จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เคารพพระธรรม


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



128 destination


ในคราวที่แล้ว เราได้สนทนากันในเรื่องการถอดรองเท้าในเวลาใส่บาตร
โดยในเนื้อหานั้น เราได้กล่าวถึงศีลข้อเสขิยวัตร (ธัมมเทสนาปฏิสังยุตต์)
ซึ่งบัญญัติห้ามพระภิกษุในการแสดงธรรมแก่บุคคลที่มีอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม
เนื่องจากพระธรรมเป็นสิ่งเลิศ จึงสมควรเคารพพระธรรม
โดยการแสดงธรรมควรอยู่ในอิริยาบถที่สมควรทั้งในส่วนผู้แสดงธรรมและผู้ฟังธรรม


ในเรื่องเกี่ยวกับการเคารพพระธรรมนั้น
แม้แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านก็ทรงเคารพพระธรรม
นอกจากนี้แล้ว สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็ทรงเคารพพระธรรม
เราทั้งหลายที่เป็นสาวกจึงสมควรที่จะเคารพพระธรรมด้วยเช่นกัน


ในพระสูตรชื่อว่า “คารวสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค)
และใน “อุรุเวลสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต)
ได้เล่าว่า ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้ได้ไม่นานนั้น

ท่านได้ทรงดำริว่า บุคคลผู้ไม่มีที่เคารพ ไม่มีที่ยำเกรง ย่อมอยู่เป็นทุกข์
ดังนี้ ท่านสมควรจะพึงสักการะ เคารพ อาศัยสมณะหรือพราหมณ์ใครผู้ใด
ท่านทรงพิจารณาสมณพราหมณ์ เทวดา มนุษย์ ไปจนถึงเทวโลก มารโลก พรหมโลก
และในหมู่สัตว์ทั้งหลายแล้ว ก็ไม่ทรงเห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่ถึงพร้อมด้วยศีล
ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ด้วยวิมุตติ หรือด้วยวิมุตติญาณทัสสนะยิ่งกว่าพระองค์
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงดำริว่า อย่ากระนั้นเลย
ท่านสมควรสักการะเคารพธรรมที่ท่านตรัสรู้นั้นแหละ แล้วอาศัยอยู่


ในเวลานั้นเอง สหัมบดีพรหมได้ทราบความปริวิตกแห่งพระหฤทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า
จึงได้อันตรธานหายจากพรหมโลก แล้วมาปรากฏเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า
สหัมบดีพรหมกระทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น
ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดได้มีมาแล้วตลอดกาลอันล่วงแล้ว
แม้พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ก็ทรงสักการะเคารพธรรมนั่นเอง แล้วอาศัยอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดจักมีตลอดกาลไกลอันยังไม่มาถึง
แม้พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ก็จักทรงสักการะเคารพธรรมนั่นเอง แล้วอาศัยอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้
ก็ขอจงทรงสักการะเคารพธรรมนั่นแหละ แล้วอาศัยอยู่


หลังจากได้กราบทูลดังนี้แล้ว สหัมบดีพรหมได้กล่าวคาถาว่า
พระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดที่ล่วงไปแล้วก็ดี
พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดที่ยังไม่มีมาก็ดี
และพระสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดในบัดนี้ ผู้ยังความโศกของชนเป็นอันมากให้เสื่อมหายก็ดี
พระพุทธเจ้าเหล่านั้นทุกพระองค์ ทรงเคารพพระสัทธรรมอยู่แล้ว ยังอยู่ และจักอยู่ต่อไป
ข้อนี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้นแหละ กุลบุตรผู้รักตนหวังความเป็นผู้ใหญ่
เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงเคารพพระสัทธรรม
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ คารวสูตรที่ ๒
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาตอุรุเวลวรรคที่ ๓ อุรุเวลสูตรที่ ๑


นอกจากนี้ ใน “นันทกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
ได้เล่าว่าในสมัยหนึ่งระหว่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
ในเวลานั้น พระนันทกะกำลังแสดงธรรมให้แก่ภิกษุทั้งหลายในอุปัฏฐานศาลา
ต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จไปยังอุปัฏฐานศาลา
แต่ท่านประทับยืนรออยู่ ณ ซุ้มประตูด้านนอกจนกระทั่งพระนันทกะจบการแสดงธรรม
เมื่อท่านทรงทราบว่าพระนันทกะแสดงธรรมจบแล้ว ท่านทรงกระแอมและเคาะที่ลิ่มประตู
ภิกษุเหล่านั้นได้เปิดประตูให้พระผู้มีพระภาคเจ้า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา และประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้
ครั้นแล้วได้ตรัสกะท่านพระนันทกะว่า
นันทกะ ธรรมบรรยายของเธอนี่ยาวมาก แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ
เรายืนรอฟังจนจบธรรมกถาอยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอก ย่อมเมื่อยหลัง


เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระนันทกะได้ทราบดังนั้นแล้ว รู้สึกเสียใจ
จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ทราบเลยว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนรออยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอก
ถ้าข้าพระองค์พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนรออยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอกแล้ว
แม้คำประมาณเท่านี้ ก็ไม่พึงแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์เลย


ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ท่านพระนันทกะเสียใจ
จึงตรัสกับท่านพระนันทกะว่า ดีแล้ว ๆ นันทกะ
ข้อที่เธอทั้งหลายพึงสนทนาด้วยธรรมกถานี้ สมควรแก่เธอทั้งหลาย
ผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา
นันทกะ เธอทั้งหลายผู้ประชุมกันพึงทำกิจ ๒ อย่าง คือ
ธรรมกถาหรือดุษณีภาพของพระอริยะ
นันทกะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา แต่ไม่มีศีล อย่างนี้เธอชื่อว่ายังไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น
เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า อย่างไรหนอ เราจึงเป็นผู้มีศรัทธาและมีศีล
เมื่อใดแล ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและมีศีล เมื่อนั้น เธอชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น
นันทกะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและมีศีล แต่ยังไม่ได้เจโตสมาธิในภายใน
อย่างนี้เธอชื่อว่ายังไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า
อย่างไรหนอ เราจะพึงเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล และได้เจโตสมาธิในภายใน
เมื่อใดแล ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล และได้เจโตสมาธิในภายใน
เมื่อนั้น เธอชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น
นันทกะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล ได้เจโตสมาธิในภายใน
แต่ยังไม่ได้การเห็นแจ้งซึ่งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
อย่างนี้เธอชื่อว่าเป็นผู้ยังไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น


นันทกะ เปรียบเหมือนสัตว์ ๒ เท้าหรือ ๔ เท้า แต่เท้าข้างหนึ่งของมันเสียพิการไป
อย่างนี้มันชื่อว่า เป็นผู้ไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น ฉันใด
นันทกะ ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีศรัทธา มีศีล และได้เจโตสมาธิในภายใน
แต่ยังไม่ได้การเห็นแจ้งซึ่งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
อย่างนี้เธอชื่อว่าเป็นผู้ยังไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า
อย่างไรหนอ เราจะพึงมีศรัทธา มีศีล ได้เจโตสมาธิในภายใน
และได้การเห็นแจ้งซึ่งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
นันทกะ เมื่อใดแล ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล ได้เจโตสมาธิในภายใน
และได้การเห็นแจ้งซึ่งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง เมื่อนั้น เธอชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต นันทกสูตร


ดังนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าแม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงเคารพพระธรรม
โดยในระหว่างที่พระภิกษุกำลังแสดงธรรมอยู่นั้น
ท่านก็ทรงยืนรอฟังจนจบธรรมกถาอยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอก
โดยไม่ได้เสด็จเข้าไปในระหว่างการแสดงธรรมของพระภิกษุนั้น
เราทั้งหลายที่เป็นสาวก จึงสมควรที่จะเคารพพระธรรมด้วยเช่นกัน



ถ้าหากจะเปรียบเทียบแล้ว เราก็อาจจะพิจารณาถึงเพลงชาติ หรือเพลงสรรเสริญบารมี
ซึ่งในเวลาที่เราได้ยินเพลงดังกล่าว เราก็พึงยืนตรงเพื่อแสดงความเคารพ
ไม่พึงแสดงอาการลบหลู่ ดูหมิ่น หรือแสดงอาการที่ไม่เคารพใด ๆ
ฉันใด ก็ฉันนั้น การฟังธรรมก็เป็นไปในทำนองเดียวกันว่า
เราพึงเคารพพระธรรม โดยประพฤติตนให้อยู่ในอิริยาบถที่สมควรในเวลาฟังธรรม


หากเราพิจารณาศีลข้อเสขิยวัตร (ธัมมเทสนาปฏิสังยุตต์) แล้ว
เราย่อมจะเห็นได้ว่า บางทีเราอาจจะเผลอทำอิริยาบถที่ไม่สมควรบางอย่างในเวลาฟังธรรม
เช่น นั่งถือร่มในมือในเวลาฟังธรรมจากพระภิกษุ
หรือนั่งรัดเข่า หรือนั่งกอดเข่าในเวลาฟังธรรมจากพระภิกษุ

หรือที่โพกศีรษะ หรือที่คลุมศีรษะในเวลาเวลาฟังธรรมจากพระภิกษุ เป็นต้น
ซึ่งตรงนี้ เราก็ควรจะหลีกเลี่ยงอิริยาบถดังกล่าวครับ


การเคารพพระธรรมไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการไม่ประพฤติอิริยาบถดังที่กล่าวเท่านั้น
แต่การประพฤติอื่น ๆ ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าไม่เคารพพระธรรมได้ เช่น
นั่งหลับ นั่งคุยกัน นั่งเล่นเกม นั่งรับส่งข้อความทางโทรศัพท์ ถ่ายรูป เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว การแสดงความเคารพพระธรรมไม่ได้จำกัดอยู่เพียงทางกายเท่านั้น
แต่ย่อมรวมถึงการแสดงความเคารพทางใจด้วย

โดยเราพึงจะต้องมีความสำรวมทั้งทางกาย และใจในเวลาฟังธรรม
กรณีมิใช่ว่ากายภายนอกสำรวม แต่ใจฟุ้งซ่านคิดสนใจแต่เรื่องอื่น
โดยไม่ได้สนใจฟังธรรม เช่นนั้นก็ย่อมถือว่าไม่เป็นการเคารพพระธรรมเช่นกัน


ในเวลาที่เรากราบไหว้พระนั้น เช่น เรากราบพระ ๓ หน เป็นต้น
เราก็ย่อมจะแสดงความเคารพและระลึกถึงพระธรรมได้ด้วยนะครับ
หรือในเวลาที่เราสวดมนต์ถึงพระธรรมนั้น

เราก็ย่อมจะแสดงความเคารพและระลึกถึงพระธรรมได้
หรือในเวลาที่เราเดินเวียนเทียนเจดีย์ใด ๆ ซึ่งบางทีเราก็อาจจะสวดบทอิติปิโสไปด้วย
เราก็ย่อมจะแสดงความเคารพและระลึกถึงพระธรรมได้ด้วยเช่นกัน


การเคารพธรรมนั้น เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญ
โดยใน “ภัตตุเทสกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต) ได้สอนว่า
ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่สำรวมในกาม ไม่ประกอบด้วยธรรม
ไม่เคารพในธรรม มีปรกติถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ
ก็แลบุคคลนี้ เราเรียกว่าเป็นหยากเยื่อในบริษัท อันสมณะผู้รู้กล่าวแล้วอย่างนี้
ชนเหล่าใดตั้งอยู่ในธรรม มีปรกติไม่ถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ
ย่อมไม่กระทำกรรมอันลามก เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นชื่อว่า เป็นสัตบุรุษที่น่าสรรเสริญ
ก็แลบุคคลนี้ เราเรียกว่าเป็นผู้ผุดผ่องในบริษัท อันสมณะผู้รู้กล่าวแล้วอย่างนี้
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ภัตตุเทสกสูตร


นอกเหนือจากการสนใจ ใส่ใจ สำรวมในการฟังธรรม และศึกษาธรรม
และการแสดงความเคารพและระลึกถึงพระธรรมดังที่ได้กล่าวแล้ว
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เป็นการเคารพต่อพระธรรม และทำให้เราได้ประโยชน์สูงสุดก็คือ
การที่เราน้อมนำพระธรรมมาปฏิบัติให้สมควรแก่ธรรมครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP