ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ติตถสูตร ว่าด้วยลัทธิเดียรถีย์ ๓ อย่าง


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๕๐๑] ภิกษุทั้งหลาย ติตถายตนะ (บ่อเกิดคือทิฏฐิ) ๓ นี้
ซึ่งถูกบัณฑิตทั้งหลายไต่ถามซักไซ้ไล่เลียง
ก็อ้างถึงปรัมปราแล้วยืนกรานอยู่ในหลักอกิริยา ติตถายตนะ ๓ เป็นไฉน
ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
บุรุษบุคคลบางคนได้รับสุขหรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข อย่างใดอย่างหนึ่ง
ได้รับเพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนทั้งสิ้นเป็นเหตุ


สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
บุรุษบุคคลบางคนได้รับสุขหรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข อย่างใดอย่างหนึ่ง
ได้รับเพราะผู้เป็นใหญ่ (พระอิศวร) สร้างสรรค์ให้ทั้งสิ้นเป็นเหตุ


สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
บุรุษบุคคลบางคนได้รับสุขหรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข อย่างใดอย่างหนึ่ง
ได้รับโดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยทั้งสิ้น


ภิกษุทั้งหลาย ในสมณพราหมณ์ ๓ พวกนั้น
สมณพราหมณ์พวกที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
บุรุษบุคคลบางคนได้รับสุขหรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข อย่างใดอย่างหนึ่ง
ได้รับเพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนทั้งสิ้น
เราเข้าไปถามสมณพราหมณ์พวกนั้นอย่างนี้ว่า
ท่านทั้งหลาย ได้ยินว่า ท่านทั้งหลายมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
บุรุษบุคคลบางคนได้รับสุขหรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข อย่างใดอย่างหนึ่ง
ได้รับเพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนทั้งสิ้น จริงหรือ
ถ้าสมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้ว ยอมรับว่าจริง
เราก็กล่าวกะสมณพราหมณ์เหล่านั้นอย่างนี้ว่า
ถ้ากระนั้น คนจักเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และเสพกาม
ก็เพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อน คนจักเป็นผู้พูดเท็จ พูดส่อเสียด
พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ก็เพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อน
คนจักเป็นผู้มักได้ มีใจพยาบาท มีความเห็นผิด ก็เพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อน
เมื่อถือเอาบุพกรรมมาเป็นสาระ (คือ เป็นข้อสำคัญ)
ความพอใจหรือความพยายามว่า สิ่งนี้ควรทำ หรือสิ่งนี้ไม่ควรทำ ดังนี้ ก็ไม่มี
เมื่อเขาไม่ได้สิ่งที่ควรทำและสิ่งไม่ควรทำโดยจริงจังหนักแน่นเช่นนี้
สมณวาทะที่ชอบแก่เหตุ ที่เป็นวาทะเฉพาะตน
ก็ย่อมไม่มีแก่บุคคลทั้งหลายผู้มีสติฟั่นเฟือน ผู้ไม่ระมัดระวังอยู่
ภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นสมณวาทะข้อที่ ๑ ซึ่งเป็นวาทะที่เป็นไปกับด้วยเหตุ
เป็นวาทะสำหรับข่มของเรา เมื่อสมณพราหมณ์เหล่านั้น มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้.


ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์บางเหล่า มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
บุรุษบุคคลบางคนได้รับสุขหรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข อย่างใดอย่างหนึ่ง
ก็เพราะผู้เป็นใหญ่สร้างสรรค์ให้ทั้งสิ้น
เราเข้าไปถามสมณพราหมณ์เหล่านั้นอย่างนี้ว่า
ท่านทั้งหลาย ได้ยินว่า ท่านทั้งหลายมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
บุรุษบุคคลบางคนได้รับสุขหรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข อย่างใดอย่างหนึ่ง
ก็เพราะผู้เป็นใหญ่สร้างสรรค์ให้ทั้งสิ้น จริงหรือ
ถ้าสมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้ว ยอมรับว่าจริง
เราก็กล่าวกะสมณพราหมณ์เหล่านั้นอย่างนี้ว่า
ถ้ากระนั้น คนจักเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และเสพกาม
ก็เพราะผู้เป็นใหญ่สร้างสรรค์ให้ทั้งสิ้น
คนจักเป็นผู้พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
ก็เพราะผู้เป็นใหญ่สร้างสรรค์ให้ทั้งสิ้น
คนจักเป็นผู้มักได้ มีใจพยาบาท มีความเห็นผิด
ก็เพราะผู้เป็นใหญ่สร้างสรรค์ให้ทั้งสิ้น
เมื่อถือเอาการสร้างสรรค์ของผู้เป็นใหญ่มาเป็นสาระ
ความพอใจหรือความพยายามว่า สิ่งนี้ควรทำ หรือสิ่งนี้ไม่ควรทำ ดังนี้ ก็ไม่มี
เมื่อเขาไม่ได้สิ่งที่ควรทำและสิ่งไม่ควรทำโดยจริงจังหนักแน่นเช่นนี้
สมณวาทะที่ชอบแก่เหตุ ที่เป็นวาทะเฉพาะตน
ก็ย่อมไม่มีแก่บุคคลทั้งหลายผู้มีสติฟั่นเฟือน ผู้ไม่ระมัดระวังอยู่
ภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นสมณวาทะข้อที่ ๒ ซึ่งเป็นวาทะที่เป็นไปกับด้วยเหตุ
เป็นวาทะสำหรับข่มของเรา เมื่อสมณพราหมณ์เหล่านั้น มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้.


ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์บางเหล่า
มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า บุรุษบุคคลบางคนได้รับสุขหรือทุกข์
หรือไม่ทุกข์ไม่สุข อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยทั้งสิ้น
เราเข้าไปถามสมณพราหมณ์เหล่านั้นอย่างนี้ว่า
ท่านทั้งหลาย ได้ยินว่า ท่านทั้งหลายมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
บุรุษบุคคลบางคนได้รับสุขหรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข อย่างใดอย่างหนึ่ง
โดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยทั้งสิ้น จริงหรือ
ถ้าสมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้ว ยอมรับว่าจริง
เราก็กล่าวกะสมณพราหมณ์เหล่านั้นอย่างนี้ว่า
ถ้ากระนั้น คนจักเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และเสพกาม
ก็โดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย คนจักเป็นผู้พูดเท็จ พูดส่อเสียด
พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ก็โดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย
คนจักเป็นผู้มักได้ มีใจพยาบาท มีความเห็นผิด
ก็โดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย เมื่อถือเอาความไม่มีเหตุมาเป็นสาระ
ความพอใจหรือความพยายามว่า สิ่งนี้ควรทำ หรือสิ่งนี้ไม่ควรทำ ดังนี้ ก็ไม่มี
เมื่อเขาไม่ได้สิ่งที่ควรทำและสิ่งไม่ควรทำโดยจริงจังหนักแน่นเช่นนี้
สมณวาทะที่ชอบแก่เหตุ ที่เป็นวาทะเฉพาะตน
ก็ย่อมไม่มีแก่บุคคลทั้งหลายผู้มีสติฟั่นเฟือน ผู้ไม่ระมัดระวังอยู่
ภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นสมณวาทะข้อที่ ๓ ซึ่งเป็นวาทะที่เป็นไปกับด้วยเหตุ
เป็นวาทะสำหรับข่มของเรา เมื่อสมณพราหมณ์เหล่านั้น
มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้.


ภิกษุทั้งหลาย ติตถายตนะ (บ่อเกิดคือทิฏฐิ) ๓ นี้แล
ซึ่งถูกบัณฑิตทั้งหลายไต่ถามซักไซ้ไล่เลียง
ก็อ้างถึงปรัมปราแล้วยืนกรานอยู่ในหลักอกิริยา
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนว่าธรรมที่เราแสดงแล้วนี้ ใคร ๆ ข่มไม่ได้
เป็นธรรมไม่มัวหมอง สมณพราหมณ์ผู้รู้ติเตียนไม่ได้ คัดค้านไม่ได้
ธรรมที่เราแสดงแล้วนี้ ใคร ๆ ข่มไม่ได้ เป็นธรรมไม่มัวหมอง
สมณพราหมณ์ผู้รู้ติเตียนไม่ได้ คัดค้านไม่ได้ เป็นอย่างไร


ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เราแสดงแล้วนี้ ใคร ๆ ข่มไม่ได้ เป็นธรรมไม่มัวหมอง
สมณพราหมณ์ผู้รู้ติเตียนไม่ได้ คัดค้านไม่ได้ คือ ธาตุ ๖ เหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เราแสดงแล้วนี้ ใคร ๆ ข่มไม่ได้ เป็นธรรมไม่มัวหมอง
สมณพราหมณ์ผู้รู้ติเตียนไม่ได้ คัดค้านไม่ได้ คือ ผัสสายตนะ ๖ เหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เราแสดงแล้วนี้ ใคร ๆ ข่มไม่ได้ เป็นธรรมไม่มัวหมอง
สมณพราหมณ์ผู้รู้ติเตียนไม่ได้ คัดค้านไม่ได้ คือ มโนปวิจาร ๑๘ เหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เราแสดงแล้วนี้ ใคร ๆ ข่มไม่ได้ เป็นธรรมไม่มัวหมอง
สมณพราหมณ์ผู้รู้ติเตียนไม่ได้ คัดค้านไม่ได้ คือ อริยสัจ ๔ เหล่านี้


ก็แล คำที่เรากล่าวว่า ธรรมที่เราแสดงแล้วนี้ ใคร ๆ ข่มไม่ได้
เป็นธรรมไม่มัวหมอง สมณพราหมณ์ผู้รู้ติเตียนไม่ได้ คัดค้านไม่ได้
คือ ธาตุ ๖ เหล่านี้นี่ เราอาศัยอะไรกล่าว
ภิกษุทั้งหลาย ธาตุ ๖ เหล่านี้ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ
เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ
คำที่เรากล่าวว่า ธรรมที่เราแสดงแล้วนี้ ใคร ๆ ข่มไม่ได้ เป็นธรรมไม่มัวหมอง
สมณพราหมณ์ผู้รู้ติเตียนไม่ได้ คัดค้านไม่ได้ คือ ธาตุ ๖ เหล่านี้นี่
เราอาศัยธาตุมีปฐวีธาตุเป็นต้นนี้แลกล่าว


อนึ่ง คำที่เรากล่าวว่า ธรรมที่เราแสดงแล้วนี้ ใคร ๆ ข่มไม่ได้
เป็นธรรมไม่มัวหมอง สมณพราหมณ์ผู้รู้ติเตียนไม่ได้ คัดค้านไม่ได้
คือ ผัสสายตนะ ๖ เหล่านี้นี่ เราอาศัยอะไรกล่าว
ภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ เหล่านี้ คือ ผัสสายตนะคือตา
ผัสสายตนะคือหู ผัสสายตนะคือจมูก ผัสสายตนะคือลิ้น
ผัสสายตนะคือกาย ผัสสายตนะคือใจ
เป็นธรรมไม่มัวหมอง สมณพราหมณ์ผู้รู้ติเตียนไม่ได้ คัดค้านไม่ได้
คือ ผัสสายตนะ ๖ เหล่านี้นี่ เราอาศัยผัสสายตนะคือตาเป็นต้นนี้แลกล่าว.


อนึ่ง คำที่เรากล่าวว่า ธรรมที่เราแสดงแล้วนี้ ใคร ๆ ข่มไม่ได้
เป็นธรรมไม่มัวหมอง สมณพราหมณ์ผู้รู้ติเตียนไม่ได้ คัดค้านไม่ได้
คือ มโนปวิจาร ๑๘ เหล่านี้นี่ เราอาศัยอะไรกล่าว
บุคคลเห็นรูปด้วยตา ย่อมใคร่ครวญรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนมัส
ย่อมใคร่ครวญรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนมัส
ย่อมใคร่ครวญรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา
บุคคลฟังเสียงด้วยหู ย่อมใคร่ครวญเสียงอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนมัส
ย่อมใคร่ครวญเสียงอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนมัส
ย่อมใคร่ครวญเสียงอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา
บุคคลดมกลิ่นด้วยจมูก ย่อมใคร่ครวญกลิ่นอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนมัส
ย่อมใคร่ครวญกลิ่นอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนมัส
ย่อมใคร่ครวญกลิ่นอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา
บุคคลลิ้มรสด้วยลิ้น ย่อมใคร่ครวญรสอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนมัส
ย่อมใคร่ครวญรสอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนมัส
ย่อมใคร่ครวญรสอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา
บุคคลถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ย่อมใคร่ครวญโผฏฐัพพะอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนมัส
ย่อมใคร่ครวญโผฏฐัพพะอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนมัส
ย่อมใคร่ครวญโผฏฐัพพะอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา
บุคคลรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมใคร่ครวญธรรมารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนมัส
ย่อมใคร่ครวญธรรมารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนมัส
ย่อมใคร่ครวญธรรมารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา
คำที่เรากล่าวว่า ธรรมที่เราแสดงแล้วนี้ ใคร ๆ ข่มไม่ได้
เป็นธรรมไม่มัวหมอง สมณพราหมณ์ผู้รู้ติเตียนไม่ได้
คัดค้านไม่ได้ คือ มโนปวิจาร ๑๘ เหล่านี้นี่
เราอาศัยมโนปวิจารมีรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัสเป็นต้นนี้แลกล่าว.


อนึ่ง คำที่เรากล่าวว่า ธรรมที่เราแสดงแล้วนี้ ใคร ๆ ข่มไม่ได้
เป็นธรรมไม่มัวหมอง สมณพราหมณ์ผู้รู้ติเตียนไม่ได้ คัดค้านไม่ได้
คือ อริยสัจ ๔ เหล่านี้นี่ เราอาศัยอะไรกล่าว ภิกษุทั้งหลาย
เพราะอาศัยธาตุ ๖ ความตั้งครรภ์จึงมี เมื่อความตั้งครรภ์มี นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
ภิกษุทั้งหลาย เราประกาศว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทานี้ สำหรับบุคคลผู้เสวยเวทนานั่นแล.


ก็ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไร แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์
แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ แม้ความตายก็เป็นทุกข์
แม้ความโศก ความคร่ำครวญ ความไม่สบายกาย
ความเสียใจ และความตรอมใจ ก็เป็นทุกข์
ความประจวบกับสิ่งที่ไม่รักก็เป็นทุกข์
ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์
แม้ความไม่ได้สมปรารถนาก็เป็นทุกข์
โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่า ทุกขอริยสัจ.


ทุกขสมุทัยอริยสัจ เป็นอย่างไร.
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส
เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นเกิดขึ้นด้วยประการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ.


ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นอย่างไร.
เพราะอวิชชาสำรอกดับไม่เหลือ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส จึงดับ
เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นดับไปด้วยประการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ.


ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร
อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นี่แล คือ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ)
สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) สัมมาวาจา (วาจาชอบ)
สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ) สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
สัมมาวายามะ (เพียรชอบ) สัมมาสติ (สติชอบ) สัมมาสมาธิ (สมาธิชอบ)
ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.


คำที่เรากล่าวว่า ธรรมที่เราแสดงแล้วนี้ ใคร ๆ ข่มไม่ได้ เป็นธรรมไม่มัวหมอง
สมณพราหมณ์ผู้รู้ติเตียนไม่ได้ คัดค้านไม่ได้ คือ อริยสัจ ๔ เหล่านี้นี่
เราอาศัยความจริง ๔ อย่างมีทุกข์เป็นต้นนี้แลกล่าว.


ติตถสูตร จบ



(ติตถสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP