ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ถ้าฟุ้งซ่านมากขณะนั่งสมาธิ ควรปฏิบัติอย่างไร



ถาม - ในการนั่งสมาธิผมนั่งนับลมหายใจ ก็นับได้เป็นร้อยครั้ง
แต่ปัญหาคือเกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมามาก แบบนี้ควรจะทำอย่างไรดีครับ



เข้าใจไว้อย่างนี้นะ
ถ้าหากว่าเรากำลังอยู่ในช่วงของการเริ่มต้นนั่งสมาธิ
แล้วมีความฟุ้งขึ้นมา
นั่นไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นเรื่องปกติ
ถ้าใครเริ่มนั่งสมาธิแล้วไม่มีความฟุ้งเลย ผมว่าก็เป็นความผิดปกติชนิดหนึ่ง
ถึงแม้ว่าจะเป็นความผิดปกติด้านดีก็ตามแต่นะครับ
นั่นถึงจะเรียกว่าเป็นความผิดปกติ
แต่ถ้าหากว่าเริ่มนั่งฝึกสมาธิแล้วก็ฟุ้งเนี่ย อันนี้ถือเป็นเรื่องปกติของทุกคน
อย่างนี้ดีกว่านะ คิดอย่างนี้



วิธีที่จะต้อนรับขับสู้กับความฟุ้งซ่านที่มีเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ในช่วงเริ่มนั่งสมาธิ
ก็คือเห็นความฟุ้งซ่านโดยความเป็นของไม่เที่ยง

อย่าตั้งใจว่านั่งลงแล้วหลับตาแล้วนะ เราจะมีความสงบทันที
ความฟุ้งซ่านไม่หายไปนะ มันจะอยู่อย่างนั้นแหละ
แต่ว่าก็จะมีช่วง มีจังหวะเว้นวรรคให้เราเห็นความไม่เที่ยงของความฟุ้งซ่าน
นี่คือข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างลืมตากับหลับตานะ
พอลืมตาเนี่ย จริงๆ แล้วมันก็มีช่วงของความฟุ้งซ่าน มากบ้างน้อยบ้าง
แต่ว่าเราจะไม่ค่อยเห็น
เพราะว่าสายตาของเรากับหูของเราไปรับเอาภาพเอาเสียงต่างๆ มานะ
ทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่ได้โฟกัสอยู่กับการเห็นความฟุ้งซ่าน
แต่เมื่อหลับตาลง แล้วอยู่ในห้องที่สงบเงียบ
ตรงนั้นแหละ ความฟุ้งซ่านที่เท่าเดิมนะมันจะปรากฏชัดขึ้นมา
เพราะว่าไม่มีอะไรมาแย่งความสนใจไปนะ ไม่มีภาพไม่มีเสียงมาแย่งความสนใจไป
เราก็เลยเห็นความฟุ้งซ่านบ่อยกว่าปกติ


อันนี้ประโยชน์ของความฟุ้งซ่านในการนั่งสมาธิก็คือ
เราสามารถเห็นอะไรอย่างหนึ่งกำลังแสดงความไม่เที่ยงได้อยู่ตลอดเวลา
นี่คือประโยชน์จริงๆ
ถ้าหากว่าไม่มีอะไรแสดงความเป็นอนิจจังให้เราดูแล้ว
สมาธินั้นจะเป็นการนั่งสมาธิแบบทื่อๆ นะ ไม่ได้อะไรไปเท่าไหร่
แต่การมีอนิจจังแสดงให้เห็นอยู่ตลอดเวลา มีอนิจจังแสดงให้เห็นอยู่เรื่อยๆ
มันทำให้ได้ปัญญา มันทำให้ได้ความจริง
มันทำให้ได้ความรู้ว่าสิ่งที่นึกว่าเป็นตัวเรา สิ่งที่นึกว่าเป็นความคิดของเรา
ที่แท้มันเป็นแค่ภาวะความไม่เที่ยงอย่างหนึ่ง
เป็นหนึ่งในภาวะที่แสดงความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา



ฉะนั้นครั้งต่อไป เวลานั่งลงหลับตาเพื่อที่จะทำสมาธิ
อย่าคาดหมาย อย่าตั้งใจว่าเราจะเอาความสงบ เราจะเอาความไม่ฟุ้งซ่าน
แต่ขอให้คาดหมายว่าเราจะมานั่งดูความไม่เที่ยงของความฟุ้งซ่าน
ระลอกลมหายใจนี้ มันฟุ้งซ่านจัด ลองดูซิ เปรียบเทียบดูว่าลมหายใจต่อไป
ความฟุ้งซ่านมันจะยังได้ระดับเท่าเดิมอยู่หรือเปล่า
หรือว่าลดระดับลง หรือว่าทวีตัวเพิ่มขึ้นนะ
ถ้าหากว่าเราตั้งเข็มทิศไว้อย่างนี้ ใจมันจะมีความพอใจยินดี
เมื่อสามารถเห็นความไม่เที่ยงของความฟุ้งซ่านในแต่ละระลอกลมหายใจได้



แต่ถ้าเราไม่ได้ตั้งทิศทางไว้อย่างนี้
เราไปตั้งเป้าหมายไว้ว่านั่งลงเราจะเอาความสงบเลย แล้วมันไม่ได้ขึ้นมา
ไม่ได้อย่างใจหวัง มันก็ผิดหวัง พอผิดหวัง มันก็เกิดความกระสับกระส่าย
แล้วก็ดูถูกตัวเองว่าไม่เอาไหน ทำสมาธิไม่ได้เรื่อง
แต่ถ้าหากว่าเรากะไว้เลย ตั้งใจไว้เลยว่านั่งสมาธิคราวนี้
เราจะไม่มาเอาความสงบ แต่มาเอาความรู้แจ้งเห็นจริง
ว่าความฟุ้งซ่าน มันแสดงความไม่เที่ยงให้ดูอย่างไรนะ
นี่เราจะได้สิ่งที่ต้องการ
แล้วคนเราพอได้สิ่งที่ต้องการ มันจะเกิดความพอใจในตัวเองขึ้นมา
มันจะเกิดความรู้สึกพึงพอใจที่จะกลับมานั่งสมาธิอีก
นั่งแล้วรู้สึกว่าได้อะไรไป นั่งแล้วรู้สึกว่าเกิดปัญญา เกิดความฉลาดทางจิตขึ้น



แล้วความฉลาดทางจิตหรือว่าปัญญาที่มันเกิดขึ้นนั่นเองนะ
จะทำให้เราเกิดความรู้สึกว่า เออ ทั้งๆ ที่ความฟุ้งซ่านยังอยู่
แต่ทำไมจิตใจมันสงบเยือกเย็นลง
คือความฟุ้งซ่านไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่ในหัวนะ
มันมาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไป มากบ้างน้อยบ้าง หนาแน่นบ้างเบาบางบ้าง
แต่ใจเรามีความสงบ ไม่กระสับกระส่าย
นั่นตรงนั้นเพราะอะไร เพราะว่าเราได้เห็นความจริง
ความจริงที่แทบจะเป็นความจริงขั้นสูงสุดเลยทีเดียว
นั่นคืออยากเมื่อไหร่ กระวนกระวายเป็นทุกข์เมื่อนั้น
แม้กระทั่งอยากได้ความสงบ ก็เป็นต้นเหตุของความกระวนกระวายเป็นทุกข์ทางใจ
ต่อเมื่อเราสามารถที่จะระงับความอยาก ทั้งอยากที่จะคิดกระเจิงไปในแบบโลกๆ
แล้วก็อยากในแบบที่จะเอาความสงบ ทั้งๆ ที่มันสงบไม่ได้
เลิกอยากทั้งหมด ไม่ว่าจะอยากดีหรืออยากร้าย ไม่ว่าจะอยากที่จะเอาโน่นเอานี่
หรือว่าอยากจะได้สมาธิ อยากจะได้ฌาน อยากจะได้มรรคผล เราไม่อยากเลย
เมื่อไม่อยากเลยก็ไม่มีต้นเหตุแห่งทุกข์เลย



เราจะพบความจริงตรงนี้
พบความจริงที่ปรากฏการณ์ทางจิตเลยนะ ไม่ใช่คำเล่าลือ ไม่ใช่การมาคุยกันเล่นๆ
ความสงบทางจิต มันจะเป็นความรู้สึกว่าจิตใจไม่ไหวติง
แม้กระทั่งมีความฟุ้งซ่านผุดขึ้น
ก็เหมือนกับฝุ่นทรายที่ซัดมา แล้วก็ลอยลมไป หายไป
โดยที่เราไม่มีความรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจแม้แต่น้อย
มันจะเป็นรสชาติแปลกใหม่ในการนั่งสมาธิ
สมาธิที่เกิดขึ้นจะเป็นสมาธิที่ยืนอยู่บนฐานของปัญญาแบบพุทธ
หรือที่เรียกกันว่าพุทธิปัญญา



ขอให้มองอย่างนี้นะ สรุปก็คือตั้งเป้าหมายไว้
ว่าเราไม่ได้จะมาเอาความสงบ แต่เราจะมาเอาความรู้แจ้งเห็นจริง
เพื่อให้ความรู้แจ้งเห็นจริงนั่นแหละ
มันระงับซึ่งความอยาก ซึ่งความทะยานแล่นไปทั้งปวง
พอความอยากความทะยานแล่นไปทั้งปวง มันสงบระงับลงได้
นั่นแหละ ความสงบทางจิตน่ะไม่ต้องถามหาเลย มันมาเองนะครับ มันอยู่ตรงนั้นแหละ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP