ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ภิกขุสูตร ว่าด้วยบุคคล ๓ จำพวกในทางโลกและทางธรรม



กลุ่มไตรปิฎกสิกขา




[๔๕๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ นี้ มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๓ เป็นไฉน คือ
บุคคลผู้ไร้ความหวัง บุคคลผู้มีความหวัง บุคคลผู้สิ้นความหวังแล้ว


ก็บุคคลอย่างไร ชื่อว่าผู้ไร้ความหวัง
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลต่ำ
คือตระกูลจัณฑาลก็ดี ตระกูลช่างสานก็ดี ตระกูลพรานก็ดี
ตระกูลช่างทำรถก็ดี ตระกูลคนรับจ้างเทขยะก็ดี ทั้งยากจน ขัดสนข้าวน้ำโภชนะ
เป็นอยู่อย่างแร้นแค้น หาอาหารและเครื่องนุ่งห่มได้โดยฝืดเคือง
ซ้ำเป็นคนขี้ริ้วขี้เหร่ เตี้ยแคระ มากไปด้วยโรค คือ ตาบอดบ้าง เป็นง่อยบ้าง
กระจอกบ้าง เปลี้ยบ้าง ไม่ใคร่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ดอกไม้
ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และเครื่องประทีป
บุคคลผู้นั้นได้ยินข่าวว่า เชื้อพระวงศ์ผู้มีพระนามอย่างนี้
อันบุคคลผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ทั้งหลายอภิเษกให้เป็นกษัตริย์แล้ว
ความหวังอย่างนี้ย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้นว่า
เมื่อไรหนอ บุคคลผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ทั้งหลายจักอภิเษกเราให้เป็นกษัตริย์บ้าง


ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า บุคคลผู้ไร้ความหวัง



ก็บุคคลอย่างไร ชื่อว่าผู้มีความหวัง
ภิกษุทั้งหลาย พระโอรสองค์ใหญ่ของพระราชาผู้เป็นกษัตริย์มุรธาภิเษก
ยังมิได้รับอภิเษกด้วยน้ำอภิเษก เป็นผู้มั่นคงแล้ว
พระโอรสนี้ได้สดับข่าวว่า เชื้อพระวงศ์ผู้มีพระนามอย่างนี้
อันบุคคลผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ทั้งหลายอภิเษกให้เป็นกษัตริย์แล้ว
ความหวังอย่างนั้นย่อมมีแก่พระโอรสได้ว่า
เมื่อไรหนอ บุคคลผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ทั้งหลายจักอภิเษกเราให้เป็นกษัตริย์บ้าง


ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า บุคคลผู้มีความหวัง


ก็บุคคลอย่างไร ชื่อว่าผู้สิ้นความหวังแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย พระราชาผู้เป็นกษัตริย์ได้รับมุรธาภิเษกแล้ว
พระราชานั้นทรงสดับข่าวว่า เชื้อพระวงศ์ผู้มีพระนามอย่างนี้
อันบุคคลผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ทั้งหลายอภิเษกให้เป็นกษัตริย์แล้ว
ความหวังอย่างนี้ไม่มีแก่พระราชานั้นว่า
เมื่อไรหนอ บุคคลผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ทั้งหลายจักอภิเษกเราให้เป็นกษัตริย์บ้าง
นั่นเพราะเหตุอะไร เพราะความหวังในการอภิเษกของพระองค์
เมื่อครั้งยังมิได้อภิเษกนั้นสงบระงับไปแล้ว


ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า บุคคลผู้สิ้นความหวังแล้ว


ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ นี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก


ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล บุคคล ๓ ก็มีปรากฏอยู่ในหมู่ภิกษุ
บุคคล ๓ เป็นไฉน คือ บุคคลผู้ไร้ความหวัง บุคคลผู้มีความหวัง บุคคลผู้สิ้นความหวังแล้ว


ก็บุคคลอย่างไร ชื่อว่าผู้ไร้ความหวัง
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ไม่สะอาด
มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการงานอันปกปิด
ไม่เป็นสมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่เป็นพรหมจารี แต่ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี
เป็นคนเน่าใน เปียกชุ่มรกเรื้อ (ด้วยกิเลสโทษ)
บุคคลนั้นได้ยินข่าวว่า ภิกษุชื่อนี้กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้
เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ด้วยความรู้ยิ่งด้วยตนเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ความหวังอย่างนี้ย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้นว่า
เมื่อไรเล่า เราจักกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้
เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ด้วยความรู้ยิ่งด้วยตนเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันบ้าง


ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า บุคคลผู้ไร้ความหวัง


ก็บุคคลอย่างไร ชื่อว่าผู้มีความหวัง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม
ภิกษุนั้นได้ยินข่าวว่า ภิกษุชื่อนี้กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้
เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ด้วยความรู้ยิ่งด้วยตนเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ความหวังอย่างนี้ย่อมมีได้แก่ภิกษุนั้นว่า
เมื่อไรเล่า เราจักกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้
เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ด้วยความรู้ยิ่งด้วยตนเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันบ้าง


ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า บุคคลผู้มีความหวัง


ก็บุคคลอย่างไร ชื่อว่าผู้สิ้นความหวังแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว
เธอได้ยินข่าวว่า ภิกษุชื่อนี้กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้
เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ด้วยความรู้ยิ่งด้วยตนเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ความหวังอย่างนี้ย่อมไม่มีแก่เธอว่า
เมื่อไรเล่า เราจักกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้
เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ด้วยความรู้ยิ่งด้วยตนเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันบ้าง
นั่นเพราะเหตุอะไร เพราะความหวังในวิมุตติของเธอ
เมื่อครั้งยังไม่วิมุตตินั้น สงบระงับไปแล้ว


ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า บุคคลผู้สิ้นความหวังแล้ว


ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ นี้แล มีปรากฏอยู่ในหมู่ภิกษุ.


ภิกขุสูตร จบ



หมายเหตุ บางส่วนในอรรถกถาอธิบายว่า
คำว่า “กระจอก” ได้แก่ คนขาเขยกข้างเดียวบ้าง คนขาเขยกสองข้างบ้าง



(ภิกขุสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP