จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

พรจากพ่อหลวงของแผ่นดิน


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it




194 destination



ในช่วงเวลาอันควรแก่การรำลึกถึงพ่อหลวงรัชกาลที่ ๙ นี้
ผมก็จะขอนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับท่านนะครับ
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ซึ่งท่านเป็นเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา
ได้กล่าวความตอนหนึ่งในปาฐกถาในงานโครงการจัดกิจกรรม
และสัมมนาผู้สูงอายุร่วมสร้างคุณค่าวัฒนธรรมไทยสู่ประชาคมอาเซียน
ณ อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๕ ว่า
“ผมเคยเข้าเฝ้าฯ กราบพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในวันที่ผมอายุ ๖๐ ปี เป็นวัยที่ต้องเกษียณ
พระองค์รับสั่งว่า ‘แล้วฉันล่ะ’
วันนั้นผมอายุ ๖๐ ปี แต่พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา
นับตั้งแต่วันนั้นผมไม่กล้าเอ่ยถึงคำว่าเกษียณอีกเลย
ผมจึงเปลี่ยนเป็นขอพระราชทานพรในวันคล้ายวันเกิดแทน
พระองค์ทรงมักจะให้พรในทำนองว่า ‘ขอให้แข็งแรงนะ
ขอให้มีพละกำลังกายที่แข็งแรงเพื่อที่จะทำประโยชน์ให้คนอื่นได้’
หรือ ‘ขอให้มีความสุขในการทำประโยชน์เพื่อคนอื่น’
คำพระราชทานมักจบลงด้วยงานหรือการทำเพื่อคนอื่น"
http://www.thairath.co.th/content/761001
http://hilight.kapook.com/view/143872
(และอ้างอิงข้อมูลจากโพสต์ของเฟสบุ๊คแฟนเพจ “สานต่อที่พ่อทำ”
เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๗.๐๐ น.)


ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ ท่านดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
ได้เล่าถึงพรที่ได้รับพระราชทานเป็นครั้งสุดท้ายจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ ว่า
“คำพรที่ได้พระราชทานเป็นครั้งสุดท้าย และคงไม่มีอีกแล้ว
คือเมื่อ ๕ ปีที่แล้ว ตอนนั้น ทรงยังมีพลานามัยอยู่ ถึงแม้ประชวรอยู่ที่ศิริราชก็ตาม
ผมได้นำคณะหนึ่งเข้าเฝ้าฯ เมื่อเข้าเฝ้าฯ เสร็จแล้ว
ก็รอให้คณะนั้นเขาเดินออกจากห้องเฝ้า แล้วผมก็คลานเข้าไป
บอกว่า ‘วันนี้วันเกิด อายุ ๗๒ ปี’ และผมก็หมอบกราบ ขอรอรับพร
พระองค์ท่านทรงนิ่งไปสักพักหนึ่ง
และผมก็มีความรู้สึก มีอะไรมาแตะที่ไหล่ผม เมื่อเหลียวขึ้นไปดู
ก็เห็นว่าทรงเอาพระหัตถ์วางบนไหล่ผมและเขย่า และนิ่งไปสักพัก
รับสั่งว่า ‘สุเมธงานยังไม่เสร็จ งานยังไม่เสร็จสุเมธ’ ๓ หน
เพราะฉะนั้น ก็เป็นสัญญาณซึ่งผมคิดว่า
ผมอยากจะสมมุติตัวเองเป็นตัวแทนของพสกนิกร
คงเป็นพระกระแสรับสั่งของพระองค์ท่านเป็นวาระสุดท้ายว่า
ขอให้เราดำรงชีวิตต่อไป ทำงานต่อไป
พระองค์เสด็จสวรรคตแล้วก็ตามนั้น งานเรายังอยู่ อยู่ข้างหน้า
และเมื่อวานซืนนี้เอง ระหว่างไปงานพระบรมศพอยู่นั้น
สมเด็จพระเทพฯ ซึ่งเสด็จเป็นประธานในพิธี
ในตอนเช้าวันนั้นก็มาแวะ เสด็จมาที่หน้าผม รับสั่งว่า
‘ทูลกระหม่อมพ่อรับสั่งว่า ให้ทำงานต่อไปนะ
และงานเราคงจะหนักกว่าเดิมอีก’


ผมก็รับใส่เกล้าฯ ไว้ และคิดในใจว่า
จะปฏิบัติตามคำพรที่พระราชทานมา ก็จะทำต่อไป
วันไหนหมดแรงเมื่อไร โดยสังขารไม่เอื้อ อันนั้นก็ให้เป็นเรื่องของสังขาร
อันนั้นเป็นเรื่องของชีวิต เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา
แต่ตราบใดที่ยังอยู่ ผมก็จะขอทำงาน และก็ไม่ทำงานเพื่อตัวเองครับ
ทำงานเพื่อเป็นประโยชน์กับคนอื่นตามที่ได้ทรงกำชับไว้”
https://youtu.be/Byy0cRzUJJY
http://www.matichon.co.th/news/331511
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1477199545
(และอ้างอิงข้อมูลจากโพสต์ของเฟสบุ๊คแฟนเพจ “สานต่อที่พ่อทำ”
เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๒๐.๑๐ น.)


ในพรพระราชทานดังกล่าวข้างต้นนั้น
ท่านดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวว่า
ท่านอยากจะสมมุติตัวเองเป็นตัวแทนของพสกนิกร
ซึ่งคงเป็นพระกระแสรับสั่งของพระองค์ท่านเป็นวาระสุดท้าย
ดังนั้นแล้ว หากเราซึ่งเป็นพสกนิกรของพ่อหลวงรัชกาลที่ ๙
ประสงค์จะรับพรพระราชทานจากท่านแล้ว
ก็สามารถที่จะรับพรพระราชทานดังกล่าวได้ทุกคน
โดยงานยังรออยู่ข้างหน้าอีกมาก
ให้เราช่วยกันทำงานต่อไป เพื่อสืบสานปณิธานของท่าน
โดยทำงานเพื่อเป็นประโยชน์กับคนอื่น
ตามแนวทางของพ่อหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งท่านทรงทำเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้ว
นอกจากนี้ เราอาจจะศึกษาแนวทางการทำงาน
โดยพิจารณาจากพระบรมราโชวาทของท่านด้วยก็ได้ครับ ยกตัวอย่างเช่น


“บ้านเมืองของเรากำลังต้องการการปรับปรุงและการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ
ทางที่เราจะช่วยกันได้ ก็คือการที่ทำความคิดให้ถูกและแน่วแน่
ในอันที่จะยึดถือประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่หมาย
ต้องเพลาการคิดถึงประโยชน์เฉพาะตัว และความขัดแย้งกันในสิ่งที่มิใช่สาระลง”
(พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ ๒๕๔๓)


“ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น
เพราะว่าถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัว
โดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้
เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกันจะต้องเกี่ยวโยงกัน
ฉะนั้นแต่ละคนจะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่นแล้วช่วยกันทำ”
(พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่
คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๓)


“ในการปฏิบัติงานนั้น ย่อมมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ
เมื่อปัญหาเกิดขึ้นต้องแก้ไข อย่าทิ้งไว้พอกพูนลุกลามแก้ยาก
ขอให้ทุกคนระลึกว่าปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ได้
ถ้าแก้คนเดียวไม่ได้ก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้หลายๆ คนหลายๆ ทาง
ด้วยความร่วมมือปรองดองกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น จักได้ไม่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวาง
และบั่นทอนทำลายความเจริญและความสำเร็จของการงาน”
(พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๓)
http://www.cca.chula.ac.th/protocol/organizations-individuals.html?start=2



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP