ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

เวนาคสูตร ว่าด้วยพระพุทธองค์ได้ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ ๓ อย่าง


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๕๐๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปในประเทศโกศล
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ถึงหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อเวนาคปุระ
พราหมณ์คฤหบดีชาวบ้านเวนาคปุระได้ฟังว่า ผู้เจริญ ข่าวว่า
พระสมณโคดม พระโอรสกษัตริย์ศากยะ ทรงผนวชจากตระกูลกษัตริย์ศากยะ
เสด็จถึงหมู่บ้านเวนาคปุระแล้ว ก็แล พระโคคมผู้เจริญนั้น
มีพระเกียรติศัพท์อันดีฟุ้งเฟื่องไปอย่างนี้ว่า


อิติปิ โส ภควา 
อรหํ
สมฺมาสมฺพุทฺโธ
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน
สุคโต
โลกวิทู
อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ
สตฺถา เทวมนุสฺสานํ
พุทฺโธ
ภควา

โส อิมํ โลกํ สเทวกํ
สมารกํ สพฺรหฺมกํ
สสฺสมณพฺราหฺมณึ ปชํ
สเทวมนุสฺสํ สยํ
อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา ปเวเทติ,
โส ธมฺมํ เทเสติ
อาทิกลฺยาณํ
มชฺเฌกลฺยาณํ
ปริโยสานกลฺยาณํ
สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ
เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสติ,
สาธุ โข ปน
ตถารูปานํ อรหตํ
ทสฺสนํ โหติ
แม้เพราะอย่างนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น 
เป็นพระอรหันต์
เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
เป็นพระสุคต
เป็นผู้รู้แจ้งโลก
เป็นสารถีฝึกบุรุษที่พึงฝึกได้ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า
เป็นพระศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย 
เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงกระทำให้แจ้ง
ด้วยพระปัญญาอันยิ่งด้วยพระองค์แล้ว
ทรงยังโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลก ประชาชนรวมทั้งสมณพราหมณ์
ทั้งเทพและมนุษย์ให้รู้ทั่ว,
พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงแสดงธรรม
อันงามในเบื้องต้น
งามในท่ามกลาง
งามในที่สุด
ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ
ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง,
ก็แลการได้พบเห็นพระอรหันต์ทั้งหลาย 
ผู้ทรงคุณวิเศษเห็นปานนั้น 
ย่อมเป็นการดีแล. 



ครั้งนั้น พราหมณ์คฤหบดีชาวบ้านเวนาคปุระ พากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ครั้นไปถึงแล้ว บางพวกถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า
บางพวกแสดงความยินดีกับพระผู้มีพระภาคเจ้า
กล่าวถ้อยคำที่ทำให้เกิดความบันเทิงใจต่อกันให้ระลึกถึงกัน
บางพวกน้อมอัญชลีไหว้ไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า
บางพวกร้องทูลชื่อและโคตร บางพวกนิ่ง ต่างนั่งลง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง.


พราหมณ์วัจฉโคตรชาวเวนาคปุระผู้นั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า


ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ
อินทรีย์ของพระโคดมผู้เจริญผ่องใสยิ่งนัก พระฉวีวรรณบริสุทธิ์ผุดผ่อง
ผลพุทราสุกในสารทกาล ย่อมบริสุทธิ์ผุดผ่อง แม้ฉันใด
อินทรีย์ของพระโคดมผู้เจริญก็ผ่องใสยิ่งนัก
พระฉวีวรรณก็บริสุทธิ์ผุดผ่อง ฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ผลตาลสุกที่เพิ่งหลุดจากขั้ว ย่อมบริสุทธิ์ผุดผ่อง แม้ฉันใด
อินทรีย์ของพระโคดมผู้เจริญก็ผ่องใสยิ่งนัก
พระฉวีวรรณก็บริสุทธิ์ผุดผ่อง ฉันนั้นเหมือนกัน
ทองแท่งชมพูนทที่นายช่างทองผู้ชำนาญตกแต่งดีแล้ว ที่นายช่างทองผู้ฉลาดบุดีแล้ว
วางไว้บนผ้ากัมพล เปล่งแสงส่องสว่างรุ่งเรืองอยู่ แม้ฉันใด
อินทรีย์ของพระโคดมผู้เจริญก็ผ่องใสยิ่งนัก
พระฉวีวรรณก็บริสุทธิ์ผุดผ่อง ฉันนั้นเหมือนกัน
ที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ คือ อาสันทิ บัลลังก์ โคณกะ (ผ้าโกเชาว์)
จิตติกา (เครื่องลาดทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย)
ปฏิกา (เครื่องลาดทำด้วยขนแกะสีขาว)
ปฏลิกา (เครื่องลาดทำด้วยขนแกะลายดอกไม้) ตูลิกา (เครื่องลาดที่ยัดนุ่น)
วิกติกา (เครื่องลาดขนแกะที่วิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายมีราชสีห์และเสือเป็นต้น)
อุทธโลมี (เครื่องลาดขนแกะมีชาย ๒ ด้าน)
เอกันตโลมี (เครื่องลาดขนแกะมีชายด้านเดียว)
กัฏฐิสสะ (เครื่องลาดทอด้วยด้ายทองแกมไหม)
โกเสยยะ (เครื่องลาดทอด้วยไหมล้วน)
กุตตกะ (เครื่องลาดขนแกะที่นางรำ ๑๖ นางยืนรำได้)
เครื่องลาดหลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ
เครื่องลาดทำด้วยหนังสัตว์ (อชินะ) ซึ่งมีขนอ่อนนุ่ม
เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน
เครื่องลาดมีหมอนสีแดงวางไว้ทั้ง ๒ ข้าง (เหล่านี้)
พระโคดมผู้เจริญได้ที่นอนสูงและที่นอนใหญ่อย่างนี้
ตามความต้องการตามความปรารถนา โดยไม่ยากไม่ลำบากแน่นอน.


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า พราหมณ์ ที่นอนสูงและที่นอนใหญ่
คือ อาสันทิ บัลลังก์ โคณกะ (ผ้าโกเชาว์)
จิตติกา (เครื่องลาดทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย)
ปฏิกา (เครื่องลาดทำด้วยขนแกะสีขาว)
ปฏลิกา (เครื่องลาดทำด้วยขนแกะลายดอกไม้) ตูลิกา (เครื่องลาดที่ยัดนุ่น)
วิกติกา (เครื่องลาดขนแกะที่วิจิตรด้วยสัตว์ร้ายมีราชสีห์และเสือเป็นต้น)
อุทธโลมี (เครื่องลาดขนแกะมีชาย ๒ ด้าน)
เอกันตโลมี (เครื่องลาดขนแกะมีชายด้านเดียว)
กัฏฐิสสะ (เครื่องลาดทอด้วยด้ายทองแกมไหม)
โกเสยยะ (เครื่องลาดทอด้วยไหมล้วน)
กุตตกะ (เครื่องลาดขนแกะที่นางรำ ๑๖ นางยืนรำได้)
เครื่องลาดหลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ
เครื่องลาดทำด้วยหนังสัตว์ (อชินะ) ซึ่งมีขนอ่อนนุ่ม
เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน
เครื่องลาดมีหมอนสีแดงวางไว้ทั้ง ๒ ข้าง
ของเหล่านั้นบรรพชิตหาได้ยาก และได้มาแล้วก็ไม่สมควร


ที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ ๓ อย่าง
ในปัจจุบันนี้เราได้ตามความปรารถนา โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก


ที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ ๓ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. ที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ที่เป็นของทิพย์
๒. ที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ที่เป็นของพรหม
๓. ที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ที่เป็นของพระอริยะ


ที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ ๓ อย่าง
ในปัจจุบันนี้เราได้ตามความปรารถนา โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก.


พราหมณ์วัจฉโคตรทูลถามว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
ก็ที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ที่เป็นของทิพย์
ที่พระโคดมผู้เจริญได้ตามความปรารถนา
โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ในปัจจุบันนี้ เป็นอย่างไร.


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า พราหมณ์ เราอาศัยหมู่บ้านหรือตำบลใดในโลกนี้อยู่
ในเวลาเช้า เราครองอันตรวาสก ถือบาตรจีวรเข้าไปสู่หมู่บ้านหรือตำบลนั้นแล
เพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาต หลังจากฉันเสร็จแล้ว เข้าไปสู่ชายป่า
กวาดหญ้าหรือใบไม้ที่มีอยู่ในที่นั้นรวมเป็นกองแล้วนั่งขัดสมาธิ
ตั้งกายตรงดำรงสติไว้มั่น สงัดจากกามและอกุศลกรรมแล้ว
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป เราบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสภายใน
มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
เพราะปีติคลายไป เรามีอุเบกขามีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย
บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า “ผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข”
เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับในก่อนแล้ว
เราบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
ถ้าเราผู้เป็นอย่างนี้ จงกรมอยู่ ในสมัยนั้น ที่จงกรมของเรานั้นชื่อว่าเป็นของทิพย์
ถ้าเราผู้เป็นอย่างนี้ ยืนอยู่ ในสมัยนั้น ที่ยืนของเรานั้นชื่อว่าเป็นของทิพย์
ถ้าเราผู้เป็นอย่างนี้ นั่งอยู่ ในสมัยนั้น ที่นั่งของเรานั้นชื่อว่าเป็นของทิพย์
ถ้าเราผู้เป็นอย่างนี้ นอนอยู่ ในสมัยนั้น ที่นอนของเรานั้นชื่อว่า
เป็นที่นอนสูงและที่นอนใหญ่อันเป็นของทิพย์


นี้แล คือที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ที่เป็นของทิพย์นั้น
ที่เราได้ตามความปรารถนา โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ในปัจจุบันนี้.


พราหมณ์วัจฉโคตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง
ไม่เคยปรากฏ ก็ใครอื่นนอกจากพระโคดมผู้เจริญจักได้ที่นอนสูงและที่นอนใหญ่
เป็นของทิพย์ ตามความปรารถนา โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก อย่างนี้


ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ที่เป็นของพรหม
ที่พระโคดมผู้เจริญได้ตามความปรารถนา
โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ในปัจจุบันนี้ เป็นอย่างไร.


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า พราหมณ์ เราอาศัยหมู่บ้านหรือตำบลใดในโลกนี้อยู่
ในเวลาเช้า เราครองอันตรวาสก ถือบาตรจีวรเข้าไปสู่หมู่บ้านหรือตำบลนั้นแล
เพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาต หลังจากฉันเสร็จแล้ว เข้าไปสู่ชายป่า
กวาดหญ้าหรือใบไม้ที่มีอยู่ในที่นั้นรวมเป็นกองแล้วนั่งขัดสมาธิ
ตั้งกายตรงดำรงสติไว้มั่น มีเมตตาจิตแผ่ตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วทุกหมู่เหล่า ในที่ทุกสถาน
ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีกรุณาจิตแผ่ตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วทุกหมู่เหล่า ในที่ทุกสถาน
ด้วยกรุณาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีมุทิตาจิตแผ่ตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วทุกหมู่เหล่า ในที่ทุกสถาน
ด้วยมุทิตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีอุเบกขาจิตแผ่ตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วทุกหมู่เหล่า ในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่


พราหมณ์ ถ้าเราผู้เป็นอย่างนี้ จงกรมอยู่ ในสมัยนั้น ที่จงกรมของเรานั้นชื่อว่าเป็นของพรหม
ถ้าเราผู้เป็นอย่างนี้ ยืนอยู่ ในสมัยนั้น ที่ยืนของเรานั้นชื่อว่าเป็นของพรหม
ถ้าเราผู้เป็นอย่างนี้ นั่งอยู่ ในสมัยนั้น ที่นั่งของเรานั้นชื่อว่าเป็นของพรหม
ถ้าเราผู้เป็นอย่างนี้ นอนอยู่ ในสมัยนั้น ที่นอนของเรานั้นชื่อว่า
เป็นที่นอนสูงและที่นอนใหญ่อันเป็นของพรหม


นี้แล คือที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ที่เป็นของพรหมนั้น
ที่เราได้ตามความปรารถนา โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ในปัจจุบันนี้.


พราหมณ์วัจฉโคตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง
ไม่เคยปรากฏ ก็ใครอื่นนอกจากพระโคดมผู้เจริญจักได้ที่นอนสูงและที่นอนใหญ่
ที่เป็นของพรหมตามความปรารถนา
โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก อย่างนี้


ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ที่เป็นของพระอริยะ
ที่พระโคดมผู้เจริญได้ตามความปรารถนา
โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ในปัจจุบันนี้ เป็นอย่างไร.


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า พราหมณ์ เราอาศัยหมู่บ้านหรือตำบลใดในโลกนี้อยู่
ในเวลาเช้า เราครองอันตรวาสก ถือบาตรจีวรเข้าไปสู่หมู่บ้านหรือตำบลนั้นแล
เพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาต หลังจากฉันเสร็จแล้ว เข้าไปสู่ชายป่า
กวาดหญ้าหรือใบไม้ที่มีอยู่ในที่นั้นรวมเป็นกองแล้วนั่งขัดสมาธิ
ตั้งกายตรงดำรงสติไว้มั่น รู้ชัดอย่างนี้ว่า เราละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว
ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนพื้นที่แห่งต้นตาล
ทำให้ไม่มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา
พราหมณ์ ถ้าเราผู้เป็นอย่างนี้ จงกรมอยู่ ในสมัยนั้น ที่จงกรมของเรานั้นชื่อว่าเป็นของพระอริยะ
ถ้าเราผู้เป็นอย่างนี้ ยืนอยู่ ในสมัยนั้น ที่ยืนของเรานั้นชื่อว่าเป็นของพระอริยะ
ถ้าเราผู้เป็นอย่างนี้ นั่งอยู่ ในสมัยนั้น ที่นั่งของเรานั้นชื่อว่าเป็นของพระอริยะ
ถ้าเราผู้เป็นอย่างนี้ นอนอยู่ ในสมัยนั้น ที่นอนของเรานั้นชื่อว่า
เป็นที่นอนสูงและที่นอนใหญ่อันเป็นของพระอริยะ


นี้แล คือที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ที่เป็นของพระอริยะ
ที่เราได้ตามความปรารถนา โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ในปัจจุบันนี้.


พราหมณ์วัจฉโคตรทูลถามว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง
ไม่เคยปรากฏ ก็ใครอื่นนอกจากพระโคดมผู้เจริญ
จักได้ที่นอนสูงและที่นอนใหญ่เป็นของพระอริยะตามความปรารถนา
โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก อย่างนี้


ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง
หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น
ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
จนตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.


เวนาคสูตร จบ



(เวนาคสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP