ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

โอฆตรณสูตร ว่าด้วยการข้ามโอฆะ


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา

[] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะงาม
ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ

ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[] เทวดานั้น ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ข้าพระองค์ขอทูลถาม พระองค์ทรงข้ามโอฆะได้อย่างไร?

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามโอฆะได้แล้ว.

เทวดา. ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ก็พระองค์ไม่พัก ไม่เพียร ข้ามโอฆะได้อย่างไรเล่า?

พระผู้มีพระภาคเจ้า. ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดเรายังพักอยู่ เมื่อนั้นเรายังจมอยู่โดยแท้
เมื่อใดเรายังเพียรอยู่ เมื่อนั้นเรายังลอยอยู่โดยแท้
ท่านผู้มีอายุ เราไม่พัก เราไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้วอย่างนี้แล.

เทวดานั้นกล่าวคาถานี้ว่า
นานหนอ ข้าพเจ้าจึงจะเห็นขีณาสวพราหมณ์ผู้ดับรอบแล้ว
ไม่พัก ไม่เพียรอยู่ ข้ามตัณหาเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในโลก.

[] เทวดานั้นกล่าวคำนี้แล้ว พระศาสดาทรงอนุโมทนา
ครั้งนั้นแล เทวดานั้นดำริว่า “พระศาสดาทรงอนุโมทนาคำของเรา”
จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณแล้วก็หายไป ณ ที่นั้นแล.

โอฆตรณสูตรที่ ๑ จบ


หมายเหตุ - ในอรรถกถาของโอฆตรณสูตรได้อธิบายว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเฉลยปัญหาแล้วอย่างนี้ว่า

เราเห็นโทษของการพัก ของการเพียร จึงไม่พัก จึงไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้ว
เทวดาก็เข้าใจปัญหานี้ แต่ปัญหายังไม่แจ่มชัด เพื่อให้ปัญหานั้นแจ่มชัด

จึงขอแสดงทุกะ (จับคู่) ๗ ทุกะดังนี้
(ทุกะที่ ๑) เมื่อพักอยู่ด้วยกิเลส ชื่อว่าจม เมื่อเพียรด้วยอภิสังขาร ชื่อว่าลอย.
(ทุกะที่ ๒) เมื่อพักอยู่ด้วยตัณหาและทิฏฐิ ชื่อว่าจม
เมื่อเพียรด้วยกิเลสที่เหลือและอภิสังขาร ชื่อว่าลอย.
(ทุกะที่ ๓) เมื่อพักอยู่ด้วยตัณหา ชื่อว่าจม เมื่อเพียรด้วยทิฏฐิ ชื่อว่าลอย.
(ทุกะที่ ๔) เมื่อพักอยู่ด้วยสัสสตทิฏฐิ ชื่อว่าจม เมื่อเพียรด้วยอุจเฉททิฏฐิ ชื่อว่าลอย.

ความยึดมั่นในมานะอันเฉื่อยชา จัดเป็นภวทิฏฐิ ความยึดมั่นอันสุดโต่ง ชื่อว่าวิภวทิฏฐิ.
(ทุกะที่ ๕) เมื่อพักอยู่ด้วยความเฉื่อยชา ชื่อว่าจม เมื่อเพียรด้วยความฟุ้งซ่าน ชื่อว่าลอย.

(ทุกะที่ ๖) เมื่อพักอยู่ด้วยกามสุขัลลิกานุโยค ชื่อว่าจม
เมื่อเพียรด้วยอัตตากิลมถานุโยค ชื่อว่าลอย.
(ทุกะที่ ๗) เมื่อพักอยู่ด้วยอภิสังขารฝ่ายอกุศลทั้งหมด ชื่อว่าจม

เมื่อเพียรด้วยอภิสังขารที่เป็นโลกียะทั้งหมด ชื่อว่าลอย. สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
“จุนทะ อกุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ อกุศลธรรมเหล่านั้น พึงส่งไปในเบื้องต่ำ
กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ กุศลธรรมเหล่านั้น พึงส่งไปในเบื้องบน” ดังนี้.

เทวดาฟังการแก้ปัญหานี้แล้ว ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล มีความยินดีเลื่อมใส
ประกาศความยินดีเลื่อมใสของตนแล้ว จึงกล่าวคาถาว่า
“นานหนอ ข้าพเจ้าจึงจะเห็นขีณาสวพราหมณ์ผู้ดับรอบแล้ว” เป็นต้น


(โอฆตรณสูตร พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๒๔)




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP