ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

จิตตวรรคที่ ๓ หมวดว่าด้วยการฝึกจิต


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๑๓] ๑. ชนผู้มีปัญญา ย่อมทำจิตที่ดิ้นรน กลับกลอก
อันบุคคลรักษาได้ยาก ห้ามได้ยาก
ให้ตรง ดุจช่างศร ดัดลูกศรให้ตรงฉะนั้น

จิตนี้ (อันพระโยคาวจรยกขึ้นจากอาลัย คือกามคุณ ๕
แล้วซัดไปในวิปัสสนากัมมัฏฐาน) เพื่อละบ่วงมาร
ย่อมดิ้นรนดุจปลาอันพรานเบ็ดยกขึ้นจาก (ที่อยู่) คือน้ำ
แล้วโยนไปบนบก ดิ้นรนอยู่ฉะนั้น.


. การฝึกจิตอันข่มได้ยาก เป็นธรรมชาติเร็ว
มักตกไปในอารมณ์ตามความใคร่ เป็นการดี
(เพราะว่า) จิตที่ฝึกแล้ว ย่อมเป็นเหตุนำสุขมาให้.


. ผู้มีปัญญา พึงรักษาจิตที่เห็นได้แสนยาก ละเอียดยิ่งนัก
มักตกไปในอารมณ์ตามความใคร่
(เพราะว่า) จิตที่คุ้มครองไว้ได้ เป็นเหตุนำสุขมาให้.


. ชนเหล่าใด จักสำรวมจิตอันไปในที่ไกล เที่ยวไปดวงเดียว
ไม่มีสรีระ มีถ้ำเป็นที่อาศัย ชนเหล่านั้นจะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร.


. ปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์แก่ผู้มีจิตไม่มั่นคง
ไม่รู้แจ้งซึ่งพระสัทธรรม มีความเลื่อมใสอันเลื่อนลอย
ภัย (ความกลัว) ย่อมไม่มีแก่ผู้มีจิตอันราคะไม่ซึมซาบ
มีใจไม่ถูกโทสะตามกระทบ ละบุญและบาปได้ ตื่นอยู่.


. (บัณฑิต) รู้จักกายนี้ อันเปรียบด้วยหม้อ
กั้นจิตอันเปรียบด้วยนคร พึงรบมารด้วยอาวุธคือปัญญา
พึงรักษาความชนะที่ชนะแล้ว และพึงเป็นผู้ไม่ติดอยู่.


. ไม่นานหนอ กายนี้จักนอนทับแผ่นดิน
กายนี้ มีวิญญาณไปปราศ ถูกบุคคลทิ้งแล้ว
ราวกับท่อนไม้ ไม่มีประโยชน์ฉะนั้น.


. จิตซึ่งตั้งไว้ผิดแล้ว พึงทำบุคคลนั้น
ให้เลวทรามยิ่งกว่าความพินาศหายนะ ที่โจรเห็นโจร
หรือคนจองเวรทำ (แก่กัน ) นั้น (เสียอีก).


. มารดาบิดา ก็หรือว่าญาติเหล่าอื่น ไม่พึงทำเหตุนั้น (ให้ได้)
แต่จิตอันตั้งไว้ชอบแล้ว พึงทำเขาให้ประเสริฐกว่าเหตุนั้น.


จิตตวรรคที่ ๓ จบ



(จิตตวรรค พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๔๐)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP