จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

พ่อหลวงของแผ่นดิน (๕) พระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



201 destination



เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙
ทรงพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ในทุกระดับ
ทั้งในส่วนของวิถีการดำรงชีวิตของตนเองไปจนถึงการพัฒนาประเทศ
โดยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
ดังที่ได้มีพระราชดำรัสในวารสารชัยพัฒนาประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๔๒ ดังนี้ว่า

“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน
เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง
สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม
แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป”


ในตอนนี้ ผมจะขออัญเชิญพระบรมราโชวาทบางส่วนเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง
มานำเสนอเพื่อท่านผู้อ่านที่สนใจจะพิจารณานำไปปรับใช้ในการดำรงชีวิตครับ




“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ ที่อารยประเทศหลายประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ในเวลานี้” 
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗)




“คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราพออยู่พอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐานปณิธานจุดมุ่งหมายในแง่นี้ ในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่รุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่าการพออยู่พอกินมีความสงบนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถ้ารักษาความพออยู่พอกินนั้นได้ เราจะยอดยิ่งยวด เพราะประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้กำลังตก กำลังแย่ กำลังยุ่ง เพราะจะแสวงหาความยิ่งยวด ทั้งในอำนาจ ทั้งในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ทางอุตสาหกรรม ทางลัทธิ ฉะนั้นถ้าทุกท่านซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความคิดแต่ละท่าน แต่ละบุคคล และมีความคิด มีอิทธิพล มีพลังที่จะทำให้ผู้อื่นซึ่งมีความคิดเหมือนกัน ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำ พอควร พออยู่ พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวรที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล


วันนี้ ท่านทั้งหลายอาจอึดอัดใจ เพราะว่าทางเจ้าหน้าที่ได้ย้ำแล้วย้ำอีกว่าไม่ให้นำสิ่งของมาให้ ห้ามเด็ดขาด แม้ดอกไม้ดอกเดียวก็ไม่ได้ ใบไม้เหี่ยวหนึ่งใบก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าสิ่งนั้นไม่มีความจำเป็น ถ้าแต่ละคนทำหน้าที่ทั้งในหน้าที่ที่มี ทั้งหน้าที่ที่ได้ตั้งไว้กับตัวหรืออาชีพ ทั้งในหน้าที่ที่มีในทางที่เป็นคนไทยเป็นมนุษย์ ที่จะต้องมีความเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน ถ้ามีความคิดที่เที่ยงตรง ที่มีเหตุผล ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเห็นด้วยเห็นพ้องกันเสมอ ไม่หมายความว่าถ้าใครพูดอะไรไปจะต้องถือว่าใช่แล้ว ยกมือเป็นแบบในที่เขาล้อกันในสภา มีความคิดความเห็นต่างกันได้ แต่ก็ถ้าพูดกันด้วยเหตุผลแล้ว ไม่ใช่มิจฉาทิฐิคือไม่ถือเอาเป็นเหตุผลลับ ๆ ล่อ ๆ มาใช้ เชื่อว่าเราอยู่ด้วยกันได้อย่างดี แต่โดยมากที่เกิดเรื่องขึ้นมาในระยะนี้ ก็เพราะว่ามีความคิดที่ไม่ถูกต้อง อ้างสิ่งหนึ่งเพื่ออีกสิ่งหนึ่ง อ้างความดีเพื่อความไม่ดี อ้างผลประโยชน์ของคนหนึ่งเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง อ้างผู้ที่ดูน่าสงสารเพื่ออำนาจของตน อ้างทฤษฎีต่าง ๆ เพื่อทฤษฎีของตนและความยิ่งใหญ่ของตน ยิ่งใหญ่นั้นไม่ใช่ยิ่งใหญ่ในทางอำนาจบริหาร หรืออำนาจเงินเท่านั้นเอง ยิ่งใหญ่ในทางอำนาจที่ว่าทฤษฎีของตัวเองเป็น ใหญ่ถูกต้องของตัว อันนี้ ถ้าท่านทั้งหลายช่วยกันคิดช่วยกันทำ แม้จะมีการถกเถียงกันบ้างก็เถียงกัน แต่เถียงด้วยรากฐานของเหตุผลและเมตตาซึ่งกันและกัน และสิ่งที่สูงสุดก็คือประโยชน์ร่วมกัน คือความพอมีพอกินพออยู่ปลอดภัยของประเทศชาติ”
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๗)



“เมื่อ ๔๐ กว่าปี มีผู้หนึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยมาขอเงิน. ที่จริงก็ได้เคยให้เงินเขาเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่เรื่อย ๆ เขาบอกไม่พอ. เขาก็ขอยืมเงิน ขอกู้เงิน. เมื่อเขาขอกู้เงิน ก็บอกว่า เอ้า...ให้ แต่ขอให้เขาทำบัญชี บัญชีรายรับ บัญชีรายจ่าย. รายรับก็คือเงินเดือนของเขา ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย และเงินที่อุดหนุนเขา. ส่วนรายจ่ายก็เป็นของที่ใช้ในครอบครัว. แต่มีสิ่งหนึ่งที่ครั้งนั้นไม่เข้าใจ ไม่เคยเห็น คือไม่เคยทราบ มีรายการหนึ่ง บอกว่าค่าแชร์. แล้วอีกตอนหนึ่งก็มีค่าแชร์อีก.


ถามเขาว่าแชร์คืออะไร. เขาก็อธิบายว่าเป็นเงินที่จ่ายให้ “เจ้ามือ” จ่ายให้เขาทุกเดือน. เมื่อเดือดร้อนก็ขอ “ประมูลแชร์” ได้. แต่การประมูลนี้ก็หมายความว่า ... สมมติว่าแชร์หนึ่งต้องเสียเดือนละร้อยบาท เขาก็จะได้รับคล้าย ๆ เงินกู้. ควรจะได้เป็นเงินพันสองร้อยบาทต่อปีหนึ่ง โดยให้ร้อยบาทต่อเดือน. ก็ควรจะดี แต่เขาไม่ได้รับพันสองร้อยบาท. เขาได้ราว ๆ แปดร้อยบาท หรือเจ็ดร้อยบาทเท่านั้น แล้วแต่จะประมูลได้ คนที่มีเงิน เขาไม่ประมูล เขาทิ้งไว้ในแชร์นั้น. ถึงเวลา เขาก็จะได้เงินกลับคืนมาเต็มเม็ดเต็มหน่วย บวกดอกเบี้ย ถามเขาว่า ทำอย่างนี้สามารถที่จะหมุนเงินได้หรือเปล่า แล้วก็ถามเขาว่า ทำไมจ่ายค่าแชร์แล้ว ยังจ่ายแชร์ซ้ำอีกทีหนึ่ง. เขาบอกว่าสำหรับจ่ายแชร์เดือนนั้น เขาต้องออกมาทำแชร์สัปดาห์คือ ๗ วัน. ๗ วันนี้เขาก็เปียแชร์มาสำหรับไปใช้ค่าแชร์เดือน.


เขาก็นึกว่าเขาฉลาด. ความจริงแชร์นี่ไม่ใช่เฉพาะคนนี้เท่านั้น แต่มีทั่วไปทุกแห่ง ทั้งทางราชการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม ก็มี ทุกบริษัท ทุกส่วน แม้จะเอกชน เขาก็มีแชร์. ได้บอกให้เขาเลิกแชร์ เลิก แล้วให้ทำบัญชีต่อไป. ทีหลังเขาทำบัญชีมา เขาไม่ขาดทุนแล้ว. เขาสามารถที่จะมีเงินพอใช้ เพราะบอกให้เขาทราบว่า มีเงินเดือนเท่าไหร่ จะต้องใช้ภายในเงินเดือนของเขา. การทำแชร์นี้เท่ากับเป็นการกู้เงิน. การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี. อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ.


มีอีกรายหนึ่งในระยะนั้น กว่า ๔๐ ปี ก็เข้ามาบอกขอกู้เงิน เขาขอกู้เงินสามหมื่นบาท. ถามว่าเอาไปทำอะไร บอกว่าจะไปซื้อเครื่องมือสำหรับตัดเย็บผ้าให้ภรรยาทำร้าน. ก็ตกลงให้เขา แล้วเขาจะคืนมาเมื่อไหร่ก็แล้วแต่เขา. ในที่สุดเมื่อเขาตั้งร้านแล้ว เขาก็เอาเงินมาคืนทุกเดือนสม่ำเสมอ จนกระทั่งหมดจำนวนที่ได้ให้กู้. ด้วยความฉลาด ด้วยความซื่อสัตย์ของเขา รู้ว่ากิจการนี้จะทำให้มีกำไรได้ สามารถที่จะคืนเงินมาให้ครบจำนวนที่กู้ และต่อไปก็เป็นกำไรทั้งนั้น ก็ชมเขาว่าดี. คือคนนี้เขาเป็นคนซื่อสัตย์ และในที่สุดก็มาเป็นคนที่ช่วยในด้านช่างฝีมือ และได้รับใช้อย่างซื่อสัตย์จนกระทั่งถึงสิ้นอายุ. คนแรกที่เอาเงินไปใช้แชร์นั้น ก็ไม่มีชีวิตแล้วเหมือนกัน.


มีอีกรายหนึ่ง เขามาวันหนึ่ง เอาหัวเข็มขัดมาให้. เราถามว่าหัวเข็มขัดนี่เอามาให้ทำไม. ในที่สุดก็ทราบว่าเขาขอกู้เงิน. อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ประหลาด เพราะว่าเขาไม่มีเงินใช้ ทำไมไปซื้อหัวเข็มขัด ซึ่งก็ราคาไม่ค่อยถูกนัก เอามาให้. ก็เลยบอกเขาว่าไม่ให้ ไปหาเงินที่อื่น เพราะว่าทราบดีว่าถ้าให้เขา เขาจะไม่มีเอามาใช้คืน. เงินที่จะให้เขาก็มี แต่ถ้าให้เงินเขาแล้ว เขาก็เอาไปใช้อย่างอีลุ่ยฉุยแฉก และไม่มีผลอย่างผู้ที่ขอกู้สำหรับทำอาชีพ จะกลายเป็นการทำให้คนยิ่งเสียใหญ่. อันนี้เป็นสิ่งที่จะต้องสอนว่า กู้เงิน เงินนั้นจะต้องให้เกิดประโยชน์ มิใช่กู้สำหรับไปเล่นไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์.


อันนี้ก็มีอีกคนหนึ่ง. เขาจะแต่งงาน และขอกู้เงิน. นึกว่าคนนั้นเขาก็ทำงานมาดี ก็น่าจะให้เหมือนเป็นรางวัลเขา ก็ให้เงินเขาหมื่นบาท. สมัยโน้นหมื่นบาทไม่ใช่น้อย. หมื่นบาทเพื่อจะไปจัดงานแต่งงานของเขา. ตกลงเขาได้แต่งงาน. เขายังไม่ได้คืนเงิน ก็ไม่ค่อยถืออะไร เพราะว่าเขาแต่งงาน เขามีความสุข ก็ดีไป. เขาจะได้ทำงานได้ดี. แต่หารู้ไม่ว่าสักปีสองปีภายหลัง เขามาขอเงินสามหมื่นบาท. เลยบอก เอ๊ะ! สามหมื่นบาทไปทำอะไร. เขาบอกว่าเมื่อแต่งงาน เงินไม่พอ เขาจึงไปกู้เงินที่อื่นมา. ใช้หนี้ไม่ได้ และต้องเสียดอกเบี้ย จนกระทั่งเงินที่ใช้หมดแล้ว.


ต้องใช้ดอกเบี้ย จำนวนทั้งหมด ทั้งต้นและดอกนั้น ก็คือสามหมื่นบาท ไม่นับเงินหนึ่งหมื่นบาทที่เราให้เขาไปแล้ว. หมายความว่าไปติดหนี้นุงนัง หนี้ที่ไม่สามารถที่จะใช้คืนได้. เลยไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะได้ความว่าถ้าไม่ได้อย่างนี้ เขาจะฆ่าตัวตาย เพราะไม่มีทางออก. เงินเดือนเขาก็ไม่พอที่จะไปใช้หนี้ ดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้นทุกที. ทุกครั้งที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ก็ต้องติดอีกต่อไป ทบต้น. ก็เลยเห็นว่าเมื่อครั้งแรกเขาขอยืมเงินสำหรับแต่งงานน่าจะมีความสุข กลับมีความทุกข์. ก็เลยคิดว่าไหน ๆ ให้ไปหมื่นบาทแล้ว ก็ควรให้ครบที่จะไปใช้หนี้ได้ ลงท้ายเขาก็สามารถมีชีวิตต่อไป และทำงานได้. แต่คงเป็นบทเรียนที่ดี. อันนี้ก็หมายความว่า เขาขอเรา เราก็ให้ เราก็ได้ช่วยชีวิตเขา.


มีอีกรายหนึ่งมา เป็นคนข้างนอก เขามาบอกว่าลูกของเขาเจ็บตา ถ้าไม่ทำอะไรตาจะบอด เราก็สงสารเขา ก็ให้เงินเขาสามหมื่นบาทเหมือนกัน. ลงท้ายก็ไม่ทราบว่า ลูกเขาได้ไปผ่าตัดตาได้ผลดีอย่างไร. แต่วันหนึ่งก็โผล่มาอีกที บอกว่าเรียบร้อยแล้ว ลูกนั้นเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ขอบ้าน ขอบ้านอยู่. แล้วเขาก็ไปสืบเสร็จว่าบ้านนั้นว่างแล้ว. ขออยู่ฟรี ก็เลยเลิกเลย เพราะว่าเขาควรจะมีฐานะพอสมควรที่จะมีบ้านอยู่. บ้านที่ขอนี้เป็นบ้านที่นับว่าใหญ่. ถ้าให้บ้านตามที่เขาขอ เขาก็จะต้องมาขอค่าใช้จ่ายสำหรับในบ้านอีก. เมื่อบ้านใหญ่ก็คงมีญาติ มีเพื่อน มาอาศัยบ้านอีกที ก็ต้องเสียเงินอีก เลยบอกไม่ให้. ที่พูดไม่ให้นั้น ก็เรียกว่ามีความเดือดร้อนเหมือนกันที่จะพูดอย่างนั้น เพราะว่าจะว่าสงสารก็สงสาร. เวลาใครมาขออะไร แล้วไม่สามารถที่จะให้ มันก็ไม่ค่อยสบายใจ. ในที่สุดก็เงียบไป. เรื่องเหล่านี้ที่เล่าให้ฟัง ก็เพราะว่ามันเป็นต้นเหตุของวิกฤตการณ์ปัจจุบัน.


ต้องเล่านิทานอีกเรื่องหนึ่ง. คือไปทางชลบุรีครั้งหนึ่ง นี่ก็หลายสิบปีมาแล้ว. มีพ่อค้าคนหนึ่ง เขาบอกว่าเขาทำโรงงาน สำหรับทำสับปะรดกระป๋อง. เขาลงทุนเป็นล้าน จำไม่ได้แล้วกี่ล้าน เพื่อสร้างโรงงาน. การลงทุนมากอย่างนั้น บอกให้เขาทราบว่าไม่ค่อยเห็นด้วย. เพราะว่าเคยทำโรงงานเล็ก ๆ ที่ทางภาคเหนือ ใช้เงินสามแสนบาท เพื่อที่จะเอาผลิตผลของชาวบ้านชาวเขามาใส่กระป๋องแล้วขาย ก็ได้ผล. เป็นโรงงานเล็ก ๆ. บอกว่าที่เขาลงทุนเป็นล้าน รู้สึกว่าเสี่ยง. เขาบอกว่าต้องทำอย่างนั้น เขาก็ลงทุน. ทำไปทำมา สับปะรดที่อำเภอบ้านบึง ทางชลบุรี ก็มีไม่พอ. เมื่อมีไม่พอต้องไปสั่งสับปะรดมาจากปราณบุรี. สับปะรดจากปราณบุรีต้องขนส่งมา ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก. ทำไปทำมาโรงงานก็ล้ม. อย่างนี้ก็แสดงให้เห็นว่าทำโครงการอะไร ก็จะต้องนึกถึงขนาดที่เหมาะสมกับที่เรียกว่าอัตภาพ หรือกับสิ่งแวดล้อม.


นี่พูดไปพูดมา ยังมีอีกรายการหนึ่ง. ที่ลำพูนมีการตั้งโรงงานสำหรับแช่แข็งผลผลิตของชาวไร่. ได้ไปเยี่ยม เขาบ่นว่า ข้าวโพดที่เขาใช้สำหรับแช่แข็ง คุณภาพไม่ค่อยดี ก็เลยซื้อในราคาแพงไม่ได้. ตอนนั้นก็ยังไม่ทราบว่าเขาจะมีอันเป็นไปอย่างไร. ก็บอกเขาว่า นี่น่าจะส่งเสริมด้านการเงินให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด ให้ได้ข้าวโพดที่มีคุณภาพดี โรงงานจะเจริญ. เขาบอกให้ไม่ได้เพราะว่าคุณภาพไม่ดี. อันนี้ก็เป็นปัญหาโลกแตก ถ้าไม่ให้ราคาดี หรือไม่สนับสนุนเกษตรกรในการเพาะปลูก ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ จะไม่ได้คุณภาพ จะได้ข้าวโพดที่ฟันหลอ ซึ่งเขาก็บอกว่าต้องทิ้ง เพราะว่าเครื่องจักรของเขาต้องมีข้าวโพดที่ขนาดเหมาะสม. อย่างนี้โรงงานนั้น ความจริงไม่ได้แช่งเขา แต่นึกในใจว่าโรงงานนี้อยู่ไม่ได้. แล้วในที่สุดก็จริง ๆ ก็ล้ม อาคารอะไรต่าง ๆ ก็ยังอยู่เดี๋ยวนี้ แต่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เกะกะอยู่.


ฉะนั้น การที่จะทำโครงการอะไร จะต้องทำด้วยความรอบคอบ และอย่าตาโตเกินไป. คือบางคนเห็นว่ามีโอกาสที่จะทำโครงการอย่างโน้นอย่างนี้ และไม่ได้นึกถึงว่าปัจจัยต่างๆ ไม่ครบ. ปัจจัยหนึ่งคือขนาดของโรงงาน หรือเครื่องจักรที่สามารถที่จะปฏิบัติได้. แต่ข้อสำคัญที่สุดคือวัตถุดิบ. ถ้าไม่สามารถที่จะให้ค่าตอบแทนวัตถุดิบแก่เกษตรกร เกษตรกรก็จะไม่ผลิต. ยิ่งถ้าวัตถุดิบสำหรับใช้ในโรงงานนั้น เป็นวัตถุดิบที่ต้องนำมาจากระยะไกลหรือนำเข้าก็จะยิ่งยาก เพราะว่าวัตถุดิบที่นำเข้านั้นราคายิ่งแพง. บางปีวัตถุดิบนั้นมีบริบูรณ์ ราคาอาจจะต่ำลงมา แต่เวลาจะขายสิ่งของที่ผลิตจากโรงงาน ก็ขายยากเหมือนกัน เพราะว่ามีมาก จึงทำให้ราคาตก. นี่ก็เป็นกฎเกณฑ์ที่ต้องมี.


แต่ข้อสำคัญที่อยากจะพูดถึงคือ ถ้าเราทำโครงการที่เหมาะสม ขนาดที่เหมาะสม อาจจะไม่ดูหรูหรา แต่จะไม่ล้ม หรือถ้ามีอันเป็นไป ก็ไม่เสียมาก. เช่นโรงงานกระป๋องที่ริเริ่มทำ ที่อำเภอฝางนั่น วันหนึ่งเขาติดต่อมาบอกว่าน้ำท่วม น้ำเขาลงมา พัดโรงงานเสียหาย ก็เลยบอกว่าไม่เป็นไร จะสนับสนุนเงินเพิ่มเติม. ที่ดินที่ตรงนั้นก็ซื้อไว้แล้ว และเครื่องมือเครื่องใช้ก็ไม่เสียหมด. ก็สนับสนุนเขาอีกสี่แสน คือเป็นสี่แสน ไม่ใช่สามแสนตามราคาเดิม เพราะว่าเป็นเวลาที่เงินมีค่าน้อยลง. ตั้งขึ้นมาใหม่ ต่อไปก็ใช้งานได้ มีกำไร. อันนี้เกิดขึ้นหลายปีมาแล้ว. มาเร็ว ๆ นี้ โครงการต่าง ๆ โรงงานเกิดขึ้นมามาก จนกระทั่งคนนึกว่าประเทศไทยนี้ จะเป็นเสือตัวเล็ก ๆ แล้วก็เป็นเสือตัวโตขึ้น. เราไปเห่อว่าจะเป็นเสือ.


ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน. แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง. อันนี้ก็เคยบอกว่า “ความพอเพียง” นี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง. อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร. บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก. อย่างนี้ท่านนักเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็มาบอกว่าล้าสมัย. จริง อาจจะล้าสมัย คนอื่นเขาต้องมีการเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่า เป็นเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียง เลยรู้สึกว่าไม่หรูหรา. แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่า ผลิตให้พอเพียงได้.


อย่างข้าวที่ปลูก เคยสนับสนุนให้ปลูกข้าวให้พอเพียงกับตัวเอง แต่ละครอบครัวเก็บเอาไว้ในยุ้งเล็ก ๆ แล้วถ้ามีพอก็ขาย. แต่คนอื่นกลับบอกว่าไม่สมควร. โดยเฉพาะในทางภาคอีสาน เขาบอกว่าต้องปลูกข้าวหอมมะลิเพื่อจะขาย. อันนี้ถูกต้อง ข้าวหอมมะลิขายได้ดี แต่เมื่อขายแล้ว จะบริโภคเองต้องซื้อ ต้องซื้อจากใคร. ทุกคนก็ปลูกข้าวหอมมะลิ. ในภาคอีสานส่วนมากเขาชอบบริโภคข้าวเหนียว ซึ่งใครจะเป็นคนปลูกข้าวเหนียว เพราะประกาศโฆษณาว่า คนที่ปลูกข้าวเหนียวเป็นคนโง่. อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ. เลยได้สนับสนุนบอกว่าให้เขาปลูกข้าวบริโภค เขาจะชอบข้าวเหนียวก็ปลูกข้าวเหนียว. เขาจะชอบปลูกข้าวอะไรก็ตาม ให้เขาปลูกข้าวอย่างนั้น และเก็บไว้เพื่อที่จะบริโภคตลอดปี ถ้ามีที่ที่จะทำนาปรัง หรือมีที่มากพอสำหรับปลูกข้าว ก็ปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อที่จะขาย


ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะว่า ข้าวที่ปลูกสำหรับบริโภค ไม่ต้องเที่ยวรอบโลก. ถ้าข้าวที่ซื้อมา ต้องเที่ยว อาจจะไม่ถึงรอบโลก แต่ก็ต้องข้ามจังหวัด หรืออาจจะข้ามประเทศ ค่าขนส่งนั้นก็บวกเข้าไป ในราคาข้าว ตกลงเขาจะต้องขายข้าวในราคาถูก เพราะว่าข้าวนั้นต้องขนส่งไปสู่ต่างประเทศ ที่จะขายได้กำไร ก็ต้องบวกค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็บวกเข้ามาในราคาข้าว. หมายความว่าราคาข้าวของเกษตรกรจะถูกตัด. เขาบอกว่าขายข้าวหอมมะลิได้ราคาแพง จริง ตอนขายถึงผู้บริโภคในต่างประเทศ แต่ต้นทางก็ไม่ได้ค่าตอบแทนมากนัก และยังต้องไปซื้อข้าวบริโภค ซึ่งจะแพงกว่า เพราะว่าจะต้องขนส่งมา.


ในข้อนี้ได้ทราบดีเพราะเมื่อมีภัยธรรมชาติ จะเป็นที่ไหนก็ตาม สมมติว่าเกิดที่เชียงราย มีเจ้าหน้าที่ออกไปสงเคราะห์ แล้วก็ขอข้าวเพื่อไปแจก. เราก็ซื้อข้าว ซื้อข้าวในราคากรุงเทพฯ หมายความว่า ข้าวนั้นมาจากเชียงราย เพราะเชียงรายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ขนส่งมาถึงกรุงเทพฯ. ซื้อที่กรุงเทพฯ แล้วก็ส่งไปเชียงราย. เสียค่าขนส่งเท่าไหร่. แท้จริงไปซื้อที่เชียงรายได้. ซื้อที่กรุงเทพฯ นี่ แต่ให้เขาจ่ายที่เชียงราย ข้าวนั้นไม่ต้องเดินทาง แต่ว่าราคานั้น “เดินทาง” คือพ่อค้าเขานำข้าวมาในนาม – ในเอกสาร - นำเข้ากรุงเทพฯ และเมื่อเราสั่งข้าว คำสั่งนั้นต้องเดินทางไปเชียงราย. แต่ไม่ใช่เอกสารสั่งข้าวเท่านั้นที่เดินทางไป เขายังเอาค่าขนส่งข้าวจากเชียงรายเข้ากรุงเทพฯ และค่าขนส่งจากกรุงเทพฯ กลับไปเชียงรายบวกเข้าไปอีก. ลงท้าย ต้องเสียราคาข้าวแพง. ผู้ที่บริโภคข้าวในภาคเหนือก็ต้องเสียราคาแพง ทางภาคใต้ก็เช่นเดียวกัน นั่นใกล้หน่อย อย่างนราธิวาสซื้อข้าวจากพัทลุง.


สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของ “เศรษฐกิจแบบค้าขาย” ภาษาฝรั่งเขาเรียก TRADE ECONOMY ไม่ใช่ “แบบพอเพียง “ ซึ่งฝรั่งเรียก SELF-SUFFICIENT ECONOMY ที่ไหนทำแบบ SELF-SUFFICIENT ECONOMY คือเศรษฐกิจแบบพอเพียงกับตัวเอง เราก็อยู่ได้ ไม่ต้องเดือดร้อน. อย่างทุกวันนี้เราเดือดร้อน สำหรับข้าวก็เห็นชัด. สำหรับสิ่งอื่นประชาชนก็ต้องใช้ มีสิ่งของจำเป็นที่จะใช้หลายอย่างที่เราทำได้ในเมืองไทย. แล้วก็สามารถที่จะเป็นสินค้าส่งนอก. ใช้เองด้วย และเป็นสินค้าส่งนอกด้วย. แต่ว่าสำหรับส่งนอกนั้น ก็มีพิธีการที่จะต้องผ่านมากมาย ลงท้ายกำไรเกือบไม่เหลือ. แต่ถ้าสามารถติดต่อโดยตรง ก็อย่างกลองนี้ เขาติดต่อโดยตรง ก็ส่งไปลงเรือ ที่เรียกว่า CONTAINER. ส่งไปเต็ม CONTAINER และค่าขนส่งนั้นก็ไม่แพงนัก.


ที่พูดกลับไปกลับมาในเรื่องการค้า การบริโภค การผลิตและการขายนี้ ก็นึกว่าท่านทั้งหลายกำลังกลุ้มใจในวิกฤตการณ์. ตั้งแต่คนที่มีเงินน้อยจนกระทั่งคนที่มีเงินมาก ล้วนเดือดร้อน. แต่ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนไป ทำให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้แค่ครึ่งก็ไม่ต้อง อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะสามารถอยู่ได้. การแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่าย ๆ. โดยมากคนก็ใจร้อนเพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็สามารถที่จะแก้ไขได้. ที่จริงในที่นี้ ก็มีนักเศรษฐกิจต่างๆ ก็ควรจะเข้าใจที่พูดไปดังนี้...


...เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถพ้นวิกฤตการณ์ได้ดีกว่าหลายประเทศ เพราะแผ่นดินนี้ยังเหมาะสมกับความเป็นอยู่ได้ อย่างที่เคยพูดมาหลายปีแล้วว่า ภูมิประเทศยัง “ให้” คือเหมาะสม. แต่ความเป็นอยู่ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ต้องอยู่อย่างประหยัด และต้องไปในทางที่ถูกต้อง.


วันนี้พูดถึงวิธีแก้ไขสถานการณ์ปัจจุบัน วิกฤตการณ์ปัจจุบัน ทางหนึ่ง วิธีหนึ่ง. สมัยนี้เป็นสมัยที่พูดกันได้ว่า โลกาภิวัตน์ก็จะต้องทำตามประเทศอื่นด้วย เพราะว่าถ้าไม่ทำตามประเทศอื่น ตามคำสัญญาที่มีไว้ เขาอาจจะไม่พอใจ. ทำไมเขาจะไม่พอใจ ก็เพราะว่าเขาเองมีวิกฤตการณ์เหมือนกัน. การที่ประเทศใกล้เมืองไทยในภูมิภาคนี้มีวิกฤตการณ์ด้วย ก็ทำให้เราฟื้นจากวิกฤตการณ์นี้ยากขึ้น. และไม่ใช่เฉพาะประเทศที่อยู่ในภูมิภาคนี้ แม้แต่ประเทศที่ดูยังเจริญรุ่งเรืองดี ก็รู้สึกว่าจะกำลังเดือดร้อนขึ้น เพราะว่าถ้าไม่แก้ไขวิกฤตการณ์ในมุมไหนของโลก ส่วนอื่นของโลกก็จะต้องเดือดร้อนเหมือนกัน. ฉะนั้นเราต้องพยายามอุ้มชูประชาชนให้ได้มีงานทำ มีรายได้ ก็จะสามารถผ่านวิกฤตการณ์. แต่ถ้าทำแบบที่เคยมีนโยบายมา คือผลิตสิ่งของทางอุตสาหกรรมมากเกินไป ก็จะไม่สำเร็จ โดยที่ในเมืองไทยตลาดมีน้อยลง เพราะคนมีเงินน้อยลง.


แต่ข้อสำคัญ นักเศรษฐกิจบอกว่าให้ส่งออก ส่งออกไปประเทศอื่น ๆ ซึ่งก็เดือดร้อนเหมือนกัน เขาก็ไม่ซื้อ. ถ้าทำผลิตผลทางอุตสาหกรรมและไม่มีผู้ซื้อ ก็เป็นหมันเหมือนกัน. เราอาจจะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี แต่หลายประเทศในภูมิภาคนี้ ก็มีอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพสุดยอดทีเดียว. ที่เกิดมีวิกฤตการณ์ขึ้นมา ก็เพราะว่าขยายการผลิตมากเกินไป และไม่มีใครซื้อ เพราะไม่มีใครมีเงินพอที่จะซื้อ. อย่างรถยนต์ที่ใช้มาตะกี้ เขายังมีรถที่อยู่ใน STOCK แต่ขายไม่ออก. ไม่ใช่ว่าไม่มีคนอยากได้รถ แต่คนที่อยากได้รถนั้นไม่มีเงิน ถ้าจะซื้อรถ โดยไม่จ่ายเงินให้ ใช้เงินเชื่อ บริษัทก็ไปไม่รอดเหมือนกัน. ฉะนั้นเขาชะลอการสร้าง แล้วเขาจึงมาทำรถคันนี้ให้ โดยใช้คนงานกว่าสองร้อยคน. นี่ก็เป็นเรื่องของการแก้ไขวิกฤตการณ์ แต่ท่านผู้ที่ชอบเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่ อาจจะไม่ค่อยพอใจ. ต้องถอยหลังเข้าคลอง จะต้องอยู่อย่างระมัดระวัง และต้องกลับไปทำกิจการที่อาจจะไม่ค่อยซับซ้อนนัก คือใช้เครื่องมืออะไรที่ไม่หรูหรา. แต่ก็อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นที่จะถอยหลังเพื่อที่จะก้าวหน้าต่อไป. ถ้าไม่ทำอย่างที่ว่านี้ ก็จะแก้วิกฤตการณ์นี้ยาก.”
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐)



ข้อมูลอ้างอิง
http://www.cca.chula.ac.th/protocol/sufficiency-economy.html
http://www.waengnoi.com/krunoinid/index.php?mod=news_full&id_news=13&path=web/news_other/
http://km.rdpb.go.th/Knowledge/View/74
http://king9.ohm.go.th/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%94%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%AA-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%97/



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP