จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เรื่องของเณรป้อง ตอนที่ ๒ อานิสงส์ของการบวช


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



180 destination



      หลังจากญาติโยมที่มาร่วมงานได้กลับไปหมดแล้ว หลวงตาก็ได้เรียกเณรมาสอนย้ำในเรื่องการถือศีล ๑๐ ข้อสำหรับเณร จริยวัตรหรือมารยาทในการปฏิบัติตนตามหลักเสขิยวัตร และข้อวัตรสำหรับการปฏิบัติตนในเรื่องอื่น ๆ รวมถึงการทำวัตรเช้า และการทำวัตรเย็นด้วย

      หลังจากนั้น หลวงตาได้กล่าวกับเณรป้องว่า “ตารางเวลาโดยย่อของทุกวันก็คือ ตื่นเช้ามาให้ไปทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ แล้วก็ออกไปบิณฑบาตด้วยกัน กลับมาถึงวัดก็ฉันอาหาร แล้วมาร่วมทำวัตรเช้า ต่อจากนั้นให้มาเรียนเรื่องพุทธประวัติและพระธรรมคำสอน ซึ่งถ้าหลวงตามีกิจอื่น ไม่ว่างสอน ก็จะให้หลวงพี่เอกสอนแทน ส่วนตอนบ่ายไม่มีเรียน ให้เณรเอาหนังสือธรรมะในตู้มาอ่าน หรือไม่ก็ท่องบทสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม หรือหลวงพี่เอกอาจจะให้เณรช่วยทำความสะอาดภายในวัด พอตอนเย็นก็มาร่วมทำวัตรเย็น แล้วนั่งสมาธิหรือเดินจงกรม แล้วค่อยจำวัด จำได้ไหม”

     “แล้วให้ผมหยุดวันไหนครับหลวงตา” เณรป้องถาม

     หลวงตาได้ฟังแล้วยิ้ม และอธิบายว่า “พระภิกษุหรือสามเณรนั้นไม่มีวันหยุดพักหรอก ไม่เหมือนฆราวาสหรอกนะ เราต้องปฏิบัติสมณธรรมทุกวัน”

     เณรป้องได้ฟังแล้วตกใจ และถามหลวงตาว่า “นี่แปลว่า ผมจะต้องทำหน้าที่เณรทุกวันตลอด เวลาที่บวชโดยไม่มีวันหยุดเลยหรือครับ ขนาดเวลาผมเป็นนักเรียนที่โรงเรียน ยังมีวันหยุดเสาร์อาทิตย์เลยครับ”

     หลวงตาได้ฟังดังนั้นแล้ว ก็ถามเณรป้องว่า “เณรรู้ไหมว่า กุลบุตรที่มีศรัทธา ออกจากเรือน และบวชเป็นพระภิกษุนั้น มีสิ่งใดเป็นประโยชน์ เป็นที่สุด”

     เณรป้องฟังคำถามของหลวงตาแล้ว ก็ตอบได้ทันทีเลยว่า “ไม่ทราบครับ”

     หลวงตายิ้มและอธิบายว่า “สมมติว่าชายคนหนึ่งมีความต้องการแก่นไม้ เที่ยวแสวงหาแก่นไม้อยู่ ต่อมาเขาพบต้นไม้ใหญ่ตั้งอยู่ เขาละเลยแก่น แต่กลับตัดหรือถากเอากระพี้ เปลือก สะเก็ด หรือกิ่งและใบถือไป กิจที่เขาจะพึงทำด้วยไม้แก่นนั้น ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใดก็ฉันนั้น เปรียบเหมือนกุลบุตรมีศรัทธา ออกจากเรือน บวชเป็นภิกษุนั้น ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันความเกิด (ชาติ) ความแก่ (ชรา) ความตาย (มรณะ) ความเศร้าโศก (โสกะ) ความคร่ำครวญด้วยความเสียใจ (ปริเทวะ) ทุกข์ ความเสียใจ (โทมนัส) ความคับแค้นใจ (อุปายาส) ท่วมทับแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ทำไฉนหนอ ความกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏ

     เมื่อเขาบวชเป็นภิกษุแล้วยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้บังเกิดขึ้น หากเขามีความยินดีพอใจเพียงแค่นั้น ไม่เพียรพยายามต่อไปเพื่อธรรมอื่นอันประณีตกว่า ย่อมเปรียบได้กับชายที่เที่ยวเสาะหาแก่นไม้นั้น แต่เขาละเลยแก่น แล้วกลับตัดเอากิ่งและใบถือไป เช่นนี้ กิจที่จะพึงทำด้วยแก่นไม้ของเขา ย่อมไม่สำเร็จ

     หากเขาเพียรพยายามต่อไป เขาย่อมยังความถึงพร้อมแห่งศีลให้สำเร็จได้ แต่หากเขามีความยินดีพอใจเพียงแค่นั้น ไม่เพียรพยายามต่อไปเพื่อธรรมอื่นอันประณีตกว่า ย่อมเปรียบได้กับชายที่เที่ยวเสาะหาแก่นไม้นั้น แต่เขาละเลยแก่น แล้วกลับถากเอาสะเก็ดถือไป เช่นนี้ กิจที่จะพึงทำด้วยแก่นไม้ของเขา ย่อมไม่สำเร็จ

     หากเขาเพียรพยายามต่อไป เขาย่อมยังความถึงพร้อมแห่งสมาธิให้สำเร็จ แต่หากเขามีความยินดีพอใจเพียงแค่นั้น ไม่เพียรพยายามต่อไปเพื่อธรรมอื่นอันประณีตกว่า ย่อมเปรียบได้กับชายที่เที่ยวเสาะหาแก่นไม้นั้น แต่เขาละเลยแก่น แล้วกลับถากเอาเปลือกถือไป เช่นนี้ กิจที่จะพึงทำด้วยแก่นไม้ของเขา ย่อมไม่สำเร็จ

     หากเขาเพียรพยายามต่อไป เขาย่อมยังญาณทัสสนะให้สำเร็จ แต่หากเขามีความยินดีพอใจเพียงแค่นั้น ไม่เพียรพยายามต่อไปเพื่อธรรมอื่นอันประณีตกว่า ย่อมเปรียบได้กับชายที่เที่ยวเสาะหาแก่นไม้นั้น แต่เขาละเลยแก่น แล้วกลับถากเอากระพี้ถือไป เช่นนี้ กิจที่จะพึงทำด้วยแก่นไม้ของเขา ย่อมไม่สำเร็จ

     หากเขาเพียรพยายามต่อไป เขาย่อมยังเจโตวิมุติอันไม่กำเริบ (คือความหลุดพ้นสิ้นเชิง) ให้สำเร็จ ย่อมเปรียบเหมือนชายที่เที่ยวเสาะหาแก่นไม้นั้น เมื่อพบต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ เขาตัดเอาแก่นไม้ถือไป เช่นนี้ กิจที่จะพึงทำด้วยแก่นไม้ของเขา ย่อมสำเร็จ

     โดยสรุปแล้ว การบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนานี้ มิใช่มีลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความถึงพร้อมสมาธิเป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ แต่มีเจโตวิมุติอันไม่กำเริบ (คือความหลุดพ้นสิ้นเชิง) เป็นประโยชน์ เป็นแก่น เป็นที่สุด”

     เณรป้องฟังถึงตรงนี้แล้ว ก็นึกเปรียบเทียบกับตนเองว่า ที่ตนเองมาบวชเป็นเณรในคราวนี้ก็เพราะหวังต้องการให้แม่ซื้อโทรศัพท์มือถือให้ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับที่หลวงตาได้สอนมานี้แล้ว ตนเองก็ได้เพียงแค่ลาภสักการะ ซึ่งเปรียบได้กับกิ่งและใบเท่านั้น ไม่ได้แม้กระพี้ เปลือก สะเก็ด หรือแก่นของต้นไม้เลย

     หลวงตาเห็นเณรป้องฟังอยู่อย่างตั้งใจ จึงกล่าวต่อไปว่า “ในเมื่อเรามุ่งปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นสิ้นเชิงเป็นที่สุด ซึ่งศัตรูหัวหน้าใหญ่คือ “อวิชชา” หรือความไม่รู้ ตัวอวิชชานี้มีลูกน้องมากมาย และลูกน้องที่สำคัญคือกิเลส ซึ่งอาจจะแบ่งได้เป็น ความโลภ (โลภะ) ความโกรธ (โทสะ) และความโมหะ (หลง) ทีนี้ ถามว่ากิเลส คือตัวโลภ โกรธ หลง มันมีวันหยุดบ้างไหม”

     เณรป้องได้ฟังคำถามแล้วก็ตอบเสียงอ่อย ๆ ว่า “ไม่มีครับ”

     “นั่นแหละ ในเมื่อกิเลสมันทำหน้าที่อย่างไม่มีวันหยุด แต่หากเราเดี๋ยวก็หยุด เดี๋ยวก็พัก แล้วจะไปสู้กับกิเลสได้อย่างไร ในอันที่จริงแล้ว กิเลสมันทำงานตลอดเวลาด้วยซ้ำ โดยหากเราเผลอขาดสติเมื่อไร กิเลสก็เข้ามาครอบงำใจแล้ว

     พระภิกษุนั้นจึงควรเป็นผู้ประกอบความเพียรในการประพฤติปฏิบัติ กล่าวคือ พระภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงประพฤติปฏิบัติเพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์ ด้วยการเดิน การนั่งตลอดวัน (คือ ๖ โมงเช้าถึง ๖ โมงเย็น) และตลอดปฐมยามแห่งราตรี (ตั้งแต่ ๖ โมงเย็นถึง ๔ ทุ่ม) แล้วจึงเข้านอนในมัชฌิมยามแห่งราตรี (ตั้งแต่ ๔ ทุ่มถึงตี ๒) หลังจากนั้น รีบลุกขึ้นในปัจฉิมยามแห่งราตรี (ตั้งแต่ตี ๒ ถึง ๖ โมงเช้า) เพื่อมาประพฤติปฏิบัติต่อ เช่นนี้ เวลาที่พระภิกษุผู้ประกอบความเพียรจะได้นอนพักนั้น มีไม่เยอะหรอก” หลวงตาอธิบาย

     เณรป้องพยักหน้ารับอย่างเหงาหงอย เพราะรู้แล้วว่าตนเองต้องทำหน้าที่เณรทุกวันอย่างไม่มีวันหยุด

     หลวงตาเห็นเณรป้องนิ่งไปด้วยท่าทางเหงาหงอย จึงอธิบายเพิ่มเติมว่า “การที่ต้องทำหน้าที่เณรทุกวันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไรที่ไหนหรอกนะ ยกตัวอย่างเช่นคำว่า ‘มนุษย์’ แปลว่า ‘ผู้มีใจสูง’ ซึ่งความเป็นผู้มีใจสูงก็หมายถึงว่าต้องมีศีล ๕ เป็นอย่างต่ำ หากบุคคลใดประพฤติผิดศีล ๕ แล้วก็ถือว่าบกพร่องในความเป็นมนุษย์ เพราะไม่ใช่ผู้มีใจสูงเสียแล้ว ทีนี้ การทำหน้าที่ในความเป็นมนุษย์นั้น เณรจะกำหนดวันหยุดได้ไหมว่า วันนี้เป็นวันหยุด ฉันไม่ต้องทำหน้าที่ความเป็นมนุษย์ก็ได้ หรือวันนี้เป็นวันหยุด ฉันไม่เป็นมนุษย์ก็ได้”

     เณรป้องได้ฟังแล้วก็ยิ้มขึ้นมา พร้อมกับบอกว่า “ไม่ได้ครับ ก็เราเป็นมนุษย์ทุกวันนี่ครับ”

     “นั่นแหละ ถ้าเณรทำหน้าที่เป็นมนุษย์อยู่ทุกวันได้ เณรก็ทำหน้าที่เณรทุกวันได้เช่นกัน มันไม่ได้ยากหรือเกินกำลังของเณรหรอกนะ” หลวงตากล่าว

     เณรป้องพยักหน้าแล้วบอกกับหลวงตาว่า “เมื่อก่อนนี้ ผมเข้าใจว่าพระภิกษุไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแค่ตอนเช้าออกมาเดินบิณฑบาต กลับไปฉันที่วัด แล้วก็สวดมนต์ ที่เหลือก็น่าจะจำวัดพักผ่อนสบาย ๆ แต่มาวันนี้ ผมทราบแล้วว่าพระภิกษุมีหน้าที่ที่ต้องทำทุกวัน โดยไม่มีวันหยุดพัก เวลาจำวัดก็น้อย ไม่เหมือนกับหน้าที่งานของฆราวาสที่ยังมีวันหยุดพักเป็นประจำ”



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *



     ในวันเดียวกันนั้น หลังจากที่ได้ทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว เณรป้องได้ถามหลวงตาเพิ่มเติมว่า “หลวงตาครับ ที่บอกว่าผมต้องทำหน้าที่เณรทุกวันนั้น ถ้าสมมติว่าผมไม่ทำหน้าที่เณรล่ะครับ เช่น ผมถือศีลไม่ครบ ๑๐ ข้อ และผมไม่ประพฤติปฏิบัติหน้าที่ของเณรอย่างเหมาะสมแล้ว จะเป็นอย่างไรครับ”

     หลวงตานิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็อธิบายว่า “ขอเปรียบเทียบกับกรณีของพระภิกษุก็แล้วกันนะ พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนไว้ว่า สำหรับบุคคลผู้ทุศีล มิใช่สมณะแต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะแล้วนั้น (ก) ยอมให้บุรุษผู้มีกำลังเอาหอกอันคมชโลมน้ำมันพุงใส่กลางอก ยังดีกว่าการรับอัญชลีกรรม (การประนมมือแสดงความเคารพ) ที่เขาทำด้วยศรัทธา (ข) ยอมให้บุรุษผู้มีกำลังเอาแผ่นเหล็กแดงไฟกำลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงนาบกายตัว ยังดีกว่าการบริโภคจีวรที่เขาถวายด้วยศรัทธา (ค) ยอมให้บุรุษผู้มีกำลังจับเขากรอกก้อนเหล็กแดงซึ่งมีไฟกำลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงเข้าในปากเขา ก้อนเหล็กแดงนั้นจะไหม้ริมฝีปาก ปาก ลิ้น คอ อก ไหม้เรื่อยไปถึงไส้ใหญ่ไส้น้อย แล้วออกทางทวารเบื้องล่าง ยังดีกว่าการบริโภคบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธา (ง) ยอมให้บุรุษผู้มีกำลังจับเขาที่ศีรษะหรือที่คอ แล้วให้นั่งทับนอนทับบนเตียงเหล็กแดงซึ่งมีไฟกำลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วง ยังดีกว่าการบริโภคเตียงตั่งที่เขาถวายด้วยศรัทธา และ (จ) ยอมให้บุรุษผู้มีกำลังจับเขามัดโยนลงในหม้อเหล็กแดงซึ่งมีไฟกำลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วง ยังดีกว่าการบริโภควิหารที่เขาถวายด้วยศรัทธา

     ด้วยเหตุเพราะว่าหากบุคคลผู้ทุศีลนั้น ถูกเอาหอกอันคมชโลมน้ำมันพุงใส่กลางอก หรือถูกแผ่นเหล็กแดงไฟกำลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงนาบกายตัว หรือถูกจับกรอกก้อนเหล็กแดงซึ่งมีไฟกำลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงเข้าในปาก หรือถูกจับนั่งทับนอนทับบนเตียงเหล็กแดงซึ่งมีไฟกำลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วง หรือถูกจับโยนลงในหม้อเหล็กแดงซึ่งมีไฟกำลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงก็ตาม ต่อให้เขาจะถึงแก่ความตายหรือทุกข์ปางตายเพียงไรก็ตาม แต่เมื่อเขาตายไปแล้ว เขาไม่พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเหตุนั้น

     แต่หากบุคคลผู้ทุศีลดังกล่าว รับอัญชลีกรรมที่เขาทำด้วยศรัทธา หรือบริโภคจีวรที่เขาถวายด้วยศรัทธา หรือบริโภคบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธา หรือบริโภคเตียงตั่งที่เขาถวายด้วยศรัทธา หรือบริโภควิหารที่เขาถวายด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายหรือเพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่บุคคลผู้ทุศีลนั้น เพราะเมื่อบุคคลผู้ทุศีลนั้นตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเหตุนั้น

     จากคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น พระภิกษุจึงต้องดำรงอยู่ในความไม่ประมาท เพราะว่าพระภิกษุนั้นรับอัญชลีกรรมที่เขาทำด้วยศรัทธา และอาศัยจีวร บิณฑบาต เตียงตั่ง และวิหารที่เขาถวายด้วยศรัทธา หากประพฤติตนทุศีลแล้ว ย่อมต้องได้รับวิบากกรรม เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานในอนาคต

     ที่หลวงตายกมาเล่านี้ เป็นกรณีของพระภิกษุ แต่หากเปลี่ยนจากพระภิกษุมาเป็นสามเณรแล้ว กรณีของสามเณรก็คงจะคล้าย ๆ กัน เพราะเณรก็รับอัญชลีกรรมที่เขาทำด้วยศรัทธา และอาศัยจีวร บิณฑบาต เตียงตั่ง และวิหารที่เขาถวายด้วยศรัทธาเช่นกัน หากเณรประพฤติตนทุศีลแล้ว ก็ย่อมต้องได้รับวิบากกรรมเพื่อทุกข์อย่างใหญ่หลวงในอนาคต ดังนั้นแล้ว แม้เป็นเณรก็ต้องดำรงอยู่ในความไม่ประมาท”

     เณรป้องได้ฟังแล้วก็เริ่มรู้สึกหวาดกลัว จึงถามหลวงตาว่า “หลวงตาครับ พรุ่งนี้เช้า ผมขอลาสิกขากลับไปอยู่บ้านได้ไหมครับ”

     หลวงตาได้ฟังแล้วก็ยิ้มแล้วถามว่า “อ้าว อะไรนี่ เพิ่งบวชได้ยังไม่ครบหนึ่งวันเลย ถอดใจเสียแล้วหรือ”

     “ก็ผมต้องถือศีลตั้ง ๑๐ ข้อ จะทำได้หมดหรือครับ แล้วถ้าผมทำไม่ได้ ในอนาคตก็จะต้องรับวิบากกรรมหนักนี่ครับ” เณรป้องกล่าวด้วยน้ำเสียงโอดครวญ

     “ถือศีล ๑๐ ข้อนั้นก็ไม่ได้ยากอะไรหรอกนะ เพราะขนาดพระภิกษุถือศีลตั้ง ๒๒๗ ข้อ ก็ยังถือได้เลย”

     “แล้วพระภิกษุถือศีล ๒๒๗ ข้อได้ยังไงครับ” เณรป้องถาม

     หลวงตาอธิบายว่า “ก็ต้องมีความตั้งใจที่จะถือให้ได้ก่อน โดยเราไม่จำเป็นต้องมองว่าศีลแยกกันเป็นหลายข้อก็ได้ แต่ให้มองศีลทั้งหมดเป็นกองเดียว อย่างสมมติว่าศีล ๑ ข้อเทียบกับท่อนไม้ ๑ ท่อน หากมีท่อนไม้ ๒๒๗ ท่อนวางอย่างกระจัดกระจาย และให้เณรเฝ้าดูแลท่อนไม้เหล่านั้น จะดูแลยากไหม”

     “ดูแลยากครับ เพราะมันกระจัดกระจายกัน” เณรป้องตอบ

     “แต่ถ้าหากเอาท่อนไม้ทั้ง ๒๒๗ ท่อนมามัดรวมกันเป็นกองเดียว และให้เณรเฝ้าดูแลกองไม้กองเดียวนั้น จะดูแลง่ายกว่าไหม”

     เณรป้องตอบว่า “ดูแลง่ายกว่าครับ”

     “นั่นแหละ เรื่องศีลก็เหมือนกัน ถ้าหากเณรมองศีล ๑๐ ข้อแยกจากกันแบบกระจัดกระจาย มันก็ดูเหมือนมาก แต่ถ้าเณรมองศีล ๑๐ ข้อเป็นกองเดียว มัดรวมกันไว้ ตั้งใจรักษาศีลกองเดียว ก็ดูไม่มากหรอกนะ”

     เณรป้องมีสีหน้าที่ผ่อนคลายมากขึ้น “แล้วจะใช้อะไรมามัดศีล ๑๐ ข้อไว้ด้วยกันล่ะครับ”

     หลวงตาตอบว่า “ใช้ความตั้งใจที่จะงดเว้นการทำผิดศีลนี่แหละ หรือที่เรียกว่า ‘วิรัติเจตนา’ โดยขอเพียงเณรมีเจตนาที่จะงดเว้นการทำผิดศีลที่มั่นคงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นศีลกี่ข้อก็ตาม ก็ย่อมจะสามารถงดเว้นได้ด้วยความตั้งใจที่จะงดเว้นหรือวิรัติเจตนานี่แหละ”

     เณรป้องได้ฟังแล้ว ทำหน้าครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วจึงถามหลวงตาต่อไปว่า “แล้วการรักษาศีลนี้มีประโยชน์อะไรบ้างครับ”

     หลวงตาอธิบายว่า “เณรเคยได้ฟังเวลาที่พระภิกษุให้ศีลแก่โยมไหม ในตอนท้าย พระภิกษุมักจะกล่าวว่า ‘สีเลนะ สุคะติง ยันติ’ หมายถึง ศีลเป็นเหตุให้ถึงสุคติ ‘สีเลนะ โภคะสัมปะทา’ หมายถึง ศีลเป็นเหตุให้ถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์ ‘สิเลนะ นิพพุติง ยันติ’ หมายถึง ศีลเป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน ‘ตัสมา สีลัง วิโสทะเย’ หมายถึง เพราะเหตุนั้นพึงชำระศีลให้หมดจด

     นอกจากนี้ พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงสอนอานิสงส์ของการถือศีลไว้ว่ามีอานิสงส์ ๕ ประการคือ ๑. คนมีศีลย่อมย่อมมีโภคทรัพย์มากมาย เพราะมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ ๒. กิตติศัพท์อันงามของคนมีศีลย่อมฟุ้งกระจายไป ๓. คนมีศีลจะเข้าสู่หมู่ชนหรือหมู่คณะใด ๆ ย่อมองอาจ ไม่เก้อเขิน ๔. คนมีศีลย่อมเป็นผู้ไม่หลงในเวลาตาย และ ๕. เมื่อตายไปแล้ว คนมีศีลย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”

     เณรป้องได้ฟังแล้ว ก็ถามหลวงตาต่อไปว่า “แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งในอนาคต ซึ่งจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ก็ยังไม่ทราบ มีประโยชน์อื่นที่ผมสามารถเห็นผลได้ทันทีในปัจจุบันบ้างไหมครับ”

     หลวงตาตอบว่า “ในสมัยพุทธกาล มีกษัตริย์องค์หนึ่งชื่อพระเจ้าอชาตศัตรู ท่านเสด็จไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ศิลปศาสตร์ในแขนงต่าง ๆ เช่น คนทำขนม พ่อครัวทำอาหาร คนขายดอกไม้ ช่างย้อม ช่างหูก ช่างจักสาน นักคำนวณ หรือศิลปศาสตร์แขนงอื่น ๆ ย่อมให้ผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้ ทั้งเลี้ยงชีพตนเอง เลี้ยงดูบิดามารดาและบุตรภริยาได้ แล้วผลหรืออานิสงส์ในการเป็นสมณะ (หรือนักบวช) นั้นสามารถชี้ให้เห็นผลที่ประจักษ์ในปัจจุบันได้หรือไม่

     พระพุทธเจ้าทรงถามพระเจ้าอชาตศัตรูว่า สมมติว่าพระเจ้าอชาตศัตรูมีบุรุษรับใช้อยู่คนหนึ่ง ซึ่งเขามีหน้าที่ตื่นก่อน นอนทีหลัง และคอยรับใช้ตามพระบัญชาของพระเจ้าอชาตศัตรูทุกประการ ต่อมา บุรุษนั้นได้ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นสมณะแล้ว เขาได้เป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อยู่สันโดษด้วยมีเพียงอาหารและผ้าปิดกาย ยินดียิ่งในความสงัด เช่นนี้แล้ว หากต่อมาพวกราชบุรุษได้มากราบทูลเรื่องดังกล่าวต่อพระเจ้าอชาตศัตรูแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูจะรับสั่งอย่างนี้ไหมว่า เจ้าบุรุษนั้น จงมาหาเรา จงมาเป็นผู้รับใช้เรา จงตื่นก่อน นอนทีหลัง และคอยรับใช้ตามคำบัญชาของเรา

     พระเจ้าอชาตศัตรูทรงกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า จะเป็นเช่นนั้นไม่ได้เลย โดยอันที่จริงแล้ว หม่อมฉันเสียอีกที่ควรจะกราบไหว้เขา ควรจะเชื้อเชิญเขาให้นั่ง ควรจะบำรุงเขาด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร และควรจะจัดการรักษาป้องกันคุ้มครองเขาอย่างเป็นธรรม

     พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า นั่นแหละเป็นอานิสงส์ที่สามารถเห็นประจักษ์ได้ในปัจจุบัน ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูก็ได้ทรงยอมรับตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสดังกล่าว

     ในกรณีของเณรที่ได้มาบวชในวันนี้ ก็มีอานิสงส์ที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้เช่นกัน โดยสังเกตไหมว่าในระหว่างพิธีบวชนั้น โยมแม่ของเณรก็น้ำตาไหลด้วยความปีติยินดี และเมื่อบวชเสร็จแล้ว โยมพ่อโยมแม่ของเณรก็เป็นฝ่ายที่ต้องกราบไหว้เณร ไม่ใช่เณรเป็นฝ่ายที่กราบไหว้โยมพ่อโยมแม่ เหล่านี้เป็นอานิสงส์ที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันไหมล่ะ”

     เณรป้องได้ฟังดังนั้นแล้ว ก็มีสีหน้าดีใจและบอกหลวงตาว่า “ผมเปลี่ยนใจไม่ลาสึกแล้วครับ ในเมื่อมีประโยชน์หลายประการ ผมก็จะพยายามทำหน้าที่ของเณรต่อไปครับ”



(ติดตามตอนต่อไป)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP