ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ควรปฏิบัติอย่างไรต่อผู้ที่ชอบยุแยงให้ผู้อื่นทะเลาะกัน



ถาม – เราควรปฏิบัติตัวอย่างไรต่อผู้ที่ชอบยุแยงให้ผู้อื่นทะเลาะกันคะ



พวกที่ชอบนินทาว่าร้ายหรือว่าใส่ไคล้ หรือว่ายุให้รำตำให้รั่ว
หรือว่าเขาอยู่กันดีๆ ไม่ชอบ มีความทุกข์นะ
อยากจะมีความสุขด้วยการเห็นเขาทะเลาะเบาะแว้งกัน
ก็จัดเป็นพวกที่อยู่ในกลุ่มคนที่ละเมิดศีลข้อมุสาวาทนะ
ถ้าหากว่าเรามองผลของกรรมของเขาที่เขาจะต้องประสบอยู่แล้ว
ก็คือวันๆ ไม่มีความสุขที่แท้จริงหรอก
มันมีความสุขมีความสะใจที่ได้เห็นคนอื่นเขาตีกัน เวลาตัวเองยุแยงตะแคงรั่วได้สำเร็จ
แต่ว่าความร้อนหรือความทรมานใจ ความกระวนกระวายใจที่มันมีอยู่ในหมู่คนพวกนี้นี่นะ
มันไม่สามารถที่จะนอนอย่างเป็นสุขได้ ไม่สามารถจะนั่งอยู่เฉยๆ แล้วหมดความฟุ้งซ่านไปได้
วันๆ มีแต่กลุ่มความคิดแบบที่มันมีอาการโป้งป้าง มีอาการทุรนทุราย
มีอาการกระสับกระส่ายไม่อยู่นิ่งนะครับ



ผมเคยเห็นนะ บางคนนี่ชอบธรรมะนี่แหละ
แล้วก็โดยสภาพทั่วไปภายนอก ผิวๆ เหมือนกับมีความเย็น
เหมือนกับอยากจะเอาดี อยากจะได้ดีทางธรรม
แต่ด้วยนิสัยติดตัวที่เห็นคนมีความสุขกันไม่ได้ ส่วนลึกเนี่ย
ไปกระตุ้นให้ส่วนลึกเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา
อยากจะเห็นคนตีกันมากกว่า อยากจะเห็นคนเข้าใจผิดกันมากกว่า
อย่างบางทีก็เริ่มต้นจากข้ออ้างด้วยตัวเองนะ
บอกตัวเองว่าไหนลองดูสิ ที่เขาดีกัน ดีจริงหรือเปล่า จะลองของ
จะทดลองดูว่าทองจะเป็นทองแท้หรือเปล่า ทำตัวเป็นหินลองทอง
ก็พอยุให้เขาเหมือนกับเข้าใจผิดกันได้ ก็จะมีความรู้สึกกระหยิ่มใจ
มีความสะใจว่านี่ไง เห็นไหม ไม่ได้ดีกันจริง ไม่ได้มีความรักกันจริง



อย่างนี้นะคือมันไม่มีใครเอาความคิดมาพูดกันนะ
ไม่มีใครบอกหรอกนะว่านี่ฉันไปยุให้คนเขาตีกัน
ก็เพราะว่ามีความสุขที่ได้เห็นสันติภาพหายไป กลายเป็นสงครามขึ้นมาแทน
มันไม่มีใครพูดกันว่าตัวเองคิดอย่างนี้
แต่ตัวธรรมชาติของจิตเอง ตัวธรรมชาติของกรรมวิบากเอง เขาเห็น เขารู้อยู่
ว่าเกิดอะไรขึ้นที่เป็นเจตนาปรุงแต่งใจ มีความคิดชั่วร้ายเกิดขึ้น
แล้วไม่นิยามนะ คนที่ทำนี่จะไม่นิยามว่านี่คือการคิดชั่วร้าย
แต่เป็นการคิดว่า เออ จะลองดูสิว่าเขาจะดีกันจริงไหม
หรือไม่ก็อาจจะมีข้ออ้างต่างๆ นานา
โดยที่สุดสรุปแล้ว มันมีอาการเล็งของใจว่าอยากให้เขาตีกันนั่นแหละ
มันก็หนีไปเป็นอื่นไม่ได้ มันมีเจตนาชั่วร้ายนั่นแหละ



ทีนี้คำถามของคุณก็คือจะทำอย่างไรกับคนพวกนี้
ถ้าหลักการนะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
ท่านก็บอกว่าคนเขาร้ายมาอย่างไร เราก็ให้ดีเป็นตรงกันข้ามกลับไปนะครับ

เขาโกหกมา เราพูดคำจริงไป
เขายุแยงตะแคงรั่วมา เราก็ส่งเสริมสรรเสริญบุคคลที่ควรส่งเสริมสรรเสริญให้เขาเห็น
ให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างว่าการตัดสินใจที่จะทำให้เกิดสันติภาพ
การตัดสินใจที่จะทำให้เกิดความปรองดองกัน
การตัดสินใจที่จะทำให้มีความคิดดีๆ เกิดขึ้นต่อกันมันเป็นอย่างไร ทำให้เขาเห็น
แล้วก็ถ้าเรามีความจริง มีความเป็นของจริงนะ
คือใจของเราอยากจะให้เกิดความรู้สึกสมานฉันท์
ให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันจริงๆ ไม่ได้มีความคิดแอบแฝงอะไรอยู่
ไม่ได้มีประเภทที่ว่าซ่อนมีดไว้ข้างหลัง ปากปราศรัยน้ำใจเชือดคออะไรแบบนี้
ความดีจริงๆ ของเราอาจจะทำให้เขาเกิดความรู้สึกอยากจะเอาดีตามได้บ้าง


นี่คือหลักการของพระพุทธเจ้านะ
คือว่าถ้าเรามีดีเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเห็นได้

หรือว่ามีพลังแห่งความสว่างมากพอที่จะไปกลืนความมืดของเขา
คือสว่างพอที่จะไปขับไล่ความมืดในใจของเขาได้

อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นขั้วตรงข้ามกับสิ่งที่เขาทำอยู่ สิ่งที่เขาเป็นอยู่
วันหนึ่งมันอาจจะชนะได้ ถ้ากำลังของเรามีมากพอ
แล้วก็ตัวเราเป็นของจริงนานพอ



ตามหลักที่มีไว้ในอภิธรรมก็คือ กำลังของกุศลอยู่เหนือกว่ากำลังของอกุศล
พูดง่ายๆ ว่าถ้าน้ำหนักความดีกับความชั่วเอามาชั่งวัดกัน
สมมติว่ามีปริมาณน้ำหนัก ๕๐-๕๐ เท่ากัน
ตัวความสว่างมันจะชนะ ตัวกุศลจะชนะอกุศล
นั่นเพราะอะไร ก็ขอให้คิดดูง่ายๆ ก็แล้วกันนะ
อยู่ในที่มืด แล้วมีแสงสว่างผุดขึ้นมา ความมืดกับความสว่างอันไหนชนะ
คือแม้กระทั่งว่าเป็นไฟฉายดวงเล็กๆ นะ
ก็สามารถทำให้ความมืดในอาณาบริเวณกว้างขวางมันหายไป
กลายเป็นการเห็นว่ามีทัศนียภาพอยู่อย่างไรนะในบริเวณรอบๆ
หรือว่าเราสามารถที่จะมองจากที่ไกล
แค่ไฟฉายดวงเล็กๆ มันเห็นกันได้ไกลเป็นกิโลๆ
หรือแม้กระทั่งดวงดาวนะ อยู่ห่างออกไปเป็นร้อยๆ ปีแสง เป็นล้านๆ ปีแสง
ก็ยังสามารถที่จะเห็นได้ ถึงแม้ว่าจะต้องกินเวลานานหน่อย
กินเวลาเป็นร้อยปี กินเวลาเป็นล้านปี กว่าจะได้เห็นแสง แต่ก็ได้เห็น
ทั้งๆ ที่มันวิ่งผ่านความมืดของจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลมา
อุตส่าห์มากระทบตาเราได้


ตรงนี้แหละที่โดยธรรมชาตินะ
แสงสว่างชนะความมืด แสงสว่างเห็นจากที่ไกลได้
ยิ่งถ้าหากว่าเรามีกลุ่มสังคมที่มีความสว่างมากพอ
สมมตินะว่ามีดีสักหมื่นคน มันอาจจะชนะความมืดของคนเป็นแสนหรือเป็นล้านได้นะ
ก็อย่างที่เปรียบเทียบให้ฟังว่า ในห้องมืดถ้าหากว่าเราฉายแสง
แค่แม้แต่ไฟฉายดวงเล็กๆ ก็สามารถที่จะเอาชนะความมืดได้



นี่ตรงนี้นะพระพุทธเจ้าตรัสนะ
สรุปก็คือถ้าเราเห็นคนชั่วอย่างไร ให้เราทำดีเป็นตรงกันข้ามอย่างนั้น

แล้วถ้าหากว่าความดีของเราจริงพอ นานพอ
ก็จะเอาชนะความชั่วได้ในที่สุดนะครับ

อันนี้เป็นหลักการ ส่วนรายละเอียดก็รู้ๆ กันน่ะนะว่ามันไม่ใช่ง่ายๆ หรอก
ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่เราจะไปเปลี่ยนนิสัยของคนที่ติดไปแล้ว มีความเคยชินอย่างนั้นไปแล้ว
จะให้เขาเปลี่ยนแปลงกันง่ายๆ มันคงไม่ใช่ของที่จะทำกันได้หวานๆ


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP