สารส่องใจ Enlightenment

หลักธรรมคือหลักใจ (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๔



วันนี้เป็นวันปีใหม่ ขึ้นปีใหม่วันนี้
ขึ้นปีใหม่ก็มีความหมายสำหรับเราผู้ต้องการความสุขความเจริญ
หากเคยประพฤติตัวไม่ดีอย่างไรมาแต่ก่อนหรือปีก่อนๆ
ก็พยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงในปีใหม่นี้ ให้กลายเป็นคนดี คนใหม่ขึ้นมา
จากคนเก่าที่เคยประพฤติตัวไม่ดีให้กลายเป็นคนใหม่ขึ้นมาอย่างน่าชื่นชม
ผู้ประพฤติตัวดีในปีใหม่นี้ก็เป็นคนดีของปีใหม่
และพยายามประพฤติให้ดีเพื่อเป็นคนดีทั้งปีใหม่นี้
และปีใหม่ที่จะมาถึงในปีหน้า จนเป็นคนดีประจำปีของทุกๆ ปีไป
คนที่ประพฤติตัวดีดังกล่าวนี้ เป็นคนที่หาได้ยาก



หลักแห่งความอยู่เย็นเป็นสุขของมนุษย์เราก็คือหลักธรรม
ใครมีหลักธรรม ใครมีธรรมเป็นหลักใจ
ผู้นั้นก็มีหลักความประพฤติ มีหลักเป็นที่อยู่ที่ไป ที่ประกอบหน้าที่การงาน
ตลอดความประพฤติในด้านต่างๆ
ถ้ามีหลักธรรมเป็นหลักใจ ความประพฤติไม่เหลวไหล
หน้าที่การงานก็ดีมีเหตุผลเป็นเครื่องรับรอง เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า
งานนี้เป็นงานดีชอบธรรมที่เกิดประโยชน์แก่ตนและส่วนรวม
ไม่ใช่งานฉิบหายวายปวงทั้งตนและผู้อื่น
ผู้มีธรรมเป็นหลักใจย่อมเป็นผู้สะอาดทั้งตนและหน้าที่การงาน
ผลของงานก็ชุ่มเย็น แผ่กระจายไปอย่างกว้างขวาง
ตามอำนาจหน้าที่ของผู้มีธรรมในใจ มีธรรมเป็นหลักใจ



ผู้มีธรรมย่อมคำนึงถึงเหตุถึงผล คือความผิดถูกดีชั่วอยู่เสมอ
คนไม่คำนึงถึงความผิดถูกดีชั่ว ประพฤติตามอำเภอใจ
ซึ่งเต็มไปด้วยความอยากความทะเยอทะยานหาความพอดีและความสงบไม่ได้นั้น
จะเป็นผู้เหลวแหลกแหวกแนวตลอดไป
จนกระทั่งวันตายก็แก้ตัวไม่ได้เพราะไม่สนใจจะแก้ตัวเอง
คนประเภทนี้เป็นคนหลักลอยหาที่ยึดที่เกาะไม่ได้ ทั้งเป็นอยู่และตายไป
ราวกับขอนซุงลอยตามน้ำนั่นแล ไม่มีความหมายอันใดในตัวเลย
ดังนั้นหลักธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรนำมาเป็นหลักใจของชาวพุทธเรา



ในประเทศไทยเรา อย่างน้อย ๘๐% ถือศาสนาพุทธ
แต่เวลาถูกถามพระพุทธเป็นอย่างไร พระธรรมเป็นอย่างไร พระสงฆ์เป็นอย่างไร
…ไม่รู้
ถ้าถามถึงเรื่องสถานที่ที่จะก่อความฉิบหายวายปวงล้มเหลวแก่มนุษย์นั้น
รู้กันแทบทั้งนั้น
นั่นมันศาสนาพุทธอะไรก็ไม่รู้
สถานที่ใดเป็นสถานที่ทำคนให้เสีย วัตถุสิ่งใดที่จะทำคนให้เสีย
สิ่งเหล่านั้นรู้กันและชอบทำกันเป็นเนื้อเป็นหนัง
ซึ่งการทำนั้นเป็นการขัดแย้งต่อธรรม เป็นการทำลายธรรม
และทำลายตนไปในตัวทั้งที่รู้ๆ กันอยู่นั่นแล


ความไม่มีธรรมจึงหาที่หวังไม่ได้ แต่มนุษย์ก็ยังหวังกันเต็มแผ่นดิน
หวังกันแบบลมๆ แล้งๆ หาสิ่งพึงใจตอบแทนไม่มีก็ยังหวังกัน
ทั้งนี้เพราะโลกหากพากันสร้างความหวังแบบนี้มานาน
จึงไม่มีใครสะดุดใจคิดพอให้ทราบข้อเท็จจริง
และแก้ไขเหตุอันจะยังผลให้สมหวังกันเท่าที่ควร



ปีใหม่ขึ้นมาก็เป็นคนเก่านั้น แล้วผ่านไปเป็นปีใหม่อีกก็เป็นคนเก่านั้น
ไม่สนใจที่จะแก้ตนเองให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ดี ก็หาความหวังไม่ได้คนเรา
ทั้งๆ ที่เกิดมาเต็มไปด้วยความหวังด้วยกัน
เราไม่ใช่ไม่หวัง ทุกวันเวลาอิริยาบถหวังด้วยกันทุกคน
ไม่ว่าเฒ่าแก่ชราเพศใดวัยใดมีความหวังด้วยกัน
หวังความสุขความเจริญและหวังในสิ่งที่ตนพึงใจ
แต่ทำไมถึงได้พลาดไปๆ
ก็เพราะเหตุที่จะทำให้สมหวังไม่มีในความประพฤติการกระทำของตัว
สิ่งที่พึงหวังอันเป็นสิ่งดีงาม อันเป็นความสุขก็กลายเป็นความทุกข์ไปเสีย
เพราะเหตุแห่งการกระทำนั้นเป็นความทุกข์
สุขจึงไม่กล้าอาจเอื้อมแทรกแซงได้ ความหวังอันพึงใจจึงไม่ปรากฏ



ด้วยเหตุนี้การประพฤติตัว การรักษาตัว
จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าการปฏิบัติรักษาสิ่งอื่นใดในโลก
สมบัติเงินทองข้าวของเราหามาได้ เราจับจ่ายไปได้เป็นผลเป็นประโยชน์
ถ้าเจ้าของมีความฉลาดตามเหตุผลหลักธรรมเสียอย่างเดียว
แต่การปฏิบัติรักษาเจ้าของให้มีความฉลาดสำหรับตัว
และหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสมบัติเงินทองบริษัทบริวาร นี้เป็นสิ่งสำคัญมาก
เพราะฉะนั้น การรักษาตนจึงควรถือเป็นข้อหนักแน่นยิ่งกว่าการรักษาสิ่งใด
การรักสงวนสิ่งอื่นใดก็ไม่เหมือนรักตนสงวนตน
เพื่อเป็นพื้นฐานแห่งความดีงามและความมั่นคงทั้งหลาย



คนเราถ้าไม่รักตนโดยชอบธรรมถูกธรรมเสียอย่างเดียว
อะไรที่เกี่ยวข้องกับตนก็เหลวไหลไปได้
ไม่ว่าจะมีสมบัติเงินทองเป็นจำนวนล้านๆ บาท
สมบัติเหล่านั้นจะไม่มีคุณค่าอะไรสำหรับคนคนนั้น
นอกจากสมบัติทั้งหลายนั้นจะกลายมาเป็นฟืนเป็นไฟ
เผาลนคนที่หาเหตุผลไม่ได้ให้ฉิบหายวายปวงไปถ่ายเดียว
ทั้งๆ ที่หยิ่งว่าตนมีเงินมีทองมากนั้นแหละ
เพราะไม่มีธรรมเป็นเครื่องค้ำประกันคุณภาพของคนไว้
สมบัติก็บรรลัย ตัวเองก็เหลวแหลกหาความดีงามไม่ได้



ธรรมเป็นเหมือนกับเบรก รถมีทั้งเบรกมีทั้งคันเร่ง พวงมาลัย
ต้องการจะขับขี่เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาก็หมุนพวงมาลัย
ต้องการจะเร่งในสถานที่ควรเร่งก็เหยียบคันเร่งลงไป
ต้องการจะรอหรือจะหยุดในสถานที่ควรรอควรหยุดก็เหยียบเบรกลงไป
รถให้ความสะดวกแก่ผู้ขับขี่ที่รู้จักการใช้รถเป็นอย่างดีและปลอดภัย
ตัวของเราเองก็มีคนขับรถคือใจ
คอยระวังและเหยียบคันเร่ง เหยียบเบรกหมุนพวงมาลัย ทางกาย วาจา ใจ
ให้หมุนดำเนินไปในทางที่ถูกต้องดีงาม คอยเร่งในการงานที่ชอบ
และคอยเหยียบเบรกไว้ไม่ให้ทำความผิดอยู่เสมอ



คนที่ขับรถภายนอกเขาก็ต้องเรียนวิชาขับรถมาก่อน เรียนจนสอบได้ตามกฎจราจรจริงๆ
ไม่ได้สอบแบบทุกวันนี้นะ ซึ่งเอาเงินไปยื่นให้ตบตากินแล้วปล่อยไปเลย
จะขับเหยียบหัวคนทั้งแผ่นดินก็ตามแกเถอะ ฉันได้เงินแล้วเป็นพอ ไม่เกี่ยวเรื่องอื่นๆ
เพราะฉะนั้น คนขับขี่รถส่วนมากจึงมีแต่คนตาบอด
ขับไม่มีทางเอกทางโท ขับบึ่งไปเลย ชนกันแหลกแตกกระจาย
เวลาฉิบหายก็คนนั่นแหละไม่ใช่อะไรฉิบหาย
รถฉิบหายก็คือรถของคน มาขึ้นอยู่กับคนเป็นผู้ฉิบหาย
นี่เพราะเหตุไร เพราะใบขับขี่ตาบอด ไม่สนใจกับกฎจราจร
ขับกันแบบตาบอดและชนเอาๆ ตายพินาศฉิบหาย วันหนึ่งกี่ศพไม่พรรณนา
สิ่งของสมบัติฉิบหายเป็นเรื่องเล็กน้อย ถือเป็นธรรมด๊า ธรรมดา



กฎจราจร คือกฎแห่งความปลอดภัย
ถ้าสนใจและปฏิบัติตามกฎจราจรแล้วความปลอดภัยมีมาก
เราอยากจะพูดว่า ๙๕% ทั้งนี้เว้นแต่เหตุสุดวิสัย เช่น ยางระเบิดเป็นต้น
แต่นี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น อวดเก่งยิ่งกว่ากฎจราจร แล้วก็โดนเอาๆ
นี่เราเทียบเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะภายนอกเพื่อความปลอดภัย
ต้องขับขี่ตามกฎจราจร ผู้ที่จะขับรถก็ต้องได้ศึกษามาด้วยดีในการขับรถ



เราขับตัวเราคือปฏิบัติตัวเราตามสถานที่ต่างๆ เพื่อความปลอดภัยไร้ทุกข์
เราก็ต้องปฏิบัติตามกฎแห่งศีลธรรม อันใดที่ควรไม่ควร
งานใดที่ควรให้มีความขยันหมั่นเพียร เปรียบเหมือนกับเหยียบคันเร่ง
ด้วยความอุตส่าห์พยายาม ไม่ขี้เกียจขี้คร้านอ่อนแอ
มีความขยันหมั่นเพียรในหน้าที่การงานที่ชอบนั้นๆ จนเป็นผลสำเร็จ
สิ่งใดไม่ควรรีบเหยียบเบรกห้ามล้อตัวเองไม่ให้ทำ
และหมุนพวงมาลัยไปตามสายของงานที่เป็นประโยชน์และถนัดกับจริตนิสัยของตน
ชื่อว่าขับขี่ตนโดยชอบ หรือปฏิบัติตนโดยชอบ



ดังพระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า อุฏฺฐานสมฺปทา อย่าขี้เกียจ
เพราะท้องปากไม่ได้ขี้เกียจ ท้องปากถึงเวลาหิวมันหิว ถึงเวลาง่วงมันง่วง
อยากหลับอยากนอน หิวกระหาย เป็นไปได้ทุกอย่างทุกเวลา
ทั้งหนาวทั้งร้อนเต็มอยู่ในร่างกายนี้ทั้งนั้น ต้องหามาเยียวยารักษา
สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้ขี้เกียจเหมือนคน ความหิวถึงเวลาหิวมันก็หิว โรคจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้
สกลกายทั้งหมดนี้เป็นเรือนแห่งโรค
มันจะเกิดขึ้นในอวัยวะส่วนใดก็ได้ ถ้าไม่มียารักษาก็ต้องตาย
ยามาจากไหน ถ้าไม่มาจากความวิ่งเต้นขวนขวาย
ความวิ่งเต้นขวนขวายที่เป็นไปด้วยความขี้เกียจขี้คร้าน
จะทันกับความจำเป็นแห่งธาตุขันธ์ได้อย่างไร



ธาตุขันธ์ของเราเต็มไปด้วยโรคด้วยภัย
ด้วยความกังวลวุ่นวายที่จะต้องดูแลรักษาอยู่ตลอดเวลา ถ้าขี้เกียจขี้คร้านก็ไม่ทันกัน
เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะรักษาตัวเองให้แคล้วคลาดปลอดภัย และสมบูรณ์พูนผลจนถึงอายุขัย
ก็ต้องมีความขยันหมั่นเพียร และขับขี่คือบังคับตนในทางที่ถูกที่ดี
ทางจิตใจก็มีความสุขความสบายด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม มีหลักธรรมเป็นหลักใจ
กายวาจาก็เคลื่อนไหวไปตามธรรมที่ได้อบรมมาเรียบร้อยแล้ว
เปรียบเหมือนกับคนขับขี่รถซึ่งได้เรียนหลักวิชากฎจราจรมาด้วยดีแล้วก็ปลอดภัย



นี่เราก็เรียนหลักวิชาจากธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ให้ความปลอดภัย
ร้อยทั้งร้อยถ้าปฏิบัติตามธรรมแล้วย่อมปลอดภัย
หมุนกายวาจาของเราให้เป็นไปตามใจ ใจหมุนให้เป็นไปตามธรรมคือความถูกต้องดีงาม
คนคนนั้นก็มีความสุขความเจริญเพราะความมีหลักเกณฑ์ตามหลักธรรม



การขับตัวเอง การบังคับตัวเอง ขับขี่ตัวเอง
เหมือนกับเขาขับรถตามกฎจราจร ย่อมปลอดภัยไร้โทษ
คนขับรถมือดีก็คือขับไม่ผิดไม่พลาด รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว
ควรเร่งก็เร่ง ควรรอก็รอ ควรหยุดก็หยุด
ควรเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาก็เลี้ยวไปตามเหตุผลที่ควรเลี้ยว
นี่เราจะแยกไปทางไหน หน้าที่การงานไปทางไหน
เห็นว่าเป็นผลเป็นประโยชน์แก่ตนและส่วนรวมเราก็แยกไป เหมือนกับหมุนพวงมาลัย
เพราะฉะนั้น การงานจึงมีในโลกมากมายตามแต่ความถนัดของผู้ต้องการ
ความขยันหมั่นเพียรเป็นสิ่งสำคัญมาก ให้มีความขยันหมั่นเพียรในการงานที่ชอบ
ผลจะเป็นที่พอใจไม่อดๆ อยากๆ ขาดๆ เขินๆ สะเทินน้ำสะเทินบก
ดังคนขี้เกียจทั้งหลายเผชิญกัน



เวลาได้มาแล้วให้เก็บหอมรอมริบ อย่าสุรุ่ยสุร่าย
อย่าใช้ฟุ่มเฟือยจนเกินเหตุเกินผลเกินเนื้อเกินตัว นั่นเป็นของไม่ดี
ทรัพย์สมบัติเสียไปยังไม่เท่าใจที่เสียไป ใจที่เสียไปแล้วแก้ได้ยาก
สมบัติเงินทองเสียไปมากน้อยไม่เป็นไร ถ้ามีเหตุผลในการจับจ่าย
จับจ่ายสิ่งนั้นไปเพื่อผลประโยชน์อย่างนั้น
จับจ่ายเงินไปจำนวนเท่านั้นเพื่อผลประโยชน์อย่างนั้น
และเป็นผลประโยชน์ตามเหตุผลที่คาดเอาไว้ไม่ผิดพลาด
ชื่อว่ารู้จักการจ่ายทรัพย์ ย่อมไม่อับจนทนทุกข์
เพราะเงินมีไว้ก็เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตน
เงินไปแลกเปลี่ยนสิ่งใดมา สิ่งนั้นก็เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตน
ไม่ใช่แลกเปลี่ยนมาแล้วมาทำลายตนเอง
เช่นเอาไปซื้อยาเสพติดมากิน ซื้อเหล้าซื้อยาอะไรเหล่านี้มากิน
อันนี้กินแล้วเกิดความมึนเมายังไม่แล้ว ยังทำตัวบุคคลให้เสียอีก
เงินก็เสียไป ใจก็เสีย บุคคลนั้นก็เสีย นี้เรียกว่าจ่ายเพื่อทำลาย
มิใช่จ่ายเพื่อความจำเป็นเห็นผลประโยชน์ในการจ่ายทรัพย์
เหล่านี้ผู้มีธรรมย่อมไม่ทำ
ผู้ไม่มีธรรมทำได้วันยังค่ำ ทำได้จนหมดเนื้อหมดตัว และทำได้จนวันตาย
นี่ผิดกันไหมมนุษย์เรา มนุษย์เหมือนกันนั้นแหละ
มันอยู่ที่ใจที่ได้รับการอบรมทางที่ถูกที่ดีหรือไม่ได้รับการอบรม ต่างกันตรงนี้มนุษย์เรา



ผู้ได้รับการอบรม ย่อมจะรู้ในสิ่งที่ควรไม่ควร
ผู้ไม่ได้รับการอบรมหรือคนดื้อด้านสันดานหยาบเสียอย่างเดียว
ก็ไม่มีศาสนา ไม่มีครูมีอาจารย์ ไม่ยอมฟังเสียงใคร
ถ้าเป็นโรคก็ไม่ฟังเสียงยา ไม่ฟังเสียงหมอ คอยแต่จะบึ่งเข้าห้อง ไอ.ซี.ยู. อย่างเดียว
คนประเภทนี้พระพุทธเจ้าท่านว่า ปทปรมะ ไม่มีทางอบรมสั่งสอนได้
ท่านตัดสะพานเสีย คำว่าตัดสะพานคือไม่แนะนำสั่งสอนต่อไป
เหมือนมนุษย์มนา เทวดา อินทร์ พรหมทั้งหลาย
ปล่อยตามสภาพเหมือนกับคนไข้ที่ไม่มีทางรอดแล้วก็เข้าห้อง ไอ.ซี.ยู. นี่ก็เป็นอย่างนั้น



นี่เป็นปีใหม่ เราต้อนรับปีใหม่ จะรับด้วยวิธีการใด
ที่ถูกต้องรับด้วยความประพฤติตัวดี แก้ไขสิ่งที่ไม่ดีให้ดีขึ้นมา
ดัดแปลงใหม่ แก้ไขใหม่ให้เป็นคนใหม่ขึ้นมาในคนคนเก่านั่นแหละ
แต่ก่อนเคยชั่วก็กลับตัวให้ดี เคยดีแล้วก็ให้ดีเยี่ยมขึ้นไป
นี่แหละเป็นพรของพวกเราทั้งหลาย ให้พยายามปฏิบัติตัวอย่างนี้



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - - - - - - - - - -

ที่มา http://bit.ly/2gE8kCx


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP