จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๐๐ บูรณพุทธ





ขออัพเดทรายละเอียดของโครงการบูรณพุทธ

หลังจากการประชุมที่มูลนิธิชลลดาเมื่อสัปดาห์ก่อนนะครับ
เนื้อหาของข้อความในสเตตัสเหมือนกับในคลิป
เพียงแต่ในคลิปจะมีภาพที่ช่วยให้เห็นภาพรวมกระจ่างขึ้น


<<< ที่มาของโครงการ >>>

วันบรรจุพระบรมธาตุครั้งสุดท้าย
ถือเป็นวันสิ้นสุดโครงการพระประธานทั่วหล้า
เงินบริจาคที่เหลือของโครงการพระประธานทั่วหล้า
ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการบูรณพุทธ


<<< ความหมายของโครงการบูรณพุทธ >>>

บูรณพุทธ=บูรณะวัตถุ+บูรณะคน
- - - - - - -
บูรณะวัตถุ
- - - - - - -
ได้แก่ ขุดเจาะน้ำบาดาล ถวายพระประธาน ซ่อมสร้างโบสถ์วิหาร
- - - - - - -
บูรณะคน
- - - - - - -
ได้แก่ สร้างโรงเรียนให้กับเด็กด้อยโอกาส
ถวายความรู้เรื่องการเจริญสติแด่พระเณร
ที่พวกท่านเข้าไม่ถึงการศึกษาทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ


สำหรับการถวายความรู้เรื่องการเจริญสติ
สิ่งที่คุณจะเห็นในระยะสั้น
คือซีดีมหาสติปัฏฐานสูตร ฉบับแอนิเมชั่น
แสดงประสบการณ์ภายในของผู้เจริญสติ
ซึ่งมีพุทธพจน์กำกับตั้งแต่ขั้นแรกไปจนถึงขั้นสุดท้าย
เพื่อช่วยให้เกิดความมั่นใจ เกิดความเข้าใจ
เกิดความกระจ่างใจ ตลอดจนเป็นแรงบันดาลใจ
เหนี่ยวนำให้อยากลงมือปฏิบัติเพื่อเห็นผลตาม
แต่สิ่งที่พวกเราจะเห็นกันในระยะยาว
คือกลุ่มพระผู้มีความสามารถถ่ายทอดการเจริญสติ
ตามแบบฉบับที่พระพุทธเจ้าสอน


ส่วนการสร้างโรงเรียนให้กับเด็กด้อยโอกาส
สิ่งที่คุณจะเห็นในระยะใกล้คืออาคารเรียนที่ซ่อมหรือสร้างขึ้นใหม่
แต่สิ่งที่พวกเราจะเห็นในระยะยาว
คือเด็กกลุ่มใหญ่ที่มีจิตใจพร้อมพอ
จะเป็นที่ตั้งความรู้ความเข้าใจทางพุทธศาสนา


โครงการหนึ่งๆจะเป็นไปในทิศทางใด
ขึ้นอยู่กับเป้าหมายในชีวิตของผู้ก่อตั้งโครงการ
สำหรับผู้ร่วมก่อตั้งโครงการบูรณพุทธมีอยู่ ๓ คน ได้แก่
๑) ผม ศรันย์ ไมตรีเวช (ดังตฤณ)
๒) คุณสมเจตน์ ศฤงคารรัตนะ
ผู้สร้างเว็บเพจ
84000.org กับมือตนเองตั้งแต่อายุ ๑๙
เว็บนี้เป็นแหล่งเผยแพร่พระไตรปิฎกออนไลน์แหล่งใหญ่
ที่มีผู้ใช้จริงมาจนถึงวันนี้
คุณสมเจตน์ยังเป็นผู้ร่วมสร้างโครงการพระประธานทั่วหล้ามาตั้งแต่วันแรก
ออกทุนและจัดงานบรรจุพระบรมธาตุจนถึงครั้งสุดท้าย
๓) คุณชลลดา พรหมเดชไพบูลย์
เจ้าของมูลนิธิชลลดา
ผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานี
ผู้ตั้งใจอุทิศตนช่วยเยาวชนและผู้เดือดร้อนในไทยมาตลอดทั้งชีวิต


สำหรับผู้เข้าถึงพื้นที่จริง
ปัจจุบันเริ่มต้นที่ตัวยืนหลัก ๒ ท่าน ได้แก่
๑) คุณณรงค์ แม่นปืน
ผู้สร้างโรงเรียนให้กับเด็กด้อยโอกาสมาแล้ว ๑๔ โรงเรียน
มีทั้งผู้มีชื่อเสียงและประชาชนทั่วไปให้การสนับสนุนอย่างท่วมท้น
๒) คุณณธนา หลงบางพลี
อดีตรองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ธรรมะทีวี
ผู้เดินทางทั่วโลกเพื่อถ่ายทำสารคดีชีวิตพระ
เชี่ยวชาญการสื่อสารระหว่างพระกับฆราวาสยิ่ง


ชีวิตและตัวตนของทั้งสองท่านนี้
จะเป็นเครื่องหมายแทนจุดประสงค์ของโครงการบูรณพุทธในระยะยาวต่อไป


ขณะนี้ทางโครงการบูรณพุทธ
กำลังอยู่ในขั้นตอนจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิ
ต่อไปเมื่อเป็นมูลนิธิเต็มรูปแบบ
จะทำบัญชีแยกประเภท เช่น
บัญชีเพื่อถวายพระประธาน
บัญชีเพื่อขุดเจาะน้ำบาดาล
บัญชีเพื่อสร้างโรงเรียนแด่เด็กผู้ด้อยโอกาส
อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งมูลนิธิต้องใช้เวลา
ระหว่างนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยมูลนิธิชลลดาช่วยดูแลไปก่อน
โดยต้องเอาเงินบริจาคเข้าบัญชีเดียวเท่านั้น
การบริจาคผ่านมูลนิธิชลลดา
สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้
ขอให้ท่านส่งแฟกซ์ใบโอนเงินมาที่เบอร์ (๐๒) ๖๗๐-๐๘๙๗
หรืออีเมลรูปใบโอนเงินมาที่ This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it
แล้วเขียนชื่อนามสกุล ที่อยู่เพื่อรับเอกสาร
ตลอดจนเบอร์มือถือหรือช่องทางติดต่ออื่นๆพร้อมมาด้วย


แม้ว่าท่านจะได้เคยร่วมบริจาค
กับโครงการพระประธานทั่วหล้าเพียง ๑๐ บาทหนเดียว
ก็ถือว่า ๑๐ บาทนั้น มีผลต่อเนื่องมาถึงโครงการบูรณพุทธแล้ว
เพราะเป็นสิ่งที่คาบเกี่ยวสืบเนื่องกัน ยังไม่ขาดสาย
ยังเป็นมหาสมุทรบุญเดียวกัน
เพียงแต่ขยายขอบเขตออกไปให้มีขนาดกว้างยาวลึกเพิ่มขึ้น


แม้ท่านไม่ได้บริจาคเลย แต่มีน้ำใจอนุโมทนา หรือด้วยการคลิกไลค์
ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีส่วนในอานิสงส์ไปกับโครงการแล้ว
เป็นผู้มีสิทธิ์ได้พบกับพุทธศาสนาในยุคที่รุ่งเรืองต่อไปแล้ว
กับทั้งเป็นผู้สามารถเอาดี
มีความสุกสว่างทางธรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ขออนุโมทนากับทุกท่านถ้วนหน้ากันครับ


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
บัญชี มูลนิธิชลลดา เพื่อโครงการบูรณพุทธ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ธนาคารไทยพาณิชย์ ออมทรัพย์ สาขาถนนสาทร
๑๐๑-๒๓๙๗๑๖-๔



ดังตฤณ
มกราคม ๖๐




review


พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเหตุที่ทำให้บางคนได้รับสุขหรือทุกข์
และวิธีการดับทุกข์แก่ภิกษุทั้งหลาย
ดังความปรากฎใน "ติตถสูตร ว่าด้วยลัทธิเดียรถีย์ ๓ อย่าง"
ติดตามได้จากคอลัมน์"ธรรมะจากพระสูตร"(-/\-)


ส่วนคอลัมน์ "จุดหมายปลายธรรม" นั้น
คุณงดงาม
ได้อัญเชิญพระบรมราโชวาท
ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
เพื่อน้อมนำเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของทุกคน
ในตอน "พ่อหลวงของแผ่นดิน (๔)"


เมื่อพบเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์หรือความสุข
แล้วคิดว่าความรู้สึกต่างๆ นั้นล้วนเป็นของไม่เที่ยง
หากพิจารณาเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอ
จะช่วยทำให้เบื่อหน่ายในการเวียนว่ายตายเกิดได้หรือไม่
ติดตามคำตอบได้จากคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน"การพิจารณาถึงความไม่เที่ยงเป็นประจำ จะส่งผลดีอย่างไร"



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP