ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ออกจากสมาธิแล้วรู้สึกซึมๆ หรือไม่ก็รู้สึกตึงจนเครียด ควรจะแก้ไขอย่างไร



ถาม - เวลาทำสมาธิจะเกิดความรู้สึกนิ่งสงบสลับกับฟุ้งซ่าน ซ้ำไปซ้ำมา
ถ้าเป็นแบบนี้ถือว่าทำมาถูกทางไหมครับ
แล้วบางครั้งตอนออกจากสมาธิจะรู้สึกซึมๆ หรือไม่ก็รู้สึกตึงจนเครียด
อยากทราบว่าจะแก้สภาวะแบบนี้ได้อย่างไรครับ



เอาตรงคำถามแรกก่อนที่ว่าเกิดอาการสลับกัน
ระหว่างรู้สึกนิ่งสงบกับฟุ้งซ่านซ้ำไปซ้ำมานะครับ
อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคน ณ เวลาที่จิตยังไม่ตั้งมั่น
หรือแม้ว่าจิตตั้งมั่น ต่อให้ได้ถึงฌานแล้วนะ
จิตก็จะมีอาการแบบนี้ให้ดูเสมอนะครับ
เป็นเรื่องที่เราต้องบอกว่าไม่ได้เกิดกับคนที่เล่นสมาธิเท่านั้น
ไม่ได้เกิดกับคนที่ฝึกสมาธิเท่านั้น แต่เกิดกับทุกคนบนโลก


เพราะว่าจิตนี่นะมันมีความเป็นธรรมดาอยู่อย่างหนึ่ง
คือพูดอย่างนี้ก่อนแล้วกัน ตามที่เขาบอกกันตามหลักการทางวิทยาศาสตร์นะ
สมองมีคลื่นไฟฟ้า แล้วคลื่นไฟฟ้าก็ส่งออกมาอยู่ตลอดเวลานะครับ
ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นคลื่นไฟฟ้าที่มีระเบียบหรือว่าไม่มีระเบียบ
ถ้าไม่มีระเบียบหน่อยก็เรียกว่าเราจะรู้สึกถึงความกระจัดกระจายกระเจิดกระเจิง
ไม่ค่อยเป็นระเบียบนะ ก็คือฟุ้งซ่านนั่นเอง มันทำให้เราคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้
จริงๆ มันก็คือถ้าว่ากันทางกายก็คืออาการของสมองอย่างหนึ่งนะครับ
มันไม่มีทางที่จะสงบอยู่ได้ตลอดเวลา
หรือว่ามีความเรียบมีความเป็นระเบียบอยู่ได้ตลอดเวลา



ลักษณะอย่างนี้แหละที่ทางพุทธเราเอาไว้ดู
ว่าเดี๋ยวมันก็ฟุ้ง เดี๋ยวมันก็สงบ เห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง

ความไม่เที่ยงนี่ไม่ใช่ว่ามีลักษณะตายตัวแบบใดแบบหนึ่งให้ดูนะ
ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะนอกตัวหรือว่าในตัว
เราสามารถมองเห็นความไม่เที่ยงของลักษณะที่เกิดขึ้น กำลังปรากฏอยู่ได้เสมอ
แม้กระทั่งในเวลานั่งสมาธิ
คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด หรือหลักการทำสมาธินอกแนวพุทธ
บางทีเขาจะบอกว่าให้บังคับจิตให้สงบ ให้บังคับความฟุ้งซ่าน ให้ระงับลงนะ
ทางพุทธไม่เอานะ ไม่เอาแบบนั้น ทางพุทธจะเอาแค่สิ่งที่เกิดขึ้นตามจริง
เพื่อให้เกิดการยอมรับตามจริง
พอยอมรับตามจริงปุ๊บนั่นแหละ สติมันเกิดแล้วนะครับ

แล้วสติเจริญขึ้นตอนที่เราสามารถที่จะเห็นได้เรื่อยๆ
ด้วยอาการยอมรับตามจริง

ไม่ไปต่อสู้ ในขณะเดียวกันก็ไม่ไปต้อนรับขับสู้นะครับ
ว่าความฟุ้งซ่านมันจะมาเมื่อไหร่ ความฟุ้งซ่านมันจะหายไปเมื่อไหร่
เราไม่สู้ แล้วก็ในขณะเดียวกันนะไม่ไปให้การสนับสนุนด้วย


ในที่สุดเราก็จะเห็นว่าทั้งความฟุ้งและความสงบมันมาๆ ไปๆ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย
เหตุปัจจัยอะไร ถ้าฟุ้งซ่านก็คือมีความปล่อยใจ
มีอาการที่จิตไม่สามารถโฟกัสอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนะ
แต่ถ้าหากสงบก็หมายความว่ามีเหตุ คือใจของเราไปอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้
เราก็เห็นความเป็นอย่างนั้นแหละ
เห็นว่าเหตุของความเป็นแบบนั้น มันไม่สามารถทนอยู่ได้ตลอดเวลา
เพราะอะไร เพราะว่ามันไม่ใช่สมบัติที่แท้จริงของใคร
มันมีการปรุงแต่งสืบต่อกันมา



ถ้าหากว่าเราเป็นคนที่มีความปรุงแต่งทางใจไปในทางสงบโดยมาก
ไปในทางเรียบง่ายโดยมาก เป็นไปในทางที่คิดอะไรอยู่กับสิ่งเดียว แบบเรียบง่าย
นั่นก็เป็นเหตุของสมาธิ
แต่ถ้าหากว่าเราเป็นคนที่ว้าวุ่นกระสับกระส่าย
คอยแต่จะฟังคอยแต่จะดูอะไรที่มันปรุงจิตให้วุ่นวาย
อย่างนี้ก็มีคลื่นความฟุ้งซ่านสะสมอยู่เยอะ
แล้วก็มาปรากฏในสมาธิอย่างชัดเจนนี่แหละ
เวลาที่เราจะตั้งใจจะดูลมหายใจ เวลาที่เราตั้งใจที่จะบริกรรมอะไรก็แล้วแต่
มันจะอยู่ได้ไม่นาน แล้วเดี๋ยวคลื่นความฟุ้งซ่านที่สะสมไว้
มันก็จะผลักดันตัวเองออกมานะให้ปรากฏ
ความฟุ้งซ่านปรากฏมาก ความสงบปรากฏน้อย
แต่ถ้าหากว่าเราฝึกสมาธิไปเรื่อยๆ
แล้วใช้ชีวิตประจำวันสอดคล้องกับความเป็นสมาธิ

เราก็จะรู้สึกว่าความสงบมันมาบ่อยกว่าความฟุ้งซ่าน
แล้วก็สามารถที่จะอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานกว่าปกติที่ผ่านมาในชีวิตนะ
อันนี้ก็จะเป็นผล



พูดง่ายๆ ก็คือว่านะสรุปคำตอบ
ตรงนี้ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญเลยพูดยาวหน่อยนะ
เวลาทำสมาธิอย่าไปตั้งใจว่าจะให้มันสงบ
อย่าไปตั้งใจว่าจะให้ความฟุ้งซ่านมันระงับลงไป
มันเป็นไปไม่ได้
มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยว่าเราสั่งสมความฟุ้งซ่านมามากแค่ไหน

แล้วก็สั่งสมเหตุแห่งสมาธิมามากเพียงใดนะครับ
มันจะปรากฏสลับกันไปสลับกันมา ตามเหตุปัจจัยที่เราสั่งสมไว้นั่นแหละ



ส่วนคำถามที่ว่าออกจากสมาธิแล้วรู้สึกซึมๆ หรือไม่ก็รู้สึกตึงจนเครียด มันมาจากอะไร
อาการซึมก็มาจากการที่เรายังมีกำลังไม่ทรงตัว ยังไม่ตั้งมั่น
มันยังไม่ได้ความสดชื่นจากสมาธิ
ถ้าหากว่านั่งสมาธิไปนานพอ มีประสิทธิภาพมากพอ ได้ผลมากพอนะ
ร่างกายมันจะมีความสดชื่นจากการหลั่งสารอะไรดีๆ ออกมานะครับ
ส่วนจิตใจก็จะมีความเบิกบาน
คือถ้าจิตเป็นสมาธินะ มันจะเปิด มันจะกว้างออก มันจะมีความเบา มันจะมีความใส
ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความสดชื่น ให้เกิดความเบิกบาน ไม่เซื่องซึมนะ
หากว่าเซื่องซึมก็อย่าเพิ่งท้อนะ อย่าเพิ่งไปมองว่าเราทำผิดหรือว่าทำถูก
ให้มองว่ามันเป็นอย่างนี้แหละ
การที่เราไปออกแรงหรือว่าไปพยายามทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานๆ
มันก็ต้องเหนื่อยเป็นธรรมดานะ
ตอนที่สมาธิมันยังไม่เบ่งบาน ตอนที่ร่างกายยังไม่หลั่งสารอะไรดีๆ ออกมา
ต้องมีสภาพของคนที่ทำอะไรมาเหน็ดเหนื่อยเป็นธรรมดานะครับ



ส่วนอาการตึงจนเครียด
อันนี้นี่แหละคือปัญหาหรือว่าเป็นโจทย์ที่เราต้องมาตีให้แตกนะครับ
ขอให้สังเกตว่าการทำสมาธิของเรา มันมีอาการจดจ่อมากเกินไปหรือเปล่า
มันมีอาการฝืนบังคับตัวเองมากเกินไปหรือเปล่า เรามีความเต็มใจทำสมาธิแค่ไหน
ลองสังเกตตัวเองง่ายๆ เลยนะ
ถ้าหากว่ามีอาการเต็มใจทำสมาธิ มีอาการสดชื่น มีอาการสบาย จะไม่เครียด
ตรงข้ามเลยคือจะมีอาการที่ว่าถ้าเครียดมาทั้งวัน
ถ้าสั่งสมขยะทางอารมณ์มาทั้งวัน เหมือนกับมันจะหายไปหมด
เหมือนกับอะไรที่มันเกรอะกรังอยู่ในหัวหรือว่ากลางอก
มันจะหลุดลอยออกไป ถ้าทำมาถูกทาง


ขอแนะนำนะครับว่าวิธีสังเกตง่ายๆ เลย
สังเกตบ่อยๆ ว่าฝ่าเท้า ฝ่ามือ แล้วก็ทั่วทั้งใบหน้าของคุณ
มันมีอาการตึงขึ้นมาเมื่อไหร่ มีอาการเครียดขึ้นมาเมื่อไหร่
มีอาการเกร็งขึ้นมาเมื่อไหร่ มีอาการงองุ้มขึ้นมาเมื่อไหร่นะ
ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของสามจุดใหญ่นี้ คือฝ่าเท้า ฝ่ามือแล้วก็ทั่วทั้งใบหน้า
มันจะมีอาการเครียด มันจะมีอาการเกร็งขึ้นมานะ
ถ้าหากว่าคุณสามารถรับรู้ ณ จุดที่มันเกิดขึ้น แล้วผ่อนคลายให้มันมีความสบายออกไป
คุณจะรู้สึกว่า มีสติ มีความรู้ตัว และมีความพร้อมที่จะรู้อย่างผ่อนคลาย
แล้วพอออกจากสมาธิ แทนที่จะเครียดนะ
ความเครียดหรือว่าอารมณ์ที่มันเป็นขยะทั้งหลายที่สั่งสมมาตลอดวัน
มันจะพลอยหายไปด้วย เอาแค่สังเกตอย่างนี้แหละ



พูดง่ายๆ นะ ช่วงแรกๆ อาจจะเอาตรงนี้เป็นหลักเลยก็ได้
ดูว่าฝ่าเท้า ฝ่ามือ แล้วก็ใบหน้า
ส่วนไหนมันเกร็งมันขมวดขึ้นมาเมื่อไหร่นะครับ

พอรู้ก็ให้มันเกิดการคลายเสีย
พอคลาย รู้สึกสบายตัวแล้วค่อยไปดูลมหายใจใหม่นะ

เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ในช่วงแรกๆ
แล้วจะรู้สึกเลยว่าอาการเครียดหลังจากออกจากสมาธิ มันหายไป



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP