สารส่องใจ Enlightenment

ปัจจุบันธรรมเป็นธรรมโม



พระธรรมเทศนา โดย หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓




ให้พิจารณาสังขารปรุงแต่งทั้งหลายในปัจจุบัน โดยน้อมเข้ามาในกายให้รู้แจ้ง


ความคิดทั้งที่เป็นอดีตอนาคต เมื่อเราคิดขึ้นมา พร้อมกันมันก็ดับ
ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านกล่าวว่า อดีตและอนาคตมันก็อันเดียวกันนั่นแหละ
ความตัวเดียวนี้แหละ อดีตและอนาคตก็อันนี้แหละ ปัจจุบันก็อันนี้แหละ
แต่ปัจจุบันนี้เป็นธรรมโม อดีตอนาคตเป็นธรรมเมา



เรื่องของสังขารทั้งหลาย มันปรุงมันแต่ง มันเกิดมันดับ อยู่นี้
มันแสดง อนิจจํ ทุกขํ อนตฺตา อยู่นี้แหละ สมควรจำต้นมันไว้
ต้นเหตุอดีต อนาคต เป็นธรรมเมา ปัจจุบันเป็นธรรมโม
จำไว้ให้แม่น น้อมเข้ามาสู่กายสู่ใจของตน

น้อมเข้ามาในกาย ให้รู้แจ้งเห็นแจ้ง จนเห็นเป็นโครงกระดูก
ธรรมทั้งหลายก็ต้องรู้แจ้ง กายนี้รู้แจ้ง ใจนี้จึงจะเป็นผู้รู้



เช่นพระภิกษุผู้เดินทางขณะบิณฑบาต ภาวนาไปก็น้อมกายนี้เข้ามา
น้อมเข้ามาๆ ให้มันเห็นแจ้ง เห็นจนเป็นร่างกระดูก
พอดีไปถึงบ้านหลังหนึ่ง ไปยืนอยู่หน้าบ้านหลังนั้น
ขณะเดียวกัน สามีภรรยาเจ้าของบ้านนั้นแหละเกิดมีปากเสียงกันขึ้น
ภรรยาหลบออกจากบ้านไป เดินผ่านหน้าภิกษุนั้นไป
สักครู่หนึ่งสามีก็เดินมาและถามพระภิกษุว่า
พระคุณเจ้าเห็นสตรีเดินผ่านมาทางนี้บ้างไหม
พระภิกษุตอบว่า ขณะที่ยืนอยู่ตรงนี้ไม่เห็นสตรีเดินผ่านมา
มีแต่ร่างกระดูกผ่านไปเท่านั้น



ฝ่ายสามีจึงคิดในใจว่า ทำไมเราถามหาสตรี แต่พระคุณเจ้าบอกว่าร่างกระดูกเดินผ่านไป
อันนี้แหละที่ท่านทำได้กำหนดได้ ทำให้เกิดกำลังกายกำลังใจ
เมื่อกำหนดได้เช่นนี้ก็จะวางหมด ไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับเนื้อหนังมังสา
เห็นแต่สักว่าร่างกระดูก มีตับไตไส้พุงอยู่ภายใน
นี้แหละการพิจารณากาย พิจารณาใจ ให้รู้แจ้งเห็นแจ้งอยู่ภายในใจอย่างนี้



พิจารณากายใจกลับไปกลับมาจนรู้รอบสังขาร ใจก็สงบลงไปรู้ธรรมเป็น


ถ้าว่าตามหลักปริยัติธรรมแล้วมันมากมาย
แต่ก็เอาของเก่านี้แหละ กลับไปกลับมา
เล่นของเก่าอยู่นี้แหละ กลับไปกลับมา ไม่มีที่สิ้นสุด
ต้องเอาให้แจ้ง รู้รอบสังขาร เมื่อรู้รอบสังขารทั้งหลายแล้วจึงดับต้นเหตุมันได้
รู้เท่าสังขาร สังขารทั้งหลายดับไปหมด
ใจมันจึงสงบลงไปรู้ธรรมเป็นนะ ก็ว่าเป็นธรรมก็ได้ เป็นนะโม ก็ว่า



อตีตา ธรรมเมา อนาคตา ธรรมเมา ปัจจุบันเป็นธรรมโม
ตั้งหลักอย่างนี้ไว้เสียก่อน ถ้าเพลิดเพลินหลงไปให้ยกขึ้นพิจารณา
อดีตอนาคตเป็นธรรมเมา ปัจจุบันเป็นธรรมโม
มันหลงของเก่านี้แหละ ทำเข้าไปให้จิตมีกำลัง
ถ้าจิตยังไม่มีกำลัง ดูประหนึ่งว่าการทำนี้มันลำบาก



บุคคลผู้ปกครองคนหมู่มาก ซึ่งแต่ละคนก็มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น
ละความชั่ว เอาไปๆ เวลามันหลง ต้องจำที่ต้นเหตุคือตัวสังขาร
มันมักจะไปเป็นอตีตา ธรรมเมา อนาคตา ธรรมเมา ปัจจุบันเป็นธรรมโม



ฐีติ ภูตํ ตั้งอยู่ ไม่ไปไม่มา ไม่ออกไม่เข้า
อันนี้เป็นของจริงไม่ออกไม่เข้า ไม่เสียหาย
นี้คือ ฐีติ ธมฺโม ใจมันตั้งอยู่ในนั้น มันไม่ไปที่ไหน
ถ้าทำให้ได้ของจริงมันตั้งอยู่ในนั้นนั่นแหละ รู้แจ้ง เห็นแจ้ง



ส่วนมากคนทั้งหลายมักจะได้มากในด้านความจำ
แต่ถ้าเอาเข้าจริงๆ หลบเข้าไปตรงนั้นที หลบเข้าไปตรงนี้ที หลงลายเลย
การกระทำเป็นสิ่งสำคัญ ทำเข้าๆ เมื่อได้กำลังแล้ว มันเกิดเอง
จำหัวข้อ อดีต อนาคต ปัจจุบัน

ปัจจุบันเป็นธรรมโม อดีตอนาคตเป็นธรรมเมา
จำหลักอันนี้ไว้ให้ดี สังขารมันเกิดอยู่ตรงนี้แหละ



ว่าไปก็ไม่มีที่สิ้นสุด ประเดี๋ยวเอาอย่างนั้น ประเดี๋ยวเอาอย่างนี้
เอาเข้าๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ก็เลยลืมหลักไปเสีย
ให้ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันนี้แหละ เร่งเข้าความเพียร ไม่หลับไม่นอน
บางทีก็หลงลายไปบ้างเหมือนกัน


อตีตา ธรรมเมา อนาคตา ธรรมเมา ปัจจุบันเป็นธรรมโม
ตั้งอยู่ในฐีติ ภูตํ ตั้งอยู่ ไม่ได้ไปที่ไหน ไม่ว่าอดีตอนาคต



หลวงปู่มั่นท่านว่าไม่ต้องเอามาก เอาเพียงเล็กน้อยก็พอแล้ว
อตีตา ธรรมเมา อนาคตา ธรรมเมา ปัจจุบันเป็นธรรมโม
ประเดี๋ยวยกอันนี้ขึ้นมา ประเดี๋ยวยกอันนั้นขึ้นมา ไม่มีที่สิ้นสุด
ยกของเก่านั่นแหละ ไม่รู้ของเก่า ถ้ารู้ของเก่าก็เป็นอันแล้วกัน
ถ้ายังไม่รู้ของเก่า มันก็ทับอยู่นั่นแหละ



สติสัมปชัญญะก็ดี สัมมาสติก็ดี ก็อันเดียวกันนั่นแหละ
คิดดีก็ดี คิดชั่วก็ชั่ว มันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับ มันอันเดียวนั่นแหละ
มันหมุนไปหมุนมาอยู่นั่นแหละ เอาสตินำออกเสียจากความชั่ว
อันเป็นส่วนดีก็รักษาไว้ อันเป็นส่วนทุกข์ก็ให้ละเว้นเสีย



สติสัมปชัญญะ สัมมาสติ ก็อันเดียวกันนั่นแหละ
มีหน้าที่กำหนดรู้ที่เกิดของธรรม ที่ดับของธรรม
รู้อยู่ที่เดียวนี้แหละ ละอยู่ที่เดียวนี้แหละ วางอยู่ที่เดียวนี้แหละ
การปรารภความเพียรก็เอาสตินี้แหละ



ให้เพ่งพิจารณาอยู่ภายในใจเฉพาะปัจจุบัน จนหายสงสัย จนไม่มีเกิดหรือดับ


เวลาเกิดความคับขัน ก็ให้น้อมเข้ามา ปฏิบัติอยู่
ให้เพียรเพ่งอยู่จนหายสงสัย เพ่งจนหายสงสัย อันนี้สำคัญมาก
เพ่งเข้ามาสู่จิตสู่ใจ อย่าไปเพ่งออกภายนอก เพ่งจนหายสงสัย จนไม่มีเกิดไม่มีดับ
พราหมณาจารย์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เพียงเพ่งอยู่จนมันดับไปเอง
แม้เกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไปเอง
แต่อย่าเข้าไปยึดถือในอะไรๆ สิ่งที่มันปรุงขึ้นแต่งขึ้น มักจับมันไม่ทัน
จิตของผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ จนหายสงสัย
อย่าไปเพ่งออกภายนอก ให้เพ่งเข้าสู่ภายใน
เมื่อมีสติมั่นเพ่งอยู่อย่างนี้ สิ่งทั้งปวงเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันก็ดับไป



ให้เพ่งจับอยู่เฉพาะในปัจจุบัน อย่าไปเพ่งอดีต อนาคต
อดีตเป็นธรรมเมา อนาคตเป็นธรรมเมา
พราหมณาจารย์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เพ่งอยู่ภายใน ต้องเพ่งเข้าสู่ภายใน
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเมื่อเกิดขึ้น มันก็ดับไปเอง
อย่าเข้าไปยึดถือสำคัญมั่นหมาย ว่าเป็นสิ่งนั้นว่าเป็นสิ่งนี้
เพ่งอยู่จนหายสงสัย
ถ้าหายสงสัย มันก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานเท่านั้นแหละ



การเพ่งอย่าให้มันออกไปข้างนอก ให้เพ่งเข้ามาหาใจ ให้เข้าสู่ใจ
ให้เข้าสู่ ฐีติ ภูตํ ให้ตั้งอยู่ในธรรม อันไม่ไปไม่มา ไม่เข้าไม่ออก



เร่งความเพียรไม่หยุดไม่หย่อน ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
พระอริยะเจ้าทั้งหลาย ไม่ว่าสมัยใด
ท่านเปลี่ยนอิริยาบถทั้ง ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน
มีความเพียรอยู่ทุกอิริยาบถ ไม่ทอดทิ้ง



มีพระภิกษุรูปหนึ่งท่านปรารภความเพียร
นัยว่าอดีตชาติของท่านเคยเป็นหมอรักษาโรคตา
ไปประกอบยารักษาตาให้คนไข้คนหนึ่ง
แต่คนไข้เป็นคนไม่ชอบเสียเงิน
เมื่อนัยน์ตาของตนหายแล้ว ก็บอกหมอว่ายังไม่หาย
หมอรู้ว่าคนไข้คิดจะไม่ให้ค่ารักษา
ต่อมาจึงประกอบยาอีกขนานหนึ่งให้คนไข้นั้นหยอดตา
เมื่อคนไข้หยอดตาด้วยยาขนานใหม่แล้ว ตาพิการไปทั้งสองข้าง
หมอนั้นละจากอัตภาพนั้นแล้ว มาเกิดเป็นพระภิกษุดังกล่าวนี้
ท่านปรารภความเพียรอย่างแรงกล้า ไม่ยอมนอน
จนในที่สุดจักษุของท่านพิการไปทั้งสองข้าง พร้อมกันกับอาสวะก็สิ้นไปจากใจ
จักษุพิการทั้งสองข้างก็เพราะอดีตกรรม ที่เคยประกอบยาทำให้ตาคนไข้บอดทั้งสองข้าง
ความสิ้นไปแห่งอาสวะ เพราะความเพียรอย่างไม่ท้อถอยของท่าน
เรื่องนี้เป็นคติเตือนใจ ผลของกรรมดีกรรมชั่วมี แต่ให้ผลต่างกรรมต่างวาระกัน



ขันติบารมี อดทนด้วยกาย อดทนด้วยวาจา อดทนด้วยใจ
ท่านไม่ยอมละความเพียร แม้ว่าจะเสียจักษุทั้งสองข้าง
ในที่สุดท่านก็ได้สำเร็จอรหันต์ หมดภพหมดชาติ



อตีตา ธรรมเมา อนาคตา ธรรมเมา ปัจจุบันเป็นธรรมโม จำเอาไว้ให้แม่น


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - - - - - - - - - -


จาก โอวาทธรรม หลวงปู่แหวน : พระอริยะแห่งดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใหม่,
พระนาค อตฺถวโร วัดสัมพันธวงศ์
, กรุงเทพมหานคร ผู้รวบรวม (๒๕๒๓),
กรุงเทพมหานคร : บริษัทธนบรรณจัดจำหน่าย จำกัด, ๔๒-๔๕.
ใน จิตตภาวนา มรดกล้ำค่าทางพระพุทธศาสนา
รวบรวมโดย มูลนิธิหลวงปู่มั่นและชมรมคุณภาพชีวิต พิมพ์เมื่อ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๓.


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP