ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

สาฬหสูตร ว่าด้วยมิให้เชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่าง


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๕๐๖] สมัยหนึ่ง ท่านพระนันทกะอยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคารมาตา
ในบุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี
ครั้งนั้นแล นายสาฬหะ หลานชายของมิคารเศรษฐี
กับนายโรหนะหลานชายของเปขุณิยเศรษฐี
ได้ชวนกันเข้าไปหาท่านพระนันทกะจนถึงที่อยู่
กราบไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วท่านพระนันทกะได้กล่าวว่า สาฬหะและโรหนะ มาเถอะ
ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ฟังมา
อย่าได้ยึดถือโดยลำดับสืบ ๆ กันมา
อย่าได้ยึดถือโดยความตื่นว่าได้ยินว่าอย่างนี้ ๆ
อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเอา
อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ
อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับลัทธิของตน
อย่าได้ถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้
อย่าได้ถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา
สาพหะและโรหนะ เมื่อใด ท่านพึงรู้ด้วยตนเองว่า
ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ
ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์
เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย


สาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความในข้อนั้นเป็นไฉน
ความโลภมีอยู่หรือไม่.
นายสาฬหะและนายโรหนะรับรองว่า มี ขอรับ.
น. สาฬหะและโรหนะ ความข้อนี้เรากล่าวว่า อภิชฌา
บุคคลผู้โลภ มากด้วยความอยากได้นี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้
ลักทรัพย์ก็ได้ ผิดภริยาผู้อื่นก็ได้ พูดเท็จก็ได้
สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ สิ้นกาลนาน
บุคคลผู้โลภย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้.
สา. จริงอย่างนั้น ขอรับ.


. สาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ความโกรธมีอยู่หรือไม่.
สา. มี ขอรับ.
. สาฬหะและโรหนะ ความข้อนี้เรากล่าวว่า ความพยาบาท
บุคคลผู้ดุร้ายมีจิตพยาบาทนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้
ลักทรัพย์ก็ได้ ผิดภริยาผู้อื่นก็ได้ พูดเท็จก็ได้
สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ สิ้นกาลนาน
บุคคลผู้โกรธย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้.
สา. จริงอย่างนั้น ขอรับ.


. สาพหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ความหลงมีอยู่หรือไม่.
สา. มี ขอรับ.
. สาฬหะและโรหนะ ความข้อนี้เรากล่าวว่า อวิชชา
บุคคลผู้หลง ตกอยู่ในอำนาจอวิชชานี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้
ลักทรัพย์ก็ได้ ผิดภริยาผู้อื่นก็ได้ พูดเท็จก็ได้
สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ สิ้นกาลนาน
บุคคลผู้หลงย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้.
สา. จริงอย่างนั้น ขอรับ.


. สาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ธรรมเหล่านี้ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล.
สา. เป็นอกุศล ขอรับ.
. มีโทษหรือไม่มีโทษ.
สา. มีโทษ ขอรับ.
. ท่านผู้รู้ติเตียนหรือท่านผู้รู้สรรเสริญ.
สา. ท่านผู้รู้ติเตียน ขอรับ.
. ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์หรือหาไม่
ในข้อนี้ ท่านทั้งหลายมีความเห็นอย่างไร.
สา. ธรรมเหล่านี้ ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์
ในข้อนี้ ผมมีความเห็นอย่างนี้.


. สาฬหะและโรหนะ เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า สาฬหะและโรหนะ มาเถอะ
ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ฟังตามกันมา
อย่าได้ถือโดยลำดับสืบ ๆ กันมา
อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินว่าอย่างนี้ ๆ
อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเอา
อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ
อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับลัทธิของตน
อย่าได้ถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้
อย่าได้ถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา
เมื่อใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า
ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ
ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ผู้ใดสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์
เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย
เพราะอาศัยคำที่ได้กล่าวไว้แล้ว ฉะนั้น เราจึงได้กล่าวไว้ดังนี้
สาฬหะและโรหนะ มาเถอะ ท่านทั้งหลายอย่าได้ถือตามถ้อยคำที่ได้ฟังมา
อย่าได้ถือโดยลำดับสืบ ๆ กันมา
อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินว่าอย่างนี้ ๆ
อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเอา
อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ
อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับลัทธิของตน
อย่าได้ถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้
อย่าได้ถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา
เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล
ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ
ธรรมเหล่านี้ผู้ใดสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข
เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่


สาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความในข้อนั้นเป็นไฉน
ความไม่โลภมีอยู่หรือไม่.
สา. มี ขอรับ.
น. สาฬหะและโรหนะ ความข้อนี้เรากล่าวว่า อนภิชฌา
บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่มากด้วยความอยากได้นี้
ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดภริยาผู้อื่น ไม่พูดเท็จ
สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน
บุคคลผู้ไม่โลภย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น.
สา. จริงอย่างนั้น ขอรับ.


. สาพหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ความไม่โกรธมีอยู่หรือไม่.
สา. มี ขอรับ.
. สาฬหะและโรหนะ ความข้อนี้เรากล่าวว่าความไม่พยาบาท
บุคคลผู้ไม่โกรธ มีจิตใจไม่พยาบาทนี้
ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดภริยาผู้อื่น ไม่พูดเท็จ
สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน
บุคคลผู้ไม่โกรธย่อมชักซวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น.
สา. จริงอย่างนั้น ขอรับ.


. สาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ความไม่หลงมีอยู่หรือไม่.
สา. มี ขอรับ.
. สาฬหะและโรหนะ ความข้อนี้เรากล่าวว่า วิชชา
บุคคลผู้ไม่หลง ถึงความรู้แจ้งนี้
ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดภริยาผู้อื่น ไม่พูดเท็จ
สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน
บุคคลผู้ไม่หลง ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น.
สา. จริงอย่างนั้น ขอรับ.


. สาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรืออกุศล.
สา. เป็นกุศล ขอรับ.
. มีโทษหรือไม่มีโทษ.
สา. ไม่มีโทษ ขอรับ.
. ท่านผู้รู้ติเตียนหรือท่านผู้รู้สรรเสริญ.
สา. ท่านผู้รู้สรรเสริญ ขอรับ.
. ธรรมเหล่านี้ ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข หรือไม่
ในข้อนี้ ท่านทั้งหลายมีความเห็นอย่างไร.
สา. ธรรมเหล่านี้ ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ขอรับ
ในข้อนี้ ผมมีความเห็นเช่นนี้.


. สาฬหะและโรหนะ เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า สาฬหะและโรหนะ มาเถอะ
ท่านทั้งหลายอย่าได้ถือตามถ้อยคำที่ได้ฟังมา
อย่าได้ถือโดยลำดับสืบ ๆ กันมา
อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินว่าอย่างนี้ ๆ
อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเอา
อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ
อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับลัทธิของตน
อย่าได้ถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้
อย่าได้ถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา
เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล
ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ
ธรรมเหล่านี้ผู้ใดสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข
เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ ดังนี้
เพราะอาศัยคำที่กล่าวไว้แล้วนั้น ฉะนั้น เราจึงได้กล่าวไว้ดังนี้


สาฬหะและโรหนะ อริยสาวกนั้นปราศจากความโลภ
ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสัมปชัญญะ
มีสติมั่นคง มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศ ๑ อยู่
ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกันตามนัยนี้
ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า
ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์
ถึงความเป็นใหญ่หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีใจประกอบด้วยกรุณา แผ่ไปตลอดทิศ ๑ อยู่
ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกันตามนัยนี้
ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า
ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยกรุณาอันไพบูลย์
ถึงความเป็นใหญ่หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีใจประกอบด้วยมุทิตา แผ่ไปตลอดทิศ ๑ อยู่
ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกันตามนัยนี้
ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า
ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยมุทิตาอันไพบูลย์
ถึงความเป็นใหญ่หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีใจประกอบด้วยอุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศ ๑ อยู่
ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกันตามนัยนี้
ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า
ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์
ถึงความเป็นใหญ่หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
พระอริยสาวกนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า ธรรมชาตินี้ มีอยู่
ธรรมชาติทราม มีอยู่ ธรรมชาติประณีต มีอยู่
ธรรมชาติเป็นที่สลัดออกอย่างยิ่งแห่งสัญญานี้ มีอยู่
เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ
แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว
รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เมื่อก่อนเรามีโลภะ ข้อนั้นเป็นการไม่ดี
บัดนี้ โลภะนั้นไม่มี ความไม่มีโลภะเป็นความดี
เมื่อก่อนเรามีโทสะ ข้อนั้นเป็นการไม่ดี
บัดนี้ โทสะนั้นไม่มี ความไม่มีโทสะเป็นความดี
เมื่อก่อนเรามีโมหะ ข้อนั้นเป็นการไม่ดี
บัดนี้ โมหะนั้นไม่มี ความไม่มีโมหะนั้นเป็นความดี
เธอย่อมเป็นผู้ไม่มีความทะยานอยาก ดับสนิท เยือกเย็น
เสวยสุข มีตนเป็นผู้ประเสริฐสุดอยู่ในปัจจุบัน.


สาฬหสูตร จบ



(สาฬหสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP