ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

อธิปไตยสูตร ว่าด้วยอธิปไตย ๓


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๔๗๙] ภิกษุทั้งหลาย อธิปไตย ๓ นี้ อธิปไตย ๓ อะไรบ้าง
คือ อัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย ธรรมาธิปไตย.


ภิกษุทั้งหลาย ก็อัตตาธิปไตยเป็นอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ป่าก็ดี
อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี พิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า
ก็เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะจีวรเป็นเหตุ
ไม่ใช่เพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ ไม่ใช่เพราะเสนาสนะเป็นเหตุ
เธอออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะความมีและความมียิ่งอย่างนั้นเป็นเหตุ
ที่แท้ เราเป็นผู้ถูกความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ
ความไม่สบายกาย ความเสียใจ ความคับแค้นใจครอบงำแล้ว
มีความทุกข์ท่วมทับแล้ว ตกอยู่ในกองทุกข์ จึงคิดว่า
ไฉนหนอ ความทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏได้
ก็แล เราละทิ้งกามอย่างใดออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว
จะมาแสวงหากามอย่างนั้น หรือกามที่เลวยิ่งกว่านั้น นั่นไม่สมควรแก่เรา
ภิกษุนั้นจึงตกลงอย่างนี้ว่า เราจักปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน
สติต้องตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายต้องระงับไม่กระสับกระส่าย จิตต้องตั้งมั่นเป็นสมาธิ
ดังนี้ เธอทำตนเองให้เป็นอธิปไตย ละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ
เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ รักษาตนให้หมดจด


ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า อัตตาธิปไตย


ภิกษุทั้งหลาย โลกาธิปไตยเป็นอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ป่าก็ดี
อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า
เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะจีวรเป็นเหตุ
ไม่ใช่เพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ ไม่ใช่เพราะเสนาสนะเป็นเหตุ
เธอออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะความมีหรือความมียิ่งอย่างนั้นเป็นเหตุ
ที่แท้ เราเป็นผู้ถูกความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ
ความไม่สบายกาย ความเสียใจ ความคับแค้นใจครอบงำแล้ว
มีความทุกข์ท่วมทับแล้ว ตกอยู่ในกองทุกข์ คิดว่า
ไฉนหนอ ความทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏได้
อนึ่ง ตัวเรานี้เอง บวชแล้วอย่างนี้ ยังดำริถึงกามวิตก ยังดำริถึงพยาบาทวิตก
ยังดำริถึงวิหิงสาวิตกอยู่ทีเดียว ก็โลกสันนิวาสนี้กว้างใหญ่แท้
สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีฤทธิ์ มีจักษุทิพย์ รู้จิตบุคคลอื่น
สมณพราหมณ์เหล่านั้นมองเห็นได้แม้จากที่ไกล แม้อยู่ใกล้ก็ไม่ปรากฏ
ท่านรู้จิต (ของบุคคลอื่น) แม้ด้วยจิต (ของท่านเอง)
สมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น พึงรู้จักเราได้อย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงดูกุลบุตรคนนี้เถิด
เขาออกบวชด้วยศรัทธาแล้ว ยังเต็มไปด้วยบาปอกุศลธรรมอยู่


ถึงเทวดาผู้มีฤทธิ์ มีจักษุทิพย์ รู้จิตของบุคคลอื่นก็มีอยู่
เทวดาเหล่านั้นก็มองเห็นได้แม้จากที่ไกล แม้อยู่ใกล้ก็ไม่ปรากฏ
เทวดาเหล่านั้นย่อมรู้จิต (ของบุคคลอื่น) ได้แม้ด้วยจิต (ของตนเอง)
แม้เทวดาเหล่านั้น ก็จะพึงรู้จักเราอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงดูกุลบุตรผู้นี้ซิ
เธอออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา
แล้วยังเต็มไปด้วยธรรมอันเป็นบาปอกุศลธรรมอยู่
ภิกษุนั้นจึงตกลงใจอย่างนี้ว่า เราจักปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน
สติต้องตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายต้องระงับไม่กระสับกระส่าย จิตต้องตั้งมั่นเป็นสมาธิ
ดังนี้ เธอทำโลกนั่นเทียวให้เป็นอธิปไตย ละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ
เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ รักษาตนให้หมดจด


ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า โลกาธิปไตย


ภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมาธิปไตย เป็นอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ป่าก็ดี
อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นประจักษ์ดังนี้ว่า
เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะจีวรเป็นเหตุ
ไม่ใช่เพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ ไม่ใช่เพราะเสนาสนะเป็นเหตุ
เธอออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะความมีและความมียิ่งอย่างนั้นเป็นเหตุ
ที่แท้ เราเป็นผู้ถูกความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ
ความไม่สบายกาย ความเสียใจ ความคับแค้นใจครอบงำแล้ว
มีความทุกข์ท่วมทับแล้ว ตกอยู่ในกองทุกข์ คิดว่า
ไฉนหนอ ความทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏได้
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
อันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู
ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูพึงรู้เฉพาะตน เพื่อนพรหมจารีผู้รู้ผู้เห็นอยู่ก็มี
ก็แล เราบวชในพระธรรมวินัยนี้อันเป็นสวากขาตะอย่างนี้แล้ว
จะมาเกียจคร้านประมาทเสีย นั่นไม่สมควรแก่เราเลย
ภิกษุนั้นจึงตกลงอย่างนี้ว่า เราจักปรารภความเพียร
สติต้องตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายต้องระงับไม่กระสับกระส่าย จิตต้องตั้งมั่นเป็นสมาธิ
ดังนี้ เธอทำธรรมนั่นเทียวให้เป็นอธิปไตย ละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ
เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ รักษาตนให้หมดจด


ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ธรรมาธิปไตย.


ภิกษุทั้งหลาย อธิปไตย ๓ นี้แล


ชื่อว่าความลับ ย่อมไม่มีในโลก สำหรับผู้ทำกรรมอันเป็นบาป
แน่ะบุรุษ ตัวของท่านย่อมรู้ว่าจริงหรือเท็จ
ผู้เจริญ ท่านสามารถทำความดีได้ ท่านดูหมิ่นตัวเอง
ไฉนท่านจะปิดซ่อนบาปที่มีอยู่ในตัวได้


เทวดาทั้งหลายและตถาคตทั้งหลาย
ย่อมเห็นท่านผู้เป็นคนเขลาที่ประพฤติผิดอยู่ในโลก
เพราะเหตุนั้นแหละ บุคคลที่มีตนเป็นใหญ่ ควรเป็นผู้มีสติ
บุคคลที่มีโลกเป็นใหญ่ ต้องมีปัญญา มีความเพ่ง
บุคคลที่มีธรรมเป็นใหญ่ ควรประพฤติตามธรรม


พระมุนีมีความพากเพียรอย่างแท้จริง ย่อมไม่เสื่อม
ผู้ใดมีความเพียร กำราบมารเสียได้ ครอบงำมัจจุราชได้
บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นชาติแล้ว บุคคลนั้น ผู้เป็นเช่นนั้น
เป็นผู้รู้แจ้งโลก มีปัญญาดี เป็นพระมุนี
ไม่มีความทะเยอทะยานในธรรมทั้งปวง.


อธิปไตยสูตร จบ



(อธิปไตยสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP