ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ทุติยเสขสูตร ว่าด้วยเสขบุคคล


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๕๒๖] ภิกษุทั้งหลาย สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วนนี้ ย่อมมาสู่อุทเทสทุกกึ่งเดือน
ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาประโยชน์ ศึกษากันอยู่
ภิกษุทั้งหลาย สิกขาบท ๑๕๐ นี้ทั้งหมด ถึงการรวมลงในสิกขา ๓ นี้
สิกขา ๓ อะไรบ้าง คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา
สิกขาบท ๑๕๐ นี้ทั้งหมด ถึงการรวมลงในสิกขา ๓ นี้แล


ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล
ทำพอประมาณในสมาธิ ทำพอประมาณในปัญญา
เธอก็ย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัติบ้าง
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเหตุอะไร
เพราะในการต้องอาบัติ และการออกจากอาบัติเล็กน้อยนี้
เราไม่กล่าวความเป็นไปไม่ได้
แต่ว่าสิกขาบทเหล่าใดเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์
เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน มีศีลมั่นคง ในสิกขาบทเหล่านั้น
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ภิกษุนั้น เป็นพระโสดาบัน เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓
มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีการตรัสรู้ในภายหน้า


ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล
ทำพอประมาณในสมาธิ ทำพอประมาณในปัญญา
เธอก็ย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัติบ้าง
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเหตุอะไร
เพราะในการต้องอาบัติ และการออกจากอาบัติเล็กน้อยนี้
เราไม่กล่าวความเป็นไปไม่ได้
แต่ว่าสิกขาบทเหล่าใดเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์
เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน มีศีลมั่นคง ในสิกขาบทเหล่านั้น
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ภิกษุนั้น เป็นพระสกทาคามี เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓
เพราะราคะ โทสะ และโมหะเบาบาง
มาสู่โลกนี้หนเดียวเท่านั้น ย่อมทำที่สุดทุกข์ได้


ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล
เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ ทำพอประมาณในปัญญา
เธอก็ย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัติบ้าง
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเหตุอะไร
เพราะในการต้องอาบัติ และการออกจากอาบัติเล็กน้อยนี้
เราไม่กล่าวความเป็นไปไม่ได้
แต่ว่าสิกขาบทเหล่าใดเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์
เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน มีศีลมั่นคง ในสิกขาบทเหล่านั้น
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ภิกษุนั้น เป็นโอปปาติกะ เพราะสิ้นสังโยชน์ที่เป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕
ปรินิพพานในโลก (ที่เกิด) นั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา


ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล
เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในปัญญา
เธอก็ย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัติบ้าง
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเหตุอะไร
เพราะในการต้องอาบัติ และการออกจากอาบัติเล็กน้อยนี้
เราไม่กล่าวความเป็นไปไม่ได้
แต่ว่าสิกขาบทเหล่าใดเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์
เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน มีศีลมั่นคง ในสิกขาบทเหล่านั้น
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ภิกษุนั้น ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้
เพราะสิ้นอาสวะ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน


ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล
ภิกษุผู้ทำเพียงบางส่วน ย่อมทำให้สำเร็จได้เพียงบางส่วน
ผู้ทำบริบูรณ์ ย่อมทำให้สำเร็จได้บริบูรณ์
เราจึงกล่าวว่าสิกขาบททั้งหลายหาเป็นหมันไม่.


ทุติยเสขสูตร จบ



(ทุติยเสขสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP