จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

รู้ในสิ่งซึ่งเป็นสาระว่าเป็นสาระ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



186 destination



ในยุคของข้อมูลข่าวสารทาง Social Media มากมายมหาศาล
เราย่อมไม่สามารถจะไปติดตามข้อมูลได้ทั้งหมด
อย่างเช่นใน Facebook เองก็ตาม
หากเราจะใช้เวลาอ่านข้อความทั้งหมดที่ขึ้นมาใน News Feed แต่ละวันแล้ว
ก็คงจะไม่เหลือเวลาไปทำอย่างอื่น
ในขณะที่เวลาชีวิตเรานี้มีอย่างจำกัด และเป็นเวลาที่มีคุณค่าอย่างมาก
เพราะเป็นช่วงเวลาที่เราได้มีโอกาสพบพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ดังนั้นแล้ว เราควรต้องรู้ว่า สิ่งไหนเป็นสิ่งไม่มีสาระ ซึ่งเราไม่ควรเสียเวลาด้วย
และต้องรู้ว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งมีสาระ ซึ่งเราควรให้ความสำคัญ


ในสมัยก่อนที่พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะจะออกบวชนั้น
พระสารีบุตรท่านชื่อว่า “อุปติสสะ” ส่วนพระโมคคัลลานะท่านชื่อว่า “โกลิตะ”
โดยทั้งสองท่านเป็นสหายกัน และตระกูลของท่านทั้งสองนั้น
เป็นสหายเกี่ยวพันสืบเนื่องกันมาถึง ๗ ชั่วตระกูลทีเดียว
ท่านทั้งสองได้ศึกษาถึงความสำเร็จแห่งศิลปะทุกอย่าง


ในกรุงราชคฤห์มีมหรสพบนยอดเขาทุก ๆ ปี
อยู่มาวันหนึ่ง ทั้งสองท่านได้ชมมหรสพแล้ว รู้สึกว่า
“จะมีอะไรเล่าที่น่าดูในการนี้
ชนทั้งหมดแม้นี้ เมื่อยังไม่ถึง ๑๐๐ ปี
ก็จักถึงความเป็นสภาพหาบัญญัติมิได้แล้ว
เราควรแสวงหาธรรมเครื่องพ้นอย่างเอก”
เมื่อทั้งสองท่านทราบว่าต่างฝ่ายต่างมีอัธยาศัยเช่นเดียวกัน
จึงหารือกันว่าควรแสวงหาโมกขธรรม
ซึ่งในสมัยนั้น สำนักของสญชัยปริพาชกเป็นที่นับถือของบริษัทหมู่ใหญ่
ทั้งสองท่านจึงตกลงกันว่าจักบวชในสำนักท่านสญชัยนั้น


เมื่อทั้งสองท่านเข้าบวชในสำนักท่านสญชัยแล้ว
ทั้งสองท่านได้เรียนจบลัทธิของสญชัยปริพาชกในสองสามวันเท่านั้น
จากนั้นได้ถามว่า “ท่านอาจารย์ ลัทธิที่ท่านรู้มีเพียงเท่านี้ หรือมียิ่งกว่านี้”
สญชัยปริพาชกตอบว่า “มีเพียงเท่านี้แหละ เธอทั้งสองรู้จบหมดแล้ว”
อุปติสสะและโกลิตะจึงคิดกันว่า “เมื่อเป็นอย่างนี้
การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสญชัยปริพาชกก็ไม่มีประโยชน์
เราทั้งสองพึงออกมาเพื่อแสวงหาโมกขธรรม
โดยโมกขธรรมนั้นเราไม่สามารถให้เกิดขึ้นได้ในสำนักของสญชัยปริพาชกผู้นี้”
อุปติสสะและโกลิตะจึงได้ทำกติกาตกลงกันว่า “หากในเราสองคนนี้
ผู้ใดได้บรรลุอมตธรรมก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่กัน”


ต่อมาวันหนึ่ง อุปติสสะได้พบพระอัสสชิกำลังเดินบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์
อุปติสสะจึงคิดว่า “อันนักบวชเห็นปานนี้เรายังไม่เคยพบเลย
ภิกษุรูปนี้คงจะเป็นผู้หนึ่งบรรดาผู้ที่เป็นพระอรหันต์
หรือผู้บรรลุพระอรหัตมรรคในโลก
ไฉนหนอ เราพึงเข้าไปหาภิกษุนี้ แล้วถามว่า ท่านผู้มีอายุ ท่านบวชอุทิศเฉพาะใคร
ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือว่าท่านชอบใจธรรมของใคร”


จากนั้น อุปติสสะคิดว่า “กาลนี้มิใช่กาลควรถามปัญหากับภิกษุนี้
ภิกษุนี้กำลังเข้าไปสู่ละแวกบ้านเที่ยวบิณฑบาต
ถ้ากระไร เราควรติดตามภิกษุรูปนี้ไปข้างหลัง”
เมื่ออุปติสสะเห็นพระอัสสชิเถระบิณฑบาตเสร็จแล้ว
และได้ติดตามไปยังสถานที่สำหรับฉันแล้ว
เมื่ออุปติสสะทราบว่าพระอัสสชิเถระประสงค์จะนั่ง
อุปติสสะจึงได้จัดตั่งของปริพาชกสำหรับตนถวาย
แม้ในเวลาที่พระอัสสชิเถระท่านฉันเสร็จแล้ว
อุปติสสะก็ได้ถวายน้ำในกุณโฑของตนแด่พระเถระ
ครั้นทำอาจาริยวัตรอย่างนั้นแล้ว
อุปติสสะจึงทำปฏิสันถารแก่พระเถระซึ่งฉันเสร็จแล้ว
และได้ถามว่า “ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก
ผิวพรรณบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านผู้มีอายุ ท่านบวชอุทิศเฉพาะใคร
ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร”


พระอัสสชิเถระคิดว่า “ธรรมดาปริพาชกเหล่านี้ ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อพระศาสนา
เราจักแสดงความลึกซึ้งในพระศาสนาแก่ปริพาชกนี้”
เมื่อพระอัสสชิเถระจะแสดงความที่ตนบวชใหม่ จึงกล่าวว่า
“ผู้มีอายุ เราเป็นผู้ใหม่ บวชแล้วไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้
เราจักไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดารก่อน”
อุปติสสะตอบว่า “ข้าพเจ้าชื่ออุปติสสะ
ขอพระผู้เป็นเจ้ากล่าวตามสามารถเถิด จะน้อยหรือมากก็ตาม
ข้อนั้นเป็นภาระของข้าพเจ้า เพื่อแทงตลอดด้วย ๑๐๐ นัย ๑,๐๐๐ นัย”
แล้วกล่าวต่อไปว่า “จะมากหรือน้อยก็ตาม ขอพระผู้เป็นเจ้าจงกล่าวเถิด
จงบอกแก่ข้าพเจ้าแต่ใจความเท่านั้น ข้าพเจ้าต้องการใจความ
จะต้องทำพยัญชนะให้มากไปทำไม”


เมื่อได้ฟังเช่นนั้นแล้ว พระอัสสชิเถระจึงกล่าวคาถาว่า
“ธรรมเหล่าใด มีเหตุเป็นแดนเกิด
พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และเหตุแห่งความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้”


อุปติสสะฟังเพียง ๒ บทต้นเท่านั้น ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล
เมื่อพระอัสสชิเถระกล่าวบทที่เหลือจบลง
อุปติสสะเป็นพระโสดาบันแล้ว เห็นว่าคุณวิเศษชั้นสูงยังไม่เป็นไปอยู่
ก็คาดว่า “เหตุในสิ่งนี้จักมี” จึงเรียนกับพระอัสสชิเถระว่า
“ท่านขอรับ ท่านไม่ต้องขยายธรรมเทศนายิ่งขึ้นไป เพียงเท่านี้ก็พอ
พระศาสดาของพวกเราประทับอยู่ที่ไหน”
พระอัสสชิเถระตอบว่า “ประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ผู้มีอายุ”


อุปติสสะได้เรียนว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้ากระนั้น ขอท่านโปรดล่วงหน้าไปก่อน
ข้าพเจ้ามีเพื่อนอีกคนหนึ่ง และข้าพเจ้าทั้งสองได้ทำกติกาแก่กันไว้ว่า
ผู้ใดบรรลุอมตธรรมก่อน ผู้นั้นจงบอกกัน
เมื่อข้าพเจ้าเปลื้องปฏิญญานั้นแล้ว จักพาสหายไปสำนักพระศาสดา”
จากนั้น อุปติสสะได้หมอบลงแทบเท้าทั้งสอง
ของพระอัสสชิเถระด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ทำประทักษิณ ๓ รอบ
ส่งพระอัสสชิเถระไปแล้ว จึงได้เดินทางไปสู่อารามของโกลิตะ


โกลิตะได้เห็นอุปติสสะมาแต่ไกล จึงคิดว่า
“วันนี้ สีหน้าสหายของเราไม่เหมือนในวันอื่นๆ เขาคงได้บรรลุอมตธรรมโดยแน่”
โกลิตะจึงถามอุปติสสะถึงการบรรลุอมตธรรม
อุปติสสะก็รับว่า “ผู้มีอายุ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว”
หลังจากนั้น อุปติสสะจึงได้กล่าวคาถาของพระอัสสชิเถระนั้นแก่โกลิตะ
ในกาลจบคาถานั้น โกลิตะได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว


หลังจากนั้น ทั้งสองจึงได้ชักชวนกันไปเข้าเฝ้าพระศาสดา
อย่างไรก็ดี โกลิตะนี้เป็นผู้บูชาอาจารย์แม้ในกาลทุกเมื่อ
จึงได้ชักชวนอุปติสสะให้หาสญชัยปริพาชกเพื่อชักชวนไปด้วยกัน
ลำดับนั้น ทั้งสองท่านก็ได้ไปสู่สำนักของสญชัยปริพาชก
เมื่อสญชัยปริพาชกเห็นทั้งสองท่านนั้น จึงถามว่า
“พ่อทั้งสอง พวกพ่อได้พบใครที่แสดงอมตธรรมแล้วหรือ”
โกลิตะและอุปติสสะตอบว่า “ได้แล้วขอรับ ท่านอาจารย์
พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก พระธรรมก็อุบัติขึ้นแล้ว
พระสงฆ์ก็อุบัติขึ้นแล้ว ท่านอาจารย์ประพฤติธรรมเปล่า ไร้สาระ
เชิญท่านมาเถิด เราทั้งหลายจักไปยังสำนักพระศาสดา”


สญชัยปริพาชกได้ฟังแล้วตอบว่า “ท่านทั้งสองไปเถิด ข้าพเจ้าไม่ไป”
ทั้งสองท่านถามว่า “เพราะเหตุไร”
สญชัยปริพาชก “เราเป็นอาจารย์ของมหาชนแล้ว
เราไม่สามารถอยู่เป็นอันเตวาสิกได้”
(“อันเตวาสิก” แปลว่า ผู้อยู่ในสำนัก ภิกษุผู้ขออยู่ร่วมสำนัก หรือศิษย์)
หลังจากที่ทั้งสองท่านได้พยายามชักชวนสญชัยปริพาชกแล้ว
สญชัยปริพาชกจึงได้ถามทั้งสองท่านว่า
“พ่อทั้งสอง ในโลกนี้ มีคนเขลามากหรือมีคนฉลาดมากเล่า”
ทั้งสองท่านตอบว่า “คนเขลามากขอรับ ท่านอาจารย์ อันคนฉลาดมีเพียงเล็กน้อย”
สญชัยปริพาชกจึงกล่าวว่า “ถ้ากระนั้น พวกคนฉลาด ๆ จักไปสู่สำนักพระสมณโคดม
พวกคนเขลา ๆ จักมาสู่สำนักเรา พ่อทั้งสองไปกันเถิด เราจักไม่ไป”


ต่อมา ทั้งสองท่านได้ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
และได้ประพฤติธรรมจนบรรลุพระอรหันต์แล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงประทานตำแหน่งพระอัครสาวกแก่พระเถระทั้งสอง
พระเถระทั้งสองได้กราบทูลเล่าเรื่องของตนเองตั้งแต่สมัยยังเป็นผู้ครองเรือน
ซึ่งได้ไปดูมหรสพบนยอดเขาเป็นต้นมาตลอดจนถึง
การแทงตลอดโสดาปัตติผลจากสำนักพระอัสสชิเถระ
และได้กราบทูลเรื่องของสญชัยปริพาชก


พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสดับแล้ว จึงได้ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สญชัยถือสิ่งที่ไม่มีสาระว่า มีสาระ
และสิ่งที่มีสาระว่า ไม่มีสาระ เพราะความที่ตนเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ส่วนเธอทั้งสองรู้สิ่งเป็นสาระ โดยความเป็นสาระ
และสิ่งอันไม่เป็นสาระ โดยความไม่เป็นสาระ
ละสิ่งที่ไม่เป็นสาระเสีย ถือเอาแต่สิ่งที่เป็นสาระเท่านั้น
เพราะความที่ตนเป็นบัณฑิต”


ดังนี้แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาต่อไปนี้ว่า
“ชนเหล่าใด มีปกติรู้ในสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ
และเห็นในสิ่งอันเป็นสาระว่า ไม่เป็นสาระ
ชนเหล่านั้นมีความดำริผิดเป็นโคจร ย่อมไม่ประสบสิ่งอันเป็นสาระ
ชนเหล่าใด รู้สิ่งเป็นสาระโดยความเป็นสาระ
และสิ่งไม่เป็นสาระโดยความไม่เป็นสาระ
ชนเหล่านั้นมีความดำริชอบเป็นโคจร ย่อมประสพสิ่งเป็นสาระ”
(อรรถกถา ยมกวรรคที่ ๑ คาถาธรรมบท ขุททกนิกาย)
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=11&p=8


ดังนี้แล้ว หากเราเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ
และเห็นสิ่งอันเป็นสาระว่าไม่เป็นสาระแล้ว
ชีวิตเราก็ย่อมจะมีความดำริผิดเป็นโคจร และไม่ประสบสิ่งอันเป็นสาระ
เราพึงควรเห็นสิ่งเป็นสาระ โดยความเป็นสาระ
และเห็นสิ่งไม่เป็นสาระ โดยความไม่เป็นสาระ
เพื่อที่เราจะมีความดำริชอบเป็นโคจร และประสบสิ่งเป็นสาระ
แล้วจัดสรรเวลาชีวิตอันมีค่าเพื่อสิ่งเป็นสาระเหล่านั้น



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP