จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ราคะเสียดแทงจิต


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



184 destination



ในเวลาที่พวกเราหมั่นภาวนา ก็อาจจะเคยรู้สึกว่าถูกกิเลส
คือราคะ โทสะ และโมหะมาครอบงำจิตใจเราอยู่เสมอ
อาการและลักษณะเฉพาะของกิเลสแต่ละตัวก็จะแตกต่างกันไป
ในส่วนของตัวราคะนั้น ก็จะมีอาการเสียดแทงจิต
ในหลายคราวที่เรามีสติรู้ทันว่ามีราคะเกิดขึ้นแล้ว
แทนที่เราจะรู้ด้วยใจที่ตั้งมั่น และเป็นกลางกับสภาวธรรมที่เกิดขึ้น
แต่เรากลับไปรังเกียจตัวราคะ และหาทางที่จะจัดการเอาชนะมันให้ได้
ซึ่งจริง ๆ แล้วการพยายามสู้เอาชนะราคะนั้นไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง


ในอรรถกถา ยมกวรรคที่ ๑ คาถาธรรมบท ขุททกนิกาย
ได้เล่าเรื่องของพระนันทเถระ ว่า
ท่านพระนันทะได้ออกบวชแล้ว แต่เกิดความกระสันขึ้น
จึงไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และต้องการกล่าวคืนสิกขาแล้วสึก
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับความเป็นไปนั้นแล้ว
จึงทรงนำพระนันทะไปสู่ดาวดึงสเทวโลกด้วยกำลังพระฤทธิ์
และทรงแสดงนางอัปสร ๕๐๐ ในภพดาวดึงส์ แก่พระนันทะ
แล้วให้ประกันแก่พระนันทะว่า หากพระนันทะสำเร็จอรหันตผลแล้ว
จะให้นางอัปสร ๕๐๐ นั้นแก่พระนันทะ


ด้วยเหตุดังกล่าวพระนันทะจึงไม่ทำการลาสึกขา และตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
ต่อมาเมื่อ ท่านพระนันทะได้ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์แล้ว
รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจจำต้องทำ ๆ เสร็จแล้ว
กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี
ท่านพระนันทะได้เป็นพระอรหันต์ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ท่านพระนันทะจึงได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
และได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้ประกันของข้าพระองค์
เพื่ออันได้เฉพาะซึ่งนางอัปสร ๕๐๐ ด้วยการรับรองใด
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เปลื้องพระผู้มีพระภาคเจ้าจากการรับรองนั้น”


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “นันทะ เมื่อใดแล จิตของเธอพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย
เพราะมีความไม่ยึดมั่น เมื่อนั้น เราก็พ้นจากการรับรองนั้น”
หลังจากนั้น ได้ทรงตรัสพระคาถาว่า
“เปือกตมคือกามอันผู้ใดข้ามได้แล้ว
หนามคือกามอันผู้ใดย่ำยีได้แล้ว
ผู้นั้นบรรลุความสิ้นไปแห่งโมหะ
ย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์”


ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายถามท่านพระนันทะว่า
“นันทะผู้มีอายุ เมื่อก่อน ท่านกล่าวว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้กระสันแล้ว
บัดนี้ จิตของท่านเป็นอย่างไร?”
พระนันทะตอบว่า “ผู้มีอายุ ความห่วงใยในความเป็นคฤหัสถ์ของเราไม่มี”
พวกภิกษุได้ฟังคำนั้นแล้ว กล่าวกันว่า “ท่านนันทะพูดไม่จริง
พยากรณ์พระอรหัตผล ทั้งที่ในวันที่แล้ว ๆ มา
ท่านนันทะกล่าวว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้กระสันแล้ว
แต่บัดนี้กล่าวว่า ความห่วงใยในความเป็นคฤหัสถ์ของเรา ไม่มี”
จากนั้น พวกภิกษุนั้นจึงได้ไปกราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในวันที่แล้ว ๆ มา
อัตภาพของนันทะได้เป็นเช่นกับเรือนที่เขามุงไม่ดี
แต่บัดนี้เป็นเช่นกับเรือนที่เขามุงดีแล้ว เพราะว่า นันทะนี้
จำเดิมแต่กาลที่ตนเห็นนางเทพอัปสรแล้ว
พยายามเพื่อบรรลุที่สุดแห่งกิจของบรรพชิตอยู่ ได้บรรลุกิจนั้นแล้ว”
หลังจากนั้นได้ทรงตรัสพระคาถาว่า
“ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดีได้ฉันใด
ราคะย่อมเสียดแทงจิตที่ไม่ได้อบรมแล้วได้ฉันนั้น
ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ฉันใด
ราคะก็ย่อมเสียดแทงจิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ฉันนั้น”
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=11&p=9


ดังนี้แล้ววิธีการในการภาวนาของเรา
จึงไม่ใช่การไปพยายามสู้เอาชนะราคะ
แต่วิธีการคือให้ภาวนา เพื่ออบรมจิตให้เกิดปัญญา
เปรียบเสมือนว่าเรามุงหลังคาเรือนให้ดี ก็จะป้องกันฝนได้
เมื่อเราอบรมจิตดีแล้ว ราคะก็จะเสียดแทงไม่ได้
วิธีการย่อมไม่ใช่ว่าเราไปพยายามเอาชนะฝนหรือราคะ


ในอรรถกถา ยมกวรรคที่ ๑ คาถาธรรมบท ขุททกนิกาย
ได้เล่าเรื่องของพระจุลกาลและพระมหากาลว่า
พระจุลกาลและพระมหากาลเป็นพี่น้องกัน
โดยพระมหากาลได้ออกบวชก่อน
หลังจากนั้นพระจุลกาลได้ไปบวชด้วย ด้วยตั้งใจว่าจะชวนพี่ชายสึก
พระมหากาลได้ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์จนกระทั่งบรรลุอรหันตผล
พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย


ในเวลาก่อนบวชนั้น ท่านจุลกาลได้มีภรรยา ๒ คน
ส่วนท่านมหากาลได้มีภรรยา ๘ คน
เหล่าอดีตภรรยาของพระจุลกาล ได้ยินว่าพระศาสดาเสด็จมาที่เมือง
จึงได้วางแผนจับพระจุลกาลสึก
โดยได้ส่งคนไปให้ทูลอาราธนาพระศาสดา พร้อมด้วยหมู่สงฆ์


ในสมัยพุทธกาลนั้น จะมีระเบียบเกี่ยวกับการปูอาสนะ
เช่น อาสนะสำหรับพระพุทธเจ้า พึงปูในที่ท่ามกลาง
อาสนะสำหรับพระสารีบุตรเถระพึงให้ปูข้างขวา
และอาสนะสำหรับพระมหาโมคคัลลานเถระ พึงให้ปูข้างซ้าย
ของอาสนะของพระพุทธเจ้านั้น เป็นต้น
ในการนี้ สำหรับสถานที่ที่พระพุทธเจ้าไม่คุ้นเคยนั้น
จะมีภิกษุรูปหนึ่งผู้บอกการปูอาสนะต้องเดินทางล่วงหน้าไปก่อน
เพื่อจัดเตรียมการปูอาสนะไว้


ในคราวนี้ พระจุลกาลได้เป็นผู้เดินทางล่วงหน้าไปบอกการปูอาสนะ
เหล่าอดีตภรรยาของท่านได้พบพระจุลกาลแล้ว ก็พากันรุมล้อมพระจุลกาล
กล่าวว่า “ท่านเที่ยวทำอะไรอยู่? ท่านลาใครบวช? ท่านใครเป็นผู้ยอมให้บวช?”
ดังนี้แล้ว ก็ช่วยกันจับพระจุลกาลสึก โดยฉุดสบงและจีวรออก
แล้วให้นุ่งผ้าขาว สวมมาลาบนศีรษะ
แล้วสั่งให้อดีตพระจุลกาลไปนำเสด็จพระศาสดา
ท่านจุลกาลได้บวชเป็นภิกษุไม่นาน ยังไม่ทันได้พรรษา ก็สึก จึงไม่รู้สึกอาย
ท่านหมดความรังเกียจด้วยกิริยาอาการนั้นเสียทีเดียว
และได้ไปถวายบังคมพระศาสดาแล้ว พาภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมา


ในกาลเสร็จภัตกิจของภิกษุสงฆ์ เหล่าภรรยาของพระมหากาลคิดกันว่า
“หญิงพวกนี้รุมจับสามีของตนได้ พวกเราก็จักจับสามีของพวกเราบ้าง”
จึงให้นิมนต์พระศาสดา ขอได้เสร็จมารับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น
ในวันรุ่งขึ้นนั้น ภิกษุรูปอื่น (ไม่ใช่พระมหากาล) ได้ไปบอกการปูอาสนะ
เหล่าอดีตภรรยาพระมหากาลจึงไม่ได้โอกาส
ต่อมาเมื่อเหล่าอดีตภรรยาพระมหากาลได้ถวายภัตตาหารเสร็จแล้ว
เหล่าอดีตภรรยาพระมหากาลจึงกราบทูลขอพระศาสดาว่า
ขอให้พระมหากาลเป็นผู้ทำอนุโมทนาแก่พวกนาง แล้วจึงไป
โดยขอพระองค์เสด็จไปก่อน


พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต และได้เสด็จไปก่อน
เมื่อได้เสด็จออกมาจากบ้านแล้ว บรรดาภิกษุต่างก็สนทนากันว่า
ทำไม พระศาสดาจึงทรงทำเช่นนี้
เมื่อวานนี้ อันตรายแห่งบรรพชาเกิดขึ้นแก่จุลกาล เพราะการล่วงหน้าไปก่อน
วันนี้ อันตรายมิได้มี เพราะภิกษุอื่นล่วงหน้าไปก่อน
แต่บัดนี้ พระองค์รับสั่งให้พระมหากาลยับยั้งอยู่ แล้วเสด็จมา
หญิงเหล่านั้นจักทำอันตรายแห่งบรรพชาแก่พระมหากาลนั้นได้


พระศาสดาได้ทรงสดับคำของภิกษุเหล่านั้นแล้ว
จึงได้ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกล่าวอะไรกัน”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลความดังนั้นแล้ว
พระศาสนาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็พวกเธอสำคัญมหากาลเหมือนจุลกาลหรือ”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระเจ้าข้า
เพราะจุลกาลนั้นมีภรรยา ๒ คน ส่วนพระมหากาลนี้มีถึง ๘ คน
หากเธอถูกภรรยาทั้ง ๘ รุมจับไว้แล้ว จักทำอะไรได้ พระเจ้าข้า”


พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น
จุลกาลลุกขึ้น พร้อมแล้ว มากไปด้วยอารมณ์ว่างามอยู่
เป็นเช่นกับต้นไม้ที่มีกำลังไม่แข็งแรง ตั้งอยู่ริมเหวและเขาขาด
ส่วนมหากาลบุตรของเรา ตามเห็นอารมณ์ว่าไม่งามอยู่
เป็นผู้ไม่หวั่นไหวเลย เหมือนภูเขาหินแท่งทึบ”
หลังจากนั้นได้ตรัสพระคาถาว่า
“ผู้ตามเห็นอารมณ์ว่างาม ไม่สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย
ไม่รู้ประมาณในโภชนะ เกียจคร้าน มีความเพียรเลวทรามอยู่
ผู้นั้นแล มารย่อมรังควานได้
เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกำลังไม่แข็งแรง ลมรังควานได้ฉะนั้น
ส่วนผู้ตามเห็นอารมณ์ว่าไม่งาม สำรวมดีในอินทรีย์ทั้งหลาย
รู้ประมาณในโภชนะ มีศรัทธาและปรารภความเพียรอยู่
ผู้นั้นแล มารย่อมรังควานไม่ได้
เปรียบเหมือนภูเขาหินลมรังควานไม่ได้ ฉะนั้น”


ในกาลนั้น เหล่าอดีตภรรยาพระมหากาลได้รุมล้อมพระเถระแล้ว
กล่าวคำว่า “ท่านลาใครบวช บัดนี้ ท่านจักเป็นคฤหัสถ์หรือจักไม่เป็นเล่า?” เป็นต้น
แล้วพยายามเข้าไปเปลื้องผ้ากาสายะทั้งหลายของพระมหากาลเถระออก
พระมหากาลเถระเห็นอาการของหญิงเหล่านั้นแล้ว
จึงลุกจากอาสนะที่นั่ง แล้วเหาะไปด้วยฤทธิ์ ทำลายช่อฟ้าเรือนยอดออกไปทางอากาศ
แล้วลงมาถวายบังคมพระบาทยุคลของพระตถาคตแล้ว
ซึ่งเมื่อพระศาสดาพอตรัสพระคาถาดังข้างต้นจบลง
เหล่าภิกษุผู้ประชุมกันดำรงอยู่ในอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผล เป็นต้น
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=11&p=6


ในเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าแม้จะมีมารหรือสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ
ที่ชักจูงใจให้เกิดกิเลส หรือเสื่อมถอยในการภาวนาก็ตาม
วิธีการที่เราพึงปฏิบัติในการภาวนาก็คือฝึกอบรมจิต
โดยตามเห็นอารมณ์ว่าไม่งาม สำรวมดีในอินทรีย์ทั้งหลาย
รู้ประมาณในโภชนะ มีศรัทธาและปรารภความเพียรอยู่
มารหรือสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ นั้น ย่อมรังควานไม่ได้
เปรียบเหมือนภูเขาหินลมรังควานไม่ได้


ดังนี้แล้ว แม้ว่าเราจะโดนราคะเสียดแทงอยู่ ก็เป็นเรื่องธรรมดานะครับ
เพราะว่าเรายังมุงหลังคาไว้ได้ไม่ดี (คือยังอบรมจิตได้ไม่ดี)
แต่เราก็จะต้องรักษาศีล โดยไม่ให้ศีลด่างพร้อย
และก็ตั้งใจภาวนาฝึกอบรมจิตให้เกิดปัญญาไปเรื่อย ๆ
โดยเมื่อถึงจุดที่ได้ฝึกอบรมจิตไว้ดีแล้ว
ราคะและมารต่าง ๆ ก็จะรังควานจิตไม่ได้เอง
แต่หากเรามัวแต่เสียเวลาไปพยายามสู้หรือเอาชนะราคะหรือมารต่าง ๆ แล้ว
ย่อมไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง และจะยิ่งทำให้เนิ่นช้าในการภาวนาเสียเอง



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP