จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๑๔๐ วิธีรู้สึกดีขึ้นกับคนที่คุณเกลียด



วิธีที่ดีที่สุด
ที่จะรู้สึกดีขึ้นทันทีกับคนที่คุณเกลียด
คือมองเขาเป็นเครื่องฝึกจิต
จะได้เห็นว่า
เขาช่วยทำให้ชีวิตคุณก้าวหน้ากว่าคนทั่วไปมาก

ความรู้สึกที่มีต่อคนคนหนึ่ง
ไม่ได้อยู่ที่ความเป็นเขาถ่ายเดียว
แต่อยู่ที่มุมมองของคุณเองด้วย

มองอย่างคาดหวัง
ก็ให้ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์แบบรอความหวัง
หรือผิดหวังสมหวัง 
ทั้งที่เขาอาจไม่ได้อยากรับฝากความหวังให้คุณ

มองอย่างเป็นเพื่อนร่วมโลก
ก็ให้ความรู้สึกพึ่งพาซึ่งกันและกัน
แบบคนที่ต้องอาศัยโลกใบเดียวกัน
คนหนึ่งทำไว้กับโลกอย่างไร
อีกคนก็ได้รับผลกระทบจากความเป็นโลกอย่างนั้น

มองอย่างเป็นศัตรูคู่แข่ง
ก็ให้ความรู้สึกว่าต้องเอาชนะคะคานกัน ทำลายกัน
ยอมกันไม่ได้ ถอยแม้แต่ก้าวเดียวไม่ได้
หรือกระทั่งเป็นสุขกับการอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้

แต่ถ้ามองอย่างเป็นเครื่องฝึกจิต
ความรู้สึกทั้งหมดจะพลิกกลับ
เพราะธรรมดาคนเราจะไม่คิดฝึกจิต
ฉะนั้น เมื่อใครบางคนกลายเป็นที่ตั้งของการฝึกหัด
ความตั้งใจนั้น จะช่วยให้มองย้อนเข้ามาที่ตัว
รู้สึกเข้ามาที่ใจ รู้จักเทียบวัด
เห็นจิตของตัวเองดีขึ้นหรือแย่ลงได้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

คุณเลือกฝึกได้สารพัด
ฝึกควบคุมตนเองในสถานการณ์อึดอัด
ฝึกความฉลาดเลือกคำพูดผ่าทางตัน
ฝึกคิดหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับทุกฝ่าย
และที่สุดอันเป็นที่สุด คือ
ฝึกสมาธิแบบแผ่เมตตา

การฝึกแผ่เมตตาให้เข้าถึงอัปปมัญญาสมาบัติ
หรือเอาให้ได้สมาธิชั้นเลิศนั้น
พระพุทธเจ้าก็แนะให้ใช้ความผูกใจเกลียดนี่เอง เป็นตัวตั้ง
โดยพิจารณาความเกลียดเหมือนโรคภัยไข้เจ็บ
คนเราเมื่อหายป่วยได้ ก็กลับฟื้นมีกำลังวังชาได้
ดีใจได้ว่าเราหายแล้ว หรือทุเลาป่วยแล้ว
ความรู้สึกนั้นย่อมให้ความโล่งอกเบาใจ
ความโล่งอกเบาใจจากอารมณ์เกลียด
ปรุงแต่งจิตให้สว่าง ปลอดโปร่ง แผ่ผาย เป็นกุศลใหญ่
จึงง่ายที่จะพัฒนาเป็นจิตใหญ่ ตั้งมั่นเป็นสมาธิ
เพียงแค่จดจ่อรู้อยู่กับรสสุข สว่างโล่งจากอารมณ์เกลียดนั้น

เพียงระลึกว่า
ไม่มีใครเป็นเป้าฝึกจิตได้เหมาะเท่าคนที่คุณเกลียด
คนที่คุณเกลียดจะไม่น่ารังเกียจอีกต่อไป
ยิ่งถ้าคุณฝึกจิตข้อไหนสำเร็จ 
พัฒนาจิตให้ก้าวหน้าขึ้นได้จริง
เมื่อนั้น ภาพในใจของคนที่คุณเกลียด
อาจสว่างเรืองรอง ให้ความรู้สึกดีเกินกว่าจะคาดได้ถูกด้วย

 

ดังตฤณ
ตุลาคม ๕๗

 

 

 

 

 

 

alt

 

 

ขันติคือความอดทนอดกลั้น
เป็นตบะธรรม อันนำตนให้พ้นจากทุกข์ได้
ดังความในพระธรรมเทศนา โดย หลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ
ใน "สารส่องใจ" เรื่อง "ขันติอด ขันติทน" (-/\-)

การมองโลกตามความเป็นจริงด้วยความเข้าใจ
โดยเฉพาะในยามที่ชีวิตพบปัญหา
อาจเกิดประโยชน์กว่าการเลือกมองแต่เฉพาะในแง่ดีหรือร้าย
ดังที่คุณงดงามนำมาบอกเล่าไว้ใน "จุดหมายปลายธรรม"
ตอน "มองโลกแง่ลบและแง่บวก"

ส่วนใครที่กำลังเผชิญปัญหาสารพัด จนทุกข์หนัก เครียดจัด
เหมือนชีวิตมีแต่เรื่องเลวร้าย จนทนแทบไม่ไหว
"ดังตฤณวิสัชนา" ฉบับนี้ มีคำตอบให้
ในตอน "มีวิธีชะลอการให้ผลของกรรมไม่ดีบ้างไหม"



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP