เล่าสู่กันฟัง Lite Sharing

The Big Short


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



202 sharing

รูปภาพประกอบจาก http://trilbee.com/reviews/the-big-short-2016-movie-review


ภาพยนตร์เรื่อง “The Big Short” หรือในชื่อภาษาไทยว่า “เกมฉวยโอกาสรวย”
เริ่มออกฉายในปลายปี ค.ศ. 2015
ซึ่งเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับวิกฤติซับไพรม์ (Sub-Prime Crisis) หรือวิกฤติหนี้ด้อยคุณภาพ
อันเป็นหายนะทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกาในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา
โดยส่งผลกระทบทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจไปทั่วโลกในช่วงปี ค.ศ. 2007 - 2008
หรือที่เรารู้จักกันในชื่อวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis)


ในช่วงปลายทศวรรษ ค.ศ. 1970 นั้น ธุรกิจธนาคารในอเมริกาไม่ใช่ธุรกิจที่ทำเงินมาก
โดยเป็นธุรกิจที่ทำงานไปเรื่อย ๆ แบบเช้าชามเย็นชาม
แม้ว่าจะทำงานขายประกันไปด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นงานที่ไปแบบเรื่อย ๆ เฉื่อย ๆ
ยิ่งงานในแผนกตราสารหนี้ยิ่งเป็นงานที่เซ็งตายคาโต๊ะ
ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าซื้อพันธบัตรไว้แล้ว รอยกให้ลูกหลานเมื่ออายุ 15 ปี
พอลูกค้าถือไว้จนอายุครบ 30 ปีก็อาจจะได้กำไรเล็กน้อย เป็นต้น


จนกระทั่ง Lewis Ranieri ได้แนะนำให้ Salomon Brothers
ออกพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อบ้านค้ำประกัน
ที่เรียกว่า “Mortgage-backed security” หรือ “MBS”
โดยในการให้สินเชื่อบ้านปกติ จะมีระยะเวลา 30 ปี ดอกเบี้ยคงที่ ได้กำไรต่ำ
แต่หากนำสัญญาสินเชื่อบ้านจำนวนเยอะ ๆ มารวมกันแล้วขาย
ผลกำไรจะกลายเป็นก้อนใหญ่ทันที โดยที่ความเสี่ยงยังต่ำเท่าเดิม
MBS ประเภทนี้ยังได้อันดับเครดิต “AAA” (คือความเสี่ยงต่ำมาก) อีกด้วย
จึงสามารถขายให้กองทุนบำเหน็จบำนาญได้
และทำให้เงินลงทุนจำนวนมากไหลมาซื้อพันธบัตรสินเชื่อบ้าน และหุ้นกู้อื่น ๆ
ทำให้เหล่าธนาคารมีรายได้ค่าธรรมเนียมมากขึ้นจากการขาย MBS เหล่านี้
จนภาคอุตสาหกรรมหลักของอเมริกาได้ย้ายมาอยู่ที่ภาคการเงิน


ในยุคแรก ๆ ที่มีการออก MBS นั้น สินเชื่อบ้านมีความเสี่ยงต่ำจริง
บรรดาธนาคารต่างก็โฆษณาว่าสินเชื่อบ้านมีความเสี่ยงต่ำมาก
เพราะลูกหนี้สินเชื่อบ้านย่อมไม่อยากสูญเสียบ้านตนเอง
ไม่เช่นนั้นแล้ว ตนเองก็จะไม่มีที่อยู่อาศัย
ลูกหนี้สินเชื่อบ้านเหล่านี้จึงไม่ผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อบ้าน


แต่ในยุคต่อมาสถานการณ์ได้เปลี่ยนไป เพราะสินเชื่อบ้านมีความเสี่ยงสูงขึ้นมาก
โดย
MBS แต่ละกองต่างก็มีหนี้ด้อยคุณภาพ หรือหนี้ซับไพรม์ (Sub-Prime)
ปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งปกติแล้วย่อมจะไม่ได้อันดับเครดิตที่ดี
และไม่สามารถที่จะขายให้แก่นักลงทุนทั่วไปได้ เพราะไม่มีใครซื้อ
บรรดาธนาคารจึงทำการแต่งตัวหนี้ด้อยคุณภาพเหล่านี้ใหม่
โดยนำ MBS หลายกองที่มีหนี้ด้อยคุณภาพเหล่านี้มารวมกันเป็นกองขึ้นใหม่
แล้วเรียกชื่อว่า “Collateralized Debt Obligation” หรือ “CDO”
จากนั้น ก็ให้บริษัทจัดอันดับเครดิต (Credit Rating Agency)
หรือเรียกว่า CRA ที่รู้กัน (หรือสามารถคุยได้) มาจัดอันดับเครดิตให้
ซึ่ง CRA ที่รู้กันนี้ ก็จะให้เครดิตที่ AAA 92-93% (คือความเสี่ยงต่ำมาก)
ทำให้เหล่าธนาคารสามารถขาย CDO นี้ให้แก่นักลงทุนได้สบาย
โดยความเสี่ยงไปตกอยู่กับนักลงทุนที่ซื้อ CDO เหล่านี้
เพราะได้ซื้อหนี้เน่าความเสี่ยงสูง โดยหลงเข้าใจว่าเป็นหนี้ดีความเสี่ยงต่ำ


นอกจากนี้ ตราสารหนี้ที่กล่าวแล้ว ในอเมริกายังมีการออกตราสารอนุพันธ์
เพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีผิดนัดชำระหนี้
ที่เรียกว่า “
Credit Default Swap” หรือ “CDS”
ซึ่งบรรดาธนาคารได้ออกขาย CDO ประเภทที่ไปลงทุนใน CDS
เพื่อป้องกันความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ของ CDO ที่มีความเสี่ยงตามระดับที่กำหนดไว้
โดยเรียก CDO ที่ลงทุนใน CDS เหล่านี้ว่า “SyntheticCDO” หรือ “SCDO”
ซึ่งประมาณการว่าในหนี้สินเชื่อบ้านมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์
จะสามารถนำไปออก SCDO เป็นทอด ๆ ได้ถึง 20 เท่าหรือ 1 พันล้านดอลลาร์
หรือกล่าวได้ว่าหนี้ด้อยคุณภาพเพียงกองเดียว
แต่สามารถนำมาออกขายตราสารอนุพันธ์ได้มูลค่าสูงถึง 20 เท่า
ซึ่ง SCDO นี้เองเปรียบเสมือนเป็นระเบิดนิวเคลียร์ทางการเงิน
เพราะเมื่อหนี้คุณภาพดังกล่าวผิดนัดชำระหนี้แล้ว
ย่อมส่งผลกระทบไปยัง SCDO ในที่สุด และด้วยการที่ SCDO มีมูลค่าสูงมาก
จึงย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างก่อให้เกิดวิกฤติทางการเงิน


เมื่อนำสินเชื่อบ้านที่มีอยู่ไปออกขาย MBS และ CDO ไปหมดแล้ว
ทำให้เหล่าธนาคารต้องหาสินเชื่อบ้านมาออก MBS และ CDO มากขึ้น
จึงมีการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ขอสินเชื่อที่มีความเสี่ยงมากขึ้น
จนกระทั่งปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ไม่มีรายได้ ไม่มีงาน และไม่มีสินทรัพย์
หรือที่เรียกว่า “สินเชื่อนินจา” (NINJA = No Income, No Job and No Assets)
ทำให้ตลาดสินเชื่อบ้านในอเมริกามีความเสี่ยงสูงมาก และเป็นฟองสบู่ขนาดใหญ่


ในปี ค.ศ. 2005 Michael Burry ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนรายหนึ่งเห็นว่า
ตลาดสินเชื่อบ้านในอเมริกามีความเสี่ยงสูงมาก เป็นฟองสบู่ที่พร้อมแตก
โดยคาดว่าฟองสบู่ดังกล่าวจะแตกในไตรมาสที่ 2 ของปี ค.ศ. 2007
เมื่อมีการปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น จะทำให้ผู้ขอสินเชื่อบ้านไม่สามารถผ่อนจ่ายไหว
Michael Burry เห็นโอกาสในการทำกำไรดังกล่าว
จึงได้ทำสัญญาอนุพันธ์ Credit Default Swap หรือ CDS
เพื่อป้องกันการผิดนัดชำระหนี้สำหรับ MBS กับธนาคารหลายแห่ง
เป็นมูลค่ารวมหนึ่งพันกว่าล้านดอลลาร์


CDS เหล่านี้ทำขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ MBS จะผิดนัดชำระหนี้
โดยหาก MBS ไม่ผิดนัดชำระหนี้แล้ว
กองทุนที่ Michael Burry บริหารก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมฟรีให้แก่ธนาคารไปเรื่อย
ซึ่งหากจ่ายไปภายในไม่กี่ปี กองทุนที่ Michael Burry บริหารก็จะเงินหมด
แต่หาก MBS ผิดนัดชำระหนี้แล้ว
กองทุน Michael Burry บริหารก็จะได้รับค่าตอบแทนมหาศาล


ในเวลานั้น ในสายตาของธนาคาร นักลงทุน สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป
ต่างก็เห็นว่า
MBS และ CDO และตลาดสินเชื่อบ้านยังมีความมั่นคงมาก
เหล่าบรรดาผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนที่ Michael Burry บริหารนั้น
ต่างตกใจที่ทราบว่า Michael Burry ได้ทำสัญญา CDS ดังกล่าว
โดยคาดว่ากองทุนที่ตนเองถือหน่วยอยู่จะต้องขาดทุนอย่างมหาศาล
ทำให้นักลงทุนเหล่านี้ต่างโกรธแค้นและทะเลาะกับ Michael Burry อย่างรุนแรง
กระทั่งบางรายส่งเรื่องให้ทนายความฟ้องร้องคดีต่อ Michael Burry


Jared Vennett เป็นนักการเงินของธนาคารแห่งหนึ่งที่ได้มีโอกาสทราบ
ข่าวที่ Michael Burry ทำสัญญา CDS กับธนาคารหลายแห่ง
Jared Vennett เห็นด้วยว่าการวิเคราะห์ของ Michael Burry นั้นถูกต้อง
ว่าตลาดสินเชื่อบ้านในอเมริกาเป็นฟองสบู่ที่พร้อมแตกในอีกไม่นาน
แต่ Jared Vennett มีวิธีการหาเงินแตกต่างออกไป
โดย Jared Vennett ได้ไปนำเสนอกองทุนหรือสถานบันการเงินต่าง ๆ
ให้มาซื้อ CDS ป้องกันความเสี่ยงจากธนาคารตนเอง


ในบรรดาเหล่ากองทุนที่ Jared Vennett ได้เสนอขายนั้น
Mark Baum เป็นผู้จัดการกองทุนแห่งหนึ่ง
ซึ่งสงสัยว่าแนวคิดของ Jared Vennett จะเป็นไปได้จริงหรือ
เพราะเท่ากับว่าเกิดการฉ้อฉลในระบบการเงินการธนาคารในอเมริกา
และบรรดาธนาคาร บริษัทจัดอันดับเครดิต และหน่วยงานรัฐบาลต่างเกียร์ว่างในเรื่องนี้
Mark Baum และทีมงานได้ไปทำการสืบข้อมูล
และตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อของเหล่าธนาคารต่าง ๆ
พบว่าการปล่อยสินเชื่อบ้านเป็นไปอย่างหละหลวม และเสี่ยงมาก
ตลาดสินเชื่อบ้านจึงเป็นฟองสบู่ที่จะใกล้จะแตกแล้ว
การที่กองทุนที่ Mark Baum บริหารซื้อ CDS จาก Jared Vennett นั้น
ย่อมจะทำกำไรให้แก่กองทุนที่ Mark Baum บริหารได้อย่างมากในอนาคต


ทีมงานของ Mark Baum จึงสงสัยว่า ในเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว
Jared Vennett เอา CDS มาขายให้แก่กองทุนที่ Mark Baum บริหารเพื่ออะไร
เพราะเท่ากับว่าธนาคารที่ Jared Vennett ทำงานให้นั้นจะต้องขาดทุนจาก CDS
Jared Vennett อธิบายว่าหากตนเองขาย CDS ได้
ธนาคารที่ Jared Vennett ทำงานอยู่ก็จะได้ค่าธรรมเนียมการขาย
ซึ่ง Jared Vennett เองก็จะได้รับโบนัสจากการขาย
ส่วนว่าธนาคารที่ Jared Vennett ทำงานให้ และออกขาย CDS
จะประสบการขาดทุนในอนาคตนั้น Jared Vennett ไม่สนใจ
Mark Baum จึงได้ตกลงซื้อ CDS จาก Jared Vennett


ในเวลาต่อมา Charlie Geller และ Jamie Shipley เป็นเจ้าของกองทุนขนาดเล็กแห่งหนึ่ง
ทั้งสองคนได้มีโอกาสเห็นเอกสารเสนอขาย CDS ของ Jared Vennett
ทำให้เกิดความสนใจที่จะซื้อ CDS ดังกล่าว
จึงได้ไปขอความช่วยเหลือจากอดีตนักการเงินที่เกษียณตนเองแล้วคือ Ben Rickert
แต่ในช่วงเวลานั้น การหาซื้อ CDS ไม่สามารถจะทำได้โดยง่ายแล้ว
เพราะเหล่าธนาคารเห็นความเสี่ยงมากขึ้น จึงขาย CDS ในราคาแพง
โดยเฉพาะ CDS สำหรับ CDO ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตระดับ “BB”
(คือเสี่ยงมากกว่าระดับ “AA”)


Charlie Geller และ Jamie Shipley ไม่สามารถหาซื้อ CDS
สำหรับ CDO ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิต “BB” ในราคาที่เหมาะสมได้
เพราะบรรดาธนาคารเริ่มเห็นความเสี่ยงมากขึ้น จึงขาย CDS ในราคาสูง
ทั้งสองคนจึงเกิดความคิดที่คนปกติคาดไม่ถึง
กล่าวคือพวกเขาจะขอซื้อ CDS เพื่อป้องกันความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้
สำหรับ CDO ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิต “AA” (คือมีความเสี่ยงต่ำมาก)
โดยทั้งสองคนเห็นว่า CDO ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิต “AA” เหล่านี้
แท้จริงแล้วมีหนี้ดีอยู่แค่เพียง 25% หรืออาจจะไม่มีหนี้ดีอยู่เลยด้วยซ้ำ


Ben Rickert ให้ความเห็นว่า ไม่มีใครในโลกนี้ที่จะเดิมพันการผิดนัดชำระหนี้
กับตราสารหนี้ได้รับการจัดอันดับเครดิต “AA”
บรรดาธนาคารจะมองว่า Charlie Geller และ Jamie Shipley หากไม่เมาก็เพี้ยน
แล้วก็จะตกลงขาย CDS สำหรับ CDO ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิต “AA” ให้
แก่ทั้งสองคน โดยจะขอซื้อเท่าไรก็ตาม ก็จะขายให้


หลังจากนั้น บรรดาธนาคารได้ขาย CDS ให้แก่กองทุนของทั้งสองคน
เมื่อ Charlie Geller และ Jamie Shipley ซื้อ CDS ได้แล้ว
ก็ออกอาการเริงร่าดีใจที่จะได้มีโอกาสในการทำกำไร
แต่อาการเริงร่าดีใจของทั้งสองคน ทำให้ Ben Rickert ไม่พอใจ
และบอกให้ทั้งสองคนหยุดอาการเริงร่าดีใจดังกล่าว
โดย Ben Rickert อธิบายว่าทั้งสองคนกำลังพนันกับเศรษฐกิจอเมริกา
หากทั้งสองคนทำกำไรได้แล้ว แปลว่า เศรษฐกิจอเมริกาประสบหายนะหนัก
โดยจะมีคนจำนวนมหาศาลต้องสูญเสียบ้าน สูญเสียงาน สูญเสียเงินบำนาญ
ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว ในอเมริกา อัตราการจ้างงานที่ลดลง 1%
ย่อมจะทำให้มีคนตายถึง 4 หมื่นคน


ต่อมา เมื่อฟองสบู่ตลาดสินเชื่อบ้านเริ่มแตกในช่วงต้นปี ค.ศ. 2007
โดยลูกหนี้สินเชื่อบ้านจำนวนมากได้เริ่มผิดนัดชำระหนี้
แต่ปรากฏว่าราคาของ MBS และ CDO กลับมีราคาพุ่งสูงขึ้น
ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างมาก
เพราะ MBS และ CDO ต่างมีสินเชื่อบ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ในขณะที่สินเชื่อบ้านกำลังผิดนัดชำระหนี้ และกลายเป็นหนี้เน่า
MBS และ CDO ควรจะมีราคาเป็นศูนย์ แต่กลับกลายเป็นว่าราคาสูงขึ้น
นอกจากนี้แล้ว บรรดาบริษัทจัดอันดับเครดิต (หรือ CRA)
ต่างก็ไม่ได้ทำการปรับลดอันดับเครดิตใน MBS และ CDO ลงเลย
แต่ยังคงอันดับเครดิตไว้เหมือนเดิม
ทั้งที่ตราสารเหล่านี้ควรมีราคาเป็นศูนย์แล้ว


Mark Baum ได้ไปสืบข้อมูลจากบริษัทจัดอันดับเครดิตรายหนึ่ง
และพบว่าบริษัทจัดอันดับเครดิตเหล่านี้
ได้ร่วมมืออย่างฉ้อฉลกับบรรดาธนาคารทั้งหลาย
เพื่อที่จะจัดอันดับเครดิตให้แก่ MBS และ CDO สูงเกินจริง
โดยไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนผู้ลงทุนในตราสารหนี้เหล่านี้
โดยบริษัทจัดอันดับเครดิตสนใจเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียม
สำหรับการจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้เท่านั้น


Charlie Geller และ Jamie Shipley เห็นถึงความผิดปกติและฉ้อฉล
ในระบบการเงินของอเมริกาดังกล่าว และเข้าใจได้ในทันทีว่า
เหตุที่ราคาของ MBS และ CDO สูงขึ้นทั้งที่ควรจะมีราคาเป็นศูนย์
ก็เพราะว่าบรรดาธนาคารกำลังปั่นราคา MBS และ CDO
เพื่อที่ตนเองจะได้ทยอยขาย MBS และ CDO ที่ตนเองถืออยู่ให้หมดเสียก่อน
โดยที่ประชาชนที่ไม่ทราบเรื่องต่างก็เข้าไปเก็งกำไรซื้อ MBS และ CDO ดังกล่าว
Charlie Geller และ Jamie Shipley พยายามนำเรื่องดังกล่าวไปขอให้
เพื่อนตนเองที่เป็นสื่อมวลชนในนิตยสารการเงินแห่งหนึ่งนำเปิดเผยเรื่องนี้
แต่เพื่อนดังกล่าว ก็ปฏิเสธที่จะนำเสนอข่าวดังกล่าว โดยไม่มีแหล่งข่าวที่ยืนยันได้


หลังจากนั้นอีกไม่นาน ฟองสบู่ของ MBS และ CDO (รวมทั้ง SCDO) ก็แตกด้วย
ซึ่งก่อวิกฤติทางการเงินและเศรษฐกิจแก่บรรดาธนาคารและนักลงทุนในอเมริกา
รวมทั้งบรรดาธนาคารและนักลงทุนในต่างประเทศด้วย
แต่สำหรับกองทุนที่ Michael Burry บริหาร และกองทุนที่ Mark Baum บริหาร
รวมทั้งกองทุนของ Charlie Geller และ Jamie Shipley นั้น ต่างทำกำไรได้มาก


ในตอนท้ายของเรื่องนั้น ได้เล่าถึงวิกฤตซับไพรม์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลก
ในช่วงปี ค.ศ.
2007 – 2008 โดยส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก
ประชาชนจำนวนมากตกงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีที่อยู่อาศัย และบางคนฆ่าตัวตาย
ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าว
รัฐบาลอเมริกาได้แก้ไขโดยการนำเงินจำนวนมากของรัฐ
(ซึ่งเป็นเงินที่ประชาชนผู้เสียภาษีจะต้องรับผิดชอบในท้ายที่สุด)
เข้าไปช่วยเหลือธนาคารหลายแห่งที่ประสบปัญหา


แต่ไม่มีบุคคลใดในตลาดการเงินในอเมริกา
ทั้งในส่วนของธนาคาร บริษัทจัดอันดับเครดิต หรือเจ้าหน้าที่รัฐ
ที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว ไม่มีนายธนาคารคนใดเข้าคุก
ไม่มีผู้บริหารบริษัทจัดอันดับเครดิตเข้าคุก ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าคุก
ยกเว้นมีเพียงนายธนาคารคนเดียวที่ต้องเข้าคุก
ด้วยสาเหตุเนื่องจากการตกแต่งบัญชีเพื่อซ่อนผลขาดทุน
ภาพยนตร์ก็ได้เล่าว่าหลังจากนั้น บรรดาธนาคารที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ
ต่างก็นำเงินช่วยเหลือจากรัฐนั้นมาจ่ายโบนัสให้แก่ตนเองเสียอีก
แล้วต่างก็โทษว่าลูกหนี้สินเชื่อที่เป็นคนต่างด้าว และคนจน
เป็นกลุ่มคนที่เป็นต้นเหตุของปัญหาวิกฤตซับไพรม์นี้


หลังจากที่ฝุ่นหายตลบในวิกฤติซับไพรม์ดังกล่าว
เฉพาะในอเมริกานั้น มูลค่ากว่า
5 ล้านล้านดอลลาร์
ได้สูญหายไปจากกองทุนบำนาญ มูลค่าทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์
เงินสะสมเกษียณ เงินออมทรัพย์ และตราสารหนี้
นอกจากนี้ ทำให้มีคนตกงานจำนวน 8 ล้านคน
และประชาชนจำนวน 6 ล้านคนต้องสูญเสียบ้าน
โดยหากรวมประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกย่อมจะเสียหายมากกว่านี้มาก


โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สนใจมากในเวลานี้
เพราะน่าจะเหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน
ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าดัชนีตลาดหุ้นดาวโจนส์ (
Dow Jones)
ที่พุ่งสูงไป 2 หมื่นกว่าจุดแล้วในปัจจุบันนี้ น่าจะอยู่ในช่วงที่เสี่ยงสูง
แม้ว่าบรรดาสื่อหลัก (Mainstream Media ) จะพยายามโฆษณาว่า
เศรษฐกิจอเมริกากำลังดีขึ้นก็ตาม แต่ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง
เพราะในปัจจุบัน อเมริกามีประชากรจำนวนกว่า 45.4 ล้านคน
ที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยแสตมป์อาหาร (Food Stamp) ซึ่งทางรัฐบาลให้การช่วยเหลือ
http://www.zerohedge.com/news/2016-12-01/dollar-generals-startling-admission-half-us-consumers-are-feeling-more-dire-ever
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2016 ที่ผ่านมา
ในอเมริกาได้มีการขอล้มละลายเพิ่มขึ้น 29%
เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
มีอัตราของประชากรที่มีงานทำเต็มเวลา (full-time job) นิ่งอยู่ที่ร้อยละ 48
โดยไม่ได้ขยับเพิ่ม นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 ถึงปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก
นอกจากนี้ จำนวนคนในเมืองนิวยอร์คที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ได้เพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์
และจำนวนครอบครัวที่ไม่มีบ้านอยู่เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับห้าปีที่ผ่านมา
http://www.zerohedge.com/news/2016-09-26/26-incredible-facts-about-economy-every-american-should-know-trump-clinton-debate
ในขณะที่หนี้ภาครัฐของอเมริกาพุ่งสูงขึ้นมากอย่างไม่มีหนทางที่จะใช้คืนได้
ดังที่เราได้ทราบกันดีอยู่แล้ว


ดังนี้แล้ว การที่ดัชนีหุ้นของตลาดหุ้นในอเมริกาพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์นั้น
อาจจะไม่ใช่ว่าเพราะเศรษฐกิจกำลังดีขึ้นก็ได้
แต่อาจจะเป็นเพราะว่าบรรดาธนาคารในอเมริกากำลังปั่นราคาหุ้น
เพื่อที่ตนเองจะขายหุ้นที่ตนเองถืออยู่ออกไปก่อนก็ได้
ซึ่งหากฟองสบู่ในอเมริกาแตกเมื่อใดแล้ว
ก็ย่อมจะส่งผลกระทบเป็นวิกฤติไปทั่วโลกเหมือนเช่นในอดีต


ในส่วนประเทศไทยนั้น สิ่งที่จะช่วยให้เรารอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจทั้งปวงได้
ก็คือการสนใจศึกษาและประพฤติตนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานสอนไว้แล้ว
พวกเราจึงควรที่จะสนใจศึกษาแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
และนำมาประพฤตปฏิบัติตามสมควรแก่ตนเอง เพื่อช่วยให้
เราสามารถนำพาตนเองและครอบครัวให้รอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP