ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

เมื่อต้องทำงานร่วมกับคนที่มีความคิดแตกต่างกัน ควรใช้ธรรมะข้อใด



ถาม – เมื่อต้องทำงานร่วมกับคนที่มีความคิดแตกต่างกัน
ควรใช้ธรรมะข้อใดเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจครับ



ผมก็เคยทำงานร่วมกับคนที่มีความคิดต่างนะ
ที่พูดออกตัวนี่จะได้ไม่โดนข้อกล่าหาว่าทำได้หรือเปล่า
บางทีคนที่คิดต่างจากเรา
เราไม่รู้ว่านอกจากคิดต่างแล้ว เขาเจ็บใจเราด้วยหรือเปล่า
นอกจากคิดต่างแล้ว เขาคิดทำร้ายเราด้วยหรือเปล่า
คิดจะเลื่อยขาเก้าอี้เราด้วยหรือเปล่า
คำว่าคิดต่าง มันไม่ใช่แค่มองไม่เหมือนกันนะ
แต่ว่ามองอย่างประสงค์ร้ายด้วยหรือเปล่า



ถ้าหากว่าเราจับพลัดจับผลูไปเจอคนประเภทนี้
แล้วมันเกิดความรู้สึกว่าทำอะไรไม่ถูก
เพราะว่าคนที่จ้องจับผิดเรานะ เราทำอะไรผิดหมดแหละ
สิ่งที่เราจะต้องรักษาไว้ให้ได้ก็คือที่เหลืออยู่ คือความถูกต้องทางใจ
มันจะแตกต่างจากเขาอย่างไร มันจะถูกประสงค์ร้ายแค่ไหน
หรือว่าจะมีการด่าทอทั้งต่อหน้าและลับหลังอย่างไร
ถ้าใจเรายังถูกอยู่นะ ความรู้สึกในชีวิตเราจะไม่ผิดไปทั้งหมด



แต่ถ้าเราเอาผิดเอาถูกไปฝากไว้กับปากคนอื่น
ถือว่าความเห็น ความไม่ลงรอยกัน
คือธรรมชาติของคนนะ เวลาประชุมกัน เวลาที่ถกเถียงกัน
เกี่ยวกับเรื่องของมุมมอง ความแตกต่างในเรื่องภาระหน้าที่การงาน
ถกเถียงกันเสร็จจะรู้สึกว่ามีอะไรผิดๆ ตกค้างอยู่ในใจ
มันจะบอกไม่ถูก แบบรู้สึกเหมือนกับยังไม่เสร็จ
แล้วไม่สบายใจ มีความรู้สึกว่าโลกนี้ไม่พอดี มันไม่ฟิต (
fit)
มีอะไรบางอย่างผิดที่ผิดทาง ผิดฝาผิดตัวอยู่ตลอดเวลา



อันนี้แหละที่ผมพูดถึงว่าถ้าคุณมีธรรมะที่ถูกอยู่ในใจ
เป็นแกนอ้างอิง เป็นความสว่างที่เหนือกว่าความมืด
อันเกิดจากการถกเถียงกัน แล้วก็ได้ข้อสรุปไม่ตรงกัน
ความสว่างนี้ตราบใดยังฉายอยู่ คุณจะมีใจที่ถูกเป็นหลักเป็นที่ตั้ง
แล้วใจที่ถูกนี้มันจะหาทางพูด มันจะหาทางทำ
อย่างที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้



ผมไม่ได้บอกว่านี่คือวิธีที่จะทำให้คุณไม่ต้องแตกต่างจากคนอื่น
หรือว่าทำให้คนที่เขาเห็นต่างจากคุณกลายมาเป็นพวก
กลายมาเป็นเพื่อน หรือกลายมาเป็นผู้ร่วมงานที่ดี มันไม่ใช่อย่างนั้นนะ
แต่หมายถึงใจของคุณน่ะ จะไม่เป็นแหล่งผลิตเหตุการณ์ผิดๆ
มากไปกว่าที่มันกำลังเกิดขึ้น มากไปกว่าที่มันกำลังเป็นอยู่
สรุปคำตอบง่ายๆ ขอให้ใจถูก
แล้วทุกอย่างจะดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เอง








ถาม - พูดง่ายๆ ก็คืออย่าพยายามไปเปลี่ยนคนอื่นเลยใช่ไหมครับ


คือที่ผมบอกมาทั้งหมด ไม่ได้พูดเรื่องข้างนอก แต่พูดเรื่องข้างใน
อย่างเมื่อกี้ยกตัวอย่าง เวลาเราเถียงกับคน แล้วมันไม่ลงรอยกัน
มันรู้สึกว่าแกก็ผิดนะ ฝั่งเราก็บอก แกผิด ฝั่งเขาก็บอก แกผิด
ทั้งๆ ที่ตอนเถียงกันเรามั่นใจว่าเราถูกนะ
แต่พอเถียงกันเสร็จ มันมีความผิดอะไรบางอย่างตกค้างอยู่ในใจเรา
คือมันทำให้เขายอมรับไม่ได้ไง
อย่างน้อยเราต้องตกค้างกับความรู้สึกว่า นี่ มันยังคิดผิดอยู่
เสร็จแล้วพอความรู้สึกว่ามันยังคิดผิดอยู่ มันอยู่ในใจเรา มันมีอะไรผิดๆ
คือบางทีไม่ใช่คิดว่าเป็นความผิดของเรา
แต่มันเป็นความรู้สึกที่ไม่ถูกที่ถูกทาง ที่ไม่สะอาด ที่มันยังมืดๆ หม่นๆ มัวๆ
อันนี้ที่ผมพูดถึงนะ นี่คือธรรมชาติ



แต่ถ้าหากว่าเราอยู่กับธรรมะ
จนกระทั่งแน่ใจว่าจิตของเรานี่มันขึ้นต้นมาถูก คือเป็นกุศลธรรม

คือคิดอะไร คิดอย่างน้อยไม่ไปทำร้ายเขา
คิดอย่างน้อยคือไม่ไปอยากจะประหัตประหารเขาด้วยคำพูด หรือฝากความเจ็บใจไว้
อย่างน้อย มันไม่ทำอะไรผิดๆ เพิ่มแล้ว



แต่ฝ่ายเขาจะทำแค่ไหน อันนั้นเป็นฝั่งของเขานะ
ซึ่งเขาจะต้องไปรับผลกับความมืดทางจิตของเขาต่อไป
แต่ของเรา อย่างน้อยที่สุด กลับบ้าน โอเค อาจจะยังไม่สบายใจ
แต่มันจะไม่ยุ่งยากใจเพิ่มขึ้น ไม่มาต้องคิดว่า โอ้โห นี่ ไม่น่าพูดอย่างนี้เลยนะ
หรือว่าวันหนึ่งมันเกิดดีๆ กันขึ้นมา อยากจะญาติดี
แล้วมานึก เอ๊ะ ไปพูดขนาดนั้น มันจะดีกันได้อย่างไรไหว อะไรแบบนี้นะ
พูดง่ายๆ ใจที่ถูก มันจะไม่ทำผิดเพิ่ม



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP