ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

สุขุมาลสูตร ว่าด้วยสุขุมาลชาติและความเมา ๓ ประการ


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๔๗๘] ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นผู้สุขุมาล สุขุมาลยิ่ง สุขุมาลอย่างที่สุด
เราจะเล่าให้ฟัง ในพระราชนิเวศน์ พระบิดาของเราโปรดให้สร้างสระโบกขรณี
สระหนึ่งปลูกอุบล สระหนึ่งปลูกปทุม สระหนึ่งปลูกบุณฑริก เพื่อเราโดยเฉพาะ
อนึ่ง มิใช่เราใช้แต่จันทน์ในแคว้นกาสี ผ้าโพกของเราก็ทำในแคว้นกาสี
เสื้อก็ทำในแคว้นกาสี ผ้านุ่งก็ทำในแคว้นกาสี ผ้าห่มก็ทำในแคว้นกาสี
อนึ่ง เขากั้นเศวตฉัตรให้เราทั้งกลางคืนทั้งกลางวัน
เพื่อว่ามิให้ความหนาว ร้อน ละออง หญ้า น้ำค้าง ต้องพระโพธิสัตว์
เรามีปราสาท ๓ หลัง หลังหนึ่งสำหรับอยู่ในฤดูหนาว
หลังหนึ่งสำหรับอยู่ในฤดูร้อน หลังหนึ่งสำหรับอยู่ในฤดูฝน
เรานั้นรื่นเริงอยู่ด้วยดนตรีไม่มีบุรุษ ในปราสาทฤดูฝนตลอด ๔ เดือน
มิได้ลงไปยังปราสาทชั้นล่างเลย
ในนิเวศน์ของผู้อื่น ๆ เขาให้แต่ข้าวปลายเกรียน มีน้ำผักดองเป็นกับ
แก่ทาส กรรมกร และคนอาศัยอย่างใด
ในพระราชนิเวศน์แห่งพระบิดาเราก็อย่างนั้นเหมือนกัน
(แต่) เขาให้ข้าวสาลีสุกกับเนื้อแก่ทาส กรรมกร และคนอาศัยด้วย


ภิกษุทั้งหลาย เรานั้น เพียบพร้อมไปด้วยฤทธิ์เห็นปานนี้
และด้วยสุขุมาลอย่างที่สุดถึงเช่นนี้ ก็ยังได้คิดว่า ปุถุชนผู้มิได้สดับ
ตัวเองก็มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
แต่เห็นคนอื่นแก่แล้ว อึดอัด ระอา รังเกียจ ลืมตัวเสียทีเดียว
ถึงตัวเราเล่า ก็มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
ก็แต่ว่าข้อที่เราเองก็เป็นคนมีความแก่เป็นธรรมดา
ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้อยู่เหมือนกัน
เห็นคนอื่นแก่แล้วจะพึงอึดอัด ระอา รังเกียจ นั่นไม่สมควรแก่เราเลย
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราพิจารณาเห็นอยู่เช่นนี้ ความเมาในความหนุ่มได้หายไปหมด


ปุถุชนผู้มิได้สดับ ตัวเองก็มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
แต่เห็นคนอื่นเจ็บไข้แล้ว อึดอัด ระอา รังเกียจ ลืมตัวเสียทีเดียว
ถึงตัวเราเล่า ก็มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
ก็แต่ว่าข้อที่เราเองก็เป็นคนมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา
ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้อยู่เหมือนกัน
เห็นคนอื่นเจ็บไข้แล้วจะพึงอึดอัด ระอา รังเกียจ นั่นไม่สมควรแก่เราเลย
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราพิจารณาเห็นอยู่เช่นนี้ ความเมาในความไม่มีโรคได้หายไปหมด


ปุถุชนผู้มิได้สดับ ตัวเองก็มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
แต่เห็นคนอื่นตายแล้ว อึดอัด ระอา รังเกียจ ลืมตัวเสียทีเดียว
ถึงตัวเราเล่า ก็มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
ก็แต่ว่าข้อที่เราเองก็เป็นคนมีความตายเป็นธรรมดา
ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้อยู่เหมือนกัน
เห็นคนอื่นตายแล้วจะพึงอึดอัด ระอา รังเกียจ นั่นไม่สมควรแก่เราเลย
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรานั้นพิจารณาเห็นอยู่เช่นนี้ ความเมาในชีวิต (ความเป็นอยู่) ได้หายไปหมด


ภิกษุทั้งหลาย ความเมา ๓ นี้ ๓ อะไรบ้าง
คือ ความเมาในความหนุ่ม ๑ ความเมาในความไม่มีโรค ๑ ความเมาในชีวิต ๑.


ปุถุชนผู้มิได้สดับ ที่เมาเพราะความเมาในความหนุ่ม
ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ย่อมประพฤติทุจริตทางวาจา
ย่อมประพฤติทุจริตทางใจ ปุถุชนนั้น ครั้นประพฤติทุจริตทางกาย
ประพฤติทุจริตทางวาจา ประพฤติทุจริตทางใจแล้ว
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก


ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ ที่เมาเพราะความเมาในความไม่มีโรค
ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ย่อมประพฤติทุจริตทางวาจา
ย่อมประพฤติทุจริตทางใจ ปุถุชนนั้น ครั้นประพฤติทุจริตทางกาย
ประพฤติทุจริตทางวาจา ประพฤติทุจริตทางใจแล้ว
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก


ปุถุชนผู้มิได้สดับ ที่เมาเพราะความเมาในชีวิต
ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ย่อมประพฤติทุจริตทางวาจา
ย่อมประพฤติทุจริตทางใจ ปุถุชนนั้น ครั้นประพฤติทุจริตทางกาย
ประพฤติทุจริตทางวาจา ประพฤติทุจริตทางใจแล้ว
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก


ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เมาเพราะความเมาในความเป็นหนุ่ม
ย่อมบอกลาสิกขา กลับมาเป็นคฤหัสถ์ หรือ
ภิกษุผู้เมาเพราะความเมาในความไม่มีโรค
ย่อมบอกลาสิกขา กลับมาเป็นคฤหัสถ์ หรือ
ภิกษุผู้เมาเพราะความเมาในความชีวิต
ย่อมบอกลาสิกขา กลับมาเป็นคฤหัสถ์


ปุถุชนทั้งหลายมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา มีความแก่เป็นธรรมดา
มีความตายเป็นธรรมดา เป็นอยู่ตามธรรมดาย่อมรังเกียจ


ข้อที่เราจะพึงรังเกียจความเจ็บไข้เป็นต้นนั้นในสัตว์ทั้งหลาย
ผู้มีอันจะต้องเป็นอย่างนั้น นั่นไม่สมควรแก่เราผู้ซึ่งมีปกติอยู่อย่างนั้นเหมือนกัน


เราเมื่ออยู่อย่างนี้ ได้รู้ธรรมอันไม่มีอุปธิแล้ว
ย่อมครอบงำความเมาในความไม่มีโรค ในความหนุ่ม และในชีวิตทั้งปวงนั้นเสีย
ได้เห็นเนกขัมมะว่าเป็นความเกษม ความอุตสาหะ (ในเนกขัมมะ)
ได้มีแก่เรานั้นผู้เห็นพระนิพพานอยู่จำเพาะหน้า


เดี๋ยวนี้เราเป็นผู้ไม่ควรจะเสพกามทั้งหลาย เราจักเป็นผู้ไม่ถอยกลับ
จักมีพรหมจรรย์เป็นจุดมุ่งหมาย


สุขุมาลสูตร จบ



(สุขุมาลสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP