จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

พ่อหลวงของแผ่นดิน (๑๐) ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับคณะองคมนตรี (ตอนที่ ๔)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it




209 destination


สืบเนื่องจาก ๓ ตอนที่แล้ว ซึ่งผมได้นำเนื้อหาบางส่วนจาก
หนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี”
ซึ่งได้จัดทำขึ้นเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ
ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ มานำเสนอต่อท่านผู้อ่าน
ในตอนนี้ ผมจะขอนำบางส่วนของหนังสือมาเสนอต่อท่านผู้อ่านเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้


++++++++++++++++++++++++++++++++


... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งผมเป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ และท่านประธานองคมนตรี อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นผู้นำผมและคุณจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณเมื่อวันที่ ๓๐ เดือนธันวาคม ในปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำรัสแก่ผมเป็นครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งองคมนตรีว่า “ขอให้คุณสิทธิวางตัวเป็นกลาง” เนื่องจากผมเคยเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองมาก่อน อันอาจจะเกี่ยวกับการปฏิบัติตนและการวางตัวในระหว่างดำรงตำแหน่งองคมนตรี ...


... ก่อนที่ผมจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี ผมได้มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดใต้เบื้องพระยุคลบาทหลายครั้งหลายหน อย่างเช่น ในสมัยดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งเป็นยุคคอมมิวนิสต์กำลังรุกรานประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทยก็เป็นเป้าหมายหนึ่งของระบอบคอมมิวนิสต์เช่นกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสผ่านคุณอุทิศ ทินกร ณ อยุธยา รองเลขาฯ สภาความมั่นคงแห่งชาติว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผมเข้าเฝ้าฯ ในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๑๘ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผมรู้สึกปลื้มปีติเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ หลังจากผมได้กราบบังคมทูลรายงานให้ทรงทราบถึงเรื่องที่เป็นปัญหาความมั่นคงของประเทศในขณะนั้นแล้ว พระองค์ท่านก็มีพระราชดำรัสถึงเรื่องต่าง ๆ ซึ่งทำให้ผมตระหนักในพระปรีชาสามารถ พระอัจฉริยภาพ ความรอบรู้ และน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยต่อพสกนิกร และความมั่นคงของประเทศชาติอยู่ตลอดเวลา


พระราชดำรัสในขณะนั้น บางกรณีก็อาจจะยังใช้ได้จนกระทั่งปัจจุบันนี้ มีหลายเรื่องที่ผมใคร่ขอนำมากล่าวไว้ในที่นี้คือ ในขณะนั้น ได้มีความวุ่นวายเกิดขึ้นในบ้านเมืองจากการที่นิสิตนักศึกษาได้ยื่นข้อเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาขอขมาประเทศไทย พระองค์ท่านก็มีพระราชดำรัสว่า ตามปรกติแล้วย่อมหวังได้ยากมากที่จะให้ประเทศใหญ่กระทำตามข้อเรียกร้อง แต่ที่สหรัฐฯ ได้ผ่อนปรนขอขมาไทย ย่อมแสดงว่าเขาได้เห็นใจที่เขาเป็นผู้ก่อความยุ่งยากภายในให้แก่ไทย และเขาคงเห็นแก่มิตรภาพที่มีต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน อนึ่ง ไม่ทรงเห็นด้วยกับการแสดงออกของพวกเดินขบวน ในการกระทำที่ก้าวร้าวรุนแรงทำลายสัญลักษณ์ของอเมริกัน และปัสสาวะรดธงชาติอเมริกัน ที่หน้าสถานทูตอเมริกา เพราะเป็นการกระทำที่หยาบคาย ไร้ประโยชน์ และย่อมนำความเสื่อมเสียชื่อเสียงมาให้แก่คนไทยโดยทั่วไป พระองค์ท่านทรงเห็นว่า ตามปรกติคนไทยเป็นคนมีมารยาท มีเมตตาธรรม รักความมีระเบียบเรียบร้อย ...


... พระองค์ท่านยังมีพระราชดำรัสถึงภัยความมั่นคงจากนอกประเทศไว้ดังนี้ แม้เวียดนามจะมีอาวุธยุทโธปกรณ์มหาศาล และมีกองทัพเข้มแข็งน่าเกรงขามประการใดก็ตาม ปัญหาที่เวียดนามจะใช้รถถังและอาวุธบุกเข้าประเทศไทยโดยตรงนั้น คงจะไม่เกิดขึ้น นอกจากจะปรากฏว่าไทยอ่อนแอขาดความสามัคคีกันเองในชาติ ทรงเห็นว่า ประเทศอื่นไม่ว่าจีนคอมมิวนิสต์ เวียดนามเหนือ ลาว เขมร ก็ไม่มีโอกาสดีกว่าคนไทยด้วยกันเองที่จะเข้าถึงขุมกำลังพื้นฐานของเราคือ เกษตรกรของประเทศ


หากรัฐบาลสามารถทำให้เกษตรกรมีที่อยู่ที่กิน มีรายได้ดีพอสมควร มีความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและรู้สึกหวงแหนที่อยู่ที่ทำกินของเขาแล้ว ปัญหาการป้องกันด้วยกำลังทหาร การดำเนินการทางการเมืองการทูต การรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านอื่น ๆ ก็จะลดความสำคัญลง เพราะประชาชนจะปกป้องรักษาความมั่นคง ซึ่งเป็นหน้าที่ของเขาที่พึงกระทำด้วยตัวเขาเอง ความอ่อนแอภายในก็จะไม่เกิดขึ้น


นอกจากนี้แล้ว ทรงพระราชปรารภถึงประเทศเขมรว่า เท่าที่ทราบจากข่าวบางกระแสว่า ได้ใช้วิธีรุนแรงสั่งให้ประชาชนอพยพออกจากกรุงพนมเปญ ภายใน ๒๐ นาที เพื่อให้เดินทางไปสู่ชนบทเพื่อทำงานในนาในไร่ วิธีการบังคับให้ประชาชนทำงานด้วยกระบอกปืนในไร่นาเช่นนี้ เพื่อจะหวังผลผลิตการเกษตรให้เพิ่มมากขึ้น มีพอกินพอใช้ และหวังส่งออกนั้น ก็คงหวังได้ยาก แม้แต่คอมมิวนิสต์ในโซเวียตและในจีนคอมมิวนิสต์ก็ยังคงมีที่ดินที่อนุญาตให้เอกชนเพาะปลูก โดยรัฐไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ซึ่งแม้คอมมิวนิสต์จะถือว่าเป็นวิธีการของปฏิกิริยาก็ตาม ผลปรากฏว่าได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะมนุษยชนมีจิตใจ และปรารถนาที่จะทุ่มเทแรงกายแรงใจ ทำงานในสิ่งซึ่งเป็นสิทธิของตนเองอย่างเต็มที่มากกว่านารัฐนารวม แม้วิธีการสังคมนิยมแบบพม่า ซึ่งใช้วิธีบังคับมากเกินไป ก็ปรากฏว่าพม่าผลิตข้าวได้ลดน้อยลง พม่าเคยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวได้จำนวนมาก ขณะนั้นก็ส่งออกได้ไม่กี่แสนตัน จึงทรงเห็นว่าเขมรก็คงจะประสบผลเช่นเดียวกัน


ทั้งนี้ ก็เป็นผลให้เกิดโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ ในเวลาต่อมาถึงกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ เพื่อความกินดีอยู่ดีของพสกนิกรโดยทั่วกันจนถึงปัจจุบัน


ในเรื่องเกี่ยวกับความเป็นธรรมในสังคม ทรงมีความเห็นว่า วิธีแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในสังคมนั้น ทรงสนับสนุนวิธีการสังคมนิยมระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทรงสนับสนุนทั้งในแนวคิดและทรงนำไปปฏิบัติเองเป็นระยะเวลานานถึง ๒๐ ปีมาแล้ว พระองค์ท่านได้ทรงทดลองทำในโครงการต่าง ๆ และทรงเห็นว่าโครงการหมู่บ้านสหกรณ์อเนกประสงค์ที่ได้ดำเนินการหลายแห่ง เช่น โครงการจัดพัฒนาที่ดินหุบกะพง โครงการพัฒนาที่ดินหนองพลับ โครงการระบายน้ำพรุบาเจาะ ซึ่งที่ดินบางแห่งก็เป็นที่ดินพระราชทาน บางแห่งก็เป็นที่ซึ่งหน่วยงานราชการช่วยบุกเบิกให้ บางแห่งไม่ได้อยู่ในนามของผู้ใด การทำการพัฒนามีวัตถุประสงค์เพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านการผลิตอย่างสูงสุด ส่งเสริมให้ราษฎรมีที่ดินสำหรับใช้ประกอบอาชีพและอยู่อาศัยได้ตลอดไป และให้ราษฎรรู้จักช่วยเหลือตัวเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในทางที่จะเกิดประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวม ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ดินที่ราษฎรมีเพียงสิทธิเข้าประกอบอาชีพชั่วลูกหลาน ส่วนกรรมสิทธิ์ของที่ดินเป็นของสหกรณ์ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาการเปลี่ยนมือในการครอบครองที่ดิน เกษตรกรจะเลือกพวกของเขาเองบริหารงานของหมู่บ้านสหกรณ์อเนกประสงค์ของเขา โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องสนับสนุน และแนะนำทางด้านวิชาการ


ผลการดำเนินงานของโครงการหมู่บ้านสหกรณ์อเนกประสงค์เท่าที่ปรากฏ ได้พัฒนาที่ดินบางพื้นที่ซึ่งนับว่าคุณภาพดินไม่ดี เช่น ขนาดระดับ ๒ ใน ๑๐ ระดับ แต่ก็สามารถปลูกพืชได้ผลดี ผลิตผลต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ที่เหลือก็เฉลี่ยไปที่อื่นที่ขาดแคลน ทั้งนี้ ถ้าทำได้ทั่วประเทศ เราก็จะได้ผลผลิตเกษตรกรรมส่งเสริมเป็นสินค้าออกได้มาก ซึ่งจะได้ไปซื้อเครื่องจักรและสิ่งประดิษฐ์จากประเทศที่เหมาะจะทำการอุตสาหกรรมได้มากขึ้นด้วย เกษตรกรมีรายได้ มีความรู้สึกเป็นเจ้าของและหวงแหนย่อมคิดที่จะปกป้องรักษาความปลอดภัยที่อยู่ที่ทำกินของพวกเขาเองด้วยความสมัครใจ ความจำเป็นในการใช้กำลังตำรวจ ทหาร ไปคุ้มครองให้แก่พวกเขา ย่อมจะลดน้อยลงด้วย นับว่าเป็นวิธีการสังคมนิยมแบบเสรีประชาธิปไตย ที่หากรัฐบาลเห็นชอบด้วย ควรจะทำและรีบทำโดยเร็วในขณะนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความมั่นคงแก่ประเทศไทยโดยทั่วไป


พระองค์ท่านเสด็จฯ ไปทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการเหล่านี้เป็นระยะ ๆ ทรงเล่าถึงโครงการขุดคลองระบายน้ำที่พรุบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ที่ทรงให้กรมชลประทานดำเนินการขุดคลองระบายน้ำ แล้วจัดที่ดินเป็นรูปสหกรณ์ เพื่อใช้เป็นที่ทำกินของราษฎร การลงทุนทั้งสิ้นประมาณ ๙ ล้านบาท แม้ในปีนั้น น้ำจะท่วมมากในจังหวัดภาคใต้ แต่เท่าที่พระองค์ท่านได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในหมู่บ้าน และทอดพระเนตรยุ้งฉางเก็บข้าวแต่ละบ้านด้วยพระองค์เอง ก็ปรากฏว่ามีข้าวเก็บเต็มยุ้งฉางแทบทุกบ้าน ผิดจากแต่ก่อนซึ่งมีน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรและสำรวจเส้นทางต่าง ๆ ซึ่งบางเส้นทางเคยใช้เป็นเส้นทางขนของหนีภาษีข้ามแดน โดยพวกราษฎรเหล่านี้ แต่ก่อนก็คงมีรายได้จากการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าวอยู่ด้วย อีกทั้งได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรและสำรวจเส้นทางบริเวณเทือกเขาบูโดที่ว่ามีโจรผู้ร้ายมาก ทรงคอยแนะนำให้ราษฎรเหล่านั้นขยันทำมาหากิน ใช้ที่ดินปลูกพืชหมุนเวียน มีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรทุกระดับ ในเวลานั้นชาวไทยมุสลิมเริ่มมีความนิยมเรียนและพูดภาษาไทยมากขึ้น ซึ่งนับว่าได้ผลตามพระราชประสงค์


นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำรัสว่า พระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินฯ ยังมีส่วนที่ควรแก้ไขเกี่ยวกับเรื่องการกำหนดจำนวนที่ดินที่เกษตรกรใช้ประกอบอาชีพ เพราะเกษตรกรที่ขยันและมีเครื่องกล เครื่องทุ่นแรง ก็ย่อมจะทำการเพาะปลูกได้มาก ส่วนพวกเกียจคร้านย่อมจะทำได้น้อย นอกจากนั้นยังเกี่ยวกับคุณภาพของที่ดินและพืชที่จะเพาะปลูกด้วย พระองค์เองทรงเห็นว่า การแบ่งส่วนราชการของเรามีกระทรวงมากเกินไป กระทรวงหลายกระทรวงควรจะรวมกันได้เป็นกระทรวงเดียว ทำหน้าที่ด้านพัฒนาและวางแผนในด้านการผลิตด้านต่าง ๆ แล้วกระจายอำนาจการบริหารไปสู่ท้องถิ่นให้มากที่สุด การปกครองของฝ่ายราชการก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งที่ควรแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น การคอรัปชั่นต่าง ๆ ที่มีอยู่ควรกำจัดให้ลดน้อยลงไปให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนประกอบต่าง ๆ น่าจะดีตามขึ้นมาเอง ...


... พระองค์เองทรงได้รับการโจมตีจากบุคคลบางกลุ่ม ทั้งโดยทางลับและเปิดเผยว่าทรงเป็นศักดินา นำไปเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์สมัยโบราณครั้งกรุงสุโขทัยว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงเลี้ยงแต่คนใกล้รั้วใกล้วัง แต่กดหัวราษฎรอื่น ไม่ให้มีความรู้ ให้โง่เขลาเพื่อปกครองง่าย แต่พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านย่อมพิสูจน์ได้ดีว่า ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรทุกสารทิศและทุกชั้นวรรณะ เพื่อทรงส่งเสริมแนะนำให้ประชาชนมีความรู้ในการทำมาหาเลี้ยงชีพ และทรงส่งเสริมการศึกษาหาความรู้ ทรงยินดีต้อนรับและสนทนากับบุคคลทุกประเภท ใครจะเข้าเฝ้าฯ ก็ไม่จำเป็นต้องหมอบคลานกราบไหว้อย่างที่เขากล่าวหา และไม่จำเป็นต้องแต่งกายวิจิตรพิสดารเข้าเฝ้าฯ จะพูดราชาศัพท์ก็ได้ หรือจะใช้คำพูดธรรมดาสามัญก็มิได้สนพระราชหฤทัยแต่อย่างใด ทรงยกตัวอย่างนายประทีป เสียงหวาน เวลาเข้าเฝ้าฯ แต่งเครื่องแบบสามล้อธรรมดา ทรงยินดีต้อนรับและทรงสนทนากับเขา แต่ครั้งนายประทีปแต่งเครื่องแบบสามล้อตามอาชีพของเขาไปประชุมสภานิติบัญญัติ (สภาสนามม้า) กลับมีคนแนะนำให้นายประทีปแต่งเครื่องแบบสมาชิกสภา ซึ่งทรงเห็นว่าไม่จำเป็นเลย ...


... นอกจากงานในหน้าที่ที่ผมได้รับในตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแล้ว ผมยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอยู่ ๑๐ ปี ๖ เดือน ๑๔ วัน ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ หลายครั้งหลายหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการนำทูตต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ ถวายพระราชสาส์นและอักษรสาส์นตราตั้ง หลังจากเสร็จพิธีแล้ว จะทรงพระดำเนินมาหาผม และทรงพระราชปฏิสันถารในเรื่องต่าง ๆ อยู่เสมอ ซึ่งผมเห็นว่าทรงพระปรีชาสามารถทางด้านต่างประเทศอย่างดียิ่งเป็นพิเศษ สำหรับเอกอัครราชทูตไทยที่ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปประจำในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนั้น ก่อนไปรับตำแหน่งจะต้องเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานพระราชสาส์นตราตั้ง ก็จะพระราชทานพระราชดำรัสแนะนำแก่เอกอัครราชทูตเหล่านี้ ในการที่จะนำไปปฏิบัติในประเทศต่าง ๆ เพราะถือว่าเอกอัครราชทูตเสมือนเป็นผู้แทนของพระองค์เช่นกัน ทรงรู้จักประเทศต่าง ๆ ดีอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การวางตนและปฏิบัติตนเช่นไรต่อประเทศเหล่านั้น ซึ่งเอกอัครราชทูตจะรับใส่เกล้าฯ และน้อมนำไปปฏิบัติต่อไป ทรงให้ความใกล้ชิดกับกระทรวงการต่างประเทศมาก


ในสมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดให้มีการประชุมทูตในภาคต่าง ๆ เช่น ในภาคพื้นยุโรป เอเชีย อเมริกา ซึ่งรวมประเทศใกล้เคียง จัดผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาให้ความรู้ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม แก่บรรดาเอกอัตราราชทูตไทยที่มาร่วมสัมมนา ต่อมาผมเห็นว่าน่าจะมีสัมมนาทูตทุกปี ปีละครั้ง จึงเริ่มจัดขึ้นในกรุงเทพฯ โดยเชิญเอกอัครราชทูตไทยมาจากทั่วโลกมาประชุมสัมมนาร่วมกันเป็นเวลา ๓–๔ วัน เพื่อมาดูงานความก้าวหน้าของประเทศไทยในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร และถือโอกาสนำทูตทั้งหมดเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะใช้เวลานานประมาณ ๓ ชั่วโมง ในการเข้าเฝ้าแต่ละครั้งฯ ส่วนใหญ่ก็จะมีพระราชดำรัสถึงสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น สถานการณ์โลก ซึ่งทุกครั้งจะมีพระราชดำรัสอย่างละเอียด ถี่ถ้วน เสร็จแล้วก็จะพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้บรรดาเอกอัครราชทูตได้กราบบังคมทูลถามปัญหาที่ต้องการจะทราบจากพระองค์เอง ซึ่งก็นับว่าได้ผลมาก เพราะบางคนก็ยกคำถามที่มีประโยชน์น่าสนใจ ที่ผมจดจำไว้ก็มี เช่น หม่อมหลวงพีระพงศ์ เกษมศรี เป็นคนหนึ่งที่สนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ


ต่อมาเมื่อท่านราชเลขาธิการ หม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์ มีอายุมากขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมหลวงพีระพงศ์มาเป็นรองราชเลขาธิการก่อน เพื่อเรียนรู้งานและให้เป็นราชเลขาฯ ในเวลาต่อมา ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่ง หลังจากเอกอัครราชทูตถวายอักษรสาส์นตราตั้งกลับไปแล้ว ผมและหม่อมหลวงพีระพงศ์ยังคงอยู่ต่อไปที่ชั้นบนของพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงเข้ามามีพระราชปฏิสันถารและพระราชดำรัสกับหม่อมหลวงพีระพงศ์ว่า อย่าไปใช้วิธีการของฝรั่งมากเกินไปเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายต่อพม่า ควรจะหลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นการกระทบกระทั่งสัมพันธไมตรีอันดีกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา ซึ่งได้ฉายให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยทีทรงห่วงใยและทรงคำนึงถึงมิตรภาพระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นพิเศษ ...


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “พระราชาผู้ทรงนำไทยผ่านพ้นวิกฤต” โดยท่านพลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP