ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

จะแก้นิสัยใจร้อนของตัวเองได้อย่างไร



ถาม – ถ้าเราเป็นคนที่ใจร้อนมากๆ พอมีใครพูดอะไรให้เกิดโทสะขึ้นมา
ก็จะตอบโต้กลับไปอย่างเร็ว ได้พยายามตามดูแล้วแต่ยังดูไม่ทัน
หลุดออกไปก่อนทุกทีค่อยมารู้สึกตัว แบบนี้ควรทำอย่างไรดีคะ


อันนี้ก็จำเป็นนะครับที่เราจะต้องทำสมถะกันนะ
คำว่า ทำสมถะ ไม่ใช่นั่งสมาธิหลับตาอย่างเดียว
แต่อยู่ว่างๆ ก่อนที่จะเกิดความโมโห ก่อนที่จะเกิดโทสะ
เราควรที่จะหาอะไรยึดเหนี่ยวจิตใจไว้ เพื่อที่จะให้มันมีความตั้งมั่นมากขึ้น
ไม่ให้มันมีความอ่อนไหว หรือว่ามีอาการดีดตัวรวดเร็วเกินไป
จนกระทั่งไม่สามารถที่จะดูอะไรได้ หรือว่าห้ามใจอะไรได้



แล้วก็สมถะที่พระพุทธเจ้าที่ท่านตรัสแนะไว้นะ
เป็นมาตรฐานสากลเลยก็คือนี่แหละ ตัวนี้แหละลมหายใจนี่แหละนะ
ไม่ใช่ว่าจะต้องมานั่งหลับตา แล้วก็กำหนดลมหายใจเพื่อให้เกิดความสงบเสมอไป
จำไว้นะว่าอยู่ในระหว่างวัน การที่เราแค่สร้างความคุ้นเคยไว้
ว่าอยู่ว่างๆ นะเราจะดูว่ากำลังหายใจเข้าอยู่ หรือว่าหายใจออกอยู่นะ
แล้วก็ดูต่อว่าเมื่อหายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่แล้วนี่นะ
มันมีลมหายใจที่ไม่เท่ากันอย่างไร เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น เดี๋ยวก็อึดอัด
เป็นลมหายใจที่อึดอัดบ้าง เป็นลมหายใจที่มีความสบายบ้าง

สังเกตอยู่แค่นี้แหละนะ
ใจมันจะรู้สึกว่ามีเครื่องผูก มีเครื่องอยู่ มีความเคยชินอีกแบบหนึ่ง
ที่จะตั้งอยู่กับอะไรอย่างหนึ่งที่ไม่เป็นโทษ ที่มันผูกใจให้อยู่กับหลัก
ให้อยู่กับสิ่งที่มันเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความไม่เที่ยง ไม่ยึดมั่นถือมั่นนะ



การที่เราเห็นความไม่เที่ยงบ่อยๆ นะ
ขอให้ทราบเลยว่านั่นเป็นเครื่องหมาย เป็นนิมิตหมายของความไม่ยึดมั่นถือมั่น
เพราะว่าจิตที่เห็นอะไรไม่เที่ยงบ่อยๆ นะครับ เห็นการแสดงความไม่เที่ยงบ่อยๆ
มันจะคลาย มันจะถอยออกมาเป็นผู้ดูโดยไม่ต้องพยายามใดๆ ทั้งสิ้น
ไม่ต้องสั่งตัวเองเลยว่าให้ถอยออกมา ไม่ต้องมากำกับว่าจงเป็นผู้ดูผู้รู้
มันจะรู้ของมันเอง เมื่อมีความสามารถจะเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่เที่ยงบ่อยๆ นะครับ



ทีนี้ถ้าหากว่าจิตของเรานะสร้างความเคยชินอย่างนั้นขึ้นมาได้
เมื่อไหร่ที่มีเสียงหรือว่ามีภาพใบหน้าคนมากระทบหูกระทบตา
เป็นความรู้สึกอยากจะสวน อยากจะโต้ตอบอะไรแรงๆ ออกไปกลับไปนะครับ
คุณจะรู้สึกขึ้นมาทันทีนะว่าเหมือนกับเราแยกออกมา
เป็นผู้รู้สึกถึงความโกรธ รู้สึกถึงอาการอยากสวน
บางทีมันสวนกลับไปนะ แต่ว่าจะมีจึ๊กหนึ่งอยู่ภายในนะครับว่านี่เรากำลังแสดงนะ
ตอนแรกเราจะรู้สึกว่าตัวเราเป็นผู้แสดงความโกรธออกไป
แต่พอเห็นหลายๆ ครั้งเข้านะว่ามีความโกรธ มีอาการที่อยากจะสวน
มีอาการที่คล้ายๆ กับไฟร้อนพวยพลุ่งออกไปจากตัวเรานะ ไปกระแทกคนอื่นเขา



เห็นบ่อยๆ มันมีความรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเรานี่มันเบาบางลง
แต่ว่าอาการพลุ่งพล่าน หรือว่าอาการร้อนแรงนะที่จะสวนออกไป
เป็นปฏิกิริยาที่จะตอบสนองกับสิ่งกระทบที่ไม่น่าจะชอบใจนะ
มันดูสักแต่เป็นตัวของมันอย่างนั้น สักแต่มีอาการสวนออกไป
สักแต่มีอะไรแรงๆ พุ่งออกไป สักแต่มีความร้อนก่อตัวขึ้นมา
แล้วไม่รู้สึกว่านี่คือตัวเราที่กำลังร้อน นี่คือตัวเราที่กำลังสวนออกไป
มันจะมีแต่ตัวหนึ่งที่สักแต่รู้ แล้วก็ตัวหนึ่งที่สวนออกไป



นี่พอถึงขั้นนั้นนะ ส่วนใหญ่แล้วเราจะเกิดความรู้สึกว่า
มันยังเผลอสวนออกไปอยู่นั่นแหละ
แต่สวนออกไปแล้ว เกิดความขี้เกียจขึ้นมากลางคันนะครับ
ยังไปไม่ถึงที่หมายดี มันอยากจะถอนตัวกลางคัน
อยู่ที่กลางทาง ยังไปไม่ถึงนะ อยากจะถอยกลับเสียอย่างนั้น
คืออาการของใจที่มีความเป็นผู้รู้ หรือว่ามีสติกำกับอยู่เนี่ย มันจะหน้าตาเป็นอย่างนี้นะ
คือโกรธเหมือนเดิม แต่ว่าโกรธแค่ห้าสิบเปอร์เซ็น มันจะถอยกลับมาขี้เกียจแล้ว
ไม่อยากไปเอาเรื่องแล้ว ไม่อยากที่จะต่อความยาวสาวความยืดแล้ว
บางทีปากพูดไป แต่ว่าใจไม่เอาด้วยนะ



ตัวนี้อย่าไปคาดหวัง ห้ามเลยเด็ดขาดนะว่า
อย่าไปคาดหวังว่าฝึกสติแล้ว เจริญสติแล้วจะไม่โกรธเลย
คนส่วนใหญ่เข้าใจกันผิดๆ ว่าการที่เราจะวัดผลนะ
ว่าสติเจริญไปแค่ไหน ดีแค่ไหน เข้าขั้นใดนะครับ ก็คือต้องไม่โกรธเลย
บางคนนี่หน้าเขียวหน้าเหลืองเลย
ไปปฏิบัติธรรมมานี่ดูแช่มชื่น ผู้คนให้คำสรรเสริญนะว่าดูผ่องแผ้ว ดูมีสง่าราศี
ก็เกิดตัวภาพขึ้นมา ภาพของของนักปฏิบัติ ภาพของผู้ที่สูงส่ง
แล้วก็มีความรู้สึกว่าภาพแบบนั้นมัวหมองไม่ได้ จะตกต่ำลงไม่ได้
จะโกรธไม่ได้ แสดงความฮึดฮัดไม่ได้นะ มีสีหน้าสีตาแบบเดิมๆ ไม่ได้
จริงๆ แล้วนั่นคือการไปหลอกตัวเอง ตั้งต้นหลอกตัวเองไว้นะครับ
ว่ามันจะไม่เกิดกิเลสอะไรขึ้นมาอีก
ตราบใดยังไม่ใช่พระอรหันต์ ตราบนั้นกิเลสยังเกิดได้นะ
ปล่อยให้มันเกิด แต่ว่าเกิดอย่างรู้ แล้วก็เกิดอย่างดู เกิดอย่างเห็นนะครับ
อย่าไปคาดคั้นกับตัวเองเป็นอันขาดว่าจะไม่ให้เกิดกิเลสใดๆ ขึ้น



แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสนะครับว่าถ้าจะดูเรื่องของจิต ถ้าจะดูเรื่องของใจ
ท่านไม่ได้ให้ดูเข้าไปที่สภาวะของใจตรงๆ
แต่ท่านให้ดูที่อาการซึ่งเกิดประกอบกับใจขณะหนึ่งๆ
จิตมีราคะก็รู้ว่าราคะมีอยู่ในจิต จิตมีโทสะก็รู้ว่าโทสะมีอยู่ในจิต
รู้อย่างนั้นแล้ว มันจะเห็นว่าว่าโทสะหายไปหรือว่าราคะหายไป
แล้วพอหายไป สิ่งที่เหลือก็คือจิต จิตที่ไม่มีราคะ จิตที่ไม่มีโทสะ
ก็จะได้เกิดการเปรียบเทียบกันได้

ว่าจิตมีความแตกต่าง มีความแปรปรวนไปอย่างไรนะครับ
ไม่เหมือนกันอย่างไร หน้าตามันต่างกันอย่างไรนะ
ท่านให้ดูโดยความเป็นอย่างนั้น
ใช้ประโยชน์จากกิเลส อย่าไปห้ามกิเลสไม่ให้เกิด
เพราะพอห้ามแล้ว มันก็กดไว้เฉยๆ แล้วไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย
หน้าเขียวหน้าเหลืองกันเปล่าๆ นะครับ


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP