สารส่องใจ Enlightenment

เหตุแห่งความเดือดร้อน



พระธรรมเทศนา โดย พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่




ท่านสาธุชนทั้งหลาย ลำดับนี้จะได้เสนอบทความเรื่อง "เหตุแห่งความเดือดร้อน"
เพื่อเป็นข้อคิดแนวธรรมสำหรับท่านผู้สนใจในการสดับรับฟังต่อไป
หลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาสอนว่า "ทุกสิ่งเกิดแต่เหตุและดับไปก็เพราะดับที่เหตุ"
เมื่อนำเอาหลักธรรมข้อนี้ขึ้นมาพิจารณาค้นดู
ว่าความทุกข์เดือดร้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่มีอยู่ในสมัยปัจจุบันนี้ว่าจะมีมาจากเหตุอะไรบ้าง
และความทุกข์เดือดร้อนเหล่านั้นจะดับไปได้อย่างไร



เนื่องจากสมัยปัจจุบัน เป็นยุคแห่งความเจริญก้าวหน้า
มนุษย์ในสมัยนี้ได้ใช้สติปัญญาคิดค้นประดิษฐ์วัตถุอุปกรณ์
เพื่อความสะดวกสบายในการอยู่กินอย่างมากมาย
ข้าพเจ้าเคยปรารภกับท่านที่รู้จักคุ้นเคยเสมอว่า
"สำหรับพวกเรานั้นดูเหมือนว่าจะไม่ต้องใช้สมองประดิษฐ์คิดอะไรขึ้นมาก็ใช้ได้
เป็นเพียงคอยใช้วัตถุสิ่งของที่เขาประดิษฐ์ออกมาให้ใช้ ก็ตามใช้ไม่ทันอยู่แล้ว"


ตัวอย่างง่ายๆ ปากกาที่ข้าพเจ้าใช้เขียนบทความอยู่ขณะนี้เป็นปากกาหมึกแห้ง
ชั่วระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราใช้ดินสอ ปากกาจิ้มหมึก ปากกาหมึกซึม
ปัจจุบันนิยมใช้ปากกาหมึกแห้งเพราะใช้ได้สะดวกสบาย
และให้ความปลอดภัยในการใช้ ไม่หกเลอะเทอะเปรอะเปื้อน
และปากกาหมึกแห้งก็ผลิตออกมาหลายชนิดหลายแบบ
ใช้หมึกยังไม่ทันจะแห้งเขาก็ประดิษฐ์ดัดแปลงให้เป็นของแปลกๆ ใหม่ๆ มากมายออกมาอีก
นี่ยกตัวอย่างมาให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเป็นตัวอย่างเพียงเรื่องของปากกา
วัตถุอุปกรณ์อื่นๆ อีกสารพัดอย่างที่เขาประดิษฐ์คิดขึ้น ที่พวกเราตามใช้หายใจแทบไม่ทัน
ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด มีความประสงค์เพื่อจะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาเปรียบเทียบ
ว่าความเจริญในยุคปัจจุบันได้เป็นไปอย่างรวดเร็วอย่างไรบ้าง



เนื่องจากความเจริญของยุคปัจจุบันดังที่ได้กล่าว
ทำให้มนุษย์สมัยปัจจุบันหูยาวตายาวกว่ามนุษย์ในสมัยโบราณ
คำว่าหูยาวตายาวของข้าพเจ้า ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์สมัยนี้มีหูยาวยานมาถึงบ่า
ตายาวโปนออกมาเหมือนกล้องถ่ายรูป หามิได้
ข้าพเจ้าหมายความว่ามนุษย์สมัยนี้ได้ยินได้ฟังได้รู้ได้เห็นสิ่งต่างๆ ได้มากได้ไกลกว่าสมัยโบราณ
เพราะสื่อสารมวลชนสมัยนี้ดีกว่าและมากกว่าสมัยโบราณ



สื่อสารมวลชนที่ว่านี้คือหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ฯลฯ
ตื่นนอนยังไม่ทันจะลุกขึ้นจากที่นอนก็เปิดวิทยุนอนฟังได้สบาย
ปัจจุบันนี้ท่านจะไปไหน ขึ้นรถ ลงเรือ เข้าโรงเรียน พักโรงแรม นั่งรับประทานในร้านอาหาร
ท่านจะต้องพบกับหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะไปซอกไหนมุมไหน
ที่จะไม่ได้พบกับหนังสือพิมพ์ดูเหมือนแทบไม่มี
นอกจากนี้ยังมีโทรทัศน์และภาพยนตร์ให้ชมอีก
ข่าวก็ดี รูปภาพก็ดี ที่ท่านได้รู้ได้เห็น ได้ยินได้ฟังจากสื่อสารมวลชนดังที่กล่าวนี้
มีทั้งข่าวและรูปภาพที่น่าชื่นชมยินดี ทั้งข่าวและรูปภาพที่น่าสลดสังเวชใจ



ข่าวและรูปภาพที่เราได้เห็นได้ฟังจากสื่อสารมวลชนนี้เอง
ที่เป็นกระจกเงาส่องให้เห็นที่มาของความเสื่อมความเจริญ
อันเป็นต้นเหตุแห่งความสุขและความทุกข์
ข่าวเหล่านี้พอสรุปได้ว่าบางข่าวเป็นข่าวลักเล็กขโมยน้อย
เพราะการครองชีพฝืดเคือง หาได้ไม่พอกับการครองชีพบ้าง
บางข่าวก็เป็นการทรยศคดโกงด้วยความละโมบโลภมาก เห็นแก่ได้
ดังคำว่า "เห็นเงินใจดำ เห็นคำใจโต"
บางข่าวก็เป็นข่าวการทะเลาะวิวาทกันระหว่างพี่น้องท้องร่วมไส้
อันมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากมรดก ต่างก็คิดว่าเป็นฝ่ายเสียเปรียบ
แม้จะเป็นเพียงวัตถุสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ แทนที่จะออมชอมยินยอมให้แก่กัน
แต่กลับแสดงทิฐิมานะไม่ยอมลดราวาศอก
เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องที่ควรจะได้ก็กลายเป็นเรื่องเสียบ้าง
บางเรื่องก็เป็นเรื่องชู้สาวที่แสดงความหึงหวงต่อกัน หรือภรรยาสามีที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อกันบ้าง
บางเรื่องก็เป็นเรื่องของสุรายาเมา ดื่มเข้าไปแล้วก่อการทะเลาะวิวาท
ท้าชกต่อยประหัตประหารยิงฟันกันบ้าง


ข่าวต่างๆ ที่ยกตัวอย่างมานี้ ถ้าจะนำเอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาพิจารณา
ว่าเป็นการประพฤติผิดต่อหลักธรรมข้อไหนบ้าง
ก็เห็นได้โดยแจ่มแจ้งว่าข่าวเหล่านี้เมื่อประมวลลงแล้ว
ก็ไม่พ้นไปจากการประพฤติผิดศีล ๕ คือ


เป็นการเบียดเบียนร่างกายและชีวิตของกันและกันบ้าง
เป็นการเบียดเบียนทรัพย์สมบัติคือลักขโมยกันบ้าง
เป็นการประพฤติผิดนอกใจ ขาดความซื่อสัตย์ต่อกันบ้าง
เป็นการโกหกคดโกงหักหลังกันบ้าง
เป็นการดื่มสุรายาเมาบ้าง


แม้ว่าประเภทของข่าวจะแยกแยะมีฝอยออกไปในแง่ไหนมุมไหนก็ตาม
ก็ไม่พ้นไปจากการประพฤติผิดศีล ๕



ศีล ๕ นี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปัญจเวรวิรัติ แปลว่าเว้นจากเวร ๕
หมายความว่าใครรักษาศีล ๕ ได้ คือไม่ประพฤติผิดศีล ๕
จะได้อานิสงส์พ้นจากเวรภัย ไม่ต้องทะเลาะวิวาทกับใคร
ไม่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ไม่ต้องเสียทรัพย์ ไม่ต้องเสียเวลาทำมาหากิน
รวมความว่าไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจ ไม่ต้องสะดุ้งหวาดเสียวเพราะความผิดทางกายทางวาจา
ผู้ที่ร่ำรวยเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี ถ้าหากไม่มีศีล ๕ เป็นหลักปฏิบัติ
เป็นพื้นฐานรองรับชีวิตความเป็นอยู่แล้ว จะหาความผาสุกเย็นใจไม่ได้เลย



ขอย้อนกลับมาพิจารณาหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ได้ยกไว้ตอนต้นว่า
"ทุกสิ่งเกิดแต่เหตุและจะดับไปก็เพราะดับที่เหตุ"
ก็เมื่อค้นพบว่าเหตุใหญ่ของความเดือดร้อนคือการประพฤติผิดศีล ๕
เมื่อจะดับความเดือดร้อนก็ต้องดับที่เหตุ คืออย่าประพฤติผิดศีล ๕
การที่จะไม่ประพฤติผิดศีล ๕ ต้องมีคุณธรรมสำหรับควบคุมกำกับจิตใจ คุณธรรมที่ว่านี้คือ



การรักษาศีลข้อที่ ๑ ต้องมีเมตตาเป็นพื้นฐานของจิตใจ
คือหมั่นคิดเปรียบเทียบหัวอกเขาหัวอกเราอยู่เสมอว่า
เราไม่ต้องการให้คนอื่นเบียดเบียนฉันใด คนอื่นก็ไม่ต้องการให้เราเบียดเบียนฉันนั้น
ดังคำสอนที่เราได้ยินอยู่เสมอว่า “เราก็จิตคิดดูเล่าเขาก็ใจ ผูกอื่นไยผูกไมตรีดีกว่าพาล”



การรักษาศีลข้อที่ ๒ ต้องประกอบด้วยสัมมาอาชีวะ คือประกอบการเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ
หมายความว่าเมื่อเว้นจากการลักขโมยแล้ว
ใช่ว่าจะนั่งๆ นอนๆ กินสมบัติเก่าแล้วถือว่าเป็นความสุขใจ หามิได้
ถ้าหากคนรักษาศีลเป็นคนดีโดยไม่ทำอะไร
ก็จะเข้าทำนองที่ว่าศีลธรรมทำให้คนเกียจคร้าน ทำให้คนเฉื่อยชา หาเป็นเช่นนั้นไม่
จะเห็นได้จากการรักษาศีลข้อที่สองนี้
ท่านสอนให้ทำมาหากินเลี้ยงชีพพร้อมกับการรักษาศีลด้วย
แต่การเลี้ยงชีพนั้นต้องเป็นสัมมาอาชีวะ



ตามที่แสดงมานี้จะเห็นได้ว่าความทุกข์เดือดร้อนของคนเรามี ๒ อย่างคือ

๑. ความทุกข์เดือดร้อนเกิดจากการทำความชั่ว
๒. ความทุกข์เดือดร้อนเกิดจากการครองชีพฝืดเคือง


ความทุกข์เดือดร้อนเกิดจากการทำความชั่ว ได้ชี้แจงเหตุที่เกิดและวิธีที่จะดับเหตุมาแล้ว
ส่วนความทุกข์เดือดร้อนที่เกิดจากการครองชีพฝืดเคืองนั้น ท่านแสดงเหตุไว้ว่า


๑. เพราะดื่มน้ำเมา
๒. เพราะเที่ยวกลางคืน
๓. เพราะเที่ยวดูการเล่น
๔. เพราะเล่นการพนัน

๕. เพราะคบคนชั่วเป็นมิตร
๖. เพราะเกียจคร้านทำการงาน
๗. เพราะไม่มีประมาณในการใช้จ่าย


ผู้ที่ตกอยู่ใต้อำนาจของเหตุเหล่านี้ ยิ่งมากเหตุเพียงใด ยิ่งทำให้ทุกข์เดือดร้อนเพียงนั้น
พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้ปฏิบัติเพื่อแก้เหตุแห่งความทุกข์เดือดร้อนไว้ ดังนี้


๑. ให้มีความหมั่นในการประกอบการงานในการเลี้ยงชีพ
ในการศึกษาหาความรู้ใส่ตัว ในการทำธุระหน้าที่
๒. ให้รู้จักรักษาหน้าที่การงาน รู้จักรักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้
ส่วนไหนควรใช้ ส่วนไหนควรเก็บ
๓. ให้รู้จักจ่ายทรัพย์ให้พอเหมาะพอควรกับฐานะหน้าที่
ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก
๔. ให้คบคนดีเป็นมิตร


การรักษาศีลข้อที่ ๓ ต้องประกอบด้วยความสำรวมในกามด้วย
โดยความประสงค์ของข้อนี้ก็เพื่อให้ผู้รักษาศีลระมัดระวังไม่ประพฤติมักมากในกาม
และพร้อมกันนี้ก็ให้มีความรักภักดีต่อคู่ครอง
มีความสอดคล้องสามัคคีกันในระหว่างครอบครัว
เป็นตัวอย่างที่ดีของลูกหลาน และเป็นพื้นฐานแห่งความสุข



การรักษาศีลข้อที่ ๔ ต้องประกอบด้วยความสัตย์
คือนอกจากไม่พูดเท็จแล้ว ต้องประพฤติตนเป็นคนมีสัตย์
ไม่เหลาะแหละเหลวไหล ทำตนเป็นคนเชื่อถือได้ พูดอย่างไรทำอย่างนั้น
ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้น้อย
เว้นจากอคติ ไม่ลำเอียงเพราะรัก ไม่ลำเอียงเพราะชัง เป็นต้น
ผู้ที่เป็นผู้น้อยก็ให้ความเคารพนับถือผู้ใหญ่ ไม่ล่วงละเมิดคำสั่ง
มีความสัตย์ซื่อต่อคน มีความจริงต่อการงานหน้าที่
การที่สังคมต้องแสดงอาการหน้าไหว้หลังหลอกต่อกัน เพราะต่างไม่ไว้วางใจกัน
เหตุที่ไม่ไว้วางใจกัน เพราะไม่ปฏิบัติตามศีลข้อ ๔ นี้



การรักษาศีลข้อที่ ๕ ต้องประกอบด้วยสติ
ความประสงค์ในเรื่องนี้มีว่า การที่คนเราเว้นไม่ทำความชั่วแล้ว ต้องทำความดีพร้อมไปด้วย
ถ้าเป็นแต่เพียงเว้นความชั่วอย่างเดียว ยังไม่จัดเป็นการทำความดีที่สมบูรณ์
การดื่มน้ำเมาเป็นการทำลายสติ
เมื่อไม่ทำลายสติด้วยการดื่มน้ำเมาแล้ว ต้องพยายามหาทางเพิ่มสติให้มากขึ้นด้วย
วิธีเพิ่มสติคือหัดเป็นคนระมัดระวัง
ก่อนจะทำ ก่อนจะพูดต้องใคร่ครวญพิจารณาโดยรอบคอบ ไม่มักง่ายใจเร็ว
คนที่ทำผิดพลาดในธุระการงานใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้เฉพาะคนเมาเท่านั้น หามิได้
คนที่ไม่เมาแต่ทำผิดพลาด เช่น คนที่ขับรถคว่ำ ขับรถชนกัน ก็มีอยู่ไม่น้อย
สาเหตุเพราะขาดสตินั่นเอง



การรักษาศีล เป็นการตัดต้นเหตุแห่งความเดือดร้อนเสียหาย
อันจะมีเพราะความประพฤติทางกายทางวาจา
การบำเพ็ญธรรมเป็นการเพิ่มความดี อันจะเป็นทางให้เกิดความสุข

ความสุขที่กล่าวนี้หมายถึงความสุขอันเป็นผลเกิดจากการพ้นจากโทษ
คือไม่ต้องไปทะเลาะวิวาทกับใคร ไม่ต้องไปก่อกรรมทำเวรกับใคร ไม่ต้องถูกจองจำทำโทษ
ไม่ได้หมายถึงความสุขที่กินอิ่มนอนสบาย หรือความสุขที่เกิดจากการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย



การครองชีพของชาวโลกส่วนมากมักจะหนักไปส่วนใดส่วนหนึ่ง
ส่วนโลกก็เป็นโลกเสียจริงๆ ส่วนธรรมก็เป็นธรรมเสียจริงๆ
หมายความว่าชาวโลกไม่ยอมรับเอาธรรมไปผสมส่วนในการทำมาหากิน
ต่างยื้อแย่งแข่งขัน เอารัดเอาเปรียบกัน มือใครยาวสาวได้สาวเอา
เลยกลายเป็นว่าบุคคลประเภทนี้เป็นคนฉลาด ได้รับยกย่องในสังคมว่าเป็นคนมีเกียรติ
ส่วนชาวธรรมก็มักจะแสดงตนเป็นคนมักน้อยสันโดษ ขาดความกระตือรือร้น
ไม่เร่งรีบขวนขวายในอาชีพการงาน ไม่ต้องการไปสู้รบปรบมือกับใคร
เลยกลายเป็นบุคคลล้าหลัง แม้ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร
แต่ก็ไม่ได้ทำความเจริญก้าวหน้าให้มากไปกว่านั้น



หากชาวโลกได้นำพระธรรมคำสอนไปประกอบกับความขยันหมั่นเพียร
ไม่ถือโอกาสเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบกัน ตัดความละโมบโลภมากให้ลดลงบ้าง
และในขณะเดียวกันชาวธรรมก็นำเอาความขยันหมั่นเพียรเยี่ยงชาวโลก
มาผสมส่วนกับความมักน้อยสันโดษ
เมื่อชาวโลกชาวธรรมได้มีส่วนผสมประมวลกัน โลกก็จะพ้นจากความเดือดร้อน
ทุกคนจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามสมควรแก่ฐานะ

การทำกิจการทุกอย่างไม่ว่างานประเภทไหน
จะสำเร็จลุล่วงไปได้ต้องอาศัยความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกัน
การทำความดีก็เช่นกันจะต้องได้รับความร่วมมือกันทุกด้าน
ถ้าทำอยู่เพียงคนกลุ่มน้อย คนกลุ่มใหญ่ยังไม่ให้ความร่วมมือ
ฝ่ายอธรรมก็คงเป็นฝ่ายได้เปรียบอยู่ร่ำไป ดังคำที่ว่า “น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ”
น้ำแม้จะดับไฟได้ แต่ถ้าน้ำน้อยกว่าไฟจะดับไฟได้อย่างไร


เมื่อฝ่ายอธรรมเป็นฝ่ายเหนือกว่า
ก็ทำให้มองไม่เห็นว่าการประพฤติธรรมจะดับความทุกข์เดือดร้อนได้อย่างไร
เช่นเดียวกับบุคลหยดน้ำหอมลงในบ่อเพียงหยดสองหยด
ไม่อาจจะทำน้ำในบ่อให้หอมได้ฉะนั้น



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - - - - - - - - - -


จาก "เหตุแห่งความเดือดร้อน" ใน เครื่องหมายของคนดีโดย พระธรรมดิลก (จันทร์ กุสโล)
พิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๙


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP