จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๐๗ จิตต้องใหญ่ ใจต้องกว้าง เพื่อจะเข้าให้ถึงอนัตตา



207 talk



คุณรู้สึกถึงความมีอัตตาของใคร
ก็จากอะไรที่เกินๆในเขาหรือเธอ
เป็นต้นว่า รัศมีอัตตาที่แผ่กว้างออกมา
จากท่านๆที่บุญหนักศักดิ์ใหญ่
บีบให้คุณตัวลีบเล็กเป็นลูกหนู
หรือไม่ก็ข่มขี่ให้บี้แบนกันไปข้าง


อัตตาแรง อยากแซงทุกคน
อัตตามาก ยากจะยอมใคร
อัตตาหนัก มักมากในลาภยศ


แต่อันที่จริงแล้ว
แม้คนที่อ่อนน้อมที่สุดในโลก
โอบอ้อมอารีที่สุดในโลก
ไม่ถือสาหาความใครที่สุดในโลก
ก็ล้วน ‘มีอัตตา’ ด้วยกันทั้งนั้น
ตราบเท่าที่ยังยึดมั่นสำคัญผิด
คิดว่ากายนี้เป็นตัวของตน
รู้สึกว่าความคิดนี้เป็นตัวเรา


พระพุทธศาสนามีขึ้นเพื่อชี้ว่า
ตราบใดมีความสำคัญผิดว่ามีตัวตน
ตราบนั้น ย่อมเกิดความอยากได้อะไรๆเพื่อตัวตน


และตราบใดมีความอยากได้อะไรๆเพื่อตัวตน
ตราบนั้น จิตย่อมกระวนกระวาย เป็นทุกข์อยู่เสมอ


เพื่อจะดับอัตตา
จิตต้องเข้าถึงอนัตตา
คือ รู้ว่ากายนี้ใจนี้ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน


แต่การจะเข้าให้ถึงอนัตตา
ต้องไม่ใช่ด้วยการลดขนาดของจิต
ให้เล็กเพรียวเรียวลง
ไม่ใช่ยอมถอยจากทุกการต่อสู้
ไม่ใช่การทำตัวลีบเป็นลูกหนูต่อหน้าทุกคน
ตรงข้าม จิตต้องใหญ่ ใจต้องกว้าง
เพื่อกล้าพอจะเผชิญหน้ากับกิเลส
ที่คอยกดหัวไว้ไม่ให้รู้จักธาตุแท้ของตัวเอง
กับทั้งพร้อมพอจะยอมรับความจริง
เรื่องไม่มีตัวเองอยู่ในที่ไหนๆ


จิตต้องใหญ่ ใจต้องกว้าง
เพื่อจะเข้าให้ถึงอนัตตา
ด้วยการรู้เข้ามาในกายใจนี้
นานพอที่จะสังเกตเห็นความไม่เที่ยง ไม่เหมือนเดิม
ของลมหายใจ ของอิริยาบถ
กระทั่งรู้สึกถึงความเป็นกายว่า
ไม่มีอะไรมากกว่าความเป็นถุงใส่อึ
ไม่มีอะไรมากกว่าของแข็งของเหลวแออัดปนเป
ไม่มีอะไรมากกว่าสิ่งที่ต้องเน่าเปื่อยผุพัง
และกายอันคล้ายโพรงว่างนี้
ครองอยู่ด้วยจิตด้วยใจ
เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ ดับๆติดๆ
เดี๋ยวจิตก็ร้อน มืด เดี๋ยวจิตก็เย็น สว่าง
เป็นไปตามเหตุปัจจัย หาความแน่นอนไม่ได้
เมื่อหาความแน่นอนไม่ได้ ก็ได้ข้อสรุปที่จิตว่า
กายใจนี้ ไม่มีที่ยืน ไม่มีที่ตั้งถาวรของอัตตาใคร
มีแต่ความเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของอนัตตาจริงๆ


อัตตาบาง เมื่อจิตไปถึงความเห็นว่ากายใจไม่เที่ยง
อัตตาน้อย เมื่อจิตไปถึงความรู้ว่ากายใจเป็นอนัตตา
อัตตาหาย เมื่อจิตไปถึงการปล่อยวางอย่างยิ่งใหญ่!


ดังตฤณ
เมษายน ๖๐





review

 
การเรียนรู้ส่วนใหญ่ของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นภายนอกห้องเรียน
การมีแบบอย่างที่ดีจึงมีความสำคัญมาก
ดังความตามพระธรรมเทศนา
โดย พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)
เรื่อง "สำคัญที่แบบอย่าง" ในคอลัมน์ "สารส่องใจ"(-/\-)


บุญสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาคือบุญแบบใด
และทำอย่างไรจึงจะพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "เหตุใดภาวนามยปัญญาจึงเป็นบุญอันยิ่งใหญ่"


นวนิยายที่เรียบง่ายและงดงาม เรื่อง "เถ้าน้ำค้าง"
จากสำนวนอันคมคายของคุณชลนิล นักเขียนมากฝีมือ
ได้ดำเนินเรื่องมาเป็นตอนที่ ๒๒ แล้วนะคะ
ชีวิตของ "ลานน้ำค้าง" จะเป็นอย่างไรต่อไป
ติดตามได้ที่คอลัมน์ "วรรณกรรมนำใจ" ค่ะ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP