จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

พุทธศาสนากับรัฐธรรมนูญ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

 


148 destination



เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้รับข้อความทางไลน์ ๒ ข้อความจากญาติธรรม
โดยชักชวนให้ร่วมรณรงค์สนับสนุนให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
ด้วยวิธีการให้โทรศัพท์ไปแสดงความจำนง
หรือให้เราส่งจดหมายไปให้คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ


ในข้อความมีระบุเหตุผลสนับสนุนมาบางประการ
ซึ่งผมจะไม่ยกเหตุผลดังกล่าวมาวิเคราะห์ข้อดีหรือข้อเสียลงในบทความนี้
แต่ขอเรียนโดยสรุปว่าโดยส่วนตัวผมอ่านเหตุผลแล้ว ไม่เห็นว่าเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักเท่าไรนัก
อย่างไรก็ดี กรณีก็ไม่ได้แปลว่า ผมไม่เห็นว่าพุทธศาสนานั้นสำคัญนะครับ
ขอเรียนว่า ผมเห็นว่าพุทธศาสนานั้นสำคัญอย่างมาก


แต่การที่เราเห็นว่าพุทธศาสนานั้นสำคัญก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
เพราะว่าเป็นคนละเรื่องกัน ยกตัวอย่างเช่น คนไทยเราทานข้าวเป็นอาหารหลัก
ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทยด้วย
และการที่ไม่ได้บัญญัติดังกล่าว ก็ไม่ได้แปลว่าข้าวนั้นไม่สำคัญสำหรับคนไทย
ดังนี้ การที่เราจะบัญญัติหรือไม่บัญญัติอะไรในรัฐธรรมนูญ
จึงต้องมองถึงความเกี่ยวข้อง ความจำเป็น และข้อดีข้อเสียในการบัญญัตินั้นเป็นสำคัญ
ไม่ใช่ว่าอะไรสำคัญในชีวิต ก็จะต้องไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งหมด


ที่สำคัญคือในเรื่องนี้ได้เคยมีการถกเถียงกันมาแล้ว
ตั้งแต่ตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ และรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐
ซึ่งในช่วงที่ร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ นี้เอง
ในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๐ สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้ทรงมีพระราชดำรัสบางตอน
เกี่ยวกับการบัญญัติว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติลงในรัฐธรรมนูญ ดังนี้ว่า


“...... ข้าพเจ้าได้พบปะกับนักเรียนไทยประมาณ ๔,๐๐๐ คนได้
ข้าพเจ้าก็ไม่คิดว่าจะถูกถามเรื่องพระพุทธศาสนากับรัฐธรรมนูญ
ข้าพเจ้าก็อธิบายว่า ข้าพเจ้าคิดเองว่า พระบวรพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด สูงส่งแล้ว
และได้รับการสนับสนุนมาตลอด ตั้งแต่จากสมัยสุโขทัยจากคนไทยทั้งชาติ
พระบวรพุทธศาสนาเป็นของที่สะอาด สูงสุด
ทุกคนคิดว่า ไม่อยากให้เข้าไปพัวพันกับคำว่า การเมือง
ข้าพเจ้าพูดเช่นนั้น ต่อหน้านักเรียนไทย ควรเทิดทูนเอาไว้เหนือเกล้า
เพราะเป็นแสงสว่างในหัวใจของคนไทยทั้งหลาย
การเมืองบางครั้งก็มีผิดพลาด บางครั้งก็มัวหมองได้หลายเรื่อง
เพราะฉะนั้นไม่ควรนำพระบวรพุทธศาสนาไปไว้กับกฎหมายสูงสุดของประเทศไทย
คือ รัฐธรรมนูญ ควรจะทิ้งพระบวรพุทธศาสนาไว้เช่นนี้ ที่ถูกเทิดทูนโดยประชาชนทั้งชาติ
พอข้าพเจ้าพูดจบ ข้าพเจ้าได้รับการปรบมืออย่างดังสนั่นลั่นไปหมดเลย


ในเมืองไทยข้าพเจ้าได้ทราบว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนา
ที่คนนับถือมากกว่า ๙๐% คงจะไม่ให้ใครมาแตะได้
ข้าพเจ้าเข้าใจว่าการเมืองบางครั้งก็มีอะไรหลายๆ อย่างไม่ค่อยตรงไปตรงมานัก
เพราะฉะนั้นดีแล้วที่พระบวรพุทธศาสนาแยกไปเสียให้พ้นจากการเมืองจะดีกว่า
ไม่ทราบว่าทุกท่านในที่นี้เห็นอย่างเดียวกับข้าพเจ้าหรือเปล่า
อันนี้ข้าพเจ้าถามนักเรียนไทย ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์บอกว่า
พระบวรพุทธศาสนาเป็นศาสนาของชาวไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
พระเจ้าแผ่นดินองค์แรกๆ ของสุโขทัย เวลาจะขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
ก็จะต้องกล่าวคำปฏิญาณว่าจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไว้ด้วยชีวิต
ซึ่งเดี๋ยวนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์นี้ก็เช่นกัน
ก็ยังถือธรรมเนียมเหมือนอย่างคนไทยทั้งหลาย
ถือว่าพระบวรพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ล้ำค่าของชีวิตคนไทย
ที่จะพึ่งพาเวลามีปัญหาเกิดขึ้นอะไรกับชีวิต พระบวรพระพุทธศาสนาเป็นแสงสว่าง
เพราะฉะนั้นไม่มีวันให้สลายหรือล่มลงไปเป็นอันขาด


และดินแดนของชาวพุทธนี้ ชาวพุทธได้ทำชื่อเสียงมากมาย เช่น ตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒
ข้าพเจ้าได้ข่าวว่า เชลยศึกสมัยที่ตอนนั้นทางญี่ปุ่นได้ยึดครองประเทศไทย
เชลยศึกต่างชาติได้รับการช่วยชีวิต ได้รับการป้อนน้ำ เสี่ยงกับชีวิตตนเอง และป้อนอาหาร
ซ่อนตัวเขาด้วย ที่พูดอย่างนี้ ไม่อยากจะทำให้ใครต้องเสียใจ
แต่พูดให้ทราบความจริงว่า บรรพบุรุษของไทยเรา แม้แต่ที่ผ่านมาไม่เท่าไร ไม่กี่ปี
ก็ยังปฏิบัติตนทำให้ต่างประเทศชื่นชมและนับถือประเทศไทย
และน้ำใจของคนไทยที่มีความเมตตากรุณา และมีความกล้าหาญที่จะแสดงความเมตตากรุณาด้วย
อันนี้ขอให้ท่านคิดดูดี ๆ และชาวต่างประเทศมาพูดกับข้าพเจ้า
ที่เขาชอบกรุงเทพมหานครเหลือเกิน เพราะว่าเมืองหลวงของประเทศไทยน่ามหัศจรรย์
โบสถ์พุทธ โบสถ์พราหมณ์ โบสถ์คริสต์ สุเหร่าอิสลาม ทุกศาสนาอยู่ใกล้เคียงกัน
ไม่เคยมีใครคิดไปวางระเบิดหรือไปรบกวนศาสนาอื่นเลย
ให้อิสระ สิทธิเสรีภาพในการจะนับถือศาสนาใดก็ได้ ซ้ำสนับสนุน
นี่แหละฝรั่งเขาบอก คือการปฏิบัติต่อกันของคนที่มีความเจริญอย่างแท้จริง
เจริญสุดทางด้านจิตใจ อันนี้น่าชื่นใจมาก
ถึงเวลาสวดของใคร ใครก็ไป ถึงเวลาใครทำพิธีของใครก็ไป โดยไม่ไปรังแกซึ่งกันและกัน
อันนี้ต่างประเทศเขาบอก ยอดสุดๆ คนไทย”
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9500000094343
http://www.oknation.net/blog/talkwithOKNation/2007/08/11/entry-1


ในข้อความทางไลน์ที่ผมได้รับก็มีการอ้างหนังสือของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)
เพื่อมาสนับสนุนให้มีการระบุพระพุทธศาสนาเป็นประจำชาติลงในรัฐธรรมนูญ
ซึ่งผมลองไปอ่านหนังสือของท่านแล้ว พบว่าท่านกล่าวว่า ท่านเป็นกลางในเรื่องดังกล่าว
โดยท่านไม่ได้ร่วมรณรงค์ว่าควรจะต้องบัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ
แต่ท่านเห็นว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนควรพิจารณาโดยใช้ปัญญา
ผมจึงขอยกบางส่วนจากหนังสือ “เจาะหาความจริง ศาสนาประจำชาติ”
โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) มาดังต่อไปนี้ครับ


“ย้อนหลังไป ๑๓ ปีก่อนโน้น ใน พ.ศ. ๒๕๓๗ มีเหตุการณ์อย่างหนึ่ง
คล้ายกับขณะนี้ (พ.ศ. ๒๕๕๐) ที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ
เป็นช่วงเวลาแห่งการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
เหมือนเวลานี้ที่มีการเรียกร้องให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ หวนกลับไป ๑๓ ปีก่อนนั้น
ก็มีการ “รณรงค์” ให้บัญญัติเช่นเดียวกัน
ครั้งนั้น ผู้เรียบเรียงหนังสือนี้ ได้รับนิมนต์ให้ไปพูดในการประชุมสัมมนา (๑ ก.ย. ๒๕๓๗)
เรื่อง “จิตสำนึกของชาวพุทธเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติ”
หลังจากพูดแล้ว ได้มีบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ขอพิมพ์เผยแพร่หนังสือออกมา
ในชื่อว่า “อุดมธรรม นำจิตสำนึกของสังคมไทย”
เมื่อมีบางท่านขอพิมพ์หนังสือเล่มนั้นอีกในช่วงที่ รธน. ฉบับใหม่ใกล้จะเสร็จ
ในเดือน พ.ศ.๒๕๕๐ นี้ ผู้เรียบเรียงหันไปเปิดหนังสือเก่าอ่านดู ก็มองเห็นว่า
การถกเถียงกันระหว่างผู้เห็นด้วย กับผู้ไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ เมื่อครั้ง๑๓ ปีก่อนเป็นอย่างไร
คราวนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนั้น แทบไม่มีอะไรต่างกัน
คือ คนแทบทั้งหมดได้แต่ให้ความเห็น ที่แสดงว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจ
อีกทั้งไม่สนใจที่จะหาความรู้ความเข้าใจ (ทั้งไม่รู้ และไม่คิดจะหาความรู้)
ก่อนพิมพ์ครั้งใหม่ มีผู้ต้องการพิมพ์หนังสือนี้นานแล้ว
และผู้เรียบเรียงได้เขียนเนื้อหาด้านข้อมูลความรู้เพิ่มเติมอีกมาก
เมื่อจะพิมพ์ครั้งนี้ ได้ยกมาดู แล้วตัดบ้างเติมบ้าง หนังสือหนาขึ้นอีกหลายหน้า
และเปลี่ยนชื่อหนังสือใหม่ตามความประสงค์ของผู้ขอพิมพ์ว่า
เจาะหาความจริง เรื่องศาสนาประจำชาติ
ไม่ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปอย่างไร หรือเรื่องจะจบลงอย่างไร
ถ้าคนไทยมีความรู้ความเข้าใจอะไร ๆ เพิ่มขึ้น ก็พูดได้ว่าไม่เสียเปล่า
........................


ตอนแรกนี้ จะต้องขอทำความเข้าใจกับที่ประชุมก่อนว่า
ตัวอาตมภาพเองนั้นไม่ได้มาเพื่อจะร่วมรณรงค์ในเรื่องนี้
และว่าที่จริง ในการรณรงค์นี้ อาตมภาพก็ไม่ได้สนใจ
ทำไมจึงพูดอย่างนั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันต่อไป
อาตมภาพไม่สนใจในแง่ของการรณรงค์ แต่สนใจในแง่เป็นห่วง
คือเป็นห่วงการรณรงค์นั้นอีกทีหนึ่ง ความสนใจในแง่ที่เป็นห่วงนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ
ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องมาพูดกันด้วย
เมื่อทางผู้จัดไปนิมนต์มาพูด อาตมภาพก็บอกว่า ในเรื่องนี้ อาตมภาพเป็นกลางนะ
ทั้งๆ ที่บอกว่าเป็นกลาง ก็ยังจะให้มาพูดอีก
เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้กันก่อนว่าตัวอาตมภาพเองไม่ได้ร่วมรณรงค์ด้วย
อาตมภาพคิดว่า พระก็ทำหน้าที่สอนธรรมะไป
จะเอาอย่างไรก็เป็นเรื่องของประชาชน
พระทำหน้าที่สอนพุทธศาสนา
ถ้าประชาชนเห็นคุณค่า ประชาชนก็ใช้ปัญญาพิจารณาทำกันไปตามเหตุตามผล
ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้ปัญญาว่าเราจะเห็นคุณค่าอย่างไร
ฉะนั้น จะต้องพูดกันถึงเรื่องนี้ทำนองเป็นจุดยืนไว้เสียก่อน
อาตมภาพบอกว่า ไม่ได้สนใจในตัวการรณรงค์ แต่สนใจในแง่ที่เป็นห่วง
ทำไมจึงเป็นห่วง ก็เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่เราเคารพนับถือ
แล้วก็เกี่ยวกับประโยชน์สุขของส่วนรวม
ถ้าทำดีก็ดีไป ถ้าทำไม่ดีก็อาจจะเกิดผลเสียได้มาก
ฉะนั้น เราจึงต้องระวังทั้งในแง่บวกและแง่ลบ
โดยเฉพาะ ถ้าทำแล้วเกิดผลเสียหายก็เป็นอันตราย
เพราะฉะนั้น ถ้าจะต้องทำ หรือเมื่อมีการกระทำ ก็ต้องทำให้ได้ผลดี
อันนี้เป็นจุดที่จะต้องระลึกตระหนักไว้ตั้งแต่ต้น
........................


อาตมภาพต้องขออภัยด้วยที่ไปอ่านเหตุผลในการที่จะบัญญัติ
พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ดังที่ปรากฏในเอกสารการประชุมที่ถวายไปนั้นแล้ว
ก็ไม่ค่อยเห็นด้วย ต้องขออภัย ท่านผู้ร่างด้วยว่าอย่าถือสากัน
จะขอนำมาอ่านไว้หน่อย มีดังนี้
“... ยังมีคนไทยอีกหลายคน รวมทั้งคนไทยที่เป็นชาวพุทธที่มีความรู้และตำแหน่งสูง
ไม่ยอมพูดว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ...
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้แน่ชัดว่า
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ...”


เรามีเหตุผลแค่นี้หรือ ที่จะเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
เพื่อจะให้คนทุกคนต้องพูดอย่างนี้ หรือแม้แต่ตอนท้ายก็จะพูดในทำนองเดียวกัน
ในตอนว่าด้วยผลที่คาดว่าจะได้รับ ก็บอกว่า
“... เป็นการยอมรับทั้งทางพฤตินัยและนิตินัยว่า
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย
จะได้ไม่เกิดความลังเล ความคลางแคลงใจ และการโต้เถียงกันว่า
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยจริงหรือไม่ ...”


อาตมภาพว่า แค่นี้มันไม่น่าจะเป็นเหตุผลเลย และไม่น่าจะมาหวังผลเพียงแค่นี้เลย
อย่างที่กล่าวแล้วว่า พระพุทธศาสนาไม่ใช่มีเพื่อตัวเอง
ถ้าจะทำเราไม่ได้ทำเพื่อพระพุทธศาสนานะ
เราจะต้องมีความคิดว่า ที่ทำนี้เราทำเพื่อสังคมไทยและเพื่อมนุษยชาติ
........................


เมื่อ ๓๐๐ กว่าปีก่อนโน้น บาทหลวงฝรั่งเศสชื่อว่า ฌอง เดอบูร์ เข้ามาเมืองไทยสมัยอยุธยา
ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเห็นอัธยาศัยไมตรีของพุทธศาสนิกชนคนไทย
ที่แสดงออกต่อคนต่างชาติต่างศาสนาแล้ว เกิดความประทับใจ
บาทหลวงผู้นั้น ได้เขียนจดหมายเหตุยืนยันไว้หนักแน่น
ซึ่งกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า ไม่มีประเทศไหนอีกแล้วในโลก
ที่คนมีเสรีภาพทางศาสนาเท่ากับในประเทศสยาม
(ในเมืองฝรั่งเศสของเขาเอง ตลอดแผ่นดินยุโรป จนแทบทั่วเอเชียเวลานั้น
มีแต่การรบราฆ่าฟันห้ำหั่นบีฑาบีบคั้นกันด้วยเรื่องศาสนา)
แม้ถึงบัดนี้ ในยุครัตนโกสินทร์ แผ่นดินรัชกาลที่ ๙
คำพูดของบาทหลวง ฌอง เดอบูร์ ก็ยังเป็นความจริงอยู่เหมือนเดิม
คำพูดของบาทหลวง ฌอง เดอบูร์ ที่บันทึกไว้ใน
จดหมายเหตุการณ์เดินทางของพระสังฆราชแห่งเบริต ว่าดังนี้
“ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะมีประเทศใดในโลก ที่มีศาสนาอยู่มากมาย
และแต่ละศาสนาสามารถปฏิบัติพิธีการของตนได้อย่างเสรีเท่ากับประเทศสยาม”
ความจริงที่ว่านี้ คนไทยในปัจจุบันมองเห็นหรือไม่ และจะรู้เข้าใจว่าเป็นจริงอย่างไร
ก็อยู่ที่ว่า คนไทยเหล่านั้นรู้จักสังคมของตนเองและรู้จักสังคมอื่นในโลกหรือไม่
สภาพที่เป็นจริงอย่างนี้ ไม่ควรจำกัดอยู่แค่ประเทศสยามเท่านั้น
แต่ควรแผ่ขยายไปให้มีเป็นสากลทั่วทั้งโลก


อย่างไรก็ตาม ตามสภาพที่ปรากฏในปัจจุบัน
ภาวะแห่งสันติภาพอย่างนั้นมิได้ขยายออกไป มีแต่ทำท่าว่าจะหดตัวแคบเข้าทุกที
แม้แต่ในประเทศไทยสยามนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะรักษาความดีงามที่เป็นจุดเด่นนี้
ไว้ให้ยืนยาวต่อไปในอนาคตได้นานเท่าใด
ถ้าต้องการให้ดินแดนสยามยังมีความดีงามอย่างที่บาทหลวงฝรั่งเศสชื่นชม
ด้วยความแปลกประหลาดอัศจรรย์ใจตั้งแต่ครั้งก่อนโน้นสืบต่อไป
และถ้าปรารถนาจะให้โลกนี้มีสันติสุข โดยการที่มนุษย์ทุกชาติศาสนามีไมตรีเป็นมิตรต่อกัน
คนไทยแห่งแดนสยามที่เคยได้รับความชื่นชมว่าดีเด่นในทางมีเสรีภาพที่เกื้อกูลแก่กันนี้
นอกจากมีเมตตาแล้ว จะต้องมีปัญญารู้เข้าใจ ทั้งรู้จักตัวเอง และรู้จักคนชาติศาสนาอื่นๆ
ให้ตรงตามความเป็นจริงด้วย จึงจะสามารถใช้เมตตานั้นสร้างสรรค์โลกแห่งความร่มเย็น
ที่คนอยู่ร่วมกันอย่างสุขสันต์ขึ้นมาได้
เฉพาะอย่างยิ่งในโลกบัดนี้ ที่เต็มไปด้วยการแบ่งแยกและความรุนแรง
เหมือนรอการแก้ไข คนไทยสมควรอย่างยิ่ง ที่จะคิดกันให้จริงจัง
ในการสืบค้นคุณสมบัติพิเศษแห่งชาติวัฒนธรรมของตนขึ้นมาอนุวัตรพัฒนา
ทำเมืองไทยสยามนี้ ให้เป็นแผ่นดินแบบอย่าง
ที่มนุษย์ทุกชาติเชื้อหมู่เหล่าอยู่ร่วมกันด้วยน้ำใจไมตรีมีสันติสุข”
http://www.fungdham.com/download/book/payutto/joahakwamjing.pdf
(ในการนี้ ผมแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้ลองอ่านหนังสือฉบับเต็มตามลิงค์ข้างต้นนะครับ
จะได้ความรู้มากเลยทีเดียว)


ท้ายที่สุดนี้ ในเรื่องการเสนอให้บัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้น
ผมขอยกบางส่วนในพระธรรมเทศนาของท่านหลวงตามหาบัว มาดังต่อไปนี้ครับ


(เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๘ เรื่อง ศาสนาอยู่ในหัวใจ)


“ถึงบัญญัติไม่บัญญัติให้เป็นศาสนาประจำชาติ บัญญัติขึ้นมาแล้วมันก็มาแก้ได้
บัญญัติว่าเป็นศาสนาประจำชาติ ก็ชาตินั่นแหละแก้เองทำลายเองมันก็ทำได้
แน่ะ พูดให้ตรงๆ หลวงตาบัวอยู่ในท่ามกลางแห่งประเทศไทย ดูรอบไปหมด
ดูทั้งตัวเองก็ดู ดูรอบไปหมดก็ดู เดี๋ยวนี้มันไปหาเกาตั้งแต่ที่ไม่คันนะ
หมาขี้เรื้อนมันเกาที่คัน ไอ้พวกเรานี่คันไม่คันเกาดะไปเลย
มันเป็นยังไงกับหมาขี้เรื้อน เทียบกันทางไหนเลวกว่ากัน
เมืองไทยเรานี้มันเลวกว่าหมาขี้เรื้อน มันไปหาเกาอย่างนี้ละ เกานั้นเกานี้
ความเคลื่อนไหวมันอยู่กับตัวเอง เคลื่อนไหวไปทางดี ทางชั่ว กลางๆ
เมื่อมาพิจารณาตรงนี้แล้วมันก็เป็นศาสนาประจำชาติประจำตัวตนด้วยกันทุกคนนั่นแหละ
ถ้าไม่สนใจปฏิบัติไปหาเกาโน้นเกานี้ บัญญัติสักกี่บัญญัติก็เท่าเดิมนั่นแหละ
บัญญัติไว้ก็บัญญัติเพื่อปฏิบัติ เมื่อไม่ปฏิบัติแล้วข้อบัญญัติก็ไม่มีความหมายอะไร
ให้ดูตัวเอง อย่าไปหาเกาในที่ไม่คัน หมาขี้เรื้อนเขาหาเกาที่ไหนถูกที่คันๆ
ไอ้เราไปที่ไหนเห็นแต่เกายุก ๆ ยิก ๆ มันคันที่ตรงไหนไม่ทราบ เป็นกระต่ายตื่นตูมไปด้วยกัน
กระต่ายตื่นตูมไม่มีหลักมีเกณฑ์ เห็นเขาเกาก็เกาด้วย พวกบ้าเกา
ธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ทุกแง่ทุกมุมนั้นคือองค์ศาสดา ๆ
ให้พี่น้องทั้งหลายชาวพุทธเราจำเอาไว้นะ ท่านแนะนำสั่งสอนตรงไหน ๆ
นั้นละคือองค์ศาสดา ๆ สอนผู้ใหญ่เด็กเล็กเด็กน้อย คือองค์ศาสดามาเคียงข้าง ๆ
ถ้าเราปฏิบัติตามนั้นแล้วเราก็มีศาสดามีศาสนา
ไม่ปฏิบัติแล้วบัญญัติสักเท่าไรก็ไม่มีความหมาย ประสากระดาษ
เอาตัวเองซี บัญญัติก็เพื่อจะมาปรับปรุงแก้ไขตนเอง
ไม่ดีตรงไหนก็แก้ตรงนั้น ๆ ก็ดีไปเท่านั้นเอง
อันนี้บัญญัติโน้นบัญญัตินี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ หาเกาในที่ไม่คัน สู้หมาขี้เรื้อนไม่ได้
เอา พูดให้มันชัด ๆ หมาขี้เรื้อนเขาเกาที่ตรงไหนมันคันที่ตรงนั้น เขาเกา
มนุษย์เรานี้เกาดะ ไม่ทราบว่าตรงไหนคันหรือไม่คันเกาดะ
มันคันหมดทั้งตัว มันคันออกมาจากหัวใจ
หัวใจมันเป็นหมาขี้เรื้อน มันดีดมันดิ้นด้วยความโลภ ความโกรธ ราคะตัณหา
ความทะเยอทะยาน อยากได้อยากมี อยากดีอยากเด่น
ทั้ง ๆ ที่ตัวเป็นคนชั่วก็อยากดีอยากเด่นแซงหน้าแซงหลัง
นี่มันเลยหมาขี้เรื้อนไปแล้ว เข้าใจไหม ถ้าอยากดีก็ทำตัวให้ดี ๆ ซิ มันก็ดีเท่านั้น”
http://luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=3427&CatID=2



++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++



หมายเหตุ - ณ วันที่เขียนบทความนี้ ศาลาปฏิบัติธรรมที่จังหวัดนครสวรรค์
ซึ่งกำลังจัดสร้างอยู่นั้นได้วางผัง และตอกหมุดเสร็จแล้ว
และจะดำเนินกลางลงเสาเข็มต่อไปครับ โดยก็เป็นไปตามหมายกำหนดการครับ


ขอเรียนเชิญญาติธรรมท่านที่สนใจร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม
เพื่อประโยชน์ในการจัดค่ายคุณธรรมสอนธรรมะแก่เด็ก ๆ เยาวชน
โดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ดังต่อไปนี้


ชื่อบัญชี นายสันติ คุณาวงศ์ นางปราณี ศิริวิริยะกุล และนางพจนา ทรัพย์สมาน
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาแฟรี่แลนด์ นครสวรรค์
บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 881-223306-7


ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมได้ที่
http://www.facebook.com/rooguyroojai
และสามารถติดตามความคืบหน้าของการเรี่ยไรและสำเนาหน้าสมุดบัญชีรับบริจาคได้ที่
กระทู้ในเว็บไซต์ลานธรรมตามลิงค์นี้ครับ
เชิญร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP