ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

นั่งสมาธิแล้วรู้ลมหายใจเข้าออกอย่างไรจึงจะถูกต้อง



ถาม – หากนั่งสมาธิแล้วรู้ลมหายใจเข้าออกไปเรื่อยๆ
แต่ไม่ได้นึกตามว่าลมหายใจไม่เที่ยง เหมือนรู้ไปทื่อๆ อย่างนี้ปฏิบัติผิดหรือไม่คะ



มันก็ไม่ได้ผิดในแง่ของการพยายามที่จะผูกจิตผูกใจไว้กับสิ่งที่ไม่เป็นโทษนะ
ถ้าหากว่าจิตของเราสามารถผูกอยู่กับลมหายใจอันไม่เป็นโทษได้
ในที่สุดจิตมันก็จะไม่ปรุงแต่งไปในทางที่เป็นโทษ คือมันจะไม่ฟุ้งซ่าน
ลักษณะของจิตที่ไม่ฟุ้งซ่าน มันพร้อมที่จะเห็นอะไรตามจริงได้
อันนั้นพูดง่ายๆ คือสงบแล้วค่อยไปต่อยอดเป็นการรู้เห็นตามจริง
นี่ก็ยังไม่สายเกินไปนะครับ
อย่าไปตัดสินว่าตรงไหนผิดตรงไหนถูกแบบเหมารวบยอดนะ ให้แยกเป็นส่วนๆ
ถ้าหากว่าใจของเรายังอยู่กับลมหายใจไปเรื่อยๆ
แล้วก็มีความรู้สึกว่า เออ มันค่อยๆ ลดอาการฟุ้งซ่านลงหรือความฟุ้งซ่านมันเบาบางลง
อันนี้ถือว่าถูกในทางสมถะไว้ก่อนนะ ให้คิดอย่างนี้ก่อนนะ



แล้วจากนั้นพอมันมีความรู้สึกว่าทั้งโลกไม่เหลืออะไรเลย
นอกจากสายลมหายใจนะ เดี๋ยวก็เข้าเดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็เข้าเดี๋ยวก็ออก
ค่อยเอาไปสังเกตได้ ใช้สังเกตจากจุดยืนตรงนั้นที่มันนิ่งแล้ว
ว่าที่มันเข้าที่มันออกอยู่ มันเป็นลมเดียวกันหรือเปล่า
แล้วที่มันเข้าที่มันออกแต่ละครั้ง มันยาวมันสั้นเท่ากันหรือเปล่า
ค่อยๆ สังเกตเปรียบเทียบอย่างนี้
คือไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ใครจะไปเริ่มต้นขึ้นมา แล้วไปเล็งเอาเห็น
สามารถเล็งเห็นความไม่เที่ยงของภาวะทางกายทางใจได้เลยทันที
ไม่ใช่นะ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น


ในสติปัฏฐาน ๔ ท่านสอนให้เปรียบเทียบก่อน เปรียบเทียบเป็นอย่างๆ
เดี๋ยวมันก็เข้าเดี๋ยวมันก็ออก ลมหายใจอยู่นี่นะ
เดี๋ยวมันก็ยาวเดี๋ยวมันก็สั้น นี่มีลมหายใจอยู่แค่นั้น
จนกระทั่งเกิดจิตที่มันถอยไปจากอาการยึดมั่นถือมั่นนะ
ว่าลมหายใจมันเที่ยง ลมหายใจมันเป็นตัวตน
พอมันถอยออกไปนะ ลักษณะที่จิตมันจะปรากฏให้เราเองรับรู้
ก็คือจิตอยู่ส่วนจิต ลมหายใจอยู่ส่วนลมหายใจ

ตรงนั้นแหละถึงค่อยมีความสามารถไปรับรู้ได้
ว่าลมหายใจมันแสดงความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา

มีแค่ภาวะความเป็นธาตุลมที่มีอาการพัดไหวเข้า แล้วก็พัดไหวออกคืนกลับไปสู่ภายนอก
ไม่มีอะไรที่มัน เป็นตัวเป็นตน เป็นบุคคล
หรือว่าก่อให้เกิดมโนภาพ ว่านี่เป็นลมหายใจของคนหน้าตาแบบไหนเพศใดนะ
มันมีแต่มโนภาพของสายลมหายใจที่เปรียบคล้ายสายน้ำ
เดี๋ยวก็ไหลเข้าเดี๋ยวก็ไหลออกอยู่อย่างนั้น



แล้วไม่เพียงแต่ลมหายใจนะ
ถ้าหากว่าจิตอยู่ในฐานะผู้รู้ผู้ดูลมหายใจแสดงความไม่เที่ยงแล้ว
มันก็สามารถที่จะเห็นได้ด้วย ว่าแต่ละครั้งที่ลมหายใจเข้า แต่ละครั้งที่ลมหายใจออกนี่นะ
มันนำความรู้สึกที่ดี นำความรู้สึกที่ปลอดโปร่งมาแค่ไหน
หรือว่านะมันเกิดความรู้สึกอึดอัดขึ้นมา ไปฝืนไปเกร็งไปบังคับลมหายใจเข้าหรือเปล่า
ถ้าหากว่าสามารถเห็นได้ว่าแม้กระทั่งความอึดอัดความสบาย มันก็กำลังไม่เที่ยงอยู่
ตรงนั้นมันยิ่งจะเห็นลมหายใจชัดเข้าไปอีก
หรือถ้าหากว่ามันกำลังดูอยู่ ว่าลมหายใจที่กำลังแสดงความเข้าแสดงความออกอยู่นั้นน่ะ
มันก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางความคิดอย่างไร
ก็จะเห็นลึกซึ้งเข้าไปว่านี่ลมหายใจนะถ้ามันมีความยาวมันมีความนุ่มนวล
มันสามารถทำ มันสยบความฟุ้งซ่านได้ ทำให้จิตเกิดความประณีตได้
จิตเกิดความรู้สึกว่าไม่เห็นจะต้องไปคิดนะ อยู่นิ่งๆ ดีกว่า
แต่ถ้าหากว่าลมหายใจหยาบๆ ลมหายใจเข้าสั้นออกสั้นนะ
มันก่อให้เกิดความฟุ้งซ่านได้ง่าย
นี่เห็นไปอย่างนี้ มันก็รู้ว่าไอ้ที่ไม่เที่ยงเนี่ย มันไม่เที่ยงอย่างมีเหตุ ไม่ใช่ไม่มีเหตุนะ
แล้วถ้าหากว่าเห็นทั้งเหตุผลของฝ่ายดี เหตุผลของฝ่ายไม่ดีนะ
ในที่สุดเราจะเลือกแต่เหตุของฝ่ายดีนะ
พูดง่ายๆ ว่าเห็นว่าเป็นอนัตตาฝ่ายดีนะที่เราควรเข้าข้าง



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP