ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

อเจลกัสสปสูตร ว่าด้วยความทุกข์เกิดแต่ปัจจัย


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๔๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน
กลันทกนิวาปสถาน (อันเป็นที่อยู่แห่งกระแต) กรุงราชคฤห์
ครั้งนั้นแล เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์
อเจลกัสสปได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล
ครั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ สถานที่นั้น
ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันแล้ว
ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.


[๔๘] ครั้นแล้ว อเจลกัสสปได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าพเจ้าจะขอถามเหตุบางอย่างกะท่านพระโคดม
ถ้าท่านพระโคดมจะทรงกระทำ (ให้) โอกาส เพื่อทรงตอบปัญหาแก่ข้าพเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
กัสสป ยังมิใช่เวลาตอบปัญหา เรากำลังไปสู่ละแวกบ้าน
แม้ครั้งที่ ๒ อเจลกัสสปก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าพเจ้าจะขอถามเหตุบางอย่างกะท่านพระโคดม
ถ้าท่านพระโคดมจะทรงกระทำโอกาส เพื่อทรงตอบปัญหาแก่ข้าพเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
กัสสป ยังมิใช่เวลาตอบปัญหา เรากำลังไปสู่ละแวกบ้าน
แม้ครั้งที่ ๓ อเจลกัสสปก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าพเจ้าจะขอถามเหตุบางอย่างกะท่านพระโคดม
ถ้าท่านพระโคดมจะทรงกระทำโอกาส เพื่อทรงตอบปัญหาแก่ข้าพเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
กัสสป ยังมิใช่เวลาตอบปัญหา เรากำลังไปสู่ละแวกบ้าน.


[๔๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนั้นแล้ว
อเจลกัสสปได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ก็ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะถามท่านพระโคดมมากนัก.
. กัสสป ท่านจงถามปัญหาตามที่ท่านจำนงไว้เถิด.
. ข้าแต่ท่านพระโคดม ความทุกข์ตนกระทำเองหรือ.
. อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสป.
. ความทุกข์ผู้อื่นกระทำให้หรือ ท่านพระโคดม.
. อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสป.
. ความทุกข์ตนกระทำเองด้วย ผู้อื่นกระทำให้ด้วยหรือ ท่านพระโคดม.
. อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสป.
. ความทุกข์บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ
มิใช่ผู้อื่นกระทำให้หรือ ท่านพระโคดม.
. อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสป.
. ความทุกข์ไม่มีหรือ ท่านพระโคดม.
. ความทุกข์ไม่มีหามิได้ ความทุกข์มีอยู่ กัสสป.
. ถ้าอย่างนั้น ท่านพระโคดม ย่อมไม่รู้ไม่เห็นความทุกข์หรือ.
. เราย่อมไม่รู้ไม่เห็นความทุกข์หามิได้ เรารู้เห็นความทุกข์อยู่ กัสสป.
. เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ความทุกข์ตนกระทำเองหรือ
ท่านตรัสว่า อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสป.
เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ความทุกข์ผู้อื่นกระทำให้หรือ ท่านพระโคดม
ท่านตรัสว่า อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสป
เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ
มิใช่ผู้อื่นกระทำให้หรือ ท่านพระโคดม
ท่านตรัสว่า อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสป
เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ความทุกข์ไม่มีหรือ ท่านพระโคดม
ท่านตรัสว่า ความทุกข์ไม่มีหามิได้ ความทุกข์มีอยู่ กัสสป
เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านพระโคดมย่อมไม่รู้ไม่เห็นความทุกข์หรือ
ท่านตรัสว่า เราย่อมไม่รู้ไม่เห็นความทุกข์หามิได้ เรารู้เห็นความทุกข์อยู่ กัสสป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงตรัสบอกความทุกข์แก่ข้าพเจ้า
และขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความทุกข์แก่ข้าพเจ้าด้วย.


[๕๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
กัสสป เมื่อบุคคลถืออยู่ว่า ผู้นั้นกระทำ ผู้นั้นเสวย (ทุกข์)
เราจะกล่าวว่า ทุกข์ตนกระทำเอง ดังนี้ อันนี้เป็นสัสสตทิฏฐิไป
เมื่อบุคคลถูกเวทนาทิ่มแทง (รู้) อยู่ว่า ผู้กระทำคนหนึ่ง ผู้เสวยเป็นอีกคนหนึ่ง
เราจะกล่าวว่า ทุกข์ผู้อื่นกระทำให้ ดังนี้ อันนี้เป็นอุจเฉททิฏฐิไป
กัสสป ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นว่า
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ฯลฯ
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.


[๕๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว
อเจลกัสสปได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยประสงค์ว่า
ผู้มีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า
กับพระธรรมและภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา
พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า.


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า กัสสป ผู้ใดเคยเป็นอัญญเดียรถีย์
หวังบรรพชา หวังอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน
เมื่อล่วง ๔ เดือน ภิกษุทั้งหลายเต็มใจแล้ว หวังอยู่จึงให้บรรพชา
ให้อุปสมบท เพื่อความเป็นภิกษุ ก็แต่ว่า เรารู้ความต่างแห่งบุคคล.


อเจลกัสสปกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากผู้ที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์
หวังบรรพชา หวังอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน
เมื่อล่วง ๔ เดือน ภิกษุทั้งหลายเต็มใจแล้วหวังอยู่จึงให้บรรพชา
ให้อุปสมบท เพื่อความเป็นภิกษุไซร้ ข้าพระองค์จักอยู่ปริวาส ๔ ปี
เมื่อล่วง ๔ ปี ภิกษุทั้งหลายเต็มใจแล้ว จึงให้บรรพชา
ให้อุปสมบท เพื่อความเป็นภิกษุเถิด.


[๕๒] อเจลกัสสปได้บรรพชา ได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
ครั้นท่านกัสสปอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว
ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตแน่วแน่ ไม่นานนัก
ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม
ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น
ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่
รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
ก็ท่านกัสสปได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.


อเจลกัสสปสูตรที่ ๗ จบ



หมายเหตุ อรรถกถาอเจลกัสสปสูตรได้อธิบายว่า
ถามว่า ก็เพราะเหตุไร.
พระผู้มีพระภาคเจ้าประสงค์จะตรัส จึงทรงห้ามเสียถึงครั้งที่ ๓.
ตอบว่า เพื่อให้เกิดความเคารพ.
เพราะผู้ถือทิฏฐิ เมื่อเขากล่าวเร็วก็ไม่ทำคารวะ ไม่เชื่อแม้ถ้อยคำ
ด้วยเข้าใจว่าการเฝ้าพระสมณโคดมก็ดี การทูลถามก็ดี (เป็นเรื่อง) ง่าย
เพียงแต่ถามเท่านั้นก็ตรัสตอบทันที แต่เมื่อห้ามถึง ๒ – ๓ ครั้ง
เขาก็ทำความเคาพ ก็เชื่อด้วยเข้าใจว่า
การเฝ้าพระสมณโคดมก็ดี การทูลถามปัญหาก็ดียาก
เมื่อทูลขอถึงครั้งที่ ๓ เขาก็จะตั้งใจฟัง เชื่อคำที่ตรัส.
ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงให้เขาทูลขอถึงครั้งที่ ๓ จึงตรัส
ด้วยประสงค์ว่า ผู้นี้จักตั้งใจฟังเชื่อถือ เหมือนอย่างว่า
หมอบาดแผลหุงน้ำมันหรือเคี่ยวน้ำอ้อย
เมื่อจะหุงน้ำมันหรือเคี่ยวน้ำอ้อย ก็รอเวลาให้น้ำมันอ่อนตัวและน้ำอ้อยแข็งตัวได้ที่
ไม่ปล่อยให้ไหม้ แล้วยกลงเสียฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น
ทรงรอให้ญาณของสัตว์แก่กล้าเสียก่อน
แม้จะทราบว่าญาณของผู้นี้จักแก่กล้าด้วยเวลาเพียงเท่านี้
ก็ทรงให้ขอจนถึงครั้งที่ ๓.



(อเจลกัสสปสูตร พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๒๖)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP