สารส่องใจ Enlightenment

เจริญเมตตา



วิสัชนาธรรม โดย หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร




ปุจฉา (๑) วิธีการฝึกสติ ควรทำอย่างไรจึงจะได้ผลดีเร็ว กระผมขอแนวทาง
พระท่านมักจะสอนว่า "ควรมีสติก่อนพูด ทำ คิด" แต่มักไม่ค่อยบอกวิธี
กว่าจะเกิดสติ บางทีกิเลสมันก็ตบหน้าเจ้าของกระเด็นไปแล้ว
และทำอย่างไรจิตใจจึงจะเป็นกลางๆ หรือเป็นบุญตลอด
เพราะกระผมรู้สึกว่าบางวันจิตใจก็เป็นบุญดี
บางวันจิตก็เศร้าหมองคอยเพ่งโทษผู้อื่น บางวันจิตใจก็เฉยๆ มันขึ้นๆ ลงๆ ครับ




วิสัชนา (๑)- วิธีฝึกสติ ก็คือเอาสติไว้ที่เมตตานั่นเอง
จิตใจเมื่อหนักเข้าก็เป็นกลางๆ ไม่ลำเอียงไปทางรักและทางชัง
เป็นบุญไปตลอดสายในตัวเรียกว่าภาวนามัย
การเพ่งโทษผู้อื่นไม่ได้ร้องเรียกมาหาตนเลย
ที่ร้องเรียกมาหาตนเพื่อเพ่งโทษผู้อื่นนั้น ก็เพราะจิตไม่มีเมตตานั่นเองไม่ใช่อื่นไกลเลย



ขอให้ลูกๆ หลานๆ ปฏิบัติอย่างที่ว่ามานี้ติดต่ออยู่
อย่าทำแบบจับๆ จดๆ แล้วขาดๆ วิ่นๆ
ให้เข้าใจว่าแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์มารวมอยู่ที่เมตตาแห่งเดียวนั่นเอง
ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว กระแสของจิตมันจะส่งส่ายว่าอันนี้ดีอันนี้ชั่ว
จับๆ วางๆ ให้เห็นคุณในตอนนี้เสียก่อน
แล้วยังมีต่อไปอีกว่า ผู้เจริญเมตตาหลับคากันไม่ฝันเห็นสิ่งที่ลามกอันร้าย


ธรรมอันนี้มันฆ่าความโกรธไปในตัวแล้ว
มีพระบาลีอ้างว่า “โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ” ฆ่าความโกรธได้แล้วย่อมอยู่เป็นสุข
มีจินตกวีต่อท้ายว่า


๏ ช้างมันขันโซ่เส้น ตรวนขึง
ปลอกมัดรัดรุมรึง ผูกไว้
ให้อดหญ้าอดน้ำจึง เมาสร่าง
............... ย่อมรู้พิษขอ


๏ ความโกรธโหดร้ายเพราะช้าง เมามัน
ความรักดุจเชือกพัน เหนี่ยวรั้ง
โทสะฉุดแข็งขัน รักขาด
อาจฆ่าผู้อื่นได้ทั้ง ท่านผู้มีคุณ


๏ หมื่นหนสามารถทำให้ รถหยุด
ม้าพยศฉุด หมื่นครั้ง
อีกหมื่นเกี่ยวขอหยุด คชอยู่
ก็ยังไม่เท่าเหนี่ยวรั้ง โกรธได้คราวเดียว


๏ ตัดผมย้อมปากแก้ม นะขา
วิเลปะนะลูบไล้ทา ผ่องแผ้ว
ประดับปภัสตราภรณ์ งามเลิศ ค่าแล
โทสะมีมากแล้ว เช่นนี้งามไฉน


๏ แม้ขาดเครื่องลูบไล้ ชะโลมทา
นุ่งห่มผ้าราคา ต่ำต้อย
มีขันตีตะปะ ข่มโกรธ
เสงี่ยมงามแช่มช้อย เช่นนี้เธียรชม


๏ ฆ่าสัตว์มุ่งเสพเนื้อ อีกหวัง
กระดูกงาเขาหนัง ได้ใช้
แต่ก็ยังเป็นบาป กรรมเฮย
ใครฆ่าความโกรธได้ ประโยชน์แท้บุญเหลือ ...
(ฟอ โกวิโท)


จำมาจากดวงประทีป สมัยปิ่น มุทุกันต์


ข้ออื่นยังมีอยู่อีก พระบรมศาสดายืนยันว่า
ท่านผู้ใดพลิกจิตแผ่เมตตาขณะลัดนิ้วมือเดียว
ท่านผู้นั้นไม่อยู่ห่างจากฌานเลย และก็ประพฤติใกล้พระนิพพานโดยแท้ทีเดียว



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -




ปุจฉา (๒)หลวงปู่บอกว่าให้เมตตาตนก่อน
แล้วค่อยเมตตาผู้อื่นทั่วทั้งไตรโลกธาตุนั้น
ควรเมตตาตนนานมากน้อยขนาดไหน
วันหนึ่งๆ ตื่นเช้าขึ้นมาสวดมนต์ไหว้พระแล้วเมตตาตน
หลังจากนั้นก็เมตตาผู้อื่นใช่ไหมครับ




วิสัชนา (๒) คำว่าให้เมตตาตนก่อนนั้น
เพราะจะได้เอาเมตตาเป็นพยานว่าตนไม่ขอเป็นเวรเป็นภัยกับใคร
ส่วนที่จะเจริญนานหรือไม่นานนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับปัญญาของเราอีก
คือเราเห็นตามเป็นจริงว่าเราไม่ชอบให้ผู้อื่นติเตียน เบียดเบียนอันใดเลย
เมื่อมันชัดในขันธสันดานแล้ว เราก็แผ่เมตตาถึงผู้อื่นได้โดยเร็ว และไม่นิยมชั้นวรรณะด้วย
หรือจะว่า "โยนิสี่ทุกถ้วนหน้าจงเป็นสุขในพุทธ ธรรม สงฆ์อยู่ทุกเมื่อเถิด"
บริกรรมติดต่ออยู่อย่างนี้ (จนลิ้นไม่กระดุก)
และขอให้เข้าใจว่า คำว่า "โยนิสี่"
ก็คือผู้เกิดในครรภ์ ในไข่ ในเถ้าในไคล หรือเกิดผุดขึ้น ที่เรียกว่ากำเนิดสี่
ถ้าเราบริกรรมว่าโยนิสี่ทุกถ้วนหน้า
ก็เท่ากับว่าเราแผ่เมตตาให้กับเราและท่านผู้อื่นไปพร้อมกันในขณะเดียว
พร้อมกันทั้งไตรโลกธาตุด้วย



หมายเหตุ "โยนิ" คือ ประเภทการเกิดของสัตว์มี ๔ ประเภท

๑. สัตว์ผู้เกิดในครรภ์
๒. สัตว์ผู้เกิดในไข่
๓. สัตว์ผู้เกิดในเถ้าไคล (สิ่งสกปรก)
๔. สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้น เช่น เทวดา, สัตว์นรก


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ตอบปัญหาธรรมะ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๓



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP