จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

พ่อหลวงของแผ่นดิน (๖) พระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



203 destination


ในตอนที่แล้วได้อัญเชิญพระราชดำรัสบางส่วน
เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมานำเสนอท่านผู้อ่านแล้ว
ในตอนนี้ ขอนำพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมานำเสนอเพิ่มเติมครับ



“คำว่า เศรษฐกิจพอเพียงนี้ไม่มีในตำรา ไม่เคยมีระบบเศรษฐกิจพอเพียง. มีอย่างอื่นแต่ไม่ใช้คำนี้. ปีที่แล้วพูดว่า เศรษฐกิจพอเพียงเพราะหาคำอื่นไม่ได้. และได้พูดอย่างหนึ่งว่า เศรษฐกิจพอเพียงนี้ ให้ปฏิบัติเพียงครึ่งเดียว คือไม่ต้องทั้งหมด หรือแม้จะเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ. ในคราวนั้น เมื่อปีที่แล้วนึกว่าเข้าใจกัน แต่เมื่อไม่นาน เดือนที่แล้ว มีผู้ที่ควรจะรู้ เพราะว่าได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนา มาช้านานแล้ว มาบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี่ดีมาก แล้วก็เข้าใจว่าปฏิบัติเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น หมายความว่า ถ้าทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ของประเทศก็จะพอ. ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง และทำได้เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น ไม่ได้แปลว่าเศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ.


ต้องพูดเข้าในเรื่องเลย เพราะหนักใจว่า แม้แต่คนที่เป็นดอกเตอร์ก็ไม่เข้าใจ. อาจจะพูดไม่ชัด แต่เมื่อกลับไปดูที่เขียนจากที่พูด ก็ชัดแล้วว่าควรจะปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงไม่ต้องทั้งหมด เพียงครึ่งหนึ่งก็ใช้ได้ แม้จะเป็นเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ. หมายความว่าวิธีปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ไม่ต้องทำทั้งหมด และขอเติมว่าถ้าทำทั้งหมดก็จะทำไม่ได้. ถ้าครอบครัวหนึ่ง หรือแม้หมู่บ้านหนึ่งทำเศรษฐกิจพอเพียงร้อยเปอร์เซ็นต์ก็จะเป็นการถอยหลังถึงสมัยหิน สมัยคนอยู่ในอุโมงค์หรือในถ้ำ ซึ่งไม่ต้องอาศัยหมู่อื่น เพราะว่าหมู่อื่นก็เป็นศัตรูทั้งนั้น ตีกัน ไม่ใช่ร่วมมือกัน จึงต้องทำเศรษฐกิจพอเพียง. แต่ละคนต้องหาที่อยู่ ก็หาอุโมงค์หาถ้ำ. ต้องหาอาหาร คือไปเด็ดผลไม้หรือใบไม้ตามที่มี หรือไปใช้อาวุธที่ได้สร้างได้ประดิษฐ์เอง ไปล่าสัตว์. กลุ่มที่อยู่ในอุโมงค์ในถ้ำนั้น ก็มีเศรษฐกิจพอเพียง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์. ก็ปฏิบัติได้.


แต่ต่อมาเมื่อออกจากถ้ำ ในสมัยต่อมา ที่สร้างบ้านเป็นที่อาศัย ก็เริ่มจะเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหลือประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะว่ามีคนผ่านไปผ่านมา ซึ่งไม่ได้เป็นศัตรู เอาอะไร ๆ มาแลกเปลี่ยนกัน. เช่นคนที่มาจากไกล ผ่านมามีหนังสัตว์ที่เหมาะสมที่จะใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ก็ซื้อด้วยการแลกเปลี่ยน ด้วยอาหาร เช่น ปลาที่จับได้ในบึง. อย่างนี้ก็ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงแล้ว. เวลาก้าวล่วงมาอีก มาถึงปัจจุบันนี้ ถ้าคนที่อยู่ทั้งข้างนอกทั้งข้างในนี้ จะปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คงทำไม่ได้. และถ้าสำรวจตัวเอง หรือเศรษฐกิจของตัวเอง ก็เข้าใจว่า จะเห็นได้ว่าไม่ได้ทำ. เข้าใจว่าทำได้ไม่ถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ถึงเศษหนึ่งส่วนสี่ เพราะว่าสิ่งที่ตนผลิตหรือทำ ส่วนใหญ่ก็เอาไปแลกกับของอื่นที่มีความจำเป็น. ฉะนั้นจึงพูดว่าเศรษฐกิจพอเพียง ปฏิบัติเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็ควรจะพอและทำได้. อันนี้เป็นข้อหนึ่ง ที่จะอธิบายคำพูดที่พูดมาเมื่อปีที่แล้ว


คำว่าพอเพียงมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก. ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่าพอมีพอกิน. พอมีพอกินนี้ ถ้าใครได้มาอยู่ที่นี่ ในศาลานี้ เมื่อ เท่าไหร่ ๒๐ ๒๔ ปี เมื่อปี ๒๕๑๗. ๒๕๑๗ ถึง ๒๕๔๑ นี้ ก็ ๒๔ ปี ใช่ไหม. วันนั้นได้พูดว่า เราควรจะปฏิบัติให้พอมีพอกิน. พอมีพอกินนี้ก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง. ถ้าแต่ละคนพอมีพอกิน ก็ใช้ได้. ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้น ก็เริ่มจะไม่พอมีพอกิน. บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย. สมัยก่อนนี้พอมีพอกิน มาสมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิน. จึงต้องมีนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะให้ทุกคนมีพอเพียงได้. ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ. แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ. อันนี้ก็ความหมายอีกอย่างของเศรษฐกิจ หรือระบบพอเพียง. เมื่อปีที่แล้วตอนที่พูดพอเพียง แปลในใจ แล้วก็ได้พูดออกมาด้วย ว่าจะแปลเป็น Self-sufficiency. (พึ่งตนเอง) ถึงได้บอกว่าพอเพียงแก่ตนเอง แต่ความจริงเศรษฐกิจพอเพียงนี้ กว้างขวางกว่า Self-sufficiency คือ Self-sufficiency นั้นหมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง (พึ่งตนเอง)


บางคนแปลจากภาษาฝรั่งว่า ให้ยืนบนขาตัวเอง. คำว่ายืนบนขาตัวเองนี่ มีคนบางคนพูดว่าชอบกล. ใครจะมายืนบนขา. คนอื่นมายืนบนขาเรา เราก็โกรธ แต่ตัวเองยืนบนขาตัวเองก็ต้องเสียหลักหกล้มหรือล้มลง. อันนี้ก็เป็นความคิดที่อาจจะเฟื่องไปหน่อย. แต่ว่าเป็นตามที่เขาเรียกว่ายืนบนขาของตัวเอง (ซึ่งแปลว่าพึ่งตนเอง). หมายความว่าสองขาของเรานี่ ยืนบนพื้น ให้อยู่ได้ไม่หกล้ม. ไม่ต้องไปขอยืมขาของคนอื่นมาใช้สำหรับยืน. แต่พอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอก็เพียงพอ เพียงนี้ก็พอดังนั้นเอง. คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย. ถ้าทุกประเทศมีความคิด – อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ - มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข. พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น. ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง.


เคยพูดว่า ท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ตรงนี้ ถ้าอยากจะไปนั่งบนเก้าอี้ของผู้ที่อยู่ข้าง ๆ เช่นนี้ไม่พอเพียงและทำไม่ได้. ถ้าอยากนั่งอย่างนั้นก็เดือดร้อนกันแน่ เพราะว่าอึดอัด จะทำให้ทะเลาะกัน. เมื่อมีการทะเลาะกัน ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย. ฉะนั้นควรที่จะปฏิบัติสิ่งที่พอเพียง ทางความคิดก็เหมือนกัน ไม่ใช่ทางกายเท่านั้น ถ้ามีใครมีความคิดอย่างหนึ่ง และต้องการบังคับให้คนอื่นคิดอย่างเดียวกับตัว ซึ่งอาจจะเป็นความคิดที่ไม่ถูก ก็ไม่สมควรทำ. ปฏิบัติอย่างนี้ก็ไม่ใช่การปฏิบัติแบบพอเพียง. ความพอเพียงในความคิดก็คือ แสดงความคิดของตัว ความเห็นของตัว และปล่อยให้อีกคนพูดบ้าง และมาพิจารณาว่าที่เขาพูด กับที่เราพูด อันไหนพอเพียง อันไหนเข้าเรื่อง. ถ้าไม่เข้าเรื่องก็แก้ไข เพราะว่าถ้าพูดกันโดยที่ไม่รู้เรื่องกัน ก็จะกลายเป็นการทะเลาะกัน. จากการทะเลาะด้วยวาจาก็กลายเป็นการทะเลาะด้วยกาย ซึ่งในที่สุดก็นำมาสู่ความเสียหาย เสียหายแก่ผู้ที่เป็นตัวละครทั้งสองคน. ถ้าเป็นหมู่ก็เลยเป็นการตีกันอย่างรุนแรงได้ ซึ่งจะทำให้คนอื่นอีกมากเดือดร้อน. ฉะนั้น ความพอเพียงนี้ก็แปลว่า ความพอประมาณและความมีเหตุผล.

(พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ
พระราชวังดุสิต วันที่ ๔ ธันวาคม พ
.ศ. ๒๕๔๑)



“คำว่า Sufficiency Economy นี้ ไม่มีในตำราเศรษฐกิจ. จะมีได้อย่างไรเพราะว่าเป็นทฤษฎีใหม่ เป็นตำราใหม่. ถ้ามีอยู่ในตำราก็หมายความว่าเรา copy มา เราลอกเขามา. เราไม่ได้ลอก ไม่อยู่ในตำราเศรษฐกิจ. เป็นเกียรติที่เขาพูดอย่างนี้ว่า SufficiencyEconomy นั้นไม่มีในตำราเพราะหมายความว่าเรามีความคิดใหม่. และโดยที่ท่านผู้เชี่ยวชาญสนใจ ก็หมายความว่าเราก็สามารถที่จะคิดอะไรได้ ถ้าเขาสนใจเขาก็จะสามารถที่จะไปปรับปรุงหรือไปใช้หลักการ เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจของประเทศและของโลกพัฒนาดีขึ้น.


ไหนไหนได้เอ่ยถึงเขื่อนป่าสักแล้ว จะขอกล่าวว่า คนเดียวทำให้สำเร็จไม่ได้หรือแม้หน่วยราชการหนึ่งเดียว ก็ทำไม่ได้. เขื่อนป่าสักนี้เริ่มต้นด้วยเป็นกิจการของกรมชลประทาน แต่กรมชลประทานทำแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้ เป็นเรื่องกว้างขวางมาก จึงต้องรวบรวมกำลังมากมาย และกลายเป็นกิจการของรัฐบาลเป็นส่วนรวม. จะว่าไปไม่ใช่รัฐบาลเดียว แต่ต้องเป็นรัฐบาลหลายรัฐบาล ถ้าพูดภาษาอังกฤษ ก็ต้องใส่ตัวเอส (s) คือหลายรัฐบาลต้องทำ.


ด้านงบประมาณ ตอนแรกก็ดูไม่แพงนัก แต่ทำไปทำมาก็แพงขึ้น ร่วมเกินสองหมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่ใช่น้อย. ดูจะเป็นเงินมาก แล้วทำไมจึงทำ. ที่สนับสนุนให้ทำ เพราะว่าเขื่อนป่าสักนี้ – อย่างที่นายกฯ ได้กล่าว – มีประโยชน์มาก. แม้จะยังไม่ได้ส่งน้ำสำหรับการเกษตร แต่ได้ทำประโยชน์แล้วตั้งแต่ปีนี้เดือนตุลาฯ พฤศจิกาฯ เขากลัวกันมากว่าน้ำจะท่วม. ได้บอกไว้แล้วว่า โครงการป่าสักมีไว้สำหรับน้ำแห้ง และมีไว้สำหรับน้ำท่วม. บางปีก็ท่วม มีน้ำมาก น้ำเกิน ทำให้มีความเสียหาย. ด้านการเกษตรสิ่งที่เพาะปลูกไว้ถูกน้ำท่วมก็เน่า เมื่อเน่าแล้วเสียหายมาก เจ้าของคือ เกษตรกรก็ไม่มีรายได้ ต้องช่วยเขา เขาก็ต้องช่วยตัวเองด้วย.


ในที่อื่น ในกรุง ในเมือง การมีน้ำมากไม่เกิดประโยชน์เช่นกัน. น้ำมาท่วมถนนทำให้การจราจรติดขัด ธุรกิจต่าง ๆ หยุดชะงัก. ความเสียหายเหล่านี้เคยคำนวณดูแล้วว่าถึงหมื่นล้าน. เมื่อปี ๒๕๒๖ หรือปีอื่นที่น้ำท่วม คำนวณดูแล้ว รัฐบาลต่าง ๆ ในระยะโน้นต้องใช้งบประมาณไปช่วยเกษตรกร และงบประมาณสูบน้ำออกจากถนนในกรุงคิดแล้วเป็นเงินประมาณหมื่นล้าน. นอกจากนี้ยังมีความเสียหายอย่างอื่น ที่ประมาณมิได้จากมลพิษ กล่าวคือ เครื่องสูบก็ต้องใช้น้ำมัน หรือถ้าไม่ได้ใช้น้ำมัน ก็ต้องใช้ไฟฟ้าซึ่งต้องผลิตด้วยเชื้อเพลิงซึ่งสร้างมลพิษ. เชื้อเพลิงหรือพลังงานที่ไม่มีมลพิษ เช่น พลังงานน้ำนั้นมีน้อย เปรียบเทียบกับพลังงานที่ใช้น้ำมันหรือลิกไนต์ซึ่งสร้างมลพิษมาก. ดังนี้ก็เสียหายทับถมขึ้นไปอีกเกินหมื่นล้านแน่. ถ้านับดูปีนี้น่าจะมีความเสียหายหมื่นล้านก็ไม่ต้องเสีย. และนอกจากไม่ต้องสูญเสีย ก็ยังทำให้เกิดมีผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเกษตรกรรมก็มีผลผลิตได้ แม้ในปีนี้เขื่อนป่าสักยังไม่ได้ทำงานในด้านชลประทาน แต่ได้ป้องกันไม่ให้น้ำท่วมพืชที่เกษตรกรเพาะปลูกไว้ นับเป็นมูลค่าเงินหลายพันล้านเหมือนกัน.


ดังนั้น ในปีเดียวเขื่อนป่าสักนี้คุ้มค่าที่ได้สร้างสองหมื่นล้านนั้นแล้ว. ค่าสร้างตัวเขื่อนและส่วนประกอบต่าง ๆ ไม่ถึงพันล้าน ที่มากเพราะว่า นอกเหนือจากตัวเขื่อนแล้ว จะต้องไปชดเชย และไปเลื่อนถนนเลื่อนรถไฟ. การที่ชดเชยให้กับผู้ที่มีที่ดินก็ทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น. ความจริงวันนั้นที่ไปเปิดเขื่อนได้บินเฮลิคอปเตอร์ไปดูขอบของอ่าง ก็เห็นบ้านที่เขาสร้างให้ผู้ที่เสียหายย้ายมาจากที่จะอยู่ในอ่าง. เขาสร้างบ้านไว้อย่างดี คุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับชดเชยก็ดีขึ้น.


อีกข้อหนึ่ง การสร้างเขื่อนป่าสักนี้ เป็นโครงการใหญ่ ต้องร่วมมือกันหลายหน่วยงาน ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ขุดดินมาถม หรือผู้ที่เป็นวิศวกรที่ออกแบบ หรือผู้ที่ทำงานเปิด-ปิดประตูควบคุมน้ำ. เป็นการร่วมมือระหว่างคนหลายจำพวกหลายอาชีพ บางคนก็ไม่ใช่วิศวกร บางคนเป็นฝ่ายปกครอง คือฝ่ายจังหวัด เช่นผู้ว่าราชการจังหวัด นางอำเภอจนกระทั่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกคนล้วนมีส่วน. กิจการใดที่ไม่มีนโยบายที่แน่วแน่ที่สอดคล้องกัน หรือมัวแต่ทะเลาะกัน ก็ไม่สำเร็จ ไม่เกิดประโยชน์จากโครงการนั้น หมดไปโดยไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ. มิหนำซ้ำยังเกิดความเดือดร้อนเกษตรกรก็เดือดร้อน ชาวกรุงก็เดือดร้อน.


ฉะนั้นโครงการต่าง ๆ หรือเศรษฐกิจที่ใหญ่ ต้องมีความสอดคล้องกันที่ไม่ใช่เหมือนทฤษฎีใหม่ ที่ใช้ที่ดินเพียง ๑๕ ไร่ และสามารถที่จะปลูกข้าวพอกิน. กิจการนี้ใหญ่กว่า แต่ก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน. คนที่ไม่เข้าใจว่ากิจการใหญ่ ๆ เหมือนสร้างเขื่อนป่าสักก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน. เขานึกว่าเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่ เป็นเศรษฐกิจที่ห่างไกลจากเศรษฐกิจพอเพียง. แต่ที่จริงแล้ว เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน

(พระราชดำรัส ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒)



เศรษฐกิจพอเพียงที่ได้ย้ำแล้วย้ำอีกแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Sufficiency economy ใครต่อใครก็ต่อว่า ว่าไม่มี Sufficiency economy แต่ว่าเป็นคำใหม่ของเราก็ได้ ก็หมายความว่าประหยัด แต่ไม่ใช่ขี้เหนียว ทำอะไรด้วยความอะลุ้มอล่วยกัน ทำอะไรด้วยเหตุและผล จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง แล้วทุกคนจะมีความสุข แต่พอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงนี้ เป็นสิ่งที่ปฏิบัติยากที่สุดเพราะว่าคนหนึ่งนั่งอยู่ที่นี้ อีกคนอยากจะนั่งเก้าอี้เดียวกัน นั่งได้ไหม ไอ้นี่ก็พูดมามาหลายปีแล้ว ก็ แต่ละคนก็สั่นหัวว่านั่งไม่ได้เพราะว่าเดือดร้อนเบียดเบียน

(พระราชดำรัส ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓)



การอยู่พอมีพอกิน ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีความก้าวหน้า มันจะมีความก้าวหน้าแค่พอประมาณ ถ้าก้าวหน้าเร็วเกินไป ไปถึงขึ้นเขายังไม่ถึงยอดเขา หัวใจวาย แล้วก็หล่นจากเขา ถ้าบุคคลหล่นจากเขา ก็ไม่เป็นไร ช่างหัวเขา แต่ว่าถ้าคนๆ เดียวขึ้นไปวิ่งบนเขา แล้วหล่นลงมา บางทีทับคนอื่น ทำให้คนอื่นต้องหล่นไปด้วย อันนี้เดือดร้อน

(พระราชดำรัส วันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๔)



พอเพียงนี้ หมายความว่า เราไม่ทุกข์ว่าเขาจะว่า ว่าเราเอากำไรมากเกินไป เราไม่เอากำไรมาก เราไม่ทำให้ขาดทุน เราไม่ทำให้มีกำไรมากเกินไป เพราะเราขายกันเอง ก็กันเอง ก็ไม่ต้องขายแพง กันเองไม่ต้องซื้อแพง ฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้หมายความว่า ขาดทุน ขาดทุนก็ขาดทุน แต่ว่าขาดทุนกำไรของเรากันเอง นี่พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงมาหลายปีแล้ว ก็ไม่ค่อยเข้าใจกัน เพิ่งมาเข้าใจสักเดือนหนึ่ง สองเดือนนี่


ฉะนั้นก็ขอให้ไปศึกษาต่อ ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พอเพียงคืออะไร ไม่ใช่เพียงพอ คือว่า ไม่ได้หมายความว่า ให้ทำกำไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้นเอง ทำกำไรก็ทำ ถ้าเราทำกำไรได้ดี มันก็ดี แต่ว่าขอให้มันพอเพียง ถ้าท่านเอากำไรหน้าเลือดมากเกินไป มันไม่ใช่พอเพียง นักเศรษฐกิจเขาว่าพระเจ้าอยู่หัวฯ นี่คิดอะไรแปลก ๆ ก็แปลกสิ ขายไม่ให้ได้กำไร ซื้ออะไรไม่ขาดทุน เป็นเศรษฐกิจพอเพียง คือไม่ต้องหน้าเลือด แล้วไม่ใช่จะมีกำไรมากเกินไป หรือน้อยเกินไป ให้พอเพียง ไม่ใช่เรื่องของการค้าเท่านั้น เป็นเรื่องของการพอเหมาะพอดี

(พระราชดำรัส ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐)





ข้อมูลอ้างอิง
http://km.rdpb.go.th/Knowledge/View/74
http://king9.ohm.go.th/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%94%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%AA-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%97/
http://kanchanapisek.or.th/speeches/1999/1223.th.html
http://kanchanapisek.or.th/speeches/2007/1204.th.html
https://stscholar.nstda.or.th/stks/hmk/royal-guidance/271-royal-guidance-2543.html
http://positioningmag.com/9230
http://money.kapook.com/view159964.html



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP