ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ฉันนสูตร ว่าด้วยโทษแห่งอกุศลมูล


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๕๑๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน
อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ปริพาชกชื่อฉันนะเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่
ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึง
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า
อาวุโสอานนท์
แม้พวกท่านก็บัญญัติการละราคะโทสะโมหะหรือ.


ท่านพระอานนท์ตอบว่าอาวุโสพวกข้าพเจ้าบัญญัติการละราคะโทสะโมหะ.


ฉันทปริพาชก.อาวุโส ก็พวกท่านเห็นโทษในราคะอย่างไร จึงบัญญัติการละราคะ
เห็นโทษในโทสะอย่างไร จึงบัญญัติการละโทสะ

เห็นโทษในโมหะอย่างไร จึงบัญญัติการละโมหะ


พระอานนท์.อาวุโส คนที่เกิดราคะอันราคะครอบงำ มีจิตอันราคะยึดครอง
ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนคนอื่นบ้าง
เพื่อเบียดเบียนตนและคนอื่นทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสทางใจบ้าง
ครั้นละราคะได้แล้ว ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตน ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนคนอื่น
ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและคนอื่นทั้ง ๒ ฝ่าย ย่อมไม่ได้รับทุกข์โทมนัสทางใจ


คนที่เกิดราคะอันราคะครอบงำ มีจิตอันราคะยึดครอง
ย่อมประพฤติกายทุจริต ประพฤติวจีทุจริต ประพฤติมโนทุจริต
ครั้นละราคะได้แล้ว ย่อมไม่ประพฤติกายทุจริต
ไม่ประพฤติวจีทุจริต ไม่ประพฤติมโนทุจริต


คนที่เกิดราคะอันราคะครอบงำ มีจิตอันราคะยึดครอง
ย่อมไม่รู้ทั่วถึงประโยชน์ตนตามความเป็นจริงบ้าง
ย่อมไม่รู้ทั่วถึงประโยชน์ผู้อื่นตามความเป็นจริงบ้าง
ย่อมไม่รู้ทั่วถึงประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นทั้ง ๒ ฝ่ายตามความเป็นจริงบ้าง
ครั้นละราคะได้แล้ว ย่อมรู้ทั่วถึงประโยชน์ตนตามความเป็นจริงบ้าง
รู้ทั่วถึงประโยชน์ผู้อื่นตามความเป็นจริงบ้าง
รู้ทั่วถึงประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นทั้ง ๒ ฝ่ายตามความเป็นจริงบ้าง


ราคะนั่นเองทำให้มืด ทำให้บอด ทำให้เขลา ปิดบังปัญญา
จัดเป็นฝ่ายเบียดเบียน ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน


อาวุโส คนที่เกิดโทสะอันโทสะครอบงำ มีจิตอันโทสะยึดครอง
ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนคนอื่นบ้าง
เพื่อเบียดเบียนตนและคนอื่นทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสทางใจบ้าง
ครั้นละโทสะได้แล้ว ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตน ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนคนอื่น
ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและคนอื่นทั้ง ๒ ฝ่าย ย่อมไม่ได้รับทุกข์โทมนัสทางใจ


คนที่เกิดโทสะอันโทสะครอบงำ มีจิตอันโทสะยึดครอง
ย่อมประพฤติกายทุจริต ประพฤติวจีทุจริต ประพฤติมโนทุจริต
ครั้นละโทสะได้แล้ว ย่อมไม่ประพฤติกายทุจริต
ไม่ประพฤติวจีทุจริต ไม่ประพฤติมโนทุจริต


คนที่เกิดโทสะอันโทสะครอบงำ มีจิตอันโทสะยึดครอง
ย่อมไม่รู้ทั่วถึงประโยชน์ตนตามความเป็นจริงบ้าง
ย่อมไม่รู้ทั่วถึงประโยชน์ผู้อื่นตามความเป็นจริงบ้าง
ย่อมไม่รู้ทั่วถึงประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นทั้ง ๒ ฝ่ายตามความเป็นจริงบ้าง
ครั้นละโทสะได้แล้ว ย่อมรู้ทั่วถึงประโยชน์ตนตามความเป็นจริงบ้าง
รู้ทั่วถึงประโยชน์ผู้อื่นตามความเป็นจริงบ้าง
รู้ทั่วถึงประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นทั้ง ๒ ฝ่ายตามความเป็นจริงบ้าง


โทสะนั่นเองทำให้มืด ทำให้บอด ทำให้เขลา ปิดบังปัญญา
จัดเป็นฝ่ายเบียดเบียน ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน


อาวุโส คนที่เกิดโมหะอันโมหะครอบงำ มีจิตอันโมหะยึดครอง
ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนคนอื่นบ้าง
เพื่อเบียดเบียนตนและคนอื่นทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสทางใจบ้าง
ครั้นละโมหะได้แล้ว ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตน ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนคนอื่น
ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและคนอื่นทั้ง ๒ ฝ่าย ย่อมไม่ได้รับทุกข์โทมนัสทางใจ


คนที่เกิดโมหะอันโมหะครอบงำ มีจิตอันโมหะยึดครอง
ย่อมประพฤติกายทุจริต ประพฤติวจีทุจริต ประพฤติมโนทุจริต
ครั้นละโมหะได้แล้ว ย่อมไม่ประพฤติกายทุจริต
ไม่ประพฤติวจีทุจริต ไม่ประพฤติมโนทุจริต


คนที่เกิดโมหะอันโมหะครอบงำ มีจิตอันโมหะยึดครอง
ย่อมไม่รู้ทั่วถึงประโยชน์ตนตามความเป็นจริงบ้าง
ย่อมไม่รู้ทั่วถึงประโยชน์ผู้อื่นตามความเป็นจริงบ้าง
ย่อมไม่รู้ทั่วถึงประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นทั้ง ๒ ฝ่ายตามความเป็นจริงบ้าง
รั้นละโมหะได้แล้ว ย่อมรู้ทั่วถึงประโยชน์ตนตามความเป็นจริงบ้าง
รู้ทั่วถึงประโยชน์ผู้อื่นตามความเป็นจริงบ้าง
รู้ทั่วถึงประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นทั้ง ๒ ฝ่ายตามความเป็นจริงบ้าง


โมหะนั่นเองทำให้มืด ทำให้บอด ทำให้เขลา ปิดบังปัญญา
จัดเป็นฝ่ายเบียดเบียน ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน


อาวุโส พวกข้าพเจ้าเห็นโทษในราคะนี้นี่แหละ จึงบัญญัติการละราคะ
เห็นโทษในโทสะนี้นี่แหละ จึงบัญญัติการละโทสะ

เห็นโทษในโมหะนี้นี่แหละ จึงบัญญัติการละโมหะ


ฉันทปริพาชก. อาวุโส มรรคาเพื่อละราคะ โทสะ โมหะนั่นมีอยู่หรือ
ข้อปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะ โมหะนั่นมีอยู่หรือ.


พระอานนท์.อาวุโส มรรคาเพื่อละราคะ โทสะ โมหะนั่นมีอยู่
ข้อปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะ โมหะนั่นมีอยู่.


ฉันทปริพาชก.อาวุโส ก็มรรคาเพื่อละราคะ โทสะ โมหะนั่นเป็นไฉน
ข้อปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะ โมหะนั่นเป็นไฉน?


พระอานนท์.อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ คือสัมมาทิฏฐิ
สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล
เป็นปฏิปทา เพื่อละราคะ โทสะ โมหะนั่น.


ฉันทปริพาชก.อาวุโสมรรคาดี ปฏิปทาดีเพื่อละราคะโทสะโมหะนั่น
เป็นการเพียงพอ เพื่อความไม่ประมาท.


ฉันนสูตร จบ



(ฉันนสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP