี่ยว เกิดอะไรขึ้นก็เป็นเรื่องของสิ่งที่มันเกิดขึ้น
ตาไปเห็นก็สักเป็นเรื่องของตา ไม่ใช่เรื่องของเรา
หูไปได้ยินก็สักเป็นเรื่องของหู ไม่ใช่เรื่องของเรา
นี่อย่างนี้ หูได้ยินไม่ใช่เราได้ยิน ตาเห็นไม่ใช่เราเป็นผู้เห็น



ถ้าถึงซึ่งความเข้าใจหรือมุมมองแบบนั้นแล้ว มันพ้นวิบากได้ด้วยใจ
คือยังไม่สามารถเอาตัวออกจากวงจรของการให้ผลทางกายนะ
ทางกายยังรับยังรู้ ยังโดนกระทบอยู่ แต่ว่าใจมันไม่ยินดียินร้าย
คือมีสุขมีทุกข์ตามที่ถูกกระทบ แต่ว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น
มันจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว ผัสสะต่างๆ มันกระทบเราได้ไม่กี่วินาที
ใครมีวิธีที่จะเอาใจถอนออกมาจากสิ่งกระทบเท่านั้นแหละ


ซึ่งทางพุทธศาสนาให้หลักการไว้ก็คือ การเจริญสติปัฏฐาน
การเจริญสติปัฏฐานให้ผลชัดที่สุดก็คือว่าผลกรรมยังเล่นงานอยู่
แต่ใจไม่เป็นทุกข์แล้ว ไม่พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย

หรือถ้ายังต้องเป็นทุกข์อยู่ก็ทุกข์น้อยลงมาก
คือทุกข์เฉพาะตอนที่โดนกระทบ
แต่พอกระทบมันผ่านไปก็ไม่คิดมาก ไม่เก็บมาคิดต่อ
อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้ที่ลดแรงกระทบกระทั่ง
เป็นผู้ที่สามารถที่จะเอาตัวออกมาจากกองทุกข์กองไฟที่เคยสร้างเหตุไว้



ถ้าหากว่านอกเหนือไปจากนี้ ไม่มีความรู้สึกเหมือนกับว่าเราเป็นผู้ดู เราเป็นผู้รู้นะ
อย่างไรๆ เราก็จะยังต้องเป็นผู้คลุกวงในอยู่วันยังค่ำ
ไม่ว่าจะไปนับถือศาสนาไหน ประกาศตนว่าเป็นคนของใครนะ
อันนี้ก็คือความเข้าใจโดยรวม ภาพความเข้าใจโดยรวมนี่สำคัญที่สุดเลย
ถ้าหากว่าเรามองไม่ออกนะว่าการมานับถือศาสนาพุทธเพื่อให้ได้อะไรทางใจ
การไปนับถือศาสนาอื่นเพื่อให้ได้อะไรทางใจ
มันก็จะเป็นการได้แต่ดีแต่บอกดีแต่พูดนะ
ว่าเป็นคนของศาสนาอะไร เป็นคนของใคร
แต่ใจจริงๆ อาจจะยังไม่ใช่ ไม่ใช่อะไรเลย ยังเป็นคนธรรมดาที่ไม่รู้อยู่นั่นแหละ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP