จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ดีหรือร้ายใครจะรู้


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



139 destination



ท่านผู้อ่านเคยรู้สึกบ้างไหมครับว่าเรื่องราวในชีวิตล้วนไม่แน่ไม่นอน
บางสิ่งบางอย่างที่เราคาดว่าน่าจะดี แต่ท้ายสุดแล้วอาจจะไม่ดีก็ได้
หรือบางสิ่งบางอย่างที่เราคาดว่าน่าจะไม่ดี แต่ท้ายสุดแล้วก็อาจจะดีก็ได้
อย่างเรื่องที่เราอาจจะเคยเห็นตามข่าวอยู่ไม่น้อย
ก็คือกรณีที่บางคนเป็นแฟนกันหรือแต่งงานกัน ซึ่งก็ดูมีความสุขดี
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็มีปัญหากันแล้วก็เลิกรากันไป
โดยที่บางทีก็อาจจะมีการทำร้ายกัน หรืออาจถึงกับฆ่ากันเลยก็มี
ซึ่งกลายเป็นว่าการที่มาเป็นแฟนกันหรือแต่งงานกันนี้กลับเป็นโทษไปเสีย
ในชีวิตจริง หลายท่านก็คงได้พบเห็นเหตุการณ์ทำนองนี้มาไม่น้อย



นอกจากนี้ เราอาจจะลองพิจารณาเหตุการณ์ใกล้ตัวเราในแต่ละวันก็ได้
ถ้าปกติเราขับรถอยู่แล้ว เราย่อมจะได้เจอเหตุการณ์ค่อนข้างบ่อยเลย
ที่ว่าเราเลือกเดินทางไปในเส้นทางจราจรเส้นทางหนึ่ง
โดยคิดว่าการจราจรน่าจะดี รถน่าจะไม่ติด
แต่พอไปจริง ๆ แล้ว ปรากฏว่าการจราจรแย่มาก หรือรถติดมาก
หรือเราจำเป็นต้องเดินทางไปในเส้นทางจราจรเส้นทางหนึ่ง
ซึ่งเราคิดว่าการจราจรน่าจะแย่มาก แต่พอไปจริง ๆ ปรากฏว่าไปได้สบาย ๆ ก็มี
หรือถ้าจะให้ละเอียดกว่านั้น เวลาเราขับรถและต้องการเปลี่ยนเลน
โดยเข้าใจว่าเลนที่เราอยู่ไปได้ช้า เราควรเปลี่ยนไปเลนข้าง ๆ น่าจะเร็วกว่า
แต่พอเปลี่ยนเลนไปจริง ๆ แล้ว ปรากฏว่าเลนเดิมกลับไปได้เร็วกว่า ก็มี
ความไม่แน่นอนเหล่านี้เราสามารถเห็นได้อยู่เสมอในชีวิตประจำวัน



หากพิจารณาเรื่องเล่าในเรื่องความไม่แน่นอนแล้ว
บางท่านอาจเคยได้อ่านเรื่องเล่าต่อไปนี้ในโซเชียลมีเดีย หรืออินเตอร์เน็ตนะครับ
เรื่อง “โชคดี โชคร้าย ใครจะรู้”
ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีชายคนหนึ่งมีอาชีพทำนาอยู่บริเวณชายป่า

เขาเลี้ยงม้าเอาไว้หลายตัว มีม้าอยู่ตัวหนึ่งของเขาเป็นม้าที่สวยงามมาก
เพื่อนบ้านต่างพากันบอกว่า “โชคดีจริงๆนะ ที่ท่านได้เป็นเจ้าของม้าแสนสวยตัวนี้”
ชาวนาจึงตอบออกไปว่า “โชคดี โชคร้าย ใครจะรู้”



วันหนึ่ง ม้าที่แสนงามตัวนั้น เกิดหลุดออกจากคอก แล้ววิ่งหนีเตลิดเข้าป่าหายไป
เพื่อนบ้านของเขาต่างก็กล่าวว่า
“โชคร้ายจริงๆ นะท่าน ม้าแสนสวยของท่านหนีไปเสียแล้ว”
“โชคดี โชคร้าย ใครจะรู้” ชาวนาตอบ


หลายวันต่อมา ม้าของเขาที่หนีเข้าป่าไป ก็กลับออกมา
และคราวนี้มันกลับมาพร้อมกับนำม้าป่าที่สวยงามอีกสี่ห้าตัวมาด้วย
เพื่อนบ้านของเขาก็กล่าวอีกว่า
“ท่านช่างโชคดีอะไรอย่างนี้ ได้ม้าสวย ๆ มาฟรี ๆ ตั้งสี่ห้าตัว”
ชาวนาก็ตอบเช่นเดิมว่า “โชคดี โชคร้าย ใครจะรู้”


วันต่อมา ลูกชายของเขาพยายามเอาม้าป่าที่ได้มาใหม่ ออกไปฝึก
แต่ม้าป่ามันพยศ และสะบัดลูกชายของเขาตกจากหลังม้า จนขาหัก
เพื่อนบ้านของเขาจึงกล่าวว่า “โชคร้ายอะไรอย่างนี้นะ ลูกชายท่านขาหักเสียแล้ว”
ชาวนาตอบกลับเช่นเดิมว่า “โชคดี โชคร้าย ใครจะรู้”


อาทิตย์ถัดมา ข้าราชการทหารมาที่หมู่บ้าน และมาเกณฑ์เอาทหารไปออกรบ
เด็กหนุ่มทุกคนในหมู่บ้านต้องถูกบังคับให้ไปเป็นทหาร
แต่ลูกชายของชาวนา ขาหักนอนรักษาตัวอยู่ จึงไม่ถูกเกณฑ์ไปรบ
เพื่อนบ้านของเขาจึงกล่าวว่า “ท่านช่างโชคดีจริง ๆ ที่ลูกชายไม่ต้องถูกเกณฑ์ไปรบ”
ชาวนาก็ยังคงกล่าวเหมือนอย่างที่เคยพูดเสมอมาว่า “โชคดี โชคร้าย ใครจะรู้”
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=923239


เรื่องความไม่แน่นอนเหล่านี้ก็เป็นเรื่องปกติในชีวิตของมนุษย์เรา
อย่างตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เขาก็มีประมาณการกันอยู่เรื่อย ๆ

แล้วก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ เช่นกันเพราะมันไม่แน่นอน
ซึ่งหากเราสามารถเข้าใจและยอมรับกับความไม่แน่นอนเหล่านี้ได้

เราก็จะไม่ไปหมกมุ่นหรือทุ่มเทคาดหวังให้สิ่งต่าง ๆ ต้องเป็นดังใจ
เพราะเราไม่มีญาณปัญญาที่จะสามารถรู้อนาคตได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นและเมื่อไร
โดยแม้แต่ขันธ์ ๕ ในกายในใจเราเอง เรายังสั่งให้มันเป็นดังใจไม่ได้

นับประสาอะไรกับสิ่งภายนอกใกล้ตัวหรือไกลตัว เราก็สั่งมันไม่ได้เช่นกัน


อย่างไรก็ดี การที่เข้าใจและยอมรับความไม่แน่นอนเหล่านี้
ก็ไม่ได้แปลว่าอะไรมา อะไรเกิดขึ้น เราก็ยินดีพอใจทุกอย่าง
แล้วเราก็ปล่อยให้ชีวิตไหลไปตามยถากรรมนะครับ
การที่เรายอมรับในความไม่แน่นอน เพราะเราไม่มีญาณปัญญา
ที่จะสามารถรู้อนาคตได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นและเมื่อไร
เราจึงไม่ไปหมกมุ่นหรือโลภให้ผลจะต้องเกิดขึ้นดังใจเรานั้น

ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่มุ่งมั่นสร้างเหตุปัจจัยที่ดี เพื่อให้เกิดผลที่ดีแต่อย่างใด
เปรียบเสมือนกับกรณีของชาวนาปลูกข้าว
โดยหากเราถามว่าชาวนาจะต้องได้ข้าวแน่นอนหรือไม่
ก็ตอบว่าไม่แน่ เพราะว่าอาจจะมีเหตุอุทกภัยน้ำท่วม หรืออาจจะมีภัยแล้ง
หรือมีเหตุแทรกแซงอื่น ๆ ที่ทำให้ท้ายที่สุดแล้วนาข้าวเกิดความเสียหาย
และชาวนาไม่ได้ข้าวก็ได้ แต่ถึงจะมีความไม่แน่นอนดังกล่าวก็ตาม
ชาวนาก็พึงตั้งใจและลงทุนลงแรงปลูกข้าวอย่างเต็มที่


ถามว่าทำไมชาวนาพึงตั้งใจและลงทุนลงแรงปลูกข้าวอย่างเต็มที่
ตอบว่าเพราะแม้ว่าชาวนาจะไม่รู้ผลที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนก็ตาม
แต่ว่าในโลกใบนี้ ก็ยังมีกำหนดในบางเรื่องที่เป็นสิ่งที่แน่นอน
โดยเรียกว่า “นิยาม” ซึ่งมีอยู่ ๕ เรื่อง หรือเรียกว่า “นิยาม ๕”
ได้แก่ กำหนดอันแน่นอน หรือความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอนของธรรมชาติ

หรือกฎธรรมชาติ อันประกอบด้วย
๑. “อุตุนิยาม” คือกฎธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิ หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ
โดยเฉพาะดินน้ำอากาศ และฤดูกาล อันเป็นสิ่งแวดล้อมสำหรับมนุษย์
๒. “พีชนิยาม” คือกฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ มีพันธุกรรมเป็นต้น
๓. “จิตตนิยาม” คือกฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต
๔. “กรรมนิยาม” คือกฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์
หรือกระบวนการให้ผลของการกระทำ และ
๕. “ธรรมนิยาม” คือกฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์

และอาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันแห่งสิ่งทั้งหลาย
http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=223


ด้วยเหตุที่มีนิยาม ๕ เป็นกำหนดอันแน่นอน หรือมีกฎธรรมชาติอยู่
เราจึงควรเลือกที่จะสร้างเหตุและปัจจัยที่ดี เพื่อให้เกิดผลที่ดีและเป็นประโยชน์

และหลีกเลี่ยงที่จะสร้างเหตุและปัจจัยที่ไม่ดี เพื่อหลีกเลี่ยงผลที่ไม่ดี และเป็นโทษ
ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องของกฎแห่งกรรม เราทุกคนย่อมเป็นไปตามกรรมที่ได้ทำไว้
เราอาจจะไม่สามารถรู้ได้อย่างแน่ชัดว่า ชีวิตในอนาคตเราจะเป็นอย่างไร
แต่เราก็พึงย่อมรู้ได้อย่างแน่นอนว่า หากเราทำดี คบคนดี ละเว้นความชั่ว
ก็ย่อมจะเป็นเหตุและปัจจัยให้ได้พบสิ่งที่ดีทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
แต่ในทางกลับกัน หากเราทำความชั่ว คบคนพาล ไม่ทำความดี

ก็ย่อมจะเป็นเหตุและปัจจัยให้เราได้พบสิ่งไม่ดีทั้งในปัจจุบันและในอนาคต


ฉะนั้นแล้ว แม้ว่าเราจะไม่สามารถรู้ได้อย่างแน่นอนว่า อนาคตชีวิตเราจะเป็นอย่างไร
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราสามารถปล่อยให้ชีวิตไหลไปตามยถากรรมไม่มีทิศทาง
ในทางกลับกัน เราพึงระลึกว่าในโลกนี้ยังมีนิยาม ๕ ในสังสารวัฏยังมีกฎแห่งกรรม
ดังนั้น เราพึงสร้างเหตุและปัจจัยที่ดี โดยการทำความดีในชีวิต
ละเว้นความชั่วทั้งหลาย และฝึกฝนปฏิบัติเพื่อให้จิตใจบริสุทธิ์
เราก็ย่อมจะทราบได้แน่นอนเหตุปัจจัยเหล่านี้ ย่อมจะส่งผลให้อนาคตของเราดี

แต่หากเราสร้างเหตุปัจจัยไม่ดี ก็ย่อมจะส่งผลให้อนาคตไม่ดี
เช่นนี้แล้ว หากเรา “ถามว่าดีหรือร้ายใครจะรู้”
เราก็ตอบได้ว่า “เรารู้” นะครับ เพราะว่าเราเป็นคนทำอยู่เองในขณะที่ทำนั้น
กล่าวคือเมื่อเราทำดี เราก็รู้ได้ว่านี้เป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้อนาคตดี

และเมื่อเราทำไม่ดี เราก็รู้ได้ว่านี้เป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้อนาคตไม่ดีครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP