จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

วาทะแย้งกัน (ตอนที่ ๑)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



188 destination



เมื่อไม่นานนี้ ผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่งในเหตุการณ์หนึ่งว่า
ญาติธรรมท่านนี้ได้นำอาหารไปให้แก่ผู้รับท่านหนึ่งที่เป็นญาติกัน
ต่อมา ผู้รับท่านนั้นได้นำอาหารที่ญาติธรรมท่านนี้นำมาฝากนั้นไปให้คนอื่น
ญาติธรรมท่านนี้มาทราบเรื่องดังกล่าวในภายหลังก็ไม่พอใจ
โดยตำหนิว่าตนเองอุตส่าห์ตั้งใจนำอาหารดังกล่าวไปให้แก่ผู้รับ
ทำไมผู้รับจึงไม่ทานเอง แต่กลับนำไปให้คนอื่น
ผู้รับได้อธิบายว่าอาหารเดิมที่เขามีอยู่แล้ว ก็มีพอสมควร
อาหารที่ได้มาเพิ่มนี้น่าจะทานไม่ทันหรือทานไม่หมด โดยก็ย่อมจะเก่าหรือเสียได้
เขาจึงให้คนอื่นไปทานแต่แรกตั้งแต่อาหารยังใหม่ ก็จะเป็นประโยชน์กว่า


ญาติธรรมท่านที่นำไปอาหารไปให้แก่ผู้รับนี้
ก็แย้งว่าผู้รับนี้ทำไม่ถูก เพราะเป็นการทำร้ายจิตใจของผู้ให้
ผมฟังแล้วก็อธิบายเปรียบเทียบว่า หากเป็นกรณีใส่บาตรถวายพระภิกษุ
ซึ่งญาติโยมทุกท่านที่ใส่บาตรก็ย่อมจะต้องมีเจตนาตั้งใจใส่อาหารที่ประณีต
ตามกำลังเท่าที่ตนเองจะสามารถจัดหามาถวายได้
แต่หากญาติโยมทุกท่านจะบังคับให้พระภิกษุที่รับบาตรนั้น
ต้องมาทานอาหารที่รับบาตรของโยมทุกคนทั้งหมดก็คงไม่ไหว
พระภิกษุก็ย่อมจะแบ่งอาหารบางส่วนจากอาหารที่รับบาตรนั้น
มาไว้สำหรับตนเองตามดุลยพินิจ
โดยส่วนอื่น ๆ นั้นพระภิกษุก็ย่อมจะจัดสรรให้เป็นทานแก่บุคคลอื่น ๆ


ในกรณีนั้น หากโยมที่ใส่บาตรได้รับทราบเรื่องภายหลังว่า
พระภิกษุนั้นไม่ได้ทานอาหารที่ตนเองใส่บาตรให้แก่พระภิกษุแล้ว
และเกิดไม่พอใจในเรื่องดังกล่าวขึ้นมา ก็ย่อมจะเป็นโทษแก่โยมที่ใส่บาตรนั้นเอง
เพราะในอันที่จริงแล้ว โยมที่ใส่บาตรนั้นควรจะอนุโมทนากับพระภิกษุดังกล่าว
ที่ได้จัดสรรอาหารที่รับบาตรนั้นให้เป็นทานแก่บุคคลอื่น ๆ
อันเป็นการจัดสรรทรัพยากรแบ่งปันให้แก่บุคคลอื่นโดยไม่ปล่อยให้เสียของ


หากโยมที่ใส่บาตรนั้นเปิดใจกว้างกับเรื่องนี้แล้ว
นอกจากจะได้บุญในเวลาที่ใส่บาตรแล้ว ยังได้บุญเพิ่มในเวลาที่อนุโมทนาอีกด้วย
แต่หากโยมที่ใส่บาตรนั้นไม่พอใจที่พระภิกษุที่นำอาหารไปให้คนอื่นแล้ว
ย่อมจะมีผลกระทบต่อทานที่ตนเองได้ทำไว้แล้ว
เพราะถือว่าตนเองไม่ได้ยินดีภายหลังที่ได้ทำทานนั้น
นอกจากนี้ ตนเองก็ไม่พอใจต่อทานของพระภิกษุนั้น ซึ่งย่อมเป็นอกุศล


ลองมองในอีกประการหนึ่งว่า ในเมื่อญาติธรรมท่านนี้ได้ให้อาหารแก่ผู้รับไปแล้ว
การที่ผู้รับนั้นจะจัดสรรหรือทานอาหารนั้นอย่างไรก็ตาม ก็ควรเป็นสิทธิของผู้รับ
การที่ญาติธรรมท่านนี้จะยังคงไปติดตามเฝ้าดูว่าจะต้องทานอาหารนั้นเอง
น่าจะพิจารณาว่าจะเป็นการก้าวก่ายการตัดสินใจของผู้รับมากเกินไปหรือไม่
เพราะว่าการที่ผู้รับนำอาหารนั้นไปให้บุคคลอื่น (โดยไม่ได้ทานเองก็ตาม)
ก็ถือได้ว่าผู้รับนั้นก็ได้ใช้ประโยชน์ในอาหารนั้นแล้ว คือให้เป็นทานแก่คนอื่น
และก็ได้บุญกุศลจากการให้ทานนั้น ซึ่งย่อมจะได้ประโยชน์กว่าทานเองเสียอีก


ญาติธรรมท่านนี้ได้ฟังอธิบายแล้วก็ไม่เห็นด้วยกับผมนะครับ
โดยแย้งว่าผู้รับควรจะต้องคิดถึงจิตใจของผู้ให้ด้วย
ที่ต้องการจะให้ผู้รับทานอาหารที่ผู้ให้นำมาให้นั้น
การที่ไม่ทานอาหารนั้นด้วยตนเองย่อมเป็นการทำให้ผู้ให้รู้สึกเสียใจ


ผมได้ฟังมาถึงตรงนี้แล้ว ก็นึกถึงเรื่องราวในพระสูตรหนึ่ง
จึงได้ยกมาเล่าให้ญาติธรรมได้ฟัง เพื่อพิจารณาว่า

ในกรณีที่วาทะแย้งกัน คือวาทะของญาติธรรมท่านนี้ และผู้รับขัดแย้งกันนี้
ผมจะพิจารณาอย่างไรว่าผมเห็นด้วยกับวาทะของฝ่ายไหน


ใน “สุภาษิตชยสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค) เล่าว่า
ในสมัยหนึ่ง สงครามระหว่างพวกเทวดากับอสูรได้ประชิดกันแล้ว
ในครั้งนั้น ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสกับท้าวสักกะจอมเทวดาว่า
“แน่ะ จอมเทวดา เราจงเอาชนะกันด้วยการกล่าวคำสุภาษิตเถิด”
ท้าวสักกะจอมเทวดาตรัสตอบตกลง
พวกเทวดาและพวกอสูรจึงได้ร่วมกันตั้งผู้ตัดสิน
โดยผู้ตัดสินเหล่านี้รู้ทั่วถึงคำสุภาษิต และคำทุพภาษิต


ในลำดับนั้น ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสคาถาว่า
“พวกคนพาลยิ่งกริ้วโกรธ ถ้าหากบุคคลไม่ตัดรอนเสีย
ฉะนั้น นักปราชญ์ผู้มีปัญญา จึงควรกำจัดคนพาลเสียด้วยอาญาอันรุนแรง”
เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสคาถานี้แล้ว
เหล่าอสูรพากันอนุโมทนา พวกเทวดาต่างก็พากันนิ่ง


ต่อมา ท้าวสักกะจอมเทวดาได้ตรัสคาถาว่า
“ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้
เราเห็นว่าการระงับไว้ได้ของผู้นั้น เป็นเครื่องตัดรอนคนพาล”
เมื่อท้าวสักกะจอมเทวดาได้ภาษิตคาถานี้แล้ว
พวกเทวดาพากันอนุโมทนา เหล่าอสูรต่างก็นิ่ง


ต่อมา ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสคาถานี้ว่า
“เราเห็นโทษของการอดกลั้นนี่แหละ
เพราะว่าเมื่อใดคนพาลสำคัญเห็นผู้นั้นว่า
ผู้นี้อดกลั้นต่อเราเพราะความกลัว
เมื่อนั้น คนพาลผู้ทรามปัญญายิ่งข่มขี่ผู้นั้น
เหมือนโคยิ่งข่มขี่โคตัวแพ้ที่หนีไป ฉะนั้น”
เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูรภาษิตคาถาแล้ว
เหล่าอสูรพากันอนุโมทนา พวกเทวดาต่างก็นิ่ง


ต่อมา ท้าวสักกะจอมเทวดาได้ตรัสคาถานี้ว่า
“บุคคลจงสำคัญเห็นว่า ผู้นี้อดกลั้นต่อเราเพราะความกลัวหรือหาไม่ก็ตามที
ประโยชน์ทั้งหลายมีประโยชน์ของตนเป็นอย่างยิ่ง
ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติไม่มี ผู้ใดเป็นคนมีกำลังอดกลั้นต่อคนทุรพลไว้ได้
ความอดกลั้นไว้ได้ของผู้นั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่าเป็นขันติอย่างยิ่ง
คนทุรพลย่อมจะอดทนอยู่เป็นนิตย์
บัณฑิตทั้งหลายเรียกกำลังของผู้ที่มีกำลังอย่างคนพาลว่ามิใช่กำลัง
ไม่มีผู้ใดที่จะกล่าวโต้ต่อผู้ที่มีกำลังอันธรรมคุ้มครองแล้วได้เลย
เพราะความโกรธนั้น โทษอันลามกจึงมีแก่ผู้ที่โกรธตอบผู้ที่โกรธแล้ว
บุคคลผู้ไม่โกรธตอบผู้ที่โกรธแล้ว
ย่อมชื่อว่าชนะสงครามซึ่งเอาชนะได้ยาก
ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้
ผู้นั้นชื่อว่าประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายตนและคนอื่น
คนผู้ที่ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมสำคัญเห็นผู้ที่รักษาประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย
คือ ของตนและคนอื่น ว่าเป็นคนโง่ ดังนี้”
เมื่อท้าวสักกะจอมเทวดาได้ภาษิตคาถาเหล่านี้แล้ว
พวกเทวดาพากันอนุโมทนา เหล่าอสูรต่างก็นิ่ง


ในครั้งนั้น ผู้ตัดสินทั้งของพวกเทวดาและพวกอสูรได้กล่าวคำตัดสินว่า
“ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสคาถาทั้งหลายแล้ว
แต่คาถาเหล่านั้นมีความเกี่ยวเกาะด้วยอาชญา มีความเกี่ยวเกาะด้วยศาตรา
เพราะเหตุเช่นนี้ จึงมีความหมายมั่น ความแก่งแย่ง ความทะเลาะวิวาท
ท้าวสักกะจอมเทวดาได้ตรัสคาถาทั้งหลายแล้ว
ก็คาถาเหล่านั้นไม่เกี่ยวเกาะด้วยอาชญา ไม่เกี่ยวเกาะด้วยศาตรา
เพราะเหตุเช่นนี้ จึงมีความไม่หมายมั่น ความไม่แก่งแย่ง ความไม่ทะเลาะวิวาท
ท้าวสักกะจอมเทวดาชนะเพราะได้ตรัสคำสุภาษิต”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=15&A=7174&Z=7242&pagebreak=0


ในทำนองเดียวกัน ในเมื่อคำอธิบายของผู้รับอาหารจากญาติธรรมท่านนี้
กล่าวถึงเรื่องทาน หรือการให้ทานแก่ผู้อื่น ในลักษณะไม่หมายมั่น ไม่แก่งแย่ง
ในขณะที่คำอธิบายของญาติธรรมท่านนี้ กล่าวถึงเรื่องความพอใจของตน
การหมายมั่นว่าจะต้องให้ผู้รับทานอาหารนั้นด้วยตนเอง และกีดกันทานของผู้อื่น
ดังนั้นแล้ว ผมจึงเห็นว่า คำอธิบายของผู้รับอาหารจากญาติธรรมท่านนี้
น่าจะเป็นคำอธิบายที่มีเหตุผลสมควรรับฟังมากกว่า


(โปรดติดตามตอนต่อไป)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP