ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

มหาโจรสูตร ว่าด้วยองค์ของโจรและของภิกษุอลัชชี


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๔๙๐] ภิกษุทั้งหลายมหาโจรผู้ประกอบด้วยองค์ย่อมตัดช่องย่องเบาบ้าง
ปล้นสะดมบ้างทำการล้อมปล้นเรือนหลังเดียวบ้าง คอยดักชิงที่ทางเปลี่ยวบ้าง
องค์อะไรบ้างคือมหาโจรอาศัยที่อันขรุขระ
อาศัยที่รกชัฏอาศัยผู้มีอำนาจ ๑


มหาโจรอาศัยที่อันขรุขระเป็นอย่างไร
มหาโจรอาศัยแม่น้ำเขิน หรือหุบเขา
อย่างนี้แลมหาโจรชื่อว่าอาศัยที่อันขรุขระ


มหาโจรอาศัยที่รกชัฏเป็นอย่างไร
มหาโจรอาศัยพงหญ้า หรือดงไม้ หรือตลิ่ง หรือไพรสณฑ์ใหญ่
อย่างนี้แลมหาโจรชื่อว่าอาศัยที่รกชัฏ


มหาโจรที่อาศัยผู้มีอำนาจเป็นอย่างไร
มหาโจรที่พึ่งพิงท้าวพญาหรือราชมหาอำมาตย์
มันมั่นใจอย่างนี้ว่าถ้าใครจักว่าอะไรเรา
ท้าวพญาหรือราชมหาอำมาตย์ก็จักอธิบายสาเหตุเพื่อป้องกันให้เรา
ถ้าใครได้ว่าอะไรมหาโจรนั้น
ท้าวพญาหรือราชมหาอำมาตย์เหล่านั้นก็อธิบายสาเหตุเพื่อป้องกันให้มหาโจรนั้น
อย่างนี้แลมหาโจรชื่อว่าอาศัยผู้มีอำนาจ


ภิกษุทั้งหลายมหาโจรผู้ประกอบด้วยองค์นี้แลย่อมตัดช่องย่องเบาบ้าง
ปล้นสะดมบ้างทำการล้อมปล้นเรือนหลังเดียวบ้าง คอยดักชิงที่ทางเปลี่ยวบ้าง


ภิกษุทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุชั่วผู้ประกอบด้วยธรรม
ชื่อว่าครองตนให้ถูกก่นถูกขจัดเป็นผู้มีโทษผู้รู้ติเตียน
และได้บาปมิใช่บุญเป็นอันมาก
ธรรมอะไรบ้างคือภิกษุชั่วอาศัยกรรมอันขรุขระ
อาศัยทิฏฐิรกชัฏ๑ อาศัยผู้มีอำนาจ


ภิกษุทั้งหลายภิกษุชั่วอาศัยกรรมอันขรุขระเป็นอย่างไร
ภิกษุชั่วประกอบด้วยกายกรรมอันเลว ประกอบด้วยวจีกรรมอันเลว
ประกอบด้วยมโนกรรมอันเลว อย่างนี้แลภิกษุชั่วชื่อว่าอาศัยกรรมอันขรุขระ


ภิกษุชั่วอาศัยทิฏฐิรกชัฏเป็นอย่างไร
ภิกษุชั่วเป็นผู้มีความเห็นผิดประกอบด้วยอันตคาหิกทิฏฐิ
อย่างนี้แลภิกษุชั่วชื่อว่าอาศัยทิฏฐิรกชัฏ


ภิกษุชั่วอาศัยผู้มีอำนาจเป็นอย่างไร
ภิกษุชั่วได้พึ่งพิงท้าวพญาหรือราชมหาอำมาตย์
ภิกษุชั่วนั้นมั่นใจอย่างนี้ว่าถ้าใครจักว่าอะไรเรา
ท้าวพญาหรือราชมหาอำมาตย์เหล่านี้ก็จักอธิบายสาเหตุเพื่อป้องกันให้เรา
ถ้าใครได้ว่าอะไรภิกษุชั่วนั้นท้าวพญาหรือราชมหาอำมาตย์เหล่านั้น
ก็จะอธิบายสาเหตุเพื่อช่วยปกป้องภิกษุชั่วนั้น
อย่างนี้แลภิกษุชั่วชื่อว่าอาศัยผู้มีอำนาจ


ภิกษุทั้งหลายภิกษุชั่วประกอบด้วยธรรมนี้แล
ชื่อว่าครองตนให้ถูกก่นถูกขจัด เป็นผู้มีโทษผู้รู้ติเตียน
และได้บาปมิใช่บุญเป็นอันมาก.


มหาโจรสูตร จบ



(มหาโจรสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)


หมายเหตุ “อันตคาหิกทิฏฐิ” หมายถึง ความเห็นอันถือเอาที่สุด,
ความเห็นผิดที่แล่นไปสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง คือเห็นว่า
๑. โลกเที่ยง ๒. โลกไม่เที่ยง ๓. โลกมีที่สุด ๔.โลกไม่มีที่สุด
๕. ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ๖. ชีวะก็อย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง
๗. ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตาย ย่อมเป็นอีก
๘.ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตาย ย่อมไม่เป็นอีก
๙.ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตาย ย่อมเป็นอีก ก็ใช่ ไม่เป็นอีก ก็ใช่
๑๐.ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตาย ย่อมเป็นอีก ก็มิใช่ ย่อมไม่เป็นอีก ก็มิใช่
(จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต))



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP