สารส่องใจ Enlightenment

สติปัฏฐาน (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)
สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
แสดงธรรมเมื่อ ๑๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๑



สติปัฏฐาน (ตอนที่ ๑) (คลิ๊ก)


การภาวนาละกิเลสนั้นต้องเป็นผู้มีสติ ตั้งจิตตั้งใจอยู่ทุกเวลา
จะยืนก็มีสติ ก่อนยืน ยืนอยู่ จะเคลื่อนไปจากเวลายืน ก็มีสติ ก่อนจะเดินก็มีสติ
คำว่า มีสติ ความระลึกในใจนั้น พร้อมทุกอย่าง ตาดูหูฟัง อะไรมันจะเกิดขึ้น
คนที่เอาเท้าไปตำตอ เอาศีรษะไปตำไม้
หรือทำอะไรผิดๆ หักๆ จับอะไรพลัดพลาด พลัดตกหกล้ม
เพราะอะไร ก็เพราะขาดสตินั้นเอง
แล้วถ้าขาดสติ สติไม่มี ความขี้เซาเหงานอน มักง่าย ท้อถอย เกียจคร้าน ก็ย่อมเกิดมีขึ้น
เพราะว่าไม่มีสติ หรือมีสติแต่น้อยไม่พร้อมบริบูรณ์
ถ้ามีสติ ความระลึกได้ ใจที่ตั้งมั่นขึ้นมา ระลึกอยู่เสมอในทางร่างกาย
เรียกว่าก่อนจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ก็มีสติ
ทำอะไรอยู่ จะทำอะไร ก็มีสติความระลึกได้
ถึงเวลาทำอยู่ก็มีสติให้พร้อมมูลอยู่เสมอ



คำว่าสติปัฏฐาน สติเป็นฐานที่ตั้ง
ฐานที่ตั้งของสติความระลึกได้อยู่ทุกเวลา เมื่อทำอะไรจบลงไปก็มีสติ

ทำงานทางนอก คนที่ทำงานแล้วไม่รู้จักเก็บไม่รู้จักรักษา ทิ้งเกลื่อนกลาดไป
ก็คือว่าไม่มีสติ เวลาทำก็ไม่มีสติ ทำแล้วไม่รู้จักเก็บรู้จักรักษา ก็คือว่าขาดสตินั้นเอง
การงานสิ่งนั้นมันก็ขาดตกบกพร่อง เกิดความเสียหายขึ้นมา
ไม่ว่าอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด
ไม่ว่าทางโลกและทางธรรม ต้องอาศัยสติอันนี้แหละ
คนดีก็เรียกว่าคนมีสติ คนไม่ดีก็คนไม่มีสตินั่นเอง



สติ ความระลึกได้ ไม่ใช่ว่าจะเอาธรรมะคำสั่งสอนนี้ไปสอนเท่านั้น
ต้องฝึกในจิตของตนเอง ฝึกๆ อยู่ทุกเวลา
เดี๋ยวนี้จิตระลึกอยู่หรือ กายนั่งอยู่หรือ หรือกายยืน กายเดิน กายนอน กายตื่น กายหลับ
รูปขันธ์อยู่ในท่าไหน อิริยาบถใด ทำอะไรอยู่
มีศีลบริสุทธิ์หรือ ในกายในวาจามีศีลบริสุทธิ์หรือ เดี๋ยวนี้เวลานี้ก็อาศัยสติทั้งนั้น


ศีลทั้งหลาย เรียกว่าหลักของศีล ๕ ประการ
ร่างกายของคนเราก็ขา ๒ แขน ๒ ศีรษะ ๑ นี้ ก็คือว่าตัวศีล ๕ ก็ว่าได้
อันศีลที่ว่าข้อเว้นนั้น ท่านว่าทำอย่างนั้นเป็นบาป ก็อย่าทำ อันนั้นข้อห้าม
ตัวศีลก็คือว่าขา ๒ แขน ๒ ศีรษะ ๑ คือ กาย วาจา จิต นี่เอง
กายวาจาจิตนี้เองเป็นตัวศีล
ถ้าคนเราประพฤติชั่วเสียหาย กายวาจาจิตก็เศร้าหมอง ขุ่นมัว ไม่ผ่องใส
คือจิตใจขาดสตินั่นเอง
สติไม่มีในจิตใจ เรียกว่าคนสติลอย คนใจลอย
คำว่าใจลอยก็คือใจขาดสติ ลอยไปตามเรื่องราวต่างๆ
นั่งอยู่ก็ละเมอเพ้อฝันไป คือว่าใจขาดสติ



สติ สมาธิ ปัญญา สติปัฏฐาน สติวินัย สติสัมโภชฌงค์
สตินี้จำเป็นต้องใช้อยู่ทุกที่ทุกสถาน ตั้งแต่เกิดจนตายแหละ
ตายหมดลมหายใจเมื่อใดจึงจะหยุดสติอันนี้
สตินี้ไม่ใช่สงบ คำว่าสงบ จิตผู้รู้อยู่ สงบอยู่ในดวงจิตที่รู้นั้น
ส่วนสตินี้เรียกว่าระลึกได้อยู่ทุกเวลา ทุกอริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน
ศีลรักษากายให้เป็นปกติ ระวังวาจาให้เป็นปกติ
กายวาจาใจเป็นปกติ ท่านให้ชื่อว่าศีล
ข้อห้ามก็คือว่า ให้เว้นจากฆ่าสัตว์และให้เว้นจากความอิจฉาพยาบาทแก่สัตว์ทั้งหลาย
ไม่ให้มีโกรธจนฆ่าสัตว์ ไม่ให้มีอิจฉาพยาบาทเกลียดชังทั้งสัตว์และคนทั่วๆ ไปด้วย
เรียกว่าเว้นจากฆ่าสัตว์ เว้นจากลักทรัพย์สิ่งของผู้อื่น
เว้นจากประพฤติผิดในกาม เว้นจากกล่าวมุสาวาจา เว้นจากดื่มกินสุราเมรัย
เรียกว่าหลักศีล ๕



ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็ข้อห้ามเพื่อให้บุคคลเรามีสติ
ระมัดระวังกายวาจาจิตของตน เพื่อจะได้มีสติอันสมบูรณ์บริบูรณ์
เมื่อมีสติอันสมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว ชื่อว่าศีลสมาธิปัญญา ศีลก็ปกติ มีสติก็มีปกติ
เมื่อมีปกติ จิตก็ตั้งมั่นไม่มีวิตกวิจารไปไหน เรียกว่าสมาธิ จิตมั่นคง
คำว่าจิตมั่นคง ก็คือว่ามีสติ จิตจึงมั่นคง
คำว่ามั่นคง เราทำอะไรก็ตั้งอกตั้งใจประกอบกระทำในสิ่งนั้นๆ



เราบรรพชาอุปสมบทในทางพุทธศาสนา ต้องมีสติ
ให้มีความยินดีพอใจ ในสมณเพศวิสัยของตัวเอง
และให้รู้ว่าสมณเพศ สมณวิสัยนี้มีข้อวัตรปฏิบัติอย่างไร
เลิกละทำชั่วด้วยกาย วาจา จิต
อย่างไรก็ต้องอาศัยสติ ความระลึกได้ ความรวมจิตใจของตนเรียกว่าให้มั่นคง
คำว่าสมาธิโดยจิตตั้งมั่น ทำอะไรให้มีความตั้งมั่น
ให้มีความจริงใจทั้งทางกาย ทางวาจา ทั้งจิตทั้งใจ พร้อมด้วยหมดทุกอย่าง เรียกว่ามีสติ
ทำอะไรก็เป็นหลักเป็นฐาน ไม่ใช่ทำเล่นๆ ทำเลอะเทอะ
ไม่ใช่ทำทิ้งขว้าง ไม่เอาจริงเอาจัง อย่างนั้นใช้ไม่ได้
เรียกว่าต้องทำจริงๆ ประกอบอยู่ทุกเวลา



หลับตาก็มีสติ ลืมตาก็มีสติ ฟังเสียงก็มีสติ ก่อนฟังก็มีสติ ฟังอยู่ก็มีสติ
ฟังจบไปแล้วก็มีสติอยู่ ระมัดระวังในอายตนะทั้งหลาย มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
อายตนะภายใน มันติดอยู่ในตัวของคนเรา
อายตนะภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันอยู่ข้างนอก
บางคราวก็เกิดขึ้นมาก บางคราวก็เกิดขึ้นน้อย ตามแต่อารมณ์ที่ผ่านเข้ามา
ตาดูหูฟัง มีสติอยู่ทุกเวลา


เราฟังธรรมอยู่ก็มีสติ
สตินั้นแหละระลึกจนความง่วงเหงาหาวนอนเข้ามาแทรกซึมไม่ได้
เมื่อเข้ามาแทรกซึมจะต้องมีสติว่าจะแก้ไขอย่างไร
เมื่อเราระลึกก็แล้ว ภาวนาก็แล้ว ยังง่วงเหงาหาวนอน
ท่านก็ให้ยืนขึ้น เมื่อยืนขึ้นยังไม่หาย ท่านก็ให้เดิน เรียกว่าเดินจงกรม
เดินจงกรมกลับไปกลับมา ทำให้รูปขันธ์ร่างกายมันเคลื่อนไหวไปมา
จิตจะได้มีสติสม่ำเสมอ จิตใจจะได้ตั้งมั่นในธรรมปฏิบัติทุกเวลา ทุกลมหายใจเข้าออก



ผู้ที่จะระลึกบริกรรมภาวนาพุทโธ ได้ติดต่ออยู่ทุกลมหายใจเข้าลมหายใจออก ก็ต้องมีสติ
สติต้องมีพร้อมอยู่เสมอ เดินจงกรมก็มีสติ ก่อนจะเดินก็มีสติ เดินอยู่ก็มีสติ
เดินจบ เดินหยุดไปแล้วก็มีสติอยู่
นั่งก็มีสติ ก่อนนั่งก็มีสติ นั่งแล้วก็มีสติ ก่อนนอนก็มีสติ นอนอยู่ก็มีสติ
ตื่นมาก็มีสติระลึกอยู่เสมอในดวงจิตดวงใจ
อันนี้ไม่ให้ความง่วงเหงาหาวนอนเข้ามาทับถม
หรือว่ากามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ไม่ให้มีในกายวาจาจิตของเรา
มีในกายวาจาจิตของคนอื่นก็ช่างเขา ไม่ต้องไปกังวล



ในกายวาจาจิตตัวของเรา ปริมณฑลหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบนี้
ต้องมีสติทุกเวลา เรียกว่ามีสติ ลมหายใจเข้ามีสติ ลมหายใจออกมีสติ
ในเวลากายวาจาจิตสบายมีสติ
ในเวลากายวาจาจิตไม่สบาย ควรทำอย่างไร ควรพูดอย่างไร ควรวางตัวอย่างไร
จึงจะเหมาะสมกาลเทศะ
ปุคคลญฺญ รู้จักบุคคล ปริสญฺญ รู้จักบริษัท
ควรอย่างไร ไม่ควรอย่างไร แสดงออกอย่างไร ไม่แสดงออกอย่างไร
สติทั้งนั้น ต้องระลึกอยู่ทุกเวลาจนเป็นมหาสติปัฏฐาน



มหาสติปัฏฐานก็คือว่า มหา-ใหญ่ ปัฏฐาน-ที่ตั้งของสติ
มีอยู่ในนักภาวนา จิตใจของผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่คำพูดที่พูดที่ว่า
เป็นสติ ดวงจิตดวงใจที่ตั้งขึ้นมาระลึกขึ้นมาเป็นองค์สติ สติสัมโพชฌงค์
ระลึกอยู่ เป็นผู้มีเพียรเพ่งอยู่
กายวาจาจิตนี้ท่านเปรียบอุปมาเหมือนพายเรือข้ามฝั่ง
สมัยโบราณนั้นเรือยนต์กลไกไม่ค่อยมี
เขาก็เอาไม้มาต่อมาแกะลงไปให้เป็นเรือ แล้วก็มีไม้พาย มีคนพาย
ทีนี้เรือนั้นจะข้ามฝั่งได้ หรือไปถูกช่องทาง ไปตามต้องการ ล่องน้ำขึ้นน้ำได้นั้น
ต้องอาศัยผู้พายผู้ถ่อให้เรือนั้นไป หรือเอาไม้พายจุ่มน้ำลงไปก็พายไปนั้นแหละ
สติ นั้นคือว่าคนพายเรือคัดแปลงเรือของตนไม่ให้ล่มไม่ให้จม
ตัวคนพายเรือไม่เป็น ก็ไปตามกระแสน้ำ ข้ามน้ำไม่ได้
สตินี้ท่านเปรียบเหมือนคนพายเรือ ผู้พายเรือ นายท้าย
ผู้นำเรือไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง



ผู้นั่งสมาธิภาวนา ปฏิบัติบูชาในทางพุทธศาสนาขาดสติไม่ได้ แม้แต่วินาทีก็ไม่ได้
คำว่าไม่ได้นั้นก็คือ เมื่อขาดสติมันก็ขาดสมาธิ จิตตั้งมั่นไม่เต็มที
เมื่อจิตตั้งมั่นไม่เต็มที่มันก็ขาดปัญญา ความรอบรู้ในกองสังขาร ในอะไรต่อมิอะไร
ที่มันเกิดมันดับ มันเป็นมันมีอยู่ ในเรื่องกายวาจาจิตของเรานั้นแหละ
เมื่อมันขาด ปัญญามันก็ไม่เต็มที่
เมื่อขาดสติ ขาดศีล สมาธิ ขาดศีลสมาธิปัญญา
ก็พาให้จิตใจนี้แหละย่อหย่อน ท้อถอย มักง่าย ไม่สงบระงับ



เมื่อพร้อมด้วยสติ สมาธิ ปัญญา ทาน ศีล ภาวนา
สมาธิ ปัญญา วิชา วิมุติก็ย่อมเกิดขึ้น จิตย่อมหลุดจากกิเลส
หลุดพ้นออกจากกิเลส ราคะ โทสะ
หรือว่าละกิเลส ราคะ โทสะ ในจิตใจของตนเอง ให้หมดไปให้สิ้นไปได้ด้วยสติปัฏฐาน
มีสติทุกเวลาไม่ว่า นั่ง ยืน เดิน นอน ทุกอิริยาบถ



เมื่อมีสติ มีสมาธิ มีปัญญา มีความรอบรู้ทุกอย่างทุกประการ
สิ่งใดควรละก็ละ สิ่งใดควรเจริญก็เจริญ สิ่งใดควรทิ้งแล้วควรปล่อยแล้ว ก็ปล่อยวางไป
ไม่ต้องเอามายึดมาถือในหน้าในตา ในตัวในตน ในชาติในตระกูล ในตัวเราของเรา
ตัวทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ-ความเห็นผิด เลิกละออกไป
พระพุทธเจ้าพระองค์ให้เจริญอยู่ในสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ดำริชอบ
เจรจาชอบ การงานชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตมั่นชอบ ก็ในสตินั้นเอง
ในใจนี้แหละไม่ใช่ในที่อื่น ไม่ใช่เรื่องภายนอกอย่างเดียว ส่วนมากเป็นเรื่องภายใน
เมื่อภายในมีสติ จิตก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ จิตก็มีปัญญา



เมื่อจิตมีปัญญาก็ย่อมเห็นได้ว่า รูป นาม กาย ใจ ของเราของเขา
ภายนอกภายใน ทั้งหยาบทั้งละเอียด อะไรต่อมิอะไรเหล่านี้
ก็ย่อมเห็นแจ้งด้วยปัญญาด้วยญาณ
หยั่งรู้หยั่งเห็นแจ่มแจ้งชัดเจนขึ้นมาในจิตในใจนั้น
ว่าไม่เป็นอย่างอื่น มันต้องเป็นไปอย่างนี้
อย่างว่าฟองน้ำเจริญขึ้นเดี๋ยวๆ มันก็แตกไป
เวลามันเจริญขึ้น มันเกิดขึ้น จิตใจก็ยินดีพอใจว่าตัวเราของเรา
ครั้นเวลามันจะแตกดับจะตาย เอาละวุ่นวายทีนี้ ไม่ให้มันตาย จะแก้ไว้รักษาไว้
ถ้ามันถึงเวลามันเจ็บมันตาย แก้อย่างไรก็แก้ไม่ได้



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - - - - - - - - - -


จากพระธรรมเทศนา “สติปัฏฐาน” ใน พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)
โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๑๒ โดย ปฐมและภัทรา นิคมานนท์ ฉบับพิมพ์เมื่อมกราคม ๒๕๕๐.


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP