สารส่องใจ Enlightenment

ความจริงของชีวิต (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย




ต่อไปนี้จงพากันตั้งใจให้ดี
เวลานี้เรามาประชุมร่วมกัน เพื่อจะมาฝึกฝนอบรมจิตดวงเดียวนี้ล่ะ ไม่ใช่อย่างอื่นใด
เพราะว่าชีวิตทั้งคนมันก็มีจิตดวงเดียวนี้เอง เป็นแก่นแห่งคน
พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา ก็ทรงสอนจิตดวงเดียวนี้เอง
เพราะจิตดวงนี้มันข้องเกี่ยวอยู่ในโลกอันนี้แล้ว
มันเป็นทุกข์ เดือดร้อน โดยอาศัยขันธ์ทั้ง ๕ นี้
หมายความว่ามาอาศัยอยู่ในของที่ไม่เที่ยง
เมื่อของไม่เที่ยงแล้วมันก็เป็นธรรมดาที่ต้องหวั่นไหวไปมา ต้องทรุดโทรมตามกาลเวลา



ดังนั้นจิตที่อาศัยอยู่ในนี้ จึงถูกกระทบกระเทือนให้รู้สึกป่วนปั่นอยู่เรื่อยไป
เดี๋ยวก็ร้อนเดี๋ยวก็หนาว เดี๋ยวก็เจ็บนั่นปวดนี่ เป็นอยู่เช่นนี้
ถ้าพูดถึงส่วนใหญ่จริงๆ แล้ว ก็ได้แก่ ความพลัดพรากจากกันและกันไป
นับว่าเป็นเรื่องที่ควรคิดเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียวในชีวิตของคนเรา



เมื่อบุคคลไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไม่รู้แจ้งชีวิตนี้ตามความเป็นจริง
ก็ย่อมมีความผูกพันซึ่งกันและกัน อยู่ในโลกนี้
และผูกพันต่อวัตถุอะไรๆ ในโลกนี้
เมื่อเวลาจวนจะละโลกนี้ไป ก็ย่อมเป็นทุกข์ ไม่อยากพลัดพราก
ห่วงใย อาลัย เศร้าโศกเสียใจพิไรรำพันต่างๆ
หมายความว่าเมื่อตายไป ก็หอบเอาทุกข์ไปด้วยเป็นอย่างนี้
โลกสันนิวาสนี้ ชาติแล้วก็ชาติเล่า
เราเกิดมาชาติไหน ก็ต้องประสบกับความผิดหวัง ความไม่เที่ยงความไม่ยั่งยืนแห่งชีวิต
แล้วก็มาทุกข์โศกกับของไม่เที่ยงอยู่อย่างนี้



อันนี้ชี้แจงลักษณะอาการแห่งชีวิตสู่กันฟังซะก่อน
เพื่อจะได้รู้ว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแนะนำสั่งสอน
ให้พุทธบริษัทนั้น ประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรม มุ่งหมายอย่างไร
ก็มุ่งหมายดังกล่าวนี้ล่ะ มุ่งหมายที่จะถอนตนออกจากของไม่เที่ยงนี้
คือ ถอนดวงจิตนี้แหละ! ไม่ใช่อย่างอื่นใด



บัดนี้ เราจะมาถอนดวงจิตนี้ออกจากของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืนนี้
โดยวิธีอย่างอื่นนั้นน่ะมันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ามันไม่มีเหตุผลเพียงพอ
เช่นว่าบุคคลที่มีทรัพย์สมบัติมากๆ
แล้วจะเอาสมบัตินี้มาไถ่เอาชีวิตนี้ให้ยั่งยืนสืบต่อไป ก็ไถ่ไม่ได้
ดูคนผู้มีสมบัติมากๆ แล้ว จะเป็นผู้มีใจบริสุทธิ์ผุดผ่อง จะมีความสุขสบายใจมาก
อย่างนี้มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าสมบัติที่มีนั้นมันเป็นของไม่เที่ยง
ได้มาแล้วมันก็เสียไป หมดไปสิ้นไป
จิตดวงนี้ที่บริหารทรัพย์ต่างๆ ก็เป็นกังวลห่วงใย สารพัดที่มันจะกังวล
พูดง่ายๆ ว่าสมบัติมากเท่าใดทุกข์ก็มากเท่านั้น



พระศาสดาตรัสรู้แจ้งแทงตลอดอย่างนี้ จึงได้นำมาแนะนำสั่งสอนพุทธบริษัท
ให้ฝึกฝนอบรมจิตนี้ให้เข้าถึงความสงบ
แล้วจะได้เจริญปัญญาพิจารณาถึงความจริงแห่งชีวิตนี้ ให้เห็นตามความเป็นจริง
เมื่อเห็นตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะได้เกิดนิพพิทา ความเบื่อหน่าย
เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายความยึดความถือออกได้
ถ้ายังไม่เบื่อไม่หน่ายแล้ว มันจะไม่คลายออกเลยจิตใจนี้น่ะ



เหมือนอย่างเราเคี้ยวอาหารในปาก พอรู้ว่าอาหารคำนี้มียาพิษอยู่
มันรีบคายทิ้งทันที ล้างปากให้ดีซ้ำเสียด้วย กลัวยาพิษมันจะไปทำอันตรายต่ออวัยวะภายใน
แต่ถ้ามันไม่รู้ว่ามียาพิษอยู่ในนั้น มันก็ต้องกลืนเข้าไปถึงกระเพาะนู้น
ยาพิษก็ต้องออกฤทธิ์ทำลายอวัยวะน้อยใหญ่ของร่างกายให้ย่อยยับไป ฉันใดก็ฉันนั้น



เมื่อผู้ใดไม่ได้เพ่งพิจารณาดูอัตภาพร่างกายนี้ ให้เห็นตามจริงแล้ว
ก็มายินดีพอใจอยู่กับร่างกายนี้โดยส่วนเดียว ไม่เฉลียวใจนึกถึงความไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนของมัน
เมื่อเวลาความวิบัติมันมาถึงก็ต้องขมขื่นใจ ต้องได้รับความเศร้าใจเสียใจ
เหมือนกับบุคคลไม่รู้จักยาพิษ พอกลืนยาพิษเข้าไปถึงกระเพาะแล้วถึงได้รู้ว่าเป็นยาพิษ
มันสายแล้วมันแก้ไม่ตกเลย อันนี้ก็เช่นเดียวกันนั้นแหละ
การที่จะมารู้แจ้งชีวิตนี้ตามเป็นจริง
มันก็ต้องอาศัยการฝึกฝนอบรมจิตนี้ให้เกิดปัญญาเสียก่อน



เหมือนอย่างบุคคลที่ตาไม่สว่างอย่างนี้ ตามีฝ้าปิดบัง
แล้วจะไปมองวัตถุต่างๆ ให้มันเห็นแจ้งชัดได้อย่างไร
มันก็เห็นแต่พอเป็นเงาๆ ไม่สิ้นสงสัยเลย อันนี้ฉันใดก็ฉันนั้นนั้น
เมื่อบุคคลใดปล่อยให้กิเลส อวิชชา ตัณหา ความโลภ โกรธ หลง ครอบงำจิตใจไว้อย่างนี้
ใจนั้นก็เศร้าหมอง ขุ่นมัว กระแสจิตนั้นก็มัวหมอง ไม่ผ่องใส
ไม่สามารถมองเห็นความจริงในชีวิตได้ ก็ฉันนั้น



ดังนั้นข้อปฏิบัติในพุทธศาสนานี้
พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้พุทธบริษัทลงมือปฏิบัติตาม
ก็ล้วนแต่เป็นอุบายวิธีกำจัดกิเลสดังกล่าวมา ให้มันเบาบางออกไปจากจิตใจ
เมื่อเราปฏิบัติไปไม่ท้อถอย กิเลสมันก็เบาบางไปจริงๆ ทำไมจะไม่เบาบางเล่า
เช่นอย่างความโลภ ความตระหนี่ บุคคลจะไปกำจัดด้วยวิธีอื่นมันไม่ได้เลย
เพราะโลภ หมายความว่า อยากได้อะไรต่อมิอะไรไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อได้มาแล้วก็หวงแหนไว้
เมื่อบุคคลมาเห็นโทษแห่งความโลภ ความตระหนี่ ความหวงแหน ว่ามันเป็นทุกข์หลาย
หวงแหนไว้เท่าไหร่ แทนที่มันจะยั่งยืนก็ไม่ยั่งยืน
สมบัติพัสถานต่างๆ เหล่านั้นก็แปรปรวนไปหมด สูญสิ้นไปตามกาลเวลาของมัน



ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว จึงไม่หวงแหนไว้โดยส่วนเดียว
แบ่งทรัพย์สมบัติต่างๆ เหล่านั้นออกเป็นสัดเป็นส่วน
แล้วใช้จ่ายให้มันเกิดประโยชน์แก่ตนและครอบครัว ตลอดถึงส่วนรวมต่างๆ
เมื่อใช้จ่ายทรัพย์นั้นไปโดยทางที่ชอบ มันก็เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น
จิตใจของตนก็หายจากความห่วง ความหวง ความตระหนี่เหนียวแน่นเหล่านั้น
กิเลสเหล่านั้นก็เบาบางลงไปจากจิตใจ
หากยินดีจะจำแนกแจกจ่ายออกไปอย่างว่านั้น
ถ้าได้มาแล้วก็เอามาสะสมไว้ แม้แต่ตนเองจะเอามาใช้จ่าย มาบริโภค บำรุงครอบครัว
อย่างนี้ก็ยังฝืดเคืองเต็มที เสียดายกลัวจะหมดสิ้นไป
เช่นนี้ มันจะไม่ให้เป็นทุกข์อย่างไรเล่า ลองวาดมโนภาพดู



ดังนั้นการที่พุทธบริษัทได้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติทานวัตรดังที่ทำกันมานี้
มันก็เป็นเหตุให้บรรเทาเสียได้ซึ่งความโลภ อันเป็นฝ่ายอกุศล ให้เบาบางออกไปจากจิตใจ
เราเห็นได้ชัดๆ อย่างนี้ ผู้ใดปฏิบัติผู้นั้นเห็นได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องไปคอยถามแต่ผู้อื่นหรอก
เช่น เมื่อทำบุญให้ทานไปแล้ว ก็ไปนั่งพิจารณาดูใจตัวเอง
แหม! รู้สึกว่าเบามาก
ไม่ค่อยมีห่วงใยอะไรเหมือนแต่ก่อน
เหมือนแต่ยังไม่มีศรัทธาทำบุญบริจาคทาน มีแต่ห่วงมีแต่หวง
กลัวแต่สมบัติพัสถานเหล่านั้นจะสูญจะหายไปอยู่อย่างนั้น



เมื่อมารู้ความจริงของสิ่งต่างๆ ในโลกแล้ว
เมื่อมีได้มันก็ต้องมีเสีย ได้มาเท่าไรก็เสียไปเท่านั้น
อันนี้นับว่าเป็นความจริงอยู่ในตัวมันเลย
เมื่อรู้ความจริงนี่แล้ว จึงสามารถกำจัดความโลภ ความตระหนี่นั้นออกจากจิตใจได้
รู้จักจัดสรรปันส่วนสมบัติเงินทองเหล่านั้น
ใช้จ่ายให้มันเกิดประโยชน์ตนและประโยชน์ส่วนรวม ดังที่ได้กล่าวมา



แม้โลกคือหมู่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย เบียดเบียนซึ่งกันและกันอยู่ไม่หยุดยั้งนี้
ก็เนื่องมาจากความเห็นแก่ตัว เมื่อตนอยากได้อะไรมาอย่างนี้ต้องแสวงหามันไป
แม้ว่ามันจะไปทำลายความสุขของผู้อื่นก็ตาม มันจะไปทำลายชีวิตของสัตว์อื่นคนอื่นก็ตาม
แต่ขอให้ได้สิ่งที่ตนต้องการมา ใครจะเป็นทุกข์เดือดร้อนอย่างไรก็ช่างมัน
นี่เรียกว่าบุคคลเป็นผู้สะสมความเห็นแก่ตัวขึ้นในใจอย่างมากมาย
มันถึงเป็นเหตุให้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

พระศาสดาจึงทรงแนะนำสั่งสอนให้พุทธบริษัทนั้น
เจริญเมตตากรุณาต่อกันและกัน ไม่ให้เห็นแก่ตัวฝ่ายเดียว
เพราะว่าตนเองก็ได้อาศัยคนอื่นเป็นอยู่
ไม่ใช่ว่าตนเกิดมาคนเดียว อยู่คนเดียวในโลกนี้ก็อยู่ได้
ความจริงเกิดมาอยู่ในท่ามกลางของชุมนุมแท้ๆ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันจึงเป็นอยู่ไปได้



ดังนั้นมันจำเป็นที่เราต้องเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อกันและกัน ไม่อิจฉาเบียดเบียนซึ่งกันและกัน
เราถึงจะอยู่เป็นสุขไปได้ จะไม่มีภัยอันตรายต่างๆ
ผู้ใดมาคิดได้ดังนี้ มันก็งดเว้นจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกันทีเดียว
แม้สัตว์เดรัจฉานที่มันเกิดร่วมโลกกันอยู่นี้
เมื่อเราเพ่งดูความมุ่งหมายของสัตว์เดรัจฉาน
มันก็เหมือนกับความมุ่งหมายของมนุษย์เรานี่เอง
ความมุ่งหมายของสัตว์เดรัจฉาน มันก็ต้องการความสุข เบื่อหน่ายต่อความทุกข์
เช่นเดียวกับหมู่มนุษย์เรานี่เอง
มันก็หวงแหนชีวิตมัน เหมือนเราหวงแหนชีวิตของตัวเอง
มันไม่อยากให้ใครมาทำลายชีวิตของมัน เหมือนกับมนุษย์เรา
ซึ่งไม่ต้องการให้ใครมาทำลายชีวิตของตัวเองเช่นกัน



ถ้าหากบุคคลใดมาพิจารณาดังที่กล่าวมานี้แล้ว
ผู้นั้นก็จะเบียดเบียนสัตว์เดรัจฉานต่างๆ ไม่ได้เลย หาทางหลีกเว้นทีเดียว
ไม่ได้อ้างโน่นอ้างนี่อะไร ไม่ได้อ้างเพื่อปากเพื่อท้องอะไร
อ้างคุณธรรมนั้นมาเป็นหลักฐานพยาน ให้งดเว้นจากการเบียดเบียน
หมายความว่า เราถือธรรมเป็นใหญ่ พระศาสดาทรงสอนให้ถือธรรมเป็นใหญ่
เมื่อเราพิจารณาเห็นว่าทำอย่างไรมันเป็นธรรม
มันเป็นความดีความชอบต่อกันและกันแล้ว
เราก็ทำอย่างนั้น ทำไปอย่างนั้น พูดไปอย่างนั้น
เรียกว่าเราประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรม นำชีวิตไปตามธรรม



นี่แหละ การที่กิเลสบาปธรรมซึ่งหมักหมมอยู่ในจิตใจนี้มานาน มันจะเบาบางไป
ก็โดยที่เรามาปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังกล่าวมานั้น



ข้อนี้นะ ผู้ใดลงมือปฏิบัติตาม ผู้นั้นก็จะเห็นผลเห็นลู่ทางด้วยตนเอง
เพียงแต่ให้ผู้อื่นชี้แจงให้ฟังเท่านั้น เมื่อตนเองยังไม่ลงมือปฏิบัติตาม
สิ่งใดที่ท่านแนะนำให้เว้น ก็ยังไม่เว้นอย่างนี้ มันก็รู้ผลไม่ได้
เพราะไม่ได้ทำเหตุแล้วมันจะเห็นผลได้อย่างไร
ถ้าผู้ใดลงมือปฏิบัติตามแล้ว แน่นอนล่ะ มันต้องเห็นขึ้นมาด้วยตนเอง



การที่จะพิจารณาเห็นความจริงของชีวิตดังกล่าวมานี้
มันก็เป็นหนทางไปสวรรค์ ไปสู่พระนิพพานได้ ขอให้พิจารณาดูให้มันแจ่มแจ้ง
เมื่อคนเราไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน หรือว่าพูดเฉพาะตัวของใครของเราแต่ละคนก็แล้วกัน
เมื่อตนไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นสัตว์อื่นแล้ว ตนก็ไม่มีกรรมไม่มีเวรติดตัวไป
ตนทำแต่ความดี มีแต่สงเคราะห์เกื้อกูลทั้งแก่ตนเอง แก่ผู้อื่น และแก่สัตว์อื่น
แล้วมันจะไม่เป็นบุญกุศลอย่างไรล่ะ



ดังนั้นเมื่อละโลกนี้ไปแล้ว กุศลความดีต่างๆ เหล่านี้ มันจะพาบุคคลไปสู่ทุกข์น่ะไม่มีทาง
มันก็พาไปสู่ความสุขและความสบาย ไปสถานที่อยู่อันไม่มีเวรไม่มีภัย
เพราะว่าตนไม่ต้องการเวรภัยตั้งแต่เป็นมนุษย์
แล้วตนไม่สร้างเวรกับใคร ไม่ทำให้ใครเป็นทุกข์เดือดร้อนอยู่แล้ว
บุญกุศลความดีที่ตนทำสะสมไว้ในใจนั้น มันก็นำดวงจิตนี้ไปเกิด
ในสถานที่ที่ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีศัตรู มีความเป็นอยู่อย่างอิสรเสรี

อย่างนี้นะเราไม่ชอบกันเหรอ นี่ขอให้พิจารณาดูให้ดี



ทีนี้เมื่อเราบำเพ็ญจิตภาวนาอย่างนี้เรื่อยไปนะ
ความละความปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ มันก็เบาบางไปเรื่อยๆ
ก็ไม่เห็นแก่ตัวนี่ เมื่อตนไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นสัตว์อื่น
มันจะไม่มีปัจจัยเครื่องอาศัยมาบริโภคใช้สอยก็ลองดู
ถ้าหากว่ามันไม่มีปัญญาจะเอาโดยทางสุจริตมาบำรุงแล้ว
ก็ให้มันเหี่ยวแห้งดับไปซะร่างกายอันนี้น่ะ มันก็ต้องตัดสินใจลงอย่างนั้น



ธรรมดาผู้เห็นธรรม ผู้เห็นความจริงแห่งชีวิตดังกล่าวมานั้น
เมื่อเกิดความรู้ความเห็นขึ้นมาอย่างว่าแล้วนะ
ความโลภ ความโกรธ ความหลง พวกนี้มันก็เบาบางไปเรื่อยๆ
ตนมองดูด้วยปัญญา ตาใจแล้วว่า ทุกสิ่งไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา
เป็นแต่เพียงสมมุติว่ากันเฉยๆ หรอก
คำว่าเขาว่าเรา ว่าของเขาของเรา ว่าสิ่งนั้นน่ารัก สิ่งนี้น่าเกลียด สมมุติเอาต่างหาก
แต่มันก็เป็นความจริงของเรื่องสมมุตินั้นแหละ มันจริงไปตามเรื่องสมมุติ
แต่เรื่องที่น่ารักก็ดี เรื่องที่น่าเกลียดก็ดี
ทั้งสองอย่างนี้ล้วนแต่ไม่เที่ยงเหมือนกันหมด
เกิดขึ้นแล้วก็แตกดับไปเป็นธรรมดา

นี่กฎธรรมดาเป็นอย่างนี้



ดังนั้นเมื่อมาเพ่งพิจารณาด้วยปัญญาอย่างนี้แล้ว มันก็ลบสมมุตินั้นลง
แล้วมันก็มองเห็นแต่สภาวธาตุ สภาวธรรมเท่านั้นแหละ อยู่ในอัตภาพร่างกาย
ทั้งส่วนที่เป็นนามก็ดี ที่เป็นรูปก็ดี
มันก็เป็นแต่สภาวะอันหนึ่งๆ อาศัยกันอยู่โดยเหตุปัจจัย
เมื่อหมดเหตุปัจจัยต่างๆ เหล่านั้น
สภาวธาตุ สภาวธรรมต่างๆ เหล่านี้ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องแตกสลายลงอย่างนั้น



อุปมาเหมือนต้นไม้ต้นหนึ่งอย่างนี้นะ
ธรรมดาต้นไม้นี้อาศัยรากแก้วบ้างรากฝอยบ้าง
เที่ยวดูดอาหารไปหล่อเลี้ยงลำต้น กิ่งก้านสาขาและดอกใบ
ครั้นเมื่อนานไปๆ รากมันก็ค่อยผุค่อยกร่อนลงไป
ไม่สามารถจะดูดอาหารไปเลี้ยงลำต้นได้เต็มที่
กิ่งก้านสาขาก็พลอยเหี่ยวแห้งตายไปทีละน้อยๆ
เราจะมองเห็นต้นไม้ใหญ่ๆ นั้นเป็นอย่างนี้
ในที่สุดไม้ต้นนั้นก็ตาย โดยไม่มีใครไปโค่นไปตัด มันก็ตายยืนอยู่นั้น
เพราะว่ามันไม่สามารถดูดอาหารไปหล่อเลี้ยงลำต้นได้



อันนี้ฉันใดก็ฉันนั้น อัตภาพร่างกายอันนี้ เมื่อเราอาศัยมันไปนานเข้า
ใช้สอยมันไป ใช้มันทำการทำงานอะไรต่ออะไรไปนานเข้า
มันก็สึกหรอไปเรื่อยๆ มันก็ชำรุดทรุดโทรมไปเรื่อยๆ
ต่อเมื่อธาตุทั้ง ๔ นี้มันทรุดโทรมลงไป
แม้จะรับประทานอาหารลงไป การย่อยอาหารต้องอาศัยน้ำย่อย
ที่จะไปหล่อเลี้ยงร่างกายนั้นก็ไม่เพียงพอ เพราะว่าธาตุไฟก็อ่อนกำลังลงอย่างนี้นะ
ลมที่จะพัดพาอาหารอันที่ไฟธาตุย่อยไปแล้วนั้น ไปหล่อเลี้ยงร่างกายอย่างนี้ก็ไม่เพียงพอ
เพราะอะไรล่ะ เพราะธาตุทั้ง ๔ นั้นมันร่อยหรอลงไปแล้ว



ดังนั้น ร่างกายนี้จึงได้ซูบซีด ชำรุดทรุดโทรมลงไปตามลำดับ
เมื่อธาตุทั้ง ๔ นี้มันไม่ปรองดองสามัคคีกันมากๆ เข้าแล้ว
ข้าวมันก็ไม่อยาก น้ำมันก็ไม่หิว รับประทานลงไปนิดๆ หน่อยๆ ก็อิ่ม
ทีนี้จะให้อาหารนั้นไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้อย่างไร
พอกลืนลงไป ไฟธาตุก็ย่อยไม่ละเอียดเสียแล้ว ไฟธาตุมันก็อ่อนแอลง
เช่นนี้บุคคลก็มองเห็นแล้วว่า ความตายมันใกล้เข้ามาเต็มที



อันนี้แหละ ควรพากันใช้ปัญญาเพ่งพิจารณาดูสภาวธาตุสภาวธรรม
อันมีอยู่ในอัตภาพร่างกายอันนี้นะ
มันเที่ยงมันยั่งยืนหรือไม่ มันเป็นของเราจริงหรือ
อย่างนี้ก็เพ่งดูให้มันเห็นแจ้งด้วยปัญญา
อย่าเพียงแต่ว่าจำเอาตามคำพูดของท่านว่าให้ฟัง หรือจำเอาตามตำรับตำราว่าไว้เฉยๆ
จงเพ่งดูด้วยตาใจให้มันสว่าง มองเห็นอัตภาพร่างกายทุกส่วนนี้โดยปรมัตถธรรม

คือธรรมอันยิ่งหรือว่าธรรมของจริง
มันจะเห็นแต่เพียงสภาวะอันหนึ่งๆ อาศัยกันอยู่หรือสภาวธาตุนี่แหละ
มันอาศัยกันอยู่เท่านั้นเอง เมื่อหมดเหตุปัจจัยแล้ว
มันก็สลายออกไปจากกัน ก็มีเท่านี้เอง อัตภาพร่างกายอันนี้



เวลาเหตุปัจจัย คือบุญกุศลยังหล่อเลี้ยงร่างกายอันนี้สมบูรณ์อยู่
ก็ปรากฏว่าร่างกายนี้มีผิวพรรณวรรณะผ่องใสดี เปล่งปลั่งดี
ไปมาทางไหนก็คล่องแคล่ว รับประทานก็ได้ นอนก็หลับดี
คนก็เลยมักชะล่าใจตรงนี้ คิดว่าตนนั้นจะยังไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายก่อน ยังแข็งแรงดีอยู่
เลยเพลิดเพลินเจริญใจไปตามสังขารร่างกายอันนี้ไป
โดยไม่คำนึงถึงความจริงของชีวิตให้เห็นตามเป็นจริงแล้ว
เรียกว่าไม่พยายาม ไม่ทำความเพียรทางจิตใจ
นึกว่าตนจะยังไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายง่ายก่อน
จึงไม่พยายามสร้างที่พึ่งทางใจให้เกิดมีขึ้น



คนส่วนมากเมื่อเป็นเช่นนี้ พระศาสดาตรัสว่า
ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยความประมาทอย่างว่านี้นะ แม้จะมีอายุยืนไปตั้งร้อยปี
ก็ยังสู้ผู้มีชีวิตเป็นอยู่วันเดียว แต่ไม่ประมาทไม่ได้

ผู้ไม่ประมาทนี้น่ะหมายถึงผู้มีสติ มีสมาธิ มีปัญญาอยู่ในใจ
มองเห็นสังขารร่างกายนี้ เป็นของแตกดับ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ตัวตน
แล้วก็ละบาปอกุศลออกจากจิตใจไป อย่างนี้นะ
ให้มีแต่บุญกุศลปรากฏอยู่ในจิตใจได้
ผู้นั้นแม้จะมีชีวิตอยู่วันเดียวแล้วตาย
ก็ย่อมมีสุคติเป็นที่ไป ทุคตินั้นปิดแล้วไม่ไป
เพราะเหตุว่ามีปัญญาเห็นแจ้งแล้วว่าอันนี้คืออกุศล
อย่างนี้ก็กำหนดละมันไปแล้ว นี่คือกุศลก็กำหนดรู้ไว้ในใจ



ดังนั้น เมื่อบุคคลใดฉลาด รู้จักคัดเลือกอกุศลออกจากจิตใจไป
แล้วน้อมรับเอาแต่กุศลธรรม ให้เป็นเครื่องอยู่ภายในจิตใจดังได้กล่าวมาแล้ว
ผู้นั้นแหละ พระศาสดาทรงกล่าวว่าเป็นสัตบุรุษ
เรียกว่าเป็นผู้มีสติ มีปัญญาเฉลียวฉลาด
รู้จักละสิ่งที่ควรละ รู้จักกระทำสิ่งที่ควรกระทำ
ให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นในจิตใจของตน



การภาวนานี้จึงชื่อว่า เป็นเครื่องกำจัดความหลง ความเข้าใจผิดต่างๆ นั้น
ออกจากจิตใจได้จริงๆ

เพราะว่าแต่ก่อนนั้น เมื่อเราไม่ได้ภาวนา ไม่ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ทุกคนก็ย่อมสำคัญว่า ร่างกายนี้เป็นตัวเป็นตนของตนอยู่อย่างนั้นแหละ
เหตุนั้นจึงได้เพลิดเพลินมัวเมา จึงได้หวงแหน ใครจะมาด่าว่าติเตียนไม่ได้
โกรธเป็นฟืนเป็นไฟหาว่าเขาดูถูกเหยียดหยามตน ข่มเหงตนอะไรต่ออะไรไปทั่ว
มนุษย์เราถึงได้เบียดเบียนกันและกัน มันไม่ยอมให้อภัยแก่ใครเลย ถือตัวจัด
คนหลงเข้าใจผิด คิดว่าร่างกายนี้ เป็นตัวเป็นตน
จึงมีแต่ความทุกข์ ความเดือดร้อนติดตัวไป ทั้งในปัจจุบันและในเบื้องหน้า

เป็นอย่างนั้น มันมีเครื่องเทียบกันได้อยู่นะ



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก “ความจริงของชีวิต” ใน วรลาโภวาท
ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพพระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ) ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๒


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP