ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

เมื่อสวดมนต์และนั่งสมาธิในห้องพระ แล้วเกิดความกลัว ควรจัดการอย่างไร



ถาม - หากว่าเราสวดมนต์ นั่งสมาธิในห้องพระ แล้วรู้สึกวังเวง บางครั้งก็เกิดอาการกลัว
เราควรจัดการกับความรู้สึกอย่างไร แล้วเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นคะ



ความรู้สึกกลัวนี่นะ บางทีก็เป็นอะไรพื้นๆ เป็นอะไรตื้นๆ ง่ายๆ เลย
เป็นอะไรที่ง่ายจนคุณนึกไม่ถึงว่า อ๋อ นี่เองเป็นเหตุผลที่แท้จริงที่เราเกิดความรู้สึกกลัวขึ้นมา
ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เรานั่งสมาธิในห้องพระ เป็นเวลาที่เราไม่ได้คิดฟุ้งซ่าน
ไม่ได้ปล่อยใจให้มันเตลิดไปอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยกิเลสมันผลักดันนะครับ
แต่ว่าเข้ามาอยู่ในความใฝ่ดี เข้ามาอยู่ในภาวะของจิตอีกแบบหนึ่ง
ที่มันพร้อมจะสงบระงับ หรือว่าพร้อมจะมีความสว่าง
เพราะว่าห้องพระนี่นะ มันทำให้เราเกิดความรู้สึกผูกใจอยู่กับแสงสว่าง
ผูกใจอยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผูกใจอยู่กับ... คือพระพุทธเจ้า พอเราแค่นึกถึงนะ
ถึงแม้ว่าจะระลึกผ่านพระพุทธปฏิมา ใจก็เกิดความสว่างได้
ใจที่ผูกอยู่กับความสว่างย่อมสว่าง ใจที่ผูกอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์ ย่อมศักดิ์สิทธิ์
แต่ทีนี้ความศักดิ์สิทธิ์หรือความสว่าง
ไม่ได้สว่างอย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์อย่างตรงไปตรงมา
เพราะว่ากิเลสของเรายังไม่สงบ
บางทีนะเกิดความรู้สึกเหมือนกับว่า
เอ๊ เราน่าจะอยู่กับสิ่งที่สว่างนะ น่าจะอยู่กับสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์นะ
แต่ใจเรายังไม่ถึง ใจเรามันยังคอยม้วนไปหาสิ่งที่ต่ำกว่าหรือว่าสิ่งที่มืดกว่า
ก็เกิดความรู้สึกเหมือนกับขัดแย้งขึ้นมาในใจได้ตั้งแต่ต้นเลยนะ ตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นสมาธิ



ทีนี้พอเป็นสมาธิขึ้นมา สมาธิยังอยู่ในขั้นครึ่งๆ กลางๆ
จะว่าสว่างก็ไม่ใช่ จะว่ามืดก็ไม่เชิงนะ
บางทีความขัดแย้งกันระหว่างความสว่างกับความมืด
ก็ทำให้เกิดความรู้สึกแปลกประหลาดหรือว่าเกิดความรู้สึกไม่ปกติ
หรือเกิดความรู้สึกว่าถึงขั้นที่ว่าผิดปกติขึ้นมาได้นะ
สองสิ่งมาอยู่ด้วยกัน ระหว่างความสว่างกับความมืด
ก็เกิดความรู้สึกกลัวขึ้นมาเป็นธรรมดา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ใกล้ที่จะนิ่ง แต่ยังไม่นิ่งจริงนะ
มันจะมีความปรุงแต่งบางอย่าง
เหมือนกับความมุ่งมาดปรารถนาในทางที่ดีมันก็เกิดขึ้น
แต่ว่าความรู้สึกอีกแบบหนึ่งที่มันคอยจะดึงไปปรุงแต่งนะ ให้เกิดความรู้สึกไม่ดี
เกิดความรู้สึกเหมือนกับเรายังอยู่คนละโลกกับโลกที่สว่างจัดจ้า
มันก็เกิดความรู้สึกกลัว กลัวเนี่ย ไม่ใช่กลัวอะไรหรอก กลัวความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั่นแหละ
กลัวความรู้สึกที่มันเกิดจากภาวะที่ไม่ปกติ หรือผิดปกตินั่นแหละนะ



วิธีง่ายๆ ที่จะจัดการนะ ก็อย่าพยายามจัดการ
เพราะว่าทันทีที่เราพยายามจัดการ
มันจะมีตัวความกลัวหรือตัวไม่ได้อย่างใจเกิดขึ้นไม่เลิก

ลองคิดดู ความรู้สึกนี่มันเกิดขึ้นอยู่ชัดๆ
แล้วเราจะไปพยายามทำลายความรู้สึก ณ ขณะนั้น
ทั้งๆ ที่มันยังไม่สามารถที่จะหายไปได้ มันก็เกิดโทสะขึ้นมา
แล้วโทสะเป็นพวกเดียวกันกับความกลัวนะ
โทสะ จริงๆ แล้วเป็นมูลเหตุเลยที่ทำให้เราเกิดความกลัว
เพราะอะไร เพราะว่าโทสะมันทำให้เรามีความกระสับกระส่าย
มีความรุ่มร้อน มีความมืด มีความรู้สึกอยากจะทำลายอะไรบางอย่างทิ้ง
มีความรู้สึกอยากจะกำจัดอะไรก็แล้วแต่ที่เราไม่พอใจ
ให้มันหายไป จากการรับรู้ทันที
พูดง่ายๆ ว่า ยิ่งกลัวแล้วยิ่งอยากหายกลัว
มันเป็นการเพิ่มความกลัวเข้าไปอีก

เพราะว่าได้โหมไฟเข้าไป ทำให้โทสะมันมากขึ้นมา



ทางที่ดีที่สุดนะครับ ให้ยอมรับตามจริงไป
พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้นะ
เมื่อเกิดความกลัว ให้อยู่ในที่นั้น อย่าเคลื่อนไหว
จนกว่าเราจะรู้สึกถึงความกลัว และเห็นความกลัวหายไป

หมายความว่า ณ ที่ที่เกิดความกลัวขึ้นมา เรายอมรับไปตามจริงว่ามันกลัว
ยอมรับไปตามจริงว่ารู้สึกราวกับว่าจะถูกทำร้าย
รู้สึกราวกับว่ามีอะไรบางอย่างหรือใครบางคนกำลังจะเข้ามาโจมตีเรา
กำลังจะทำให้เราเกิดความเสียหาย หรือว่าเกิดความบอบช้ำ เกิดความบาดเจ็บ
ทั้งๆ ที่พอดูเข้าไปจริงๆ มันมีแต่ภาวะความกลัวที่บีบเราอยู่
ลักษณะความกลัวนี่นะ มันจะบีบให้ตัวเรามันมีความเกร็ง
บีบจิตให้มีอาการที่เหมือนกับคับแคบหรือว่าเล็กลงนะ ลองสังเกตให้เห็น
พอยอมรับตามจริงได้ มันก็จะเห็นตามนั้นนะว่า
ร่างกายมันเกร็ง แล้วก็อาการของจิตมันหดตัว
มันมีอาการบีบรัด มันมีอาการที่อึดอัดไม่สบาย
มีความมืดเข้าครอบ ราวกับว่าจะมีใครเข้ามาทำร้าย


เมื่อเห็นว่าลักษณะของความกลัวเป็นอย่างไรชัดๆ แล้ว
ตัวความกลัวเองมันจะแสดงความไม่เที่ยงให้ดู

แน่นอนบางทีมันไม่ได้แสดงความไม่เที่ยงทันทีนะ
มันอาจยิ่งกลัวขึ้น ไอ้อาการกลัวขึ้นจริงๆ มันก็เป็นความไม่เที่ยงนั่นแหละ
เพียงแต่เป็นความไม่เที่ยงขาขึ้น เป็นอนิจจังขาขึ้น ไม่ใช่อนิจจังขาลง
แต่ไม่ว่าจะกลัวมากขึ้นหรือว่ากลัวน้อยลงก็ตามนะ เราจะเห็นความไม่เที่ยง
และเมื่อจิตเห็นความไม่เที่ยง จิตจะฉลาดขึ้น
มันจะรู้สึกทันทีเลยว่า นี่ไม่ใช่ตัวเรา
นี่เป็นอะไรอย่างหนึ่งที่ถูกดูอยู่ว่าไม่เที่ยง



เมื่อเราเห็นความไม่เที่ยงบ่อยๆ แม้ว่าจะกลัวแสนกลัวขนาดไหน
อย่างน้อยมันจะรู้สึกว่า เออ ตอนแรกกลัวมาก กลัวจับจิตจับใจ
แล้วก็ความกลัว พอถูกเห็น มันก็ลดลงนิดหนึ่ง แผ่วลงนิดหนึ่ง
แล้วเดี๋ยวมันก็ทวีตัวกลับขึ้นมาอีก
กลายเป็นความอึดอัด กลายเป็นความรู้สึกมืด ที่มันเหมือนกับเค้นหัวใจ
ตรงนี้เราก็จะค่อยๆ เห็นไปทีละนิดทีละหน่อย
ทุกครั้งที่ยอมรับตามจริงว่าเรากำลังเกิดความกลัวอยู่
จนในที่สุด ไม่กี่วันหรอก หรืออาจจะภายในวันเดียวเลยก็ได้
เราเกิดความรู้สึกชัดๆ ขึ้นมาว่าความกลัวเป็นแค่สภาพทางใจอย่างหนึ่ง
มันไม่ใช่มีความน่ากลัวอยู่ภายนอกตัวเราจริงๆ

มันมีแต่สิ่งที่อยู่ภายในตัวเรานี่แหละที่ควรกลัวนะ
เอาละ ตรงนี้ก็เข้าใจว่าน่าจะเป็นคำตอบแล้วนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP