จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

พ่อหลวงของแผ่นดิน (๒)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



197 destination



เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ผมได้อ่านข่าวพบว่าท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
(ซึ่งท่านเป็นเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา) ได้ไปบรรยายพิเศษ

ในหัวข้อ"การปฏิบัติราชการตามแนวพระราชดำริ"
ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้จากเราไปไหน
พระองค์ท่านเปรียบเสมือนศาสดา เพราะไม่มีศาสดาองค์ไหนอยู่จีรังถาวร
เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่พันปี
ธรรมะและคำสอนของศาสดาต่าง ๆ ยังอยู่ พระเจ้าอยู่หัวสอนเรามา ๗๐ ปี
พระองค์ท่านสอนเราในทุกรูปแบบมีพระราชดำรัสนับไม่ถ้วน
บางครั้งทรงประพันธ์เรื่องราว บางครั้งก็ทรงแปลหนังสือ
แต่ถามจริงๆว่ามีใครจำอะไรได้แค่ไหน
เพราะพวกเราโดยมากเป็นคนที่ทำอะไรผิวเผิน
เห็นพระ เราก็ไหว้ การนับถือเป็นแบบพิธีการ
ในหลวงเคยรับสั่งว่าคนไทยชอบติดอยู่ที่เปลือก
เห็นอะไรก็เห็นแต่สิ่งที่ปรากฏต่อสายตา ไม่เคยลงไปถึงแก่น
วันนี้เราในฐานะข้าราชการลองมาเดินตามรอยพระองค์ท่าน
เพราะข้าราชการทุกกระทรวงทุกกรม ก็เหมือนกับรับงานของพระองค์ท่านมาทำ”


ในตอนที่แล้ว ผมได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทบางส่วนมานำเสนอนะครับ
ในตอนนี้ ผมจะขออัญเชิญพระบรมราโชวาทมานำเสนอเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้


"ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด
การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี
หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง
และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้"
(พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ
จังหวัดชลบุรี วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๒)


"ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อย
ก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่า
ผู้มีความรู้มากแต่ไม่มีความสุจริตไม่มีความบริสุทธิ์ใจ"
(พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะคณาจารย์โรงเรียนต่าง ๆ
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๓)


"คนที่ไม่มีความสุจริต คนที่ไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย
ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้
ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น
จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณเป็นประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ"
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๒)


"การที่จะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนา คือที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น
จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้
จำเป็นต้องอาศัยความสุจริตความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วย"
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๒๐)


“ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง
เด็ก ๆ จึงต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดมีขึ้นในตนเอง
เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมีประโยชน์ และมีชีวิตที่สะอาดที่เจริญมั่นคง"
(พระบรมราโชวาท พระราชทานเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี ๒๕๓๑)


"พระพุทธศาสนาแสดงความจริงของชีวิต
แสดงทางปฏิบัติที่จะให้บรรลุความสุขสูงสุดของชีวิต
มีวิธีการสั่งสอนที่ยึดหลักเหตุและผลว่า ทุกสิ่งเกิดจากเหตุ
ผู้ใดประกอบเหตุอย่างไร เพียงใด ก็ได้ผลอย่างนั้นเพียงนั้น"
(พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย
วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๓)


"พระพุทธศาสนาบริบูรณ์ด้วยสัจธรรมที่เป็นสาระและเป็นประโยชน์ในทุกระดับ
แต่จะต้องศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติให้เหมาะสมแก่ภาวะปัจจุบัน
ด้วยศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้องจึงจะเกิดเป็นประโยชน์ขึ้นได้"
(พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมใหญ่
สมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ณ จังหวัดกาฬสินธุ์ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๑๒)


"ธรรมะในพระพุทธศาสนามีความหมดจดบริสุทธิ์ และสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยเหตุผล
ซึ่งบุคคลสามารถจะศึกษาและปฏิบัติด้วยปัญญา ความเพ่งพินิจ
ให้เกิดประโยชน์คือความเจริญผาสุกแก่ตนได้อย่างแท้จริง"
(พระบรมราโชวาท พระราชทานในพิธีเปิดการประชุมใหญ่
ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๒๔)


"ธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นคำสอนที่แสดงสัจธรรม ความแท้จริงของสภาวธรรมทุกสิ่ง
ดังนั้น ถึงหากสังคมจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ก็ไม่เกินไปกว่าที่ชาวพุทธจะพิจารณารู้เท่าทันได้
เมื่อได้ปฏิบัติอยู่ในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยถูกต้องมั่นคงแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในสังคม ก็ไม่ใช่เหตุที่ควรวิตกอีกต่อไป"
(พระบรมราโชวาท พระราชทานในพิธีเปิดการประชุมใหญ่
ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๓๔)


"ทุกคนที่ถือตัวว่าเป็นชาวพุทธจะต้องสนใจศึกษาพระพุทธศาสนา
ตามภูมิปัญญา ความสามารถ และโอกาสของตนที่มีอยู่
เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจที่กระจ่างถูกต้อง พระศาสนาก็จะมั่นคงขึ้นได้"
(พระราชดำรัส พระราชทานแก่ที่ประชุมใหญ่ของ
องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ณ ประเทศเนปาล วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๙)


"กฎหมายนั้น โดยหลักการแล้วจะต้องบัญญัติขึ้น
ใช้เป็นอย่างเดียวกันและเสมอกันหมดสำหรับคนทั้งประเทศ
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใช้กฎหมายจะต้องตระหนัก
ในความรับผิดชอบของตนเองอยู่ตลอดเวลา
ในอันที่จะใช้กฎหมายเพื่อธำรงรักษาและผดุงความยุติธรรม"
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมาย
แห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๓)


"การรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินไม่ควรจะถือเพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย
จำเป็นต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา
ตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริงด้วย"
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมาย
แห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๒)


"กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม
หากเป็นแต่เพียงบทบัญญัติหรือปัจจัยที่ตราไว้เพื่อรักษาความยุติธรรม
ผู้ใดก็ตามแม้ไม่รู้กฎหมาย แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติด้วยความสุจริตแล้ว
ควรจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายอย่างเต็มที่
ตรงกันข้ามคนที่รู้กฎหมาย แต่ใช้กฎหมายไปในทางทุจริต ควรต้องถือว่าทุจริต"
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมาย
แห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๒)


"กฎหมายทั้งปวงจะธำรงความยุติธรรมและความถูกต้องเที่ยงตรง
หรือจะธำรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมอยู่ได้หรือไม่นั้น
เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้"
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมาย
แห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๒๐)


"กฎหมายทั้งปวงจะธำรงความยุติธรรม และถูกต้องและเที่ยงตรง
มีความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมหรือไม่ เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้
หากนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ หรือด้วยเจตนาอันไม่สุจริตต่าง ๆ
กฎหมายก็เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ และกลายเป็นภัยแก่ประชาชน"
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมาย
แห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๒๐)


"ในการปฏิบัติราชการนั้น ขอให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่
อย่านึกถึงบำเหน็จรางวัลหรือผลประโยชน์ให้มาก
ขอให้ถือว่าการทำหน้าที่ได้สมบูรณ์เป็นรางวัลและประโยชน์อย่างประเสริฐ
จะทำให้บ้านเมืองไทยของเราอยู่เย็นเป็นสุขมั่นคง"
(พระบรมราโชวาท พระราชทานเนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๓)


"ถ้าประชาชนไม่มีที่พึ่ง ไม่มีผู้ใดเอาใจใส่
พอพึ่งทางราชการไม่ได้ ก็ต้องหันไปพึ่งผู้กว้างขวาง ผู้มีอิทธิพล
จึงเป็นหน้าที่ของทางราชการที่จะปฏิบัติงาน
เพื่อให้การบริการของราชการได้เข้าถึงประชาชนโดยทั่วถึง และทำด้วยความสุจริต"
(พระบรมราโชวาท เนื่องในโอกาสพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ข้าราชการ
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๑๓)


"ท่านผู้ใหญ่ไปตรวจราชการที่ไหน ถ้าไปถึง ไม่มีใครเลี้ยง ก็โกรธ
แต่ถ้าไปถึงแล้วเลี้ยง ก็พอใจ แต่ว่าเงินที่เลี้ยงน่ะ เอามาจากไหน
เมื่อไม่มีเงินรับรองของส่วนภูมิภาคก็ต้องไปเรี่ยไรกัน
ไปเรี่ยไรจากข้าราชการชั้นผู้น้อย หรือไม่อย่างนั้นก็ไปขูดรีดจากพ่อค้า
แล้วพ่อค้าก็ต้องถือว่าเป็นการลงทุน มันก็กลายเป็นคอรัปชั่นไป"
(พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการอำนวยการ
สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๑๒)


"การแก้ปัญหานั้น ถ้าไม่ทำให้ถูกเหตุถูกทางด้วยความรอบคอบระมัดระวัง
มักจะกลายเป็นการเพิ่มปัญหาให้มากและยุ่งยากขึ้น
แต่ละฝ่ายจึงควรจะตั้งใจพยายามทำความคิดความเห็นให้กระจ่างและเที่ยงตรง
เพื่อจักได้สามารถเข้าใจปัญหา และเข้าใจกันและกันอย่างถูกต้อง"
(พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ ๒๕๓๓)


ผู้ที่มีจิตสำนึกในคุณธรรม สามารถหักห้ามความคิดที่ไม่ถูกต้อง
สามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่ถูกต้องสมควร
และสามารถควบคุมตนเองให้ประพฤติปฏิบัติแต่ในทางที่ดีได้
จึงได้รับการยกย่องนับถือว่าเป็นบัณฑิตอย่างแท้จริง"
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๗)


"ข้าราชการทุกฝ่ายมีหน้าที่เหมือนกันที่จะต้องตั้งใจขวนขวาย
ปฏิบัติงานด้วยความฉลาด รอบคอบให้สำเร็จลุล่วง ตรงตามเป้าหมาย โดยไม่ชักช้า
และที่จะต้องร่วมกับชาวไทยทุกคนในอันที่จะอุ้มชูรักษาความดีในชาติให้ยืนยงมั่นคง"
(พระบรมราโชวาท พระราชทานเนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๔)


"ผู้เป็นข้าราชการพึงสำเหนียกตระหนักเป็นนิตย์ถึงความรับผิดชอบ
ที่จะต้องปฏิบัติงานของตัวร่วมกับงานของผู้อื่น
และประสานประโยชน์กับทุกฝ่ายให้ได้ผลสมบูรณ์ทุกส่วน
เพื่อนำพาประเทศชาติให้ก้าวไปถึงความเจริญมั่นคงซึ่งเป็นจุดประสงค์แท้จริง"
(พระบรมราโชวาท พระราชทานเนื่องในวันข้าราชการพลเรือน วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๙)


"การปฏิบัติราชการให้สำเร็จผลที่พึงประสงค์นั้น
นอกจากจะอาศัยความรู้ความสามารถในทางวิชาการแล้ว
แต่บุคคลยังต้องมีรากฐานทางจิตใจที่ดี คือความหนักแน่นมั่นคงในสุจริตธรรม
และความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้จนสำเร็จ"
(พระบรมราโชวาท พระราชทานเนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๘)


"การยึดมั่นในผลประโยชน์ของแผ่นดิน และความถูกต้องเป็นธรรม
เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ เพราะการยึดมั่นดังกล่าว
จะสามารถป้องกันความผิดพลาดเสียหายอันจะเกิดแก่ตนแก่งานได้อย่างแท้จริง"
(พระบรมราโชวาท พระราชทานเนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๙)


ข้อมูลอ้างอิง
http://www.nationtv.tv/main/content/social/378525368/
http://203.172.205.25/ftp/intranet/KingProject/main.html



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP