ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

อุปนิสสูตร ว่าด้วยธรรมที่อิงอาศัยกัน


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๖๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรารู้อยู่ เห็นอยู่
เราจึงกล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
เมื่อเราไม่รู้ไม่เห็น เราก็มิได้กล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรารู้เราเห็นอะไรเล่า ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายย่อมมี
เมื่อเรารู้เราเห็นว่า ดังนี้รูป ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป ดังนี้ความดับแห่งรูป
ดังนี้เวทนา ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา ดังนี้ความดับแห่งเวทนา
ดังนี้สัญญา ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา ดังนี้ความดับแห่งสัญญา
ดังนี้สังขาร ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร ดังนี้ความดับแห่งสังขาร
ดังนี้วิญญาณ ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ดังนี้ความดับแห่งวิญญาณ
ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายย่อมมี
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรารู้เราเห็นอย่างนี้แล ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายย่อมมี.


[๖๙] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมเป็นที่สิ้นไป เกิดขึ้นแล้ว
ญาณในธรรมเป็นที่สิ้นไป อันนั้นแม้ใด มีอยู่
เรากล่าวญาณแม้นั้นว่ามีเหตุเป็นที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวว่า ไม่มีเหตุเป็นที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งญาณในธรรมเป็นที่สิ้นไป
ควรกล่าวว่า วิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งวิมุตติว่ามีเหตุที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งวิมุตติ
ควรกล่าวว่า วิราคะ
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งวิราคะว่ามีเหตุที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งวิราคะ
ควรกล่าวว่า นิพพิทา
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งนิพพิทาว่ามีเหตุที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งนิพพิทา
ควรกล่าวว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งยถาภูตญาณทัสสนะว่ามีเหตุที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งยถาภูตญาณทัสสนะ
ควรกล่าวว่า สมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งสมาธิว่ามีเหตุที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งสมาธิ
ควรกล่าวว่าสุข
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งสุขว่ามีเหตุที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งสุข
ควรกล่าวว่า ปัสสัทธิ
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งปัสสัทธิว่ามีเหตุที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งปัสสัทธิ
ควรกล่าวว่า ปีติ
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งปีติว่ามีเหตุที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งปีติ
ควรกล่าวว่า ความปราโมทย์
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งความปราโมทย์ว่ามีเหตุที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งความปราโมทย์
ควรกล่าวว่า ศรัทธา
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งศรัทธาว่ามีเหตุที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งศรัทธา
ควรกล่าวว่า ทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งทุกข์ว่ามีเหตุเป็นที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งทุกข์
ควรกล่าวว่า ชาติ
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งชาติว่ามีเหตุที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งชาติ
ควรกล่าวว่าภพ
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งภพว่ามีเหตุที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวไม่มีเหตุที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งภพ
ควรกล่าวว่า อุปาทาน
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งอุปาทานว่ามีเหตุที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งอุปาทาน
ควรกล่าวว่า ตัณหา
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งตัณหาว่ามีเหตุที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งตัณหา
ควรกล่าวว่า เวทนา
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งเวทนาว่ามีเหตุที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลายก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งเวทนา
ควรกล่าวว่า ผัสสะ
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งผัสสะว่ามีเหตุที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งผัสสะ
ควรกล่าวว่า สฬายตนะ
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งสฬายตนะว่ามีเหตุที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งสฬายตนะ
ควรกล่าวว่านามรูป
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งนามรูปว่ามีเหตุที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งนามรูป
ควรกล่าวว่า วิญญาณ
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งวิญญาณว่ามีเหตุที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งวิญญาณ
ควรกล่าวว่า สังขารทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งสังขารทั้งหลายว่ามีเหตุที่อิงอาศัย
มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งสังขารทั้งหลาย
ควรกล่าวว่า อวิชชา
ด้วยเหตุดังนี้แล ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีอวิชชาเป็นที่อิงอาศัย
วิญญาณมีสังขารเป็นที่อิงอาศัย
นามรูปมีวิญญาณเป็นที่อิงอาศัย
สฬายตนะมีนามรูปเป็นที่อิงอาศัย
ผัสสะมีสฬายตนะเป็นที่อิงอาศัย
เวทนาที่ผัสสะเป็นที่อิงอาศัย
ตัณหามีเวทนาเป็นที่อิงอาศัย
อุปาทานมีตัณหาเป็นที่อิงอาศัย
ภพมีอุปาทานเป็นที่อิงอาศัย
ชาติมีภพเป็นที่อิงอาศัย
ทุกข์มีชาติเป็นที่อิงอาศัย
ศรัทธามีทุกข์เป็นที่อิงอาศัย
ความปราโมทย์มีศรัทธาเป็นที่อิงอาศัย
ปีติมีปราโมทย์เป็นที่อิงอาศัย
ปัสสัทธิมีปีติเป็นที่อิงอาศัย
สุขมีปัสสัทธิเป็นที่อิงอาศัย
สมาธิมีสุขเป็นที่อิงอาศัย
ยถาภูตญาณทัสสนะมีสมาธิเป็นที่อิงอาศัย
นิพพิทามียถาภูตญาณทัสสนะเป็นที่อิงอาศัย
วิราคะมีนิพพิทาเป็นที่อิงอาศัย
วิมุตติมีวิราคะเป็นที่อิงอาศัย
ญาณในธรรมเป็นที่สิ้นไปมีวิมุตติเป็นที่อิงอาศัย.


[๗๐] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อฝนเมล็ดใหญ่ตกอยู่บนยอดภูเขา
น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ยังซอกเขา ระแหง และห้วยให้เต็ม
ซอกเขา ระแหง และห้วยทั้งหลายเต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมยังหนองทั้งหลายให้เต็ม
หนองทั้งหลายเต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมยังบึงทั้งหลายให้เต็ม
บึงทั้งหลายเต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมยังแม่น้ำน้อย ๆ ให้เต็ม
แม่น้ำน้อย ๆ เต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมยังแม่น้ำใหญ่ ๆ ให้เต็ม
แม่น้ำใหญ่ ๆ เต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมยังมหาสมุทรให้เต็ม แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีอวิชชาเป็นที่อิงอาศัย
วิญญาณมีสังขารเป็นที่อิงอาศัย
นามรูปมีวิญญาณเป็นที่อิงอาศัย
สฬายตนะมีนามรูปเป็นที่อิงอาศัย
ผัสสะมีสฬายตนะเป็นที่อิงอาศัย
เวทนาที่ผัสสะเป็นที่อิงอาศัย
ตัณหามีเวทนาเป็นที่อิงอาศัย
อุปาทานมีตัณหาเป็นที่อิงอาศัย
ภพมีอุปาทานเป็นที่อิงอาศัย
ชาติมีภพเป็นที่อิงอาศัย
ทุกข์มีชาติเป็นที่อิงอาศัย
ศรัทธามีทุกข์เป็นที่อิงอาศัย
ความปราโมทย์มีศรัทธาเป็นที่อิงอาศัย
ปีติมีปราโมทย์เป็นที่อิงอาศัย
ปัสสัทธิมีปีติเป็นที่อิงอาศัย
สุขมีปัสสัทธิเป็นที่อิงอาศัย
สมาธิมีสุขเป็นที่อิงอาศัย
ยถาภูตญาณทัสสนะมีสมาธิเป็นที่อิงอาศัย
นิพพิทามียถาภูตญาณทัสสนะเป็นที่อิงอาศัย
วิราคะมีนิพพิทาเป็นที่อิงอาศัย
วิมุตติมีวิราคะเป็นที่อิงอาศัย
ญาณในธรรมเป็นที่สิ้นไป มีวิมุตติเป็นที่อิงอาศัย ฉันนั้นเหมือนกันแล.


อุปนิสสูตร จบ



หมายเหตุ อรหันตผล


(อุปนิสสูตร พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๒๖)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP