จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

พ่อหลวงของแผ่นดิน (๙) ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับคณะองคมนตรี (ตอนที่ ๓)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



207 destination

 


สืบเนื่องจาก ๒ ตอนที่แล้ว ซึ่งผมได้นำเนื้อหาบางส่วนจาก
หนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี”
ซึ่งได้จัดทำขึ้นเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ
ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ มานำเสนอต่อท่านผู้อ่าน
ในตอนนี้ ผมจะขอนำบางส่วนของหนังสือมาเสนอต่อท่านผู้อ่านเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้



... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรู้จักทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย แผนที่ของพระองค์ท่านเรียกได้ว่าดีและละเอียดกว่าของทุก ๆ คน เพราะทรงบันทึกขึ้นมาจากการเสด็จด้วยพระองค์เอง แม้แต่กรุงเทพฯ ที่เราคุ้นชินและรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ราบเรียบ พระองค์ก็ยังทรงรู้ว่า ตรงไหนเป็นที่ต่ำ ตรงไหนเป็นที่สูง และเพราะเสด็จฯ มาแล้วทุกพื้นที่ ทำให้ปัญหาหนึ่งที่พระองค์ท่านทรงมีความห่วงใยมาก คือปัญหายาเสพติด ทรงพระราชดำริที่จะหาวิธีป้องกันไม่ให้พสกนิกรเฉียดกรายใกล้ความเลวร้ายนี้มาอย่างต่อเนื่อง


วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๓ ขณะที่ผมดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ เพื่อกราบบังคมทูลรายงาน เรื่องการหาวิธีป้องกันการนำยาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทยทางด้านเหนือ พื้นที่เพ่งเล็งได้แก่พื้นที่ตั้งแต่ช่องทางกิ่วผาวอก จังหวัดเชียงใหม่ ไปจนถึงอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยพระองค์ท่านพระราชทานแนวทาง ในการสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดนว่า ต้องกระทำในลักษณะผสมผสาน มีการเคลื่อนไหวควบคู่ไปกับปฏิบัติการทางจิตวิทยาเพื่อสร้างความใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มหรือสมาคมแม่บ้าน ควรเข้าไปมีบทบาทในการช่วยเหลือแนะแนวทาง แต่ก่อนอื่นจะได้ต้องได้ข้อมูลพื้นที่ปฏิบัติการทั้งหมด รวมทั้งปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของราษฎรมาเสียก่อน พระองค์ท่านยังพระราชทานแนวทางแก้ไขมาอีกว่า ที่นั่นมีโครงการหลวงในพื้นที่อยู่แล้ว หมู่บ้านที่มีอยู่บริเวณนั้นทั้งหมดก็มี ๔๓ หมู่บ้าน อยากให้นำทั้ง ๔๓ หมู่บ้านนี้ เข้ามารวมอยู่ในแผนงานที่จะเป็นเครือข่ายในการป้องกันการนำยาเสพติดข้ามพรมแดนเข้ามา ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง เพราะทำให้ผมรู้ว่าจะดำเนินการกับภารกิจนี้อย่างไร แนวทางที่พระองค์ท่านได้พระราชทานไว้ สรุปได้ดังนี้

๑. การสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดนต้องกระทำในลักษณะผสมผสาน มีการเคลื่อนไหวควบคู่ไปกับการปฏิบัติการจิตวิทยา เพื่อสร้างความใกล้ชิด
๒. จะต้องได้ข้อมูลพื้นที่ปฏิบัติการทั้งหมด รวมทั้งปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของราษฎร
๓. การปฏิบัติงานจะต้องร่วมกันทุกฝ่าย
๔. พื้นที่เพ่งเล็งในการปฏิบัติงาน ได้แก่ พื้นที่ช่องทางกิ่วผาวอก จังหวัดเชียงใหม่ ต่อเนื่องไปจนถึงอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งนี้ ลักษณะการดำเนินงานมิใช่โครงการใหญ่ แต่เป็นงานเล็ก ๆ เช่น ฝายกั้นน้ำ และใช้ระบบการส่งน้ำด้วยท่อ โดยกลุ่มหรือสมาคมแม่บ้านควรมีบทบาทเข้าไปช่วยเหลือ ตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จในห้วงที่ผ่านมา คือโครงการห้วยตึงเฒ่า ซึ่งหากจะดำเนินการต่อ ราษฎรในพื้นที่สูงสามารถประสานงานกับหม่อมภีศเดช รัชนี ได้โดยตรง


จากยุทธศาสตร์พระราชทานข้างต้น ทำให้ผมสามารถน้อมนำไปปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผลได้ โดยเริ่มจากการมอบหมายให้กองกำลังนเรศวรและกองกำลังผาเมืองประสานงานและร่วมกันรับผิดชอบ ดำเนินงานในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ กองทัพภาคที่ ๓ ยังส่งชุดปฏิบัติการเข้าพื้นที่อีก ๕ ชุด ซึ่งชุดปฏิบัติการเหล่านี้จะคอยทำหน้าที่ประสานงานการช่วยเหลือราษฎร ร่วมกับทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนา ๔ ประการ ดังนี้

๑. เพื่อให้ความปลอดภัยแก่ราษฎรตามแนวชายแดน ให้ปราศจากการคุกคามของผู้มีอิทธิพลในท้องที่และกองกำลังต่างชาติ
๒. เพื่อให้เป็นหมู่บ้านปลอดยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นการเสพ การค้า และการร่วมขบวนการ
๓. เพื่อให้ราษฎรตามแนวชายแดน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
๔. เพื่อให้ราษฎรตามแนวชายแดน มีความรักประเทศไทย มีความเป็นคนไทยมากขึ้น และให้ความร่วมมือกับส่วนราชการในทุกเรื่อง


ปัจจุบันโครงการนี้ก็ยังดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และได้เปลี่ยนชื่อจาก “โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ชายแดนตามแนวทางพระราชทาน” ที่ใช้เมื่อปี ๒๕๔๓ มาเป็น “โครงการหมู่บ้านพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งผมก็ยังคงเดินทางไปกับคณะทำงานตรวจเยี่ยมพื้นที่และติดตามผลการปฏิบัติอยู่เสมอ ...


... พระองค์ท่านยังคงพระราชทานพระราชดำรัสสั่งให้ผมช่วยดูงานด้านความมั่นคงเช่นเดิม ด้วยเหตุว่าทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ท่านอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้ที่ด้อยโอกาส งานในหน้าที่องคมนตรีของผมจึงเป็นไปในลักษณะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปเยี่ยมเยียนประชาชนตามภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะถ้าพื้นที่ใดประสบเหตุภัยธรรมชาติ


กำลังใจ คือสิ่งที่พระองค์ท่านทรงเห็นว่า ผู้คนต้องการอย่างยิ่งยวดในยามทุกข์เข็ญ เพราะฉะนั้น หน้าที่ส่วนใหญ่จึงเป็นการไปเพื่อให้กำลังใจข้าราชการในท้องที่กับเยี่ยมเยียนประชาชนที่ประสบปัญหา พร้อมกับนำสิ่งของพระราชทานไปมอบให้ การเดินทางแต่ละครั้งจะมีคณะแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี ไปคอยช่วยให้บริการด้วย เพราะเป็นที่แน่ชัดว่า เวลาเกิดวิกฤติภัยธรรมชาติเรื่องการป่วยไข้จะต้องตามมา


เวลาออกไปเยี่ยมพื้นที่ประสบภัย แนวทางหนึ่งที่ผมได้จากพระองค์ท่านมาตั้งแต่สมัยรับราชการทหารและนำมาใช้จนถึงทุกวันนี้ คือ การฟังความทุกข์ของประชาชน อย่างที่ผมได้เล่าไว้ในตอนต้น ถึงเรื่องของชาวบ้านบ้านแก่งนาง ผมจะเข้าไปถามหาปัญหาจากเขา ไปรับฟัง รับทราบว่ามีปัญหาอะไร แล้วเบื้องต้นเขาจะคิดแก้ปัญหาอย่างไร เราจะไม่เอาความคิดของเราไปใส่เขา จะฟังเขา แล้วก็ถามเขาก่อนว่า เขาคิดจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ สอดแทรกข้อคิดเห็นของเราเข้าไป และเมื่อชาวบ้านเขาเห็นด้วย เราจึงค่อยดำเนินการ โดยเราอาจจะเป็นผู้ดำเนินการบางส่วน มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปดำเนินการให้บางส่วน จึงเป็นการทำงานร่วมกันของทุก ๆ ฝ่าย ไม่ใช่ว่าจะเอาส่วนหนึ่งส่วนใดไปทำให้ แล้วส่วนที่เหลือจะอยู่เฉย ๆ ไม่ใช่ และนี่ก็คือหลักที่ได้พระราชทานแนวทางไว้เสมอว่า “ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทำ เราอย่าไปคิดแทนเขา” และจากการได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ หลายครั้งนี้เอง ที่ทำให้ผมได้รู้ซึ้งถึงความจริงข้อหนึ่ง นั่นคือ ประชาชนส่วนใหญ่มีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างมากมาย ถึงแม้พวกเขาจะไม่ได้มีโอกาสเฝ้าฯ รับเสด็จ เพราะพระองค์ท่านไม่ได้เสด็จฯ แประพระราชฐานอย่างเมื่อก่อน แต่ทุกแววตาที่ผมได้สบ ล้วนเปี่ยมไปด้วยรอยระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ผมเชื่อว่าในหัวใจของคนไทยทุกคนแล้ว พระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ “ผู้ให้” อย่างแท้จริง


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “พระมหากษัตริย์ผู้ให้” โดยท่านพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์)









... สมัยก่อนที่จะมีการสร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ที่จังหวัดสกลนคร ผมได้มีโอกาสตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรมที่เขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร ด้วยพระองค์ท่านทรงรอบรู้และสนพระราชหฤทัยอย่างมากในพระพุทธศาสนา เวลาเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรติดตามโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน จะทรงหาโอกาสเข้าสกราบนมัสการพระเถระในสายปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งขณะนั้นมีอยู่หลายรูป


ในโอกาสหนึ่งได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรบริเวณเทือกเขาภูพาน ในเขตจังหวัดสกลนคร และได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรสถานที่ที่จะทำการก่อสร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ซึ่งในการนี้เป็นการเสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เพราะสมัยนั้นความสะดวกในการเดินทางทางถนนในภาคอีสานยังมีไม่มากนัก หลังจากที่เสวยพระกระยาหารกลางวันเสร็จแล้ว ได้มีพระราชดำรัสถามผมว่า เราจะไปไหนกันดี ผมได้กราบทูลตอบว่า หากสนพระราชหฤทัยที่จะเสด็จฯ ไปทรงกราบนมัสการพระอาจารย์ในสายพระกรรมฐาน มีวัดป่าอุดมสมพร ซึ่งมีท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ อยู่อำเภอพรรณนานิคมซึ่งไม่ไกลนัก และวัดอยู่ในเส้นทางที่จะเสด็จฯ กลับที่ประทับเขื่อนน้ำอูน มีสนามฟุตบอลของโรงเรียนอยู่ใกล้กับวัด เฮลิคอปเตอร์ในขบวนเสด็จสามารถลงจอดได้ ซึ่งพระองค์ท่านทรงเห็นด้วย และได้ทรงสั่งการทางวิทยุให้จัดขบวนเสด็จ โดยที่ไม่ได้มีการเตรียมการเสด็จฯ ล่วงหน้ามาแต่ประการใดเลย แต่ทุกอย่างก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยทุกประการ


เมื่อเสด็จฯ ถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระดำเนินไปยังศาลากลางน้ำของวัดป่าอุดมสมพร ซึ่งท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ได้เตรียมรอรับเสด็จอยู่ พระองค์ท่านได้ทรงสนทนาธรรมกับท่านพระอาจารย์ฟั่นอยู่เป็นเวลานานด้วยความสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากช่วงนั้นเป็นฤดูหนาว พระอาทิตย์จะตกค่อนข้างเร็ว พอใกล้ค่ำเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในขบวนเสด็จก็ได้เข้าไปกราบบังคมทูลฯ ว่า ใกล้เวลาจะต้องเสด็จฯ กลับที่ประทับเพราะพระอาทิตย์ใกล้ตก แสงสว่างจะไม่พอเพียงและจะไม่ปลอดภัยในการเสด็จฯ ทางเฮลิคอปเตอร์ โดยเฉพาะบริเวณสนามฟุตบอลของโรงเรียนก็ไม่มีแสงสว่างจากไฟฟ้าแต่อย่างใด แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มิได้มีพระราชดำรัสตอบประการใด คงทรงสนทนาธรรมกับท่านพระอาจารย์ฝั้นต่อไปเป็นปรกติ


อีกสักครู่หนึ่งต่อมา สมุหราชองครักษ์เข้าไปกราบบังคมทูลฯ ว่าใกล้เวลาที่จะต้องเสด็จฯ กลับแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสว่า ถ้าเขาจำเป็นต้องออกเดินทาง ก็ให้เขาเดินทางกลับไปก่อนได้ และพระองค์ท่านก็ทรงสนทนาธรรมกับท่านพระอาจารย์ฝั้นต่อไป ทุกคนในที่นั้นรู้สึกมีความตื่นเต้นและสงสัยว่า เหตุการณ์จะเกิดขึ้นต่อไปอย่างไร หลังจากนั้น อีกประมาณสิบห้านาที ทุกคนได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์ติดเครื่อง และทยอยบินขึ้นไปหมดทั้งหกลำ ในโอกาสนั้น ท่านพระอาจารย์ฝั้นได้ถวายพระพรว่า แถวนี้รถของคนที่มาวัดและชาวบ้านมีอยู่หลาย สามารถจัดถวายได้สะดวกมาก


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสนทนาธรรมต่อไปจนประมาณหนึ่งทุ่มเศษ จึงได้ทรงกราบนมัสการลา วัดป่าฯ ในขณะนั้นไม่มีไฟฟ้าใช้เลย ท่านพระอาจารย์ฝั้นได้ให้พระสงฆ์จุดตะเกียงเจ้าพายุ และท่านเองได้นำส่งเสด็จที่บริเวณศาลาฉัน รถยนต์พระที่นั่งคันที่จัดถวายเป็นรถเบนซ์ค่อนข้างเก่า เป็นของศึกษาธิการจังหวัดซึ่งเข้ามาที่วัดพอดี และมีรถอื่นอีกสามสี่คันสำหรับเจ้าหน้าที่ในขบวนเสด็จ ผู้ขับรถพระที่นั่งเป็นคนของสำนักพระราชวัง ส่วนคณะตามเสด็จมีรถสองแถว ซึ่งมีสภาพไม่สู้จะสมบูรณ์นัก ได้มีรถตำรวจทางหลวงเข้ามานำขบวนเสด็จ ผมเองเดินทางกลับด้วยรถสองแถว แต่เนื่องจากสภาพรถเก่าวิ่งไม่ได้เร็ว จึงไม่สามารถตามขบวนเสด็จทัน เมื่อเดินทางกลับมาถึงเขื่อนน้ำอูน ทุกพระองค์ได้เสด็จขึ้นแล้ว คงเห็นแต่รถเบนซ์พระที่นั่งจอดอยู่เพียงคันเดียว โดยมีชายเจ้าของรถเดินวนอยู่รอบ ๆ รถคนเดียว ซึ่งเห็นได้ชัดว่า มีทั้งความปีติ ความตื่นเต้น และยังไม่มีความกล้าพอที่จะขึ้นไปขับรถกลับบ้านได้


ในเหตุการณ์ครั้งนั้น ผมมีความประทับใจหลายประการ และคงจะต้องขอบอกต่อไปว่า ผมมีความโชคดีเป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสตามเสด็จไปวัดกรรมฐานต่าง ๆ เกือบทุกวัด ทั้งในภาคอีสานและภาคเหนือ จึงได้ประจักษ์และมีความประทับใจในความเป็นอัจฉริยะในทางพระพุทธศาสนาของพระองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง ...


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกในพระพุทธศาสนา” โดยท่านเชาวน์ ณศีลวันต์)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP