เข้าครัว Lite Cuisine

ผัก ผลไม้ และกัปปิยะ


Cuisine

โดย พิมพการัง

ก่อนพระพุทธองค์จะตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
ท่านทรงถือกำเนิดในวงศ์กษัตริย์ เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ
เมื่อท่านสร้างพระวินัยให้หมู่สงฆ์ดำเนินตาม เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
ท่านจึงมีบท โภชนปฏิสังยุต ๓๐ ที่เกี่ยวกับมารยาทการรับบาตรและขบฉัน”   

๓๐ ประการนี้มีรายละเอียดย่อๆ คือ พึงรับบาตรและฉันด้วยความเคารพ มองและฉันแต่ในบาตร
รับแกงและฉันพอกับข้าวสุก ไม่มองขององค์อื่น รับเพียงเต็มขอบบาตร ไม่ขยุ้มยอดข้าว
ไม่ขุดข้าวแหว่ง ไม่ขออาหารยกเว้นแต่เจ็บไข้ ฉันไม่หก ไม่ทำคำข้าวใหญ่ พึงทำคำข้าวให้กลม
ไม่อ้าปากไว้รอท่า ไม่ล้วงนิ้ว ไม่พูดเวลามีข้าวในปาก ไม่โยนเข้าปาก ไม่เลียมือ ไม่เลียปาก
ไม่สะบัดมือ ไม่สูดปาก ไม่ทำแก้มตุ่ย ไม่ฉันแลบลิ้น ไม่ฉันดังจับๆ ไม่ฉันดับซูบๆ
ไม่ฉันขอดบาตร ไม่ใช้มือเปื้อนจับภาชนะน้ำ ไม่ล้างเม็ดข้าวเทบนพื้นบ้าน

เหมือนมารยาทบนโต๊ะอาหารแบบสากลเลยนะคะ
พุทธสาวกผู้ใส่ใจประพฤติปฏิบัติตาม จึงมีความงดงาม น่าเลื่อมใสศรัทธานักค่ะ

เวลาจัดที่นั่ง พระท่านจะนั่งเรียงตามอาวุโส นับที่อายุพรรษาเป็นสำคัญ
มีธรรมเนียมว่าพระที่อาวุโสน้อยกว่า คือ พระที่นั่งหางแถวกว่า
จะต้องฉันทีหลังแต่เสร็จก่อน การขบฉันจึงต้องเรียบร้อย เรียบง่าย และรวดเร็วค่ะ

อาหารที่รับบาตรมา ร่วมกับที่ญาติโยมมาทำบุญที่วัดจะถูกจัดและประเคนใหม่หมด
ชาววัดจะช่วยกันจัดให้ถูกต้องตามพระวินัย แยกเป็นถาดคาวหวาน

ถึงเวลาก็จัดเรียงบนถาดแล้วเลื่อนให้พระท่าน พิจารณาเอง
หมายความว่าพระท่านจะหยิบสิ่งที่ท่านต้องการเอง ส่วนที่เหลือจะเลื่อนลง
จนมาถึงแถวของเณร ผ้าขาว แม่ชี อุบาสก อุบาสิกาที่ภาวนาที่วัด
แล้วญาติโยมจะมาเข้าแถวรับ ช่วยกันยกเอาส่วนที่เหลือไปตั้งรอที่โต๊ะญาติโยมต่อไป

จากการแอบสังเกตจะเห็นว่าพระสงฆ์ท่านไม่ตักอาหารที่ดูแล้วฉันยาก ต้องฉันเสียงดัง
หรือต้องกัดแทะเลย อาหารกรอบชิ้นใหญ่ก็ไม่ฉัน
อาหารเส้นถ้าไม่ได้บิหรือตัดจนเป็นเส้นสั้นๆ ที่ตักได้ ท่านก็ไม่ฉันเลย
พระท่านไม่พูดให้ชาวบ้านเสียกำลังใจ แค่รับประเคนมาแล้วจะวางเอาไว้ไม่ฉัน
หรือเลื่อนถาดลงไม่รับไปเลยก็แค่นั้นเองค่ะ แต่พวกเราจะแอบเห็นและสอนกันเองในหมู่ค่ะ

ท่านไหนรับบาตรพอแล้วจะปิดฝาบาตรตนเองไว้ รอจนอาหารเลื่อนลงแล้วเรียบร้อยจึงให้พร
อาจจะมีเทศน์สั้นๆ ก่อนที่ท่านจะเริ่มฉัน แล้วญาติโยมก็แยกย้ายกันไปรับประทานอาหาร
ส่วนที่เหลือเอาใส่ถุงให้ญาติโยมนำกลับบ้านได้ บางทีก็มีคนงานหรือคุณยายมาปัน
ไปเลี้ยงครอบครัว อาหารชาววัดมีการส่งถ่ายต่อๆ ไป ไม่เหลือทิ้ง
เพราะข้าวแต่ละเม็ดล้วนมาจากการยกจบขึ้นหัวมาแล้วทั้งนั้นค่ะ

ตอนที่แล้วได้กล่าวไว้ว่าคราวนี้จะเล่าเรื่องการจัดผลไม้
ก็ด้วยพระวินัยที่เกี่ยวกับมารยาทนี้เช่นกันค่ะ ท่านจะฉันแบบยกกัด ดูดแทะ
หรือเสียงดังไม่ได้ ดังนั้นผลไม้ทุกชนิดจะปอกชนิดที่พร้อมรับประทานได้เลย
ชิ้นไม่ใหญ่เกินไป ไม่มีลักษณะที่ต้องให้พระท่านดูด หรือกัดแทะ
อย่างแทะข้าวโพด แทะเม็ดมะม่วงนี่ไม่ได้ค่ะ

ถ้าจะถวายข้าวโพดชาววัดจะฝานเป็นเม็ดจัดใส่จาน มะม่วงสุกหั่นพอชิ้น
มะม่วงดิบ หรือฝรั่ง(ควรจะเอาเม็ดออกนะคะ) มีรอยบากให้หักเป็นคำๆ ได้
ส้มก็กรีดเปลือกให้แกะเป็นกลีบง่าย มังคุดก็บากควั่นรอบเปลือก
แตงโม ส้มโอ มะละกอจัดเป็นชิ้นให้หมดค่ะ กล้วยก็ต้องตัดขั้วออก
วางเรียงกันเป็นลูกๆ แล้วพระท่านจะใช้ช้อนตัดเป็นคำๆ ไม่ยกขึ้นกัดค่ะ

ถ้าจัดให้ไม่ทันจริงๆ ก็จัดถวายใส่แถวขึ้นไป แต่ทำใจเอาไว้ว่าท่านคงไม่ฉัน
คงจะเลื่อนลงเป็นของชาวบ้านแทน แต่ใครๆ ที่ใส่บาตรก็คงอยากให้พระฉันจริงไหมคะ

ผลไม้ที่เป็นผลๆ ถ้าเจ้าภาพเอามาฝากโรงครัวว่าจัดให้ด้วย เราจะช่วยกันปอกตั้งแต่เช้าตรู่ค่ะ
แต่ถ้าเป็นชุดที่ใส่บาตรมาไม่มีสิทธิ์เก็บข้ามคืนไว้ในวัด จะดึงออกแล้วค่อยปอกพรุ่งนี้ไม่ได้นะคะ

เหตุผลมีกล่าวไว้แล้วในบทกาละ กาลิกค่ะ เราต้องเคารพสิทธิ์เจ้าภาพ ในเมื่อเขาใส่บาตรมาวันนี้
มีกลิ่นกับข้าว มีข้าวสวยติดมาแล้วจะเก็บไว้พรุ่งนี้ไม่ได้ จะเก็บไว้เป็นปานะหรือปรมัตถ์ก็ไม่ได้นะคะ

ผู้ที่อยู่ในวัดจริงๆ จะรู้สึกว่าวินัยนี้ทำให้เบาใจ สบายใจขึ้นมากเลยค่ะ
เพราะไม่ต้องคอยระวังหวงเก็บของเลย ว่าอันไหนเก็บได้ เก็บไม่ได้
ง่ายๆ สบายๆ คือ ของที่จัดใส่บาตรเช้ามาทุกอย่างจะจบก่อนเที่ยง ไม่มีภาระในการเก็บงำ
ไม่ต้องค่อยๆ มาแอบสะกิดถามกันว่าอันไหนเก็บได้ เก็บไม่ได้ อันไหนเก็บเป็นปรมัตถ์ได้
ไม่มีความระแวงว่าใครเก็บกับข้าว จบกันแค่นี้แล้วแยกย้ายกันไปภาวนาได้เลย
พรุ่งนี้ว่ากันใหม่ มีก็มี ไม่มีก็ไม่เป็นไร ไม่หวงของ จัดการกันวันต่อวัน ที่เหลือแจกหมด

พ่อแม่ครูบาอาจารย์ และพระวัดป่าทั้งหลายนี้จิตใจท่านเข้มแข็งนัก
ระหว่างรักษาอาหารกับรักษาพระวินัย ท่านเลือกพระวินัยเป็นหลัก
ไม่ถูกต้องตามพระวินัยท่านก็ยอมอด และจะไม่ออกปากขอ หรือบอกกล่าวด้วย
นอกจากเป็นญาติโยมที่ปวารณาแล้วว่าพร้อมจะรับใช้ดูแล ขอให้ออกปากเถิดว่าขาดเหลืออะไร

พระอาจารย์อำนวยเคยออกธุดงค์ในบ้านป่าดงกะเหรี่ยง ชาวกะเหรี่ยงน้ำใจงามนัก
เขาแบกกล้วยมาถวายทั้งเครือ ถักผักหญ้าที่คล้ายๆ เถาวัลย์มาให้เป็นสายยาว
จนคุ้นเคยและปวารณากันเรียบร้อยแล้ว พระอาจารย์จึงออกปากว่าตัดแกะให้ด้วยไม่ได้หรือ
กะเหรี่ยงมองด้วยความแปลกใจ แล้วย้อนถามด้วยความซื่อว่า ตุ๊เจ้า บ่มีมือก๋า” 

แหม มือน่ะมีหรอกค่ะ
แต่มีพระวินัยอีกบทหนึ่งที่เกี่ยวกับการไม่พรากของเขียวหรือ ภูตคามวรรค ค่ะ
คือ พืชผักผลไม้ต่างๆ หญ้า จอก สาหร่ายต่างๆ ก็ดี ท่านจะจัดการขุด ตัด สับ เด็ดเองไม่ได้นะคะ

ผักผลไม้ที่มีส่วนประกอบนำไปปลูกได้ เช่น ส้มมีเม็ดอยู่ หรือหัวผักหัวมันที่เอาไปปลูกต่อนี่
ก็ฉันเลยไม่ได้ค่ะ เพราะในอดีตเมื่อนานมาแล้ว เคยมีกรณีเข้าใจผิดเพราะพระสงฆ์ท่านฉันพืช
ที่ชาวบ้านเก็บไว้เพาะหว่านเป็นเม็ดพันธุ์ ค่ะ

พระท่านจะต้องทำ กัปปิยะ เสียก่อนนะคะ
เป็นวินัยกรรมที่ชาววัดทำเวลาประเคนผักหรือผลไม้ที่มีส่วนประกอบเอาไปปลูกต่อได้
เช่น ผักที่มีเม็ดอย่างส้ม ฝรั่ง (ที่ไม่ได้แกะเม็ด) พริกสด ผักบุ้ง ผักอะไรที่ปักดินปลูกได้ เป็นต้น

พระท่านจะถามว่า กัปปิยะ กะโรหิ แปลว่าสมควรแล้วหรือ หรือ เขาฉันกันอย่างนี้เองหรือ
ชาววัดจะตอบว่า กัปปิยะ ภันเต แปลว่าสมควรแล้วเจ้าค่ะ หรือ เขาฉันกันแบบนี้เองเจ้าค่ะ
พร้อมกับดึงเปลือก หรือเอาเล็บจิกผักผลไม้นั้นให้ขาดเล็กน้อย แค่นี้เองค่ะ

หลวงปู่จันทา ถาวโร เคยเล่าถึงเหตุการณ์นี้ในหนังสือ พระวินัย ๒๒๗ เทศน์ภาคปฏิบัติ ความว่า

หลวงปู่เสาร์ อาจารย์ใหญ่ของวงกรรมฐานยุคนี้ไปวิเวกอยู่จังหวัดสกลนคร
มีพระองค์หนึ่งหัวดื้อนะ เป็นสมภารเจ้าวัดเสียด้วย ก็พูดว่าโอ๋... อะไรก็กัปปิๆ นะ
หมากพริก หมากเขือ ผักบุ้ง หัวกระเทียมก็ดี แสดงกินเฉยๆ นี่ ไม่เชื่อหรอก

หลวงปู่เสาร์ก็ว่า โอ๋ เรื่องนี้ก็ทำให้ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
ท่านแสดงไว้อย่างไรก็ทำอย่างนั้น มันจึงจะเจริญ

หลวงตาองค์นั้นชักขึ้นมาทันทีเลยนะ
นี่แหละ ประมาทคำสอนของพระพุทธเจ้า ประมาทหลวงปู่เสาร์อีกด้วย


หลวงปู่จันทาท่านสอนว่า

เราเป็นปุถุชนอยู่ มืดแปดด้านเหมือนแผ่นดิน ผิดถูกอย่างไรไม่รู้
เอาแต่กิเลสมาผลักดัน นั่นแหละฉิบหายจำไว้
สิ่งทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ถูกทั้งนั้น
แม้นักปราชญ์ทั้งหลายก็ทำตามกันมาเป็นระยะๆ ไม่ลดละ เราจงอดกลั้นทนทาน
ขยันหมั่นเพียรทำตาม มันจึงจะเป็นพระเป็นเณรที่เรียบร้อยดี นั่นแหละ จำไว้


ส่วนสมภารท่านนั้นพอขอขมา และรับว่าจะประพฤติปฏิบัติตามแนวทาง
ที่ครูบาอาจารย์พาประพฤติปฏิบัติแล้วก็หายชักทันทีเป็นปลิดทิ้งค่ะ

ยุคเราๆ มีพระวินัยหลายข้อที่อาจจะเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง
เก็บความคิดเห็นส่วนตัว ความสะดวกส่วนตน ความเคยชินต่างๆ เอาเก็บไว้ใช้เองที่บ้าน
อยากอบรมตนเองในร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนา ก็อดทนทำตามอย่างที่หลวงปู่สอนไว้เถิดนะคะ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP