heading01

ฉบับที่ ๓๘๓ ทำร้ายคนอื่นคือทำร้ายใจตนเอง


383 talk



ทำอะไรไว้กับคนอื่น
บางทีคนอื่นได้รับผลบ้าง ไม่ได้รับผลบ้าง
หลายครั้งอุตส่าห์แกล้งเขาเหนื่อยแทบตาย
ใจเขากลับไม่เจ็บ ไม่ถลอกแม้เท่าแมวข่วน


แต่ทำอะไรไว้กับคนอื่น
จะดีก็ตาม จะร้ายก็ตาม
ทุกครั้งใจตนนั่นเองที่ต้องรับผล
ยิ่งเจริญสติเห็นจิตเห็นใจตนมากขึ้นเท่าไร
ก็จะยิ่งเห็นความจริงชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น


การพร่ำบ่น พร่ำใส่สีตีไข่
หรือพร่ำด่าแบบไม่สร้างสรรค์
สักแต่ขอให้ได้ด่าเอามันอีกทีเถอะ
สำหรับผู้เคยมีจิตปลอดโปร่ง
ยิ่งพบว่าความปลอดโปร่งหายไป
กลายเป็นมีอะไรพัวพันยุ่งเหยิง
คล้ายการถักทอตาข่าย
มัดตัวเองไว้ในร่างแหแห่งความว้าวุ่น
ส่วนบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายบ่นด่า
ถ้าเขาไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่รับ
จิตใจของเขาก็จะยังคงอยู่ในสภาพเดิมนั่นเอง


ยิ่งพร่ำบ่น พร่ำวิจารณ์ พร่ำด่าแต่คนอื่น
ยิ่งสร้างจุดบอดขึ้นมาบังตา ไม่ให้เห็นตัวเอง
ยิ่งวันยิ่งอยากโทษคน โทษโลก โทษจักรวาล
เห็นแต่คนผิด เห็นแต่เทวดาพลาด
เอาอะไรแย่ๆมายัดเยียดให้ชีวิตฉัน
ในที่สุดก็รู้สึกเหมือนไม่มีทางออกจากกรงมืด
ซึ่งตัวเองสร้างไว้ขังตัวเองอยู่กับความเสื่อมโทรม


ต่อเมื่อเบื่อแล้ว อยากออกจากก้นถ้ำเสียทีแล้ว
หันมามองคนอื่นในด้านดีบ้าง
นึกครึ้มมีแก่ใจช่วยคนอื่นฟรีๆบ้าง
แล้วได้สังเกตใจตนเอง รู้สึกว่าปลอดโปร่งขึ้น
ก็จะพบว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
แต่เป็นเหตุเป็นผลกันอย่างยิ่ง


ทำร้ายคนอื่น เขาบาดเจ็บหรือเปล่าไม่รู้
รู้แต่ใจเราบาดเจ็บแบบสะสมแน่ๆ
ทำดีกับคนอื่น เขาได้ดีมีสุขหรือเปล่าไม่ทราบ
ทราบแต่ใจเราได้ดีมีสุขแบบสะสมชัดๆ!



ดังตฤณ
เมษายน ๒๕๖๗

heading02

  • เราควรปฏิบัติต่อเจดีย์ต่างๆ ดังที่ระบุไว้ใน "เจดีย์ ๔"
    ว่าเป็นสถานที่หรือสิ่งที่ควรบูชากราบไหว้
    ด้วยความเคารพเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอกุศลกรรม
    ดังเรื่องราวคุณงดงามบอกเล่าไว้
    ในคอลัมน์ "จุดหมายปลายธรรม" ตอน "ขนมรูปพระไดบุตสึ"


    สมาธิแบบพุทธมีลักษณะอย่างไร
    และคำบริกรรมที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อจิตต่างกันหรือไม่
    หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
    ตอน "คำบริกรรมแต่ละแบบมีผลต่อจิตอย่างไร"


    เมื่อความเจ็บไข้ได้ป่วยมาเตือน ให้รู้ถึงความไม่เที่ยงของร่างกาย
    อาจเป็นโอกาสในการได้เห็นถึงสัจธรรมของชีวิต
    ดังกรณีศึกษาในคอลัมน์ "โหรา (ไม่) คาใจ"
    ตอน "ก่อนจะถึงวันนั้น"

Twitter Updates

follow us on Twitter